กสม.หนุนหนุนรัฐแก้ปัญหาสารพิษอย่างยั่งยืน - ส.ชาวสวนปาล์มฯ ค้านมติแบนพาราควอต 

กสม. ประกายรัตน์ หนุน 'ครม.-กระทรวงเกษตรฯ-คณะกรรมการวัตถุอันตราย' แก้ปัญหาพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ชม 'ภาคประชาสังคมและสาธารณสุข' ทำหน้าที่เข้มแข็ง ขณะที่ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันฯ ค้านมติแบนพาราควอต เตือนผู้บริโภคเตรียมรับภาระราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น 

ภาพซ้าย ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิฯ ภาพขวา สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย 

9 ต.ค.2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยกรณีที่มีกระแสเรียกร้องในวงกว้างให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า ตนเห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และได้สั่งการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเร่งหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ รัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร ผู้บริโภคเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใน 60 วัน ขณะที่รัฐมนตรี 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้มีท่าทีชัดเจนในการคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งการเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวยังแสดงถึงการตื่นตัวของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่ช่วยกันติดตามและนำเสนอประเด็นนโยบายของรัฐอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง

ประกายรัตน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบที่ 31/2562 เรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกาย อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิผู้บริโภค กรณีคัดค้านการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอตของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งการตรวจสอบของ กสม. ได้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านโดยเฉพาะด้านพิษวิทยาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ปริมาณสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตร รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้ดำเนินมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

ประกายรัตน์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. ที่มีถึง 3 หน่วยงานมีดังนี้ 1. คณะกรรมการวัตถุอันตราย ควรกำหนดให้พาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายปี 2535 มาตรา 18 โดยห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง 2. กระทรวงเกษตรฯ ควรแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดในระยะยาว ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาทางเลือกด้านสารชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรอย่างเป็นระบบและจริงจัง และ 3. คณะรัฐมนตรีควรจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสารเคมีทางการเกษตร เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาจากร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาสังคม-สาธารณสุข

“กสม. ยังรอคอยความหวังว่า ทั้งสามหน่วยงานจะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม. อย่างครบถ้วน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการใช้พาราควอต รวมทั้งสารเคมีการเกษตรตัวอื่น ๆ ในภาคการเกษตรที่มีอันตรายสูงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เช่น คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต เป็นไปอย่างเป็นระบบและยั่งยืนในทุกมิติตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 55 ได้บัญญัติให้รัฐต้องดูแลและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 12 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ ดังนั้น รัฐไทยจึงควรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 วรรคสอง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง” กสม. ประกายรัตน์ ระบุ

ส.ชาวสวนปาล์มฯ ค้านมติแบนพาราควอตกระทรวงเกษตรฯ 

มนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เกษตรกรกว่า 500,000 ราย ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขอยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม “อนุญาตให้ใช้พาราควอต” ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ฯ เนื่องจากตลอดสองปีกว่าที่ผ่าน เกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์มาโดยตลอด มีการจัดตั้งคณะทำงานหลายชุดตามข้อเสนอแบนสารเคมีของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรอิสระ เอ็นจีโอ ท้ายที่สุดมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ระบุชัดว่า “ข้อมูลต่าง ๆ ของฝ่ายแบนนั้น หลักฐานไม่เพียงพอ” แสดงให้เห็นว่า “ข้อมูลเหล่านั้นไม่มีน้ำหนัก ขาดความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด” แต่ฝ่ายเสนอแบนไม่เคยยอมรับมติ เผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตัวเกษตรกร ต้นทุนพุ่ง กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตร สินค้าปลอมและสารเคมีนำเข้าผิดกฎหมายเกลื่อน ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือในการส่งออก ที่บอกว่าปาล์มน้ำมันทั่วโลกเลิกใช้พาราควอต เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจริง ๆ แล้ว มาตรฐาน RSPO เป็นมาตรฐานสมัครใจ  ก็ยังให้ใช้พาราควอตตามเงื่อนที่จำเป็น และเป็นไปตามกฏระเบียบของประเทศ เกษตรกรที่เข้ามาตรฐาน RSPO มีกี่รายที่ทำได้ ตอนนี้อินโดนีเซียเองก็ยังออกจากมาตรฐาน RSPO มาใช้มาตรฐานของตนเอง 

รวมทั้ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ เคยรายงานต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วว่า ไม่มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนกับข้อกล่าวอ้างว่าพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบเนื้อเน่า การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกนั้น ล้วนแต่ขาดความชัดเจนของข้อมูล อย่างโรคมะเร็งจากบุหรี่ในปีหนึ่งๆ ห้าหมื่นกว่าคน ทำไมไม่แบนบุหรี่ 

วราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยจะเพิ่งเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดไม่ได้ ต้องพึ่งเกษครเคมีด้วย ดังนั้นใครถนัดวิถีไหน ก็ทำไป และเป็นเรื่องที่ดีที่เกษตรกรออกมาให้ข้อมูล จะได้เป็นการให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ไม่ใช่ให้ข้อมูลแต่เพียงด้านเดียว เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หากมีการแบน ต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น”

สิ่งที่เกษตรกรสงสัยที่สุด ตอนนี้ คือ ความพยายาม “แบนพาราควอต” อย่างรุนแรง และไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับ ความพยายาม “ผลักดันสารเคมีทดแทนตัวใหม่” ที่ราคาแพงกว่าหลายเท่า แถมสารที่แนะนำ เอ็นจีโอที่อังกฤษ บอกว่าก่อมะเร็งและทำลายระบบประสาท สามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารทดแทนที่แนะนำนี้ ขายในไทยมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่ใช้เหตุเพราะแพงและอันตรายกว่า งานนี้ อาจมีเบื้องหลังจากกลุ่มทุนรายใหญ่ร่วมแบน “หากพาราควอตยังอยู่ ตัวนี้ก็ขายไม่ได้” ท้ายสุด เกษตรกรก็รับเคราะห์เหมือนเดิม 

“เกษตรกร 500,000 ราย อยากร้องขอ “นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่ได้รับเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่จากเกษตรกร “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” “กรมวิชาการเกษตร” พิจารณาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ไม่ตามกระแสสังคม เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน ต้องนำภาษีประชาชนมาใช้อีกกี่แสนล้านบาท “อย่าใช้เกษตรกรเล่นเกมการเมือง” และ “เอื้อประโยชน์นายทุนที่อยู่เบื้องหลังการแบน” มนัส กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท