คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน คืนสันติภาพให้จังหวัดชายแดนใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา

กรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตัวเอง ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างความถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาซึ่งได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ทว่าก็คงต้องรอฟังข้อเท็จจริงจากอนุกรรมการ ก.ต.วิสามัญ ที่จะทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร

การตรวจร่างคำพิพากษามีข้อดีในแง่ที่ทำให้การพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ มีการใช้กฎหมายความมั่นคงในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระบวนการยุติธรรมย่อมมีส่วนสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นไปภายในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจหรือไม่ ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมโดยรวม

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ศาลยุติธรรมคงต้องสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ความกระจ่างชัดและตอบข้อสงสัยของสังคมได้ว่ามีการแทรกแซงการตัดสินคดีเกิดขึ้นจริงหรือไม่
แต่ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งที่ศาลยุติธรรมควรต้องตอบให้ชัดเจนด้วยก็คือเส้นแบ่งระหว่างการตรวจร่างคำพิพากษากับการแทรกแซงการตัดสินคดีอยู่ที่ใด

กฎระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวกับการตรวจร่างคำพิพากษาที่สำคัญ คือ มาตรา 11 (1) ประกอบมาตรา 14 วรรคหนึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่ให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสำนวนและมีความเห็นแย้งได้ในคดีบางประเภทนั้น เพิ่งจะมีขึ้นภายหลังจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมในปี 2551 ซึ่งเหตุผลในการแก้ไขระบุว่า “โดยที่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลยุติธรรมเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและการกลั่นกรองจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ สมควรกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจให้คำแนะนำแก่ข้าราชการตุลาการ และให้ผู้ที่รับผิดชอบการบริหารงานของศาลมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้ง”

โดยมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมในกรณีนี้ ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 ข้อ 9 ซึ่งกำหนดให้คดีที่ต้องรายงานต่อสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค (หมวด 2) เป็นคดีที่จะต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจ เมื่ออ่านระเบียบข้างต้นแล้วทำให้เข้าใจไปได้ว่าร่างคำพิพากษาต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีหรือรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคก่อน โดยไม่ได้กล่าวถึงการทำความเห็นแย้งติดสำนวนไว้ดังที่ปรากฎในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม จึงทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าระเบียบดังกล่าวขัดกับมาตรา 11 (1) พระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

นอกจากการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทคดีที่ต้องส่งให้ตรวจ และกำหนดผู้มีอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษาแล้ว ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดรายละเอียดในเชิงเนื้อหาในการตรวจร่างคำพิพากษาเอาไว้ในข้อ 14 ซึ่งกำหนดว่า “การตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งตามข้อ 13 ให้ดำเนินการเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่ต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และให้แสดงไว้ในร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” จะเห็นได้ว่าระเบียบดังกล่าวได้กำหนดเกณฑ์ในเชิงเนื้อหาของการตรวจร่างคำพิพากษาเอาไว้อย่างหลวม ๆ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการตรวจร่างคำพิพากษาและการแทรกแซงการตัดสินคดีมีความพร่าเลือน

จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ศาลยุติธรรมจะได้นำระเบียบดังกล่าวมาพิจารณาปรับปรุงเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการตรวจร่างคำพิพากษาที่ชัดเจน และไม่เป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

คืนความยุติธรรมให้ประชาชน

จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่ถูกตั้งคำถามมิได้มีเพียงเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการเท่านั้น หากแต่มีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ที่เราไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป ก็คือ ปัญหาการใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ กล่าวโดยเฉพาะคือ กฎอัยการศึกฯ และ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการข่าว การป้องกันหรือบรรเทาเหตุรุนแรงอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐที่มีความร้ายแรงจนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กฎหมายความมั่นคงทั้งสองฉบับนี้ได้ถูกใช้เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดในคดีความมั่นคง โดยที่กฎหมายดังกล่าวมีมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต่ำกว่ากลไกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ ข้อมูลในชั้นซักถามในขั้นตอนการใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏเป็นปกติในสำนวนการสอบสวนและสำนวนคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ และกลายเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญ โดยที่เราไม่อาจทราบได้เลยว่าในขั้นตอนดังกล่าวเกิดอะไรขึ้นบ้าง แตกต่างจากกระบวนการสอบสวนในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ผู้ต้องหามีสิทธิมีทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจอยู่ในกระบวนการสอบสวนด้วย

น่าประหลาดที่สิทธิของผู้ต้องสงสัยในชั้นของการใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคง ซึ่งเขายังเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยกลับมีสิทธิด้อยกว่าผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว (ผู้พิพากษาคณากรใช้คำว่า “โดยผมตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ต้องสงสัยนี้ มีศักดิ์ของความเป็นผู้บริสุทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องหา แต่กลับมีสิทธิทางกฎหมายด้อยกว่าผู้ต้องหา)

กรณีที่เกิดขึ้นจึงควรจะกระตุ้นสังคมให้กลับมามองปัญหาการใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่มากยิ่งขึ้น จะยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ไปเลย หรือหากยังเห็นว่ากฎหมายความมั่นคงยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อยู่แต่ควรมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการรับรองสิทธิเสรีภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น เช่น สิทธิในการมีทนายความ การขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวจะต้องนำตัวมาให้ศาลเห็นเนื้อเห็นตัว เป็นต้น กรณีที่เกิดขึ้นควรที่จะนำไปสู่การถกเถียงในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ภายใต้บริบทของการใช้อำนาจกฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ ศาลควรมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจตาม กฎหมายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในแง่นี้ศาลยุติธรรมจึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายในการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน และด้วยเหตุดังกล่าวสังคมจึงคาดหวังกับองค์กรตุลาการมากกว่าองค์กรอื่น ๆ
 

คืนสันติภาพให้จังหวัดชายแดนใต้

กรณีที่เกิดขึ้นควรทำให้สังคมตระหนักว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น และมิใช่เพียงแค่การดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นที่จะเป็นหลักประกันความยุติธรรม หากแต่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นในใจของประชาชนด้วย

โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างกรณีจังหวัดชายแดนใต้นั้น กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพย่อมเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ความรุนแรงไม่บานปลาย คำว่า “ประสิทธิภาพ” ในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงสถิติการลงโทษหรือยกฟ้องคดี หากแต่หมายถึงการนำตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้โดยอาศัยพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และให้หลักประกันได้ว่าสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมจะไม่ถูกจำกัดเกินกว่ากรณีที่จำเป็นสำหรับการรวบรวมพยานหลักฐาน นอกจากนี้ต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมได้รับการยอมรับจากประชาชนอีกด้วย กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้รับการยอมรับย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างแนวร่วมและความรุนแรงไม่รู้จบ และสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย

ในพื้นที่ความขัดแย้งกันอย่างในกรณีจังหวัดชายแดนใต้นี้ หลักการพื้นฐานที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นยิ่งกว่าในพื้นที่อื่นใด ในจังหวัดชายแดนใต้ หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จะต้องได้รับการยึดถือและปฏิบัติตาม ด้วยการยึดมั่นในหลักการพื้นฐานทางกฎหมายอย่างแน่วแน่เท่านั้นที่จะทำให้คนในพื้นที่รับรู้ได้ถึงความเป็นธรรมที่รัฐได้มอบให้

กรณีผู้พิพากษาคณากรที่เกิดขึ้นนั้น จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เรียกร้องให้ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” หากแต่ต้อง “คืนสันติภาพให้จังหวัดชายแดนใต้” ด้วย

 

ป.ล. ขอขอบคุณผู้ที่ร่วมถกเถียงในประเด็นนี้ ทำให้เกิดแง่คิดในหลายประการ หากแต่ผมไม่สามารถเอ่ยนามเขาในที่นี้ได้และเขาคงไม่ปรารถนาที่จะให้ผมทำเช่นนั้นเช่นกัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Patani Note

ที่มาภาพ: วิสุทธ์ บินล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน สำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้ เข้าเยี่ยมนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น ศาลจังหวัดยะลา ที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังจากที่บาดเจ็บเพราะยิงตัวเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท