ม.112 ปัจจุบัน คือ มรดกของคณะรัฐประหาร หลังเหตุล้อมปราบและสังหารหมู่ 6 ตุลา 19

ม.112 ที่ใช้ในปัจจุบันบัญญัติขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 6 ต.ค.2519 หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ มธ. โดยยกเลิกมาตราเดิม แล้วบัญญัติ 112 ขึ้นใหม่ เพิ่มโทษสูงสุดจาก 7 เป็น 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่มีโทษขั้นต่ำของความผิดนี้ คือ "ตั้งแต่ 3 ปี" ไว้ด้วย

7 ต.ค.2562 วานนี้ (6 ต.ค.62) เนื่องในวาระครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 ที่ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก ทั้งแฮชแท็ก #6ตุลา ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์อยู่หลายชั่วโมง และติดเทรนด์ตลอดทั้งวัน รวมทั้งคำว่า "6 ตุลา" ยังติดอันดับ 2 ของเทรนด์การค้นหาในวันนี้ของ google ประเทศไทยด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน คือวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาตนกระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการสืบสวนค้นหาผู้ที่เผยแพร่ข่าวหมิ่นสถาบันฯ มาโดยตลอด แต่ที่ไม่ได้แถลงข่าวเป็นระยะๆ จนอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ค่อยพอใจ เพราะในขั้นตอนการสืบสวนนั้น จำเป็นต้องสืบให้ได้แน่ชัดก่อนว่าผู้ร่วมขบวนการมีใครบ้าง หรือสื่อออนไลน์เพจไหนเว็บไหนบ้างที่มีความเกี่ยวพัน ซึ่งในขณะนี้ได้สืบสวนสอบสวนจนค่อนข้างแน่ชัดแล้ว อีกภายใน 7 วันนี้ จะมีการแถลงข่าวแน่นอน

ประชาไทอยากพาย้อน ดูกฏหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 อย่างที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 6 ต.ค.2519 ที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในนาม คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ลงตามแผนที่วางสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ พร้อมประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ หลังเหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังกล่าว 

ซึ่ง พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เขียนไว้เมื่อปี 2554 เผยแพร่ทางประชาไท ในหัวข้อ "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519" ว่า  21 ตุลาคม 2519 , คณะรัฐประหาร เพิ่มโทษบทบัญญัติมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ1 โดยปรับโทษจากเดิม "จำคุกไม่เกินเจ็ดปี" เพิ่มขึ้นเป็น "จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" อัตราโทษนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

กฎหมายดังกล่าวจึงเป็น "กฎหมาย" หรือ "ผลพวง" ของคณะรัฐประหาร และขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ซึ่ง คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) ได้เสนอทางออกไว้เมื่อปี 55 ว่า ทางออก เพื่อสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้มั่นคงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลบล้างผลพวงอันเป็นสิ่งปฏิกูลที่เกิดเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร และยิ่งกว่านั้่น แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษสูงสุดเพียง 3 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท