Skip to main content
sharethis

รมต.ประจำสำนักนายกฯเข้าคุยสมัชชาคนจน รับหารือ ประยุทธ์ ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหา หลังปักหลักเรียกร้องรัฐบาลนั่งหัวโต๊ะเจรจาแก้ปัญหา

8 ต.ค.2562 ความคืบหน้าการเคลื่อนไหวของ สมัชชาคนจน ที่ชุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล ซึ่งมองว่า การแก้ไขปัญหาไม่เคยได้รับความจริงใจจากแทบทุกรัฐบาล ในครั้งนี้สิ่งที่เรียกร้อง คือ การขอให้มีกลไกการเจรจากับตัวแทนรัฐบาล โดยเสนอให้มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 13 กระทรวง ร่วมเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกับตัวแทนสมัชชาคนจน แต่กรอบข้อเสนอนี้ไม่เป็นผล ยังไม่มีการเจรจาไม่เกิดขึ้น

วันนี้ (8 ต.ค.62) เมื่อเวลา 15.50 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล โดยปิดถนนราชดำเนินบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ 2 ช่องทางจราจร หลังรัฐบาลยังไม่มีคำตอบตามข้อเรียกร้อง ท่ามกลางการดูแลความเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมา เวลา 16.35 น. เทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้เดินออกมาพบกับกลุ่มสมัชชาคนจนที่บริเวณที่ขุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจในกรณีหารือกับแกนนำกลุ่มสมัชชาคนจนแล้วว่า จะให้มาเป็นประธานแก้ไขปัญหาของกลุ่มสมัชชาคนจน แทน จุรินทร์ ตามที่กลุ่มสมัชชาคนจนร้องขอ

 

เทวัญ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณที่ไว้วางใจตน ซึ่งตนได้พูดคุยกับจุรินทร์แล้วว่า ทางกลุ่มสมัชชาคนจนอยากให้จุรินทร์มาเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ในฐานะที่กำกับดูแลทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจุรินทร์บอกว่าตัวเองมีงานในกำกับดูแลจำนวนมากแล้ว จึงกลัวว่าจะแก้ปัญหาให้กลุ่มสมัชชาคนจนไม่ได้ดี จึงขอร้องให้ตนมาช่วย และถ้ามีเรื่องใดส่งไปถึงกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ก็จะดูแลให้

สมัชชาคนจน วันนี้ยังออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ชื่อ "เราต้องการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเสมอหน้า"

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ตามที่สมัชชาคนจนได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน และขอนัดหมายการเจรจาการแก้ไขปัญหาในวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ซึ่งได้รับการประสานงานจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนัดหมายสมัชชาคนจนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอต่อสมัชชาคนจน ให้ใช้กลไกในการแก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ

ทางสมัชชาคนจนเล็งเห็นว่ากลไกการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นกลไกโครงสร้าง “แบบเสื้อโหล” ไม่มีรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปัญหามาร่วมเป็นกรรมการ มีแต่ฝ่ายข้าราชการที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับสมัชชาคนจน และไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น ทางสมัชชาคนจนจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ให้มีการเปิดเจรจา “อย่างเสมอหน้า” โดยให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเจรจา และให้มีอำนาจในการตัดสินใจที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งมีความยึดโยงกับประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ควบคุมดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของสมัชชาคนจน ด้วยเหตุนี้ ทางสมัชชาคนจนมีความจำเป็นต้องออกมารณรงค์เรียกร้องเพื่อให้เกิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเสมอหน้ากันระหว่างสมัชชาคนจนกับรัฐบาลตามข้อเสนอข้างต้น

ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน
สมัชชาคนจน
8 ตุลาคม 2562

ไทยพีบีเอส ยังได้สรุป 5 กลุ่มปัญหา 37 กรณี ของสมัชชาคนจนที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ 

5 กลุ่มปัญหา 37 กรณี

สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ "สมัชชาคนจน" ยังคงเรียกร้องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐ จำนวน 5 กลุ่มปัญหา 37 กรณี

1.กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ และกรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

1.1 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ
– ดอนหลักดำ ตำบลบ้านโนน อำเภอซาสูง จังหวัดขอนแก่น
– ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
– ดงคัดเค้า ตำบลอุ้มเหม้า อำเภอธาตุพนม และตำบลพุ่มแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
1.2 กรณีปัญหาปัญหาที่ราชพัสดุหนองน้ำขุ่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
1.3 กรณีปัญหาผู้เดือดร้อนจากการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน อำเภอปากน้ำโพ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์
1.4 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองกุง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
1.5 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
1.6 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์กุดทิง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
1.7 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์บะหนองหล่ม ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
1.8 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองเหล็ก ตำบลแคน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์
1.9 กรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
– กรณีปัญหาป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ (บ้านเก้าบาตร) ตำบลลานางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์
1.10 กรณีปัญหาการเตรียมประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ในที่สาธารณประโยชน์กุดทิง ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลบึงกาฬ ตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

2.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ

2.1 แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเขื่อนที่สร้างแล้ว หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย
1) กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร
2) กรณีปัญหาเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี
3) กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี
4) กรณีปัญหาเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ จ.ร้อยเอ็ด และจ.สุรินทร์
5) กรณีปัญหาเขื่อนหัวนา จ. ศรีสะเกษ
2.2 แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเขื่อนที่ยังไม่สร้าง ประกอบด้วย
1) กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จังหวัดชุมพร
2) กรณีปัญหาเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่

3.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ

3.1 โครงการอุตสาหกรรมบางสะพาน จ.ประจวบคิรีขันธ์
3.2 กรณีปัญหาการเวนคืนที่ดินเพื่อโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน – ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) – ถนนเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

4.แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร

4.1 กรณีปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำของเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคิรีขันธ์

5.แนวทางการเจรจาแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน

5.1 ปัญหานายจ้างใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย
5.2 กรณีปัญหาการเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย จำนวน 9 คน ตามคำพิพากษาศาลฎีกา
5.3 ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัท มิกาซ่า อินดัสตรี้ส์ (ไทยแลนด์) จำกัด
5.4 ปัญหาการตรวจพบสารตะกั่วในเลือดพนักงาน บริษัท ไทยหัวเวย แบตเตอรี่ จำกัด สูงกว่าค่าที่กำหนด
5.5 กรณีบริษัท ไอพีบี จำกัด และบริษัท ไทยโควะพรีซีชั่น จำกัด ร่วมกันชดใช่ค่าเสียหายจากการละเมิด และจากการเลิกจ้าง นางสาววิศัลย์ศยา พุ่มเพชรสา ต้องได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานลูกกลิ้งเฉือนนิ้วกลางข้างขวาข้อที่สองเกือบขาดต้องหยุดพักรักษานานกว่า 20 วัน และนิ้วไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
5.6 กรณีปัญหาปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน
1) กรณีบริษัทซี.ที. ปิโตรแอนด์ทรานส์ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน
2) กรณีบริษัท พี ดับบลิวเค จิวเวลลี่ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 653 คน
3) กรณีบริษัทโกบอล เซอร์กิต อีเลคทรอนิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 145 คน

เรียบเรียงจาก ไทยพีบีเอส ข่าวสดออนไลน์และเพจ สมัชชาคนจน Assembly of the Poor

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net