วงถกชี้ปัญหาร่างฯ พ.ร.บ. การศึกษา ภาระครู-นักเรียน ชวนคนไปประชาพิจารณ์

วงคุยการศึกษาสะท้อนปัญหาภาระงาน และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สิทธิ ประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หายไปจาก พ.ร.บ.การศึกษาฯ ใหม่ บทเรียนจาก พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฟินแลนด์ กับสิ่งที่การศึกษาไทยยังไปไม่ถึง ผลสำรวจพบ คนต้องการการศึกษาแก้ความเหลื่อมล้ำ - เป็นประชาธิปไตย นักเรียนเล่า โรงเรียนไม่มีที่ให้คนเก่งไม่ตรงสายการเรียน การชี้วัดส่งผลถึงครอบครัว

ซ้ายไปขวา: ทักษิณ อำพิณ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล อรรถพล ประภาสโนบล ณัฏฐเมธร์ ดุลคณิต

8 ต.ค. 2562 ที่สยาม อินโนเวชั่น ดิสทริค อาคารสยามวัน มีการจัดงานเสวนา "อนาคตที่อยากเห็น การศึกษาที่อยากเป็น" โดยกลุ่มครูขอสอน มีกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคอนาคตใหม่ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ทักษิณ อำพิณ นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม อรรถพล ประภาสโนบล ครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี เป็นผู้ร่วมเสวนา และมีณัฏฐเมธร์ ดุลคณิต ศึกษานิเทศร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาเขต 1 เป็นผู้ดำเนินการเสวนา (ดูวิดีโอที่เพจครูขอสอน)

สิทธิ ประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หายไปจาก พ.ร.บ.การศึกษาฯ ใหม่ 

อรรถพลกล่าวว่า สิ่งที่ครูมักพูดเวลาได้รับภาระงานอื่นๆ คือ ขอสอนได้ไหม เพราะว่าเรื่องการสอนถูกทำให้กลายเป็นงานรอง เราอยากให้ครูพัฒนา ครูขอสอนมาจากความอึดอัดจากระบบการศึกษา การเยียวยากันเองคงไม่พอ อยากจะสร้างระบบใหม่ที่จะขอสอนในระบบที่เอื้อให้เราอยากทำงานอย่างเต็มที่ แสดงศักยภาพอย่างเต็มกำลัง ไม่ใช่ระบบที่ไม่อยากไปโรงเรียน ทำให้ครูจากหลายๆ ที่ทั่วภูมิภาค เพื่อหาฉันทามติเรื่องการศึกษาในสาธารณะ เคยจัดเสวนาเรื่อง เมื่อครูไม่ได้ทำหน้าที่ครู จากนั้นมีการเก็บข้อมูลปัญหาต่างๆ ในเรื่องภาระงานของครูในระบบการศึกษา แล้วเปิดให้มีการถกเถียง มีส่วนร่วม

อรรถพลกล่าวอีกว่า พ.ร.บ. เก่าและร่างใหม่เขียนไว้แล้วว่าเพื่อพัฒนาเด็กรอบด้าน แต่ที่ผ่านมาคนกลับรู้สึกว่าการศึกษาไม่ได้นำพาพวกเขาไปสู่สิ่งนั้น เวลาพูดถึงการแก้ปัญหาการศึกษานั้น ไม่สามารถแยกออกจากปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองได้  สังคมถูกออกแบบมาไม่ให้เด็กเดินตามความฝันตัวเอง แต่ให้ดัดแปลงตัวเองเพื่อให้อยู่รอดได้ ทำให้เด็กคิดว่าแค่ไปโรงเรียน จบ มีงานทำ หาเลี้ยงครอบครัว กลายเป็นว่าความฝันของเขาไม่ใช่ของเขาจริงๆ แต่ถูกผูกติดกับเงื่อนไขบางอย่าง

อรรถพลเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ว่า ที่พบคือคำเปลี่ยน เช่น เปลี่ยนชื่อเรียกครูใหญ่ มาเถียงกันที่การใช้คำ แต่ทำไมไม่ตั้งต้นที่นักเรียน ร่างเก่าและใหม่ไม่ได้เริ่มต้นจากการมองเด็กมากเท่าไหร่ พูดถึงสิทธิเด็กน้อยมาก แค่อยากให้เด็กมีทักษะอะไรบ้าง คำว่าความเท่าเทียม สิทธิต่างๆ ถูกทำให้หายไปจาก พ.ร.บ. นี้ เรื่องคุณภาพนักเรียน ระบบสังคมแบบไหนที่จะซัพพอร์ตเขา ไม่เพียงแค่กลไกบริหารงาน แต่เป็นกลไกประกันสิทธิให้กับเด็ก ในร่างใหม่เรื่องนี้ไม่ชัดเจน

พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับปี 2542 มีการประนีประนอมว่าการจัดการเรียนการสอนอยู่กับคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ผสมกับคุณค่าแบบไทย สากล และการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ร่างฯ ฉบับใหม่ ตัดถ้อยคำเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเสมอภาค มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกตัดออกไป เขามุ่งเน้นแค่ให้เด็กมีทักษะต่างๆ ที่จะออกไปเรียนรู้ มีทักษะประกอบอาชีพ มีสำนึกรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม แต่คำว่าสำนึกมันก็ต้องถูกตั้งคำถามว่าเป็นสำนึกแบบไหน ซึ่งร่างฉบับเก่าก็เห็นแล้วว่าสำนึกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่บนหลักสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค 

ร่างฯ นี้เขียนช่วงวัยไว้ละเอียดมากว่าวัยไหนต้องทำอะไร แต่ไม่ได้บอกว่าแต่ละวัยควรเข้าถึงอะไรอย่างชัดเจน นอกจากนั้น เนื้อหาส่วนเรื่องให้ท้องถิ่นจัดการทำงานร่วมกันเพื่อลดต้นทุน ทำให้สงสัยว่ามองการศึกษาเป็นการลงทุนหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มทุนก็จะไม่ลงทุนทำหรือเปล่า อีกเรื่องคือ มีกองทุนเสมอภาคเรื่องการศึกษา แต่วิธีคิดไม่ได้มองว่าเด็กทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แต่วางบนหลักสงเคราะห์ ซึ่งเด็กไม่ควรต้องมาขายความจนแล้วได้รับทุน แต่ควรเป็นการเข้าถึงการศึกษาแบบเสมอภาค แบบฟรีๆ ร่างฯ นี้พยายามเอาอำนาจไปให้ผู้ว่าฯ นัดคุยกับคนในจังหวัดเพื่อกำหนดทิศทางการศึกษา แล้วให้ ผอ. เป็นหัวหน้า แต่พอภายใต้ระบบราชการ มันจะเป็นลูปเดิมในระบบราชการหรือไม่

อรรถพลทิ้งท้ายว่า ร่างฯ ฉบับใหม่นี้ถูกเอาไปผูกติดกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจริงๆ ควรเรียกว่ายุทธศาสตร์ คสช. มากกว่า เพราะร่างตั้งแต่รัฐประหาร ไม่มีเสียงของประชาชน ในช่วงเวลานี้ที่บรรยากาศเปิดขึ้นบ้าง ขอชวนให้คนอ่านร่างฯ  แล้วช่วยกันร่าง พ.ร.บ. ที่เป็นฉันทามติร่วม เป็นฝันที่ทุกคนอยากเห็น เป็นอนาคตที่ทุกคนอยากเดินไป

บทเรียนจาก พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฟินแลนด์ กับสิ่งที่การศึกษาไทยยังไปไม่ถึง

กุลธิดาเล่าเรื่องของการศึกษาในฟินแลนด์ว่า ครูในฟินแลนด์สามารถชวนเด็กๆ คิดได้ว่าทักษะใดที่เด็กมีศักยภาพ เช่น วันนี้ช่วยเหลือเพื่อนดีขนาดไหน เด็กได้อยู่กับกระบวนการเหล่านี้ตลอดในห้องเรียน ในระดับประถม ครูไม่สามารถประเมินเรื่องเหล่านี้เป็นตัวเลขได้ ต้องอธิบายอย่างเดียว การประเมินปลายเทอมจะไม่เป็นการยื่นกระดาษให้พ่อแม่ แต่เป็นการประเมินแบบที่ครู เด็ก พ่อแม่ต้องมานั่งคุยกันในห้องเรียนทีละกลุ่ม ว่าเทอมนี้เด็กคนนี้มีพัฒนาการแบบนี้ ชอบทำเรื่องนี้ ไม่ชอบทำเรื่องนั้น และยังต้องถามเด็กด้วยว่าเป็นจริงตามที่ครูพูดหรือไม่ 

สิ่งที่ต่างจากไทยเยอะคือการมีส่วนร่วมของเด็กกับผู้ปกครองที่เยอะมาก เด็กถูกฝึกให้มีความเห็น มีการประเมินตัวเองตลอดเวลา นโยบายบอกว่าต้องสามารถสร้างผู้เรียนที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ของตัวเองได้ ในส่วนนี้รวมถึงการที่จะประเมินได้ว่าทำอะไร ชอบอะไร ไม่ต้องการอะไร กระบวนการในห้องเรียนมีเด็กเป็นส่วนประกอบ เมื่อเด็กมีปัญหาต้องคุยกับเด็กก่อน หลักใหญ่ใจความกลับไปสู่กระบวนการในห้องเรียน ระหว่างเด็ก ครูและผู้ปกครองที่พบในปลายเทอม

กุลธิดากล่าวว่า มีคำถามในวงนโยบายของพรรคมาตลอดว่าร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติของไทยที่กำลังทำ ควรเขียนให้กว้างหรือแคบ เพราะบางอย่างในฟินแลนด์เขียนแคบและละเอียดมาก เช่น การให้สิทธิการศึกษาที่เป็นของนักเรียนทุกคน หากนักเรียนคนใดต้องเดินทางมากกว่า 5 กม. รัฐต้องจัดหารถรับส่งให้นักเรียนคนนั้น แต่ในบางเรื่องก็กว้าง อย่างเรื่องสิทธิการเช้าถึงการศึกษา ก็เขียนเป็นหลักการตามสิทธิการเข้าถึงการศึกษาฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย

พอมาดูใน พ.ร.บ. การศึกษาฯ ของไทย ตั้งแต่ฉบับปี 2542 ถึงปัจจุบัน เห็นว่ามีความพยายามเขียนด้วยปรัชญาการศึกษาอยู่ แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำเป็นกฎหมายลูกฉบับต่างๆ ที่จะต้องมีการตีความแล้วจะมีปัญหาแค่ไหน อย่างไร แม้ร่างฯ จะมีการทำประชาพิจารณ์ แต่การเข้าถึงการมีส่วนร่วมยังน้อยไป การเข้าถึงเว็บไซต์สภาการศึกษาก็เข้าถึงยาก หากูเกิ้ลหน้าแรกไม่เจอ เว็บก็ประมวลผลช้า

กุลธิดาเล่าว่า พ.ร.บ. การศึกษาของฟินแลนด์กำหนดบทบาทชัดเจนว่าใครทำอะไร อย่างไร ในขณะที่ของไทยนั้นบทบาทบางอย่างเหลื่อมกันอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองนักเรียนในสถานศึกษาที่ยังไม่เคลียร์ หลายครั้งที่พอบอกว่าเป็นเรื่องความปลอดภัย สวัสดิภาพของเด็ก ก็จะมีการบอกว่าไปดูที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก แต่เมื่อเกิดที่โรงเรียนก็ต้องเอากลับมาดูที่โรงเรียน แล้วถ้าเป็นเด็กในสถานะสงเคราะห์ ก็ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้รับผิดชอบ คือมีเจ้าภาพเยอะ แต่ไม่ชัดเจนว่าเรื่องที่เกี่ยวโดยตรงกับเด็กในบริบทสถานศึกษาแล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ที่ง่ายที่สุดคือให้ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารสถานศึกษาควรมีบทบาทรับผิดรับชอบ แต่ก็ไม่มีระบุไว้ในกฎหมาย

กุลธิดายังกล่าวว่า กระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นหนึ่งปัจจัยกำหนดการศึกษาที่มีคุณภาพ ตรงนี้เป็นปัญหาแทบจะสำคัญที่สุดในไทย เพราะไม่ว่าจะออกหลักสูตร นโยบายอะไร ด้วยหลักปรัชญาการศึกษาใด ถ้าห้องเรียนปฏิบัติตามไม่ได้ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น

ในฟินแลนก็มี พ.ร.บ. การศึกษา มีหลักสูตรแกนกลาง เพียงแต่โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการร่วมออกแบบหลักสูตรและวิธีการประเมินของตัวเองได้ นั่นทำให้ทิศทางของครู การสอนและกระบวนการการเรียนการสอนไปในทางเดียวกัน  ส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้สามส่วนนี้ทำได้จริง คือความไว้เนื่อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ในระบบการศึกษาและระบบราชการไทยเป็นการตามหาคนผิด ทำระเบียบมาควบคุมคนผิดเพียงน้อยนิดแต่ใช้แบบเดียวกันทั้งระบบ แบบนี้ก็ไม่สามารถออกแบบหลักสูตร วิธีการสอนในแบบที่โรงเรียนต่างๆ อยากให้เป็น เพราะถูกควบคุมด้วยกฎและระเบียบต่างๆ มากมาย ระเบียบ กรอบ มีได้ แต่ต้องไม่ขัดขวางการทำงานของครู 

อย่าลืมว่าอาชีพครูคืออาชีพที่ไม่ได้สร้างแค่ปัจจุบันให้นักเรียน แต่สร้างอนาคตให้พวกเขา ทำอย่างไรให้คนโตมาแล้วพร้อมรับโจทย์ทุกโจทย์ที่จะมาถึงเขาในอนาคต เขาจึงต้องการพื้นที่ทำงาน ต้องการคนที่เชื่อมั่นว่าเขาทำงานได้ ฟินแลนด์ทำกันจนเชื่อมต่อกันสนิทแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยคือไม่เป็นจิ๊กซอว์ด้วยซ้ำ มันหันไปคนละทาง การสื่อสารระหว่างหน่วยงาน องค์กรในระบบราชการการศึกษานั้นมีปัญหาจริงๆ สิ่งที่ยังไม่ค่อยจะเห็นชัดเจนในระดับนโยบายของประเทศไทยคือความรับผิดรับชอบ สิ่งที่ครูทำส่งผลกับเด็ก ถ้าเกิดปัญหากับเด็ก ใครควรเป็นผู้รับผิดรับชอบ ในไทยยังมองไม่เห็น วิธีแก้ปัญหาในโรงเรียนยังไม่เป็นระบบระเบียบและไม่โปร่งใสเพียงพอ ต้องมีระบบที่รับทั้งผิดและรับทั้งชอบตั้งแต่กฎหมายแม่บทลงมาเพื่อให้ระบบการจัดการเป็นไปอย่างโปร่งใสมากขึ้น

ส.ส. พรรคอนาคตใหม่กล่าวอีกว่า กระบวนการร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติยังดำเนินอยู่ แม้เพิ่งปิดรับฟังความเห็นออนไลน์ไปเมื่อ 30 ก.ย แต่เข้าใจว่ายังเปิดในส่วนสภาการศึกษา ขอให้ตื่นตัวในการไปเสนอความคิดเห็น ไม่ต้องคิดว่ารู้กฎหมายหรือมีความรู้ในการเขียน พ.ร.บ. สิ่งที่ต้องบอกไปคือความต้องการของประชาชน ที่อยากเห็นคือการมองเห็น พ.ร.บ. ให้พื้นที่กับนักเรียน กับเด็กที่จริงๆ แล้วคือผ็ใหญ่ 1 คน ในการได้ออกแบบ รับการคุ้มครองในฐานะผู้เรียน ในฐานะที่เราบอกว่าเขาเป็นอนาคตของชาติ อยากให้มีหลักประกันว่าเดฏจะเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค คำว่าฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ขอให้เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ กุลธิดาเสนอว่าควรให้เรื่องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเด็กในพื้นที่สถานศึกษาทั้งเรื่องการเดินทาง อาหาร ความปลอดภัยในโรงเรียนได้รับการประกันตั้งแต่ระดับ พ.ร.บ. แม่บท เป็นพื้นฐานสำคัญที่โรงเรียนควรมอบให้นักเรียนได้ ไม่อยากได้ยินข่าวเด็กถูกไฟดูด เสียชีวิตจากการจมน้ำในพื้นที่ใกล้ๆ โรงเรียนอีกต่อไปแล้ว หรือรถโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานแล้วทำให้นักเรียนต้องเสียชีวิต การต่อยอดเป็นหลักสูตรขั้นสูงยังเป็นเรื่องที่ไกลด้วยซ้ำ

ครูสะท้อนปัญหา ควรมีผู้ช่วยทำงานที่ไม่สอน ผลสำรวจพบ คนต้องการการศึกษาแก้ความเหลื่อมล้ำ - เป็นประชาธิปไตย

ธนวรรธน์ยกตัวอย่างภาวะปัญหาที่ครูเจอว่า สิ่งที่ครูต้องทำคือใบ ปพ. ส่งผลการเรียนเด็ก มีคะแนนเก็บ คะแนนสอบ มีตัวที่ประเมินสมรรถนะผู้เรียนด้านการอ่าน คิด วิเคราะห์ ประเมินคุณลักษณะพึงประสงค์ การจัดการศึกษาไม่ได้เอาแค่ตัวชี้วัดที่เป็นเนื้อหาแต่ละวิชา ครูต้องประเมินด้วยว่าเด็กมีสมรรถนะและทักษะอะไรบ้าง แต่จะมีประเด็นปัญหาอยู่ที่วิธีการประเมินว่าครูได้ประเมินจริงๆ ไหม ในความเป็นจริงครูมีโอกาสสังเกตเด็กทีละคนหรือไม่ ปราณีตได้แค่ไหน เพราะว่ามีปัจจัยเรื่องเววลาทำงานของครูและจำนวนเด็กต่อห้อง บางโรงเรียนมีเด็กห้องละ 40-50 คน ถ้าเราใช้เวลากับเขาสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงในคาบเรียน 0.5 หน่วยกิต  แถมครูหนึ่งคนก็ต้องสอนมากกว่า 1 ห้องอีก ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเต็มที่กับเด็ก

ธนวรรธน์พูดถึงผลสำรวจที่กลุ่มครูขอสอนทดลองสอบถาม พบว่าคนอยากเห็นการศึกษาที่เท่าเทียม เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ก้าวทันเทคโนโลยี พัฒนาให้คนไทยสามารถเป็นนวัตกร แต่ข้อที่สำคัญและมีคนเขียนเยอะที่สุดคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พูดเรื่องนี้ตั้งแต่ฉบับที่ 2 จนถึงวันนี้เป็นฉบับที่ 12 อีกเรื่องที่เขียนส่งมามากคือการเป็นรัฐสวัสดิการ การศึกษาเป็นสิทธิของทุกคนที่ควรจะได้รับ ตรงนี้เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่แสดงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่พ่อแม่ไม่ต้องหาเช้ากินค่ำเพื่อหาค่าเทอมให้ลูก เรื่องเหล่านี้รัฐควรจัดให้การ เรียนฟรีที่ดี มีคุณภาพ ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง 

นอกจากนี้ยังอยากให้เป็นประชาธิปไตย สะท้อนว่าทุกวันนี้ยังไม่ใช่ ถึงใช่ก็ไม่จริง การศึกษาในโรงเรียนช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยัง ตราบใดที่ยังไม่มองคนเป็นคน มองคนไม่เท่ากัน ประชาธิปไตยก็ไม่เกิด การที่ครูจัดการเรียนการสอนแบบไม่ค่อยรับฟังความเห็นเด็ก กำหนดสิ่งที่ตัวเองคิดแต่ไม่รับฟังความคิดคนอื่นก็คือการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เสนอว่า หนึ่ง ครูควรจะมีสายสนับสนุนการสอน จะได้ไม่ต้องไปเป็นหัวหน้างานอื่นนอกจากการสอน เช่น พัสดุ อาคารสถานที่ สอง ทำอย่างไรประชาธิปไตยจะเกิดในระบบราชการ วัฒนธรรมในชั้นเรียน โณงเรียนส่งผลถึงวัฒนธรรมในสังคม

นักเรียนเล่า โรงเรียนไม่มีที่ให้คนเก่งไม่ตรงสายการเรียน การชี้วัดส่งผลถึงครอบครัว

ทักษิณกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่โรงเรียน ค่อนข้างจะไม่อำนวยให้คนหลายๆ คนที่มีความสามารถไม่ตรงกับสายการเรียน บางคนเก่งอย่างหนึ่ง แต่ถูกชี้วัดด้วยเกรดว่าไปเรียนต่อที่หนึ่งๆ ไม่ได้ ทำให้เด็กหลายคนรู้สึกว่าไม่เป็นตัวของตัวเอง เหมือนถูกสังคมบังคับว่าถ้าไม่เป็นแบบนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้เด็กท้อในการเรียน ท้อว่าจะทำอย่างไรต่อ กลายเป็นหุ่นยนตร์ในระบบการศึกษา ส่วนการสอบโอเน็ตเหมือนไม่ยุติธรรม เพราะโรงเรียนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน วิธีสอนไม่เหมือนกัน ไม่ควรใช้ข้อสอบแบบเดียวกันทั้งหมด เด็กบางคนเสียโอกาส และเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เด็กเก่งในแบบหนึ่งๆ ทุกคน ข้อสอบไม่ค่อยอำนวยกับเด็กทุกคน 

ทักษิณยังเล่าสืบเนื่องจากการคุยกันเรื่องแนวทางประเมินการเรียนของโรงเรียนว่า เคยยื่นใบผลการเรียนให้พ่อแม่ดู ครูบอกว่าเป็นนักเรียนที่ไม่เรียบร้อย พ่อแม่ก็พลอยมองว่าเขาเป็นเด็กไม่ดีแม้ว่าทำได้ดีในวิชาหนึ่ง ทำได้แย่ในอีกวิชาหนึ่ง ใบประเมินลักษณะนี้ทำให้เด็กหลายคนค่อนข้างท้อกับการเรียน บางวิชาเขาไม่ชอบจริงๆ ก็ยังถูกที่บ้านติเตียน บางครอบครัวมีความคาดหวังกับเด็กสูงก็ยิ่งทำให้เรื่องแย่ลงไปอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท