ประจักษ์ I พยาน เสวนาความทรงจำบาดแผลที่รัฐซุกไว้ใต้พรม สู่พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

ฟังเรื่องเล่าของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ร่วมด้วยการทำงานของนักประวัติศาสตร์ศิลปะให้ภาพถ่ายของเหตุการณ์ 6 ตุลาสร้างการรับรู้ต่อคนหลายกลุ่ม ชวนคุยกรณีถังแดง บาดแผลความรุนแรงโดยรัฐที่ยังไม่ถูกสะสาง และฟังคนทำงานพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา “เรื่องเล่าและการพูดคุยของคนในสังคมสำคัญพอๆ กับตัวอาคาร”

 


จากซ้ายไปขวา จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม, ธนาวิ โชติประดิษฐ, นัดดา เอี่ยมคง, ธนาพล อิ๋วสกุล, กษิดิศ อนันทนาธร

 

7 ต.ค. 2562 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. มีงานเสวนา วัตถุพยาน กับความทรงจำบาดแผล เนื่องในโอกาสเปิดนิทรรศการ ประจักษ์ I พยาน ห้อง 401 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสวนาโดย นัดดา เอี่ยมคง พี่สาว ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา, ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม ผู้เขียน ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย, ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ดำเนินรายการโดย กษิดิศ อนันทนาธร ผู้จัดการโครงการระดมทุนสร้าง "สวนป๋วย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“ไม่เคยลืมไปจากใจเลย ต้องเล่าให้ลูกหลานฟัง” ความทรงจำของพี่สาวถึงน้องชาย

นัดดา เอี่ยมคง พี่สาว ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวตนมี 12 คนพี่น้อง ตนเป็นคนโต ส่วนดนัยศักดิ์หรืออ้อยเป็นคนที่ 5 ตอนที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ดนัยศักดิ์ก็ได้ไปร่วมด้วย แต่เขาเอาชีวิตกลับมาได้ พอเขาเรียนรัฐศาสตร์ปี 2 ที่ ม.รามฯ เขาก็ย้ายออกจากบ้าน

“ประมาณวันที่ 2-3 ตุลา 2516 เราได้พบกับดนัยศักดิ์เนื่องจากเพื่อนของเขาถูกยิงเล็กน้อย เขาจึงพาเพื่อนไปที่ รพ.มิชชั่นที่เราทำงาน เขาบอกว่าเขาจะสอบเสร็จแล้วล่ะ สอบเสร็จจะกลับบ้าน (นครศรีธรรมราช) นั่นเป็นวันสุดท้ายที่ได้เจอเขา” นัดดากล่าว  

หลังจากนั้นพอได้ข่าวเหตุการณ์ยิงกันวันที่ 6 ตุล นัดดาเป็นห่วงน้องเพราะรู้ว่าน้องต้องมา แต่ไม่คิดว่าน้องจะเสียชีวิต พอวันที่ 7 เธอเริ่มเอะใจ จึงลางานเพื่อตามหาน้อง แต่ก็ไม่พบ หาจนเหนื่อยใจ

“ประมาณสองทุ่มรอฟังข่าว เราก็รู้ว่าน้องเสียชีวิตอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ไปดูศพก็เห็นเขาใส่กางเกงยีนส์ (ตัวที่เอามาจัดแสดงในนิทรรศการอยู่) ไม่สวมเสื้อ แต่เสื้อเขาคลุมอยู่ที่ร่างน้องผู้หญิงอีกคนที่นอนอยู่ติดกัน มารู้ทีหลังเพื่อนเขาเล่าให้ฟังว่า เขาหนีออกมาได้แล้ว แต่มีน้องผู้หญิงโดนยิง เขาเลยไปช่วย แล้วโดนยิงด้วย เสื้อยีนส์เขาถึงคลุมอยู่ที่ร่างน้องผู้หญิง” นัดดาเล่า

นัดดายังเล่าถึงความยากลำบากในการนำศพมาทำพิธีว่า ถูกไล่ออกจากวัดในกรุงเทพ จึงนั่งรถกลับไปที่นครศรีธรรมราชกลับไปถึงบ้านก็อาบน้ำให้น้อง แต่ต้องตัดกางเกงยีนส์ที่น้องใส่เนื่องจากสภาพศพแข็งทำให้ถอดกางเกงไม่ได้ คืนสุดท้ายก่อนเผาศพ ฝนตกหนัก

“ไม่เคยลืมไปจากใจเลย ถ้าหกตุลาต้องมาร่วมเกือบทุกครั้ง นอกจากไปต่างประเทศ ไม่มีอะไรที่เราจะลืมได้ กางเกงก็อยู่ในตู้ตลอด ต้องเล่าให้ลูกหลานฟัง พูดได้แบบภูมิใจด้วย เขาเสียสละเพื่อคนอื่น เขามีจิตใจบริสุทธิ์ เขาได้เข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ลูกเราสามคน สนิทกับอ้อยมาก น้าอ้อยเสียชีวิต ลูกหลานจะจำได้ว่าเป็นอะไร เพราะอะไร 43 ปี ไม่เคยลืมจากใจ มันฝังอยู่ ความทรงจำ”

“ไม่อยากคิดอะไร ไม่รู้ใครผิดใครถูก ไม่อยากรู้ใครกระทำ เราไม่อยากรู้เลย ซึ่งเรารู้แต่เราไม่อยากพูด แค่เราจำไว้แค่นั้นเองว่า ไอ้คนนี้แหละทำน้องเรา แต่เราจะไม่ประกาศ ไม่พูดออกไป” นัดดากล่าวทิ้งท้าย

 

การแตกตัวสู่กลุ่มคนหลากหลายของภาพถ่าย 6 ตุลาในฐานะความทรงจำและพยานหลักฐาน

ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า กำลังทำงานวิจัยภาพถ่ายหกตุลา โดยมีชื่อโครงการว่า ”ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา”

ธนาวิอธิบายว่างานส่วนแรก เชิญศิลปินช่างภาพ คือ กรกฤช เจียรพินิจนันท์ มาทำงานร่วม โดยการทำงานแบบนักประวัติศาสตร์ศิลปะจะทำงานกับวัตถุที่เป็นงานศิลปะ หรือวัตถุที่ถูกรับรู้ด้วยสายตา ตนเป็นคนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันที่หันมาสนใจเรื่องนี้ จึงอยากโฟกัสที่ภาพถ่ายซึ่งมีจำนวนมาก

ธนาวิเล่าว่า ตอนแรกเริ่มจากศึกษาภาพถ่ายชุดแขวนคอ ภาพนักศึกษากลางสนามฟุตบอล และอยากศึกษาว่าภาพถ่ายบอกอะไรเราได้บ้าง ปกติภาพถ่ายพวกนี้จะประกอบคำอธิบายเหตุการณ์ อยากทดลองโดยการเปลี่ยนเอาภาพถ่ายเป็นตัวตั้งในการศึกษา แทนที่จะแค่ภาพประกอบข้อความ

“พอเริ่มสำรวจแหล่งข้อมูล เราพบว่ามีภาพถ่ายจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นที่คุ้นเคย เลยทำการรวบรวมภาพถ่ายเหล่านี้มาเป็นหนังสือภาพ และมีคำอธิบายสั้นๆ ว่าเราเอามาจากแหล่งข้อมูลไหน ซึ่งจะรวมถึงภาพที่ประกอบสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ อยากพูดไปถึงบริบทการใช้ภาพแบบต่างๆ เช่น ภาพการเล่นละครที่ลานโพ ถูกพาดหัวอธิบายให้เข้าใจไปในทางหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นชนวนที่สำคัญในการเกิดเหตุ 6 ตุลา” ธนาวิกล่าว

ตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของงานวิจัย เพิ่งเสร็จสิ้นรวมมาเป็นรูปเล่ม ยังต้องใช้อีกปีครึ่งเพื่อศึกษาภาพถ่ายเหล่านี้ในแง่ความทรงจำและพยานหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ได้แจกหนังสือภาพถ่ายรวมเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วให้คนเขียนกลับมาว่าการได้ดูภาพถ่ายเหล่านี้ไปกระตุ้นความทรงจำอะไรของเขา ในกรณีเขาเกิดทันเหตุการณ์ หรือหากเกิดไม่ทัน พอดูแล้วรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ มีการเปลี่ยนแปลงความรับรู้อย่างไรไหม

“พี่คนหนึ่งซึ่งผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา ส่งข้อความกลับมาสั้นๆ ว่า เขาไม่อยากจะดูเลย เปิดดูเร็วๆ เพราะทำให้เจ็บปวด เสียใจ แต่รู้สึกดีที่มีหนังสือเล่มนี้ออกมา ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่ที่ไม่เคยผ่าน ส่งมา เรื่องเล่าอีกแบบหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดเราพยายามทำควมเข้าใจว่าเมื่อเรื่องนี้แตกออกไปสู่กลุ่มคนหลากหลาย มันจะพาไปทางไหนได้บ้าง เพราะเราคงหวังพึ่งแบบเรียนไม่ได้มากนัก ข้อมูลที่เก็บมาได้ก็จะถูกใช้ในการอธิบายต่อไป” ธนาวิกล่าว

นอกจากนี้ธนาวิชี้ว่า ความเป็นภาพถ่ายมีข้อต้องระวัง แง่ที่เรามักคิดภาพถ่ายคือบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภาพถ่ายจะให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา แต่จริงๆ แล้วภาพถ่ายอาจทำให้เราเข้าใจผิดได้ เคสเล่นละครแขวนคอ ชัดเจนว่าภาพหลอกเราได้ ดังนั้นการจะพูดถึงภาพถ่ายในฐานะพยานหลักฐาน ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่มีโจทย์ที่เราต้องจัดการ

 

หนังสือภาพ ”ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา” พิมพ์ด้วยทุนวิจัย แจกฟรีที่คณะโบราณคดี วังท่าพระ ศิลปากร ชั้น5

 

ถังแดง: บาดแผลความรุนแรงโดยรัฐที่ยังไม่ถูกสะสาง

จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม ผู้เขียน ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย กล่าวว่า ถังแดง ในการรับรู้ของคนในพื้นที่ คือวิธีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ช่วงปี 2515-2518 ไม่เฉพาะคนที่ถูกเผาในถังแต่รวมคนถูกยิง ถูกทรมานต่างๆ ในช่วงเหตุการณ์นั้นด้วย

จุฬารัตน์เล่าว่า ช่วงเวลานั้น วิธีการจับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือถูกกล่าวหา สบคบคิด ช่วยเหลือ พคท. ก่อนเข้าป่าจะถูกกวาดจับเอามาอยู่ในค่ายทหาร 3-4 วัน ก่อนจะสอบสวน ระหว่างสอบสวนมีการซ้อม ทำร้ายร่างกาย หรือถูกตีให้สลบ ถูกจับใส่ในถังน้ำมัน ราดน้ำมันลงไป บางครั้งผู้ถูกกระทำยังไม่ได้อยู่ในช่วงถูกเผา บางคนฟื้นขึ้นมาก่อน ก็จะมีเสียงกรีดร้อง จึงต้องสตาร์ทรถจีเอ็มซีเพื่อจะกลบเสียงนั้น นี่คือเรื่องเล่าที่รู้กันในพื้นที่บริเวณนี้ บางคนเรียกการเผาในถังแบบนี้ว่า มาตรา 20 คือต้องเอาน้ำมันใส่ 20 ลิตรก่อนเผา

จุฬารัตน์กล่าวต่อว่า การจับกุมผู้ต้องสงสัย เป็นการเหวี่ยงแห ชื่อคล้ายกันก็ถูกจับมาหมด คนจำนวนหนึ่งคือญาติพี่น้องของคนที่ทางการสงสัย ไม่ได้เป็นสหายหรือแนวร่วม พคท. ก็ถูกจับมาสอบสวนว่าญาติอยู่ที่ไหน คนที่บอกไม่รู้ไม่เห็น ก็มักเอาไปซ้อมและเผา บางคนอาจเรียกเป็นวิธีการทำลายศพ

โดยตัวเลขที่เก็บรวบรวม ศูนย์กลางนิสิต รายงาน 3,008 ศพ แต่ตัวเลขที่ได้จากการพูดคุยเฉพาะเขตงานที่ตนลงไปคุย มีประมาณ 200 กว่าคน รวมไปถึงคนหายสาบสูญ

จุฬารัตน์เล่าว่า กรณีถังแดง ช่วงปี 2518 มีศูนย์กลางนิสิตลงไปทำงานในพื้นที่ และมีการเชิญคนในพื้นที่มาเล่าให้ฟังที่ท้องสนามหลวง เพราะสื่อไม่ได้ทำข่าวพวกนี้ตั้งแต่แรก ต่อมาจึงมีการลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ พอเป็นข่าวมากขึ้นก็มีการเอาเข้า ครม. มหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยในเวลานั้นมีการออกมายอมรับจากรัฐ ให้เงินเยียวยา แต่ก็ยังให้เหตุผลว่าคนเสียชีวิตไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ และยังกล่าวว่ามีเพียง 50-80 คนเท่านั้นที่เสียชีวิต

“ดังนั้นต่อคำถามว่า รู้ได้ไงถึงแดงมีจริง ก็เพราะรัฐออกมายอมรับเอง แต่การรับรู้เรื่องถังแดงเป็นข่าวสั้นๆ ช่วงนั้น ปัจจุบันชาวบ้านพยายามรื้อฟื้นถังแดง โดยกลุ่มสหายเก่า จ.พัทลุง ประจักษ์พยานปรากฏที่ไหนบ้างในพื้นที่ มีการทำอนุสรณ์สถานถังแดงสร้างขึ้นเมื่อปี 2547 ประจวบกับช่วงนั้นมีการสร้างอนุสรณ์ในหลายพื้นที่ เช่น อนุสรณ์สถานสันติภาพภูพานที่ จ.กาฬสินธุ์ ปี 2537 อนุสรณ์สถานประชาชนอีสานใต้ที่ จ.บุรีรัมย์ ปี 2542 อนุสรณ์สถานบ้านช่องช้าง ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2542 รวมถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ปี 2545” จุฬารัตน์กล่าว

นอกจากนี้เธอชี้ว่าตัวอนุสรณ์ มีความหมายกับคนที่เป็นอดีต พคท. บอกสิ่งที่รัฐกระทำชาวบ้าน แต่อีกทางสำหรับคนถูกกระทำ เขารู้สึกเป็นสัญลักษณ์ทิ่มแทงใจ คนจำนวนหนึ่งไม่ไปงานถังแดง เพราะมีญาติพี่น้องตายเพราะสหาย พคท. แง่หนึ่งจึงเป็นการทำร้ายความรู้สึกของคนเหมือนกัน ดังนั้นคนจัดพยายามชวนญาติพี่น้องมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เลือกใช้การจัดงานรำลึกไม่ให้เอียงไปทางประกาศแนวร่วมของ พคท.

นอกจากอนุสรณ์แล้วก็มีงานรำลึกทุกปี เพื่อรำลึกผู้เสียชีวิตและคนที่หายสาบสูญ แต่ด้วยข้อจำกัด ช่วงมีการเมืองเหลืองแดง ก็มีความขลุกขลักในพื้นที่

ด้านความทรงจำของชาวบ้านที่มีต่อเหตุการณ์ จุฬารัตน์เล่าว่า จะมีประเภทที่ลืมไม่ได้จำไม่ลง อยากลืมก็ลืมไม่ได้ ชาวบ้านมั่นใจว่าเรื่องเกิดขึ้นจริง ในพื้นที่มียายคนหนึ่งเชื่อว่าสามีถูกฆ่ายัดถังแดงเป็นคนแรก สามีสูงใหญ่ ถูกจับเข้าค่ายทหาร เขาก็ไปหาสามีที่ค่ายทุกวัน วันที่สองทหารไม่ให้เข้า วันที่สามทหารบอกปล่อยกลับบ้านไปแล้ว แต่เขาก็หาสามีไม่เจอ จนถึงทุกวันนี้ก็หาไม่เจอ แต่ครั้งหนึ่งเขาบังเอิญไปเจอผู้พันจากอีกจังหวัดหนึ่ง เล่าว่าคนนี้น่าจะตายไปแล้ว และเชื่อว่ามีการหั่นศพแล้วใส่ถึงเผา ขณะที่มีโอกาสได้ไปถามยาย ยายมีท่าทีอึกอักไม่อยากเล่าให้ฟัง ใช้เวลานานกว่าจะพูดกับเขาได้ เวลาเห็นข่าวในทีวี เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐทำร้ายประชาชน เขาก็จะบ่นพึมพำ คล้ายกับความทรงจำยังวนเวียนกับเขา

หรือความทรงจำอีกรูปแบหนึ่ง เช่น ลุงที่มีอาชีพขับรถในพื้นที่ วันหนึ่งถูกถามเจอคอมมิวนิสต์ไหม แล้วถูกจับเข้าค่าย และเจอการถูกข่มขู่ สุดท้ายถูกปล่อยพร้อมกับมีใบปล่อยตัว ทำให้เขากลัวทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและคอมมิวนิสต์ จนถึงทุกวันนี้เขาก็ยังเก็บใบปล่อยตัวนั้นไว้อยู่

อีกแบบคือไม่อยากพูดถึงแล้ว เพราะคนในพื้นที่นั้นญาติกันหมด คนที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งต้องอยู่ฝ่ายรัฐ ก็เลือกจะไม่พูดถึง ไม่พยายามสะสาง เหตุผลเพราะอะไร อันหนึ่งที่เป็นคำตอบคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เมื่อยังไม่เกิดความเป็นธรรม ไม่รู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะให้เขามาคุยเรื่องอดีตเขาก็ทำไม่ได้

“ความทรงจำบาดแผลต้องระมัดระวัง แต่ทำอย่างไรให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้มีแค่ถังแดง การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐทำให้อึดอัด คับข้อง ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้พูด มากกว่าจะกลบไว้ในใต้พรม” จุฬารัตน์กล่าว

 

พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ที่กระบวนการและเรื่องเล่าสำคัญพอๆกับการสร้างตัวพิพิธภัณฑ์

ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เริ่มทำข้อมูลเกี่ยวกับ 6 ตุลา ตอนปี 2539 เทคโนโลยียังไม่ทันสมัย รูปยังเป็นสไลด์ ไม่สามารถนำมาซูมขยายดูผู้เสียชีวิตได้ว่าเป็นใคร ดังนั้นความคิดจะรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นภาพใหญ่จึงยังไม่มี

“ประวัติศาสตร์สำหรับผมไม่ใช่เรื่องในอดีต แต่คือปัจจุบัน อยู่ที่เทคโนโลยี โอกาส และบริบทจะอำนวยให้พูดได้แค่ไหน คุณไม่สามารถพูดถึง 6 ตุลาในปี 2529 ได้ เพราะเป็นยุคของพลเอกเปรม คอมมิวนิสต์ยังกวาดไม่หมด ความหวาดกลัวยังมี พอปี 2539 ผู้ที่รอดจากเหตุการณ์เริ่มจัดงาน ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีฐานะดีขึ้น และบาดแผลชอกช้ำเริ่มจาง” ธนาพลกล่าว

สำหรับของที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ธนาพลเล่าว่า คิดถึงเรื่องที่คนจะสนใจ ก็คือประตูแดง แล้วมันอยู่ในที่ดินส่วนบุคคลซึ่งต่อไปอาจจะมีการขาย ยังไงก็ต้องเก็บประตูไว้ก่อน วิธีคือขอซื้อแล้วทำใหม่ให้เขา เพราะเราเห็นตัวอย่าง เช่น ศาลาเฉลิมไทย ในยุคคณะราษฎร ก็ถูกทุบด้วยเหตุผลว่าเพื่อเปิดทัศนียภาพแก่โลหะปราสาท (วัดราชนัดดารามวรวิหาร) เมื่อปี 2530 หลังจากนั้นเรามาเจอป้ายศาลาเฉลิมไทยอยู่ในร้านรับซื้อเศษเหล็ก หรือลำโพงที่นำมาจัดแสดงก็อยู่ตึกในกิจกรรม อยู่ในห้องเก็บของ เราเลยถือวิสาสะเอากลับบ้านก่อน

ธนาพลเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาไม่ใช่การสร้างตึกแน่ๆ มันไม่ใช่หน่วยงานราชการ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งคำถามกับรัฐ ยากมากที่จะได้สนับสนุนจากรัฐ พิพิธภัณฑ์จึงคือกระบวนการ เวทีวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ได้คุย ได้เรื่องเล่า นิทรรศการนี้เป็นเหมือนแค่น้ำจิ้ม เราหวังถ้าใครมีวัตถุพยาน มีเรื่องเล่า มีเงิน ก็อยากชวนมาร่วมกัน การสร้างตึกต้องทำ แต่กระบวนการทำเราอยากให้คนมีส่วนร่วม ต้องอาศัยความร่วมมือ และเราคิดว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ เพราะเรื่องเล่าและการพูดคุยกันในสังคมที่เกิดขึ้นสำคัญพอๆ กับการสร้างตึก

“เราสนใจประเด็นหกตุลาที่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน เช่น กรณีของนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาในตอนนั้น แต่กลายเป็นรอยัลลิสต์และล่าแม่มดฝั่งตรงข้าม ในฐานะที่วันหนึ่งคุณเคยเป็นเหยื่อแล้วกลายเป็นผู้ล่า ความคิดคนเปลี่ยนได้ ดังนั้น 6 ตุลาไม่ใช่อดีต แต่เป็นเรื่องปัจจุบันด้วย”

 

6 ต.ค. 2519 เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ 

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง และบริเวณโดยรอบเป็นโศกนาฏกรรมของการฟาดฟันกระแสสังคมนิยมที่เริ่มแพร่หลายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (จะกล่าวถึงต่อไป) เมื่ออุดมการณ์สังคมนิยมถูกใช้ในการวิพากษ์ระบบชนชั้นที่กดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย ดังที่เห็นได้จากการพูดถึงในหมู่นักศึกษา แรงงาน ชาวนา ทั้งยังมีพรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้รับเลือกตั้งเข้าสภาถึง 3 พรรครวม 37 ที่นั่ง กระแสหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมในยุคสงครามเย็นทำให้ฝ่ายรัฐสร้างนโยบาย เรื่องเล่า และจัดตั้งกลุ่มประชาชนเพื่อตอบโต้ มีการโจมตีพรรคสังคมนิยม กลุ่มแรงงาน นักศึกษาว่าเป็นพวกขายชาติ หนักแผ่นดิน เป็นสายลับเวียดนาม โซเวียต ฯลฯ 

การกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ ที่ถูกประชาชนขับไล่ไปเมื่อปี 2516 ในฐานะพระภิกษุในวันที่ 19 ก.ย. 2519 และข้อความของสถานีวิทยุยานเกราะที่บอกว่าการกลับมาไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง ทั้งยังเตือนไม่ให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านถนอมของขบวนการนักศึกษาและประชาชนซึ่งถูกตอบโต้จากกลุ่มฝ่ายขวา เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปท่ามกลางการลอบฆ่าและลอบทำร้ายผู้นำแรงงาน ชาวนาและนักศึกษา ที่ได้ยินกันบ่อยคือชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงศา 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐมที่ถูกฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ตำบลพระประโทน

ในวันที่ 4 ต.ค. กลุ่มนักศึกษาใน มธ. รณรงค์ให้นักศึกษางดสอบแล้วมาร่วมประท้วงขับไล่ถนอม ในการรณรงค์มีการแสดงละครที่มีฉากการแขวนคอสะท้อนถึงเหตุการณ์ 2 ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม ฉากดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งหน้าของผู้ถูกแขวนคอ (อภินันท์ บัวหภักดี) บังเอิญไปคล้ายกับพระบรมโอรสาธิราช จากนั้นหนังสือพิมพ์ดาวสยามจึงได้เผยแพร่ภาพการแขวนคอต่อ พร้อมมีข้อความโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำลายสถาบันกษัตริย์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการคอมมิวนิสต์ สถานีวิทยุทหารทุกแห่งขยายข้อความด้วยการปลุกระดมให้ทำลายพวกคอมมิวนิสต์ใน มธ. นำมาซึ่งการปิดล้อม มธ. โดยกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่นกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพลในดึกวันที่ 5 ต.ค. ก่อนที่เช้าวันที่ 6 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุมใน มธ. ตามมาด้วยการปราบปรามใหญ่ด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ถูกปลุกระดม (ข้อมูลจากเว็บบันทึก 6 ตุลา)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท