รมว.ดีอี-ปอท. แถลงจับนักกิจกรรมโพสท์โซเชียล ระบุ มีเสรีภาพแต่ต้องใช้วิจารณญาณ

รมว.ดีอี แถลงร่วม ปอท. กรณีจับกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมการเมืองโพสท์เรื่องประวัติศาสตร์ต่างประเทศ หมายจับ ผิด พ.ร.บ. คอม นำเข้าข้อมูลผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แจง แชร์ต่อก็มีโทษ ให้ร้านกาแฟเก็บล็อกข้อมูลใช้ wi-fi 90 วัน ไม่เช่นนั้นมีความผิดตามกฎหมาย ล่าสุดปล่อยตัวแล้ว ใช้ 1 แสนบาทประกัน เดือนที่แล้วก็มีจับกุมไม่ตามขั้นตอนกฎหมาย ผู้ต้องหาโอด ถูกข่มขู่ให้เซ็นรับทราบข้อกล่าวหา-บอกรหัสเฟสบุ๊ค 

ภาพบรรยากาศการแถลงข่าวร่วม(ที่มา:policenews)

8 ต.ค. 2562 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. และ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. แถลงผล "ปฏิบัติการปราบปรามเนื้อหาไม่เหมาะสม สืบสวนปราบปรามผู้ที่เผยแพร่สื่อในเนื้อหาไม่เหมาะสม รวมถึงผู้ร่วมขบวนการบนสื่อออนไลน์และเว็บไซต์ที่มีความเกี่ยวข้อง" โดยมีการจับกุมผู้ต้องหา 1 ราย คือกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมการเมือง ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1520/2562 ลงวันที่ 7 ต.ค. 2562 จับกุมที่บ้านพักในซอยอารีย์สัมพันธ์ 3 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.

ปอท.จับนักกิจกรรมตั้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมฯ ทนายชี้แค่โพสต์ประวัติศาสตร์ต่างประเทศ

กาณฑ์ถูกหมายจับตามความผิดข้อหาตามมาตรา 14(3) ของพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ฐานนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา 

ศิริวัฒน์กล่าวว่าความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี สืบเนื่องจากที่ รมว.ดีอี สั่งการให้ บก.ปอท. สืบสวนติดตาม ขอศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับกาณฑ์ หลังจากพบว่าปลายสัปดาห์มีการก่อกระแสข้อความบนสื่อโซเชียล โดยติดแฮชแท็กและโพสท์ข้อความไม่เหมาะสมบนเฟสบุ๊ค อันจะสร้างความเกลียดชัง จนมีผู้ไปคอมเมนท์และแชร์ต่อ ทั้งนี้ กาณฑ์ยอมรับว่าเป็นผู้โพสท์ แต่ไม่มีเจตนากระทำผิด เป็นการภาคเสธ เมื่อตรวจสอบพบว่ากาณฑ์เคยโพสท์เกี่ยวกับความมั่นคงมาแล้วหลายครั้งซึ่งเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ

ศิริวัฒน์ยืนยันว่าประเทศไทยมีเสรีภาพในการโพสท์ แชร์ หรือคอมเมนท์ แต่ต้องมีวิจารณญาณว่าเรื่องที่โพสท์เป็นความจริงหรือไม่ และโพสท์ไปจะมีใครเสียหายหรือไม่ จากนี้จะพิจารณาว่าจะเรียกผู้ที่แชร์และคอมเมนท์ในโพสท์ดังกล่าวมาสอบปากคำหรือไม่ และยังเตือนว่าประชาชนที่แชร์ หรือส่งต่อข้อความลักษณะดังกล่าว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(5) ต้องระวางโทษเท่ากับผู้โพสท์หรือผู้นำเข้าสู่ระบบเช่นกัน

พุฒิพงศ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องการจับกาณฑ์แบบไม่มีหมายจับว่า ทั้งหน่วยงานรัฐและตำรวจได้ดำเนินการตามกฎระเบียบและขั้นตอนเพื่อขอศาลออกหมายจับ ยืนยันว่าการจับกุมทุกครั้งต้องดำเนินการภายใต้ข้อมูลและข้อเท็จจริง นอกจากนั้นยังระบุว่า ศูนย์เฟคนิวส์ที่ตั้งขึ้นมามีไว้คัดกรองข่าวที่มีเนื้อหาไม่เป็นความจริง และอาจกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง เมื่อได้รับแจ้งเบาะแสมาก็จะตรวจสอบภายใน 2 ชั่วโมง ก่อนเผยแพร่ให้ประชาชนทราบต่อไป นอกจากนี้ ขอฝากร้านค้าร้านกาแฟที่เปิดให้ใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต wi-fi ในร้าน ให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางอินเทอร์เน็ตของผู้ที่ลงทะเบียนใช้งานเป็นเวลา 90 วัน เพื่อป้องกัน เมื่อมีเหตุอะไรแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องขอข้อมูลดังกล่าว อาศัยความตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งดีอีได้หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ปอท. แล้ว หากไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษตามกฎหมาย

ล่าสุด เวลา 16.32 น. วันนี้ (8 ต.ค.) วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) โพสท์เฟสบุ๊คว่า ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศศิพัฒน์ หรือ กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ ห้ามผู้ต้องหาโพสต์ข้อความลักษณะนี้อีกเว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า หลักทรัพย์ 100,000 บาท

มาตรา 26 ระบุว่า ผู้ให้บริหารต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่อาจสั่งให้เก็บไว้นานกว่านั้นได้ แต่ไม่เกิน 1 ปี  เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย เฉพาะคราวก็ได้ ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้บริการประเภทใด อย่างไร เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

เมื่อวานนี้ (7 ต.ค.)  วิญญัติ เปิดเผยกับประชาไทว่ากาณฑ์ ถูกควบคุมตัวในเวลา 20.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับโดยข้ามขั้นตอนการออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาก่อน ส่วนสาเหตุของการจับจำกุมตัวนั้น วิญญัติเปิดเผยว่า ปอท. ชี้ว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง โดยมีการนำหลักฐานเป็นภาพที่มีการตัดต่อ ว่า บัญชีเฟซบุ๊คชื่อ “กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์” แสดงความเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ โดยมีลักษณะของการนำไปเสียบประจาน และกล่าวหาว่าเป็นหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูแล้วไม่มีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ไทย

ปฏิบัติการร่วมระหว่าง รมว.ดีอีและ ปอท. ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ 10 ก.ย. 2562 ก็มีปฏิบัติการ 09.09.2019 ปฏิบัติการทลายล้างข่าวปลอม ปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย Fake News 9 คดี 9 จุด โดยที่ หนึ่งในกรณีที่มีการปิดล้อมตรวจค้น ได้แก่ กรณี “เพจเฟซบุ๊ค รับสมัครนักรบล้มล้างการปกครอง”

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เผยผู้ต้องหาคดีเพจสมัครนักรบล้มการปกครอง ระบุ จนท.ค้นที่พักไม่มีหมาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายานว่า ทางผู้ต้องหาในกรณีข้างต้น ซึ่งปัจจุบันทำอาชีพขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เล่าว่า เมื่อเช้าวันพุธที่ 11 ก.ย. 2562 ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้เขาเดินทางไปซ่อมคอมพิวเตอร์ที่อาคารบริเวณย่านเมืองทองธานี จ.นนทบุรี เขาจึงเดินทางไปตามนัด แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เข้าล้อมจับกุม ถูกตรวจค้นรถและให้นำไปตรวจค้นยังห้องพักโดยไม่มีการแสดงหมายค้นและหมายจับแต่ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 3 เครื่อง รวมไปถึงอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ สายชาร์จ โดยกระเป๋าที่เขาถือมาด้วย ถูกเทของออกและถ่ายรูปบันทึกไว้ ก่อนจะถูกนำตัวไป บก.หอท. และถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ม. 14(3)

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ผู้ต้องหาเล่าว่า ตนถูกบังคับให้เซ็นเอกสารในบันทึกจับกุมและเอกสารรับทราบข้อกล่าวหา แต่ผู้ต้องหาไม่ยินยอม เพราะยังไม่ทราบข้อกล่าวหา ตำรวจจึงนำหมายจับมาแสดง พร้อมกับข่มขู่ว่าสามารถไปค้นบ้านของตนที่ต่างจังหวัดได้ หากไม่ยินยอมเซ็นเอกสาร เจ้าหน้าที่ยังมีการให้เขาเขียนชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเฟสบุ๊คของเขาให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย และยังมีการนำซิมการ์ดไปตรวจสอบ ก่อนจะนำมาคืนให้ โดยกระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีทนายความร่วมฟังการแจ้งข้อกล่าวหาและร่วมฟังการสอบสวนอยู่ด้วยแต่อย่างใด

ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 11 จนถึงเวลาประมาณสองทุ่ม จากนั้นจึงถูกนำตัวไปลงบันทึกประจำวัน ที่สน.ทุ่งสองห้อง และถูกขังที่สถานีตำรวจหนึ่งคืน จนช่วงเช้าวันที่ 12 ก.ย. 2562 เขาได้ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลในการฝากขังครั้งที่ 1 ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อศาลอนุญาตให้ฝากขัง ผู้ต้องหาได้ทำการเช่าหลักทรัพย์เพื่อยื่นขอประกันตัว และศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 1 แสนบาท โดยศาลอาญาได้นัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 30 ต.ค.นี้

ที่มาข่าว: ข่าวสด มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท