มโนทัศน์เบื้องหลังการไม่กลายเป็นวีรชนในวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความย่อประเด็นมาจาก
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์. (2562). “มโนทัศน์เรื่องการ (ไม่) กลายเป็นวีรชนของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองไทยร่วมสมัย” ใน การประชุมวิชาการระดับชาติ ธีรทัศน์เชิงมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (น.858-875). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. 

เกริ่นนำ

อาจเจ็บปวดอยู่สักหน่อยหากต้องกล่าวว่า ปฏิบัติการในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 ของ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เพิ่งครบรอบ 13 ปี ไปอย่างเงียบเชียบเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา อาจเพราะกระแสสังคมที่นับวันยิ่งตื่นตัวไปกับปรากฏการณ์รายวันซึ่งชี้ชวนให้รู้สึกว่าน่าสนใจกว่า นั่นคือเหตุโดยบังเอิญที่ข่าวสารมากมายทำหน้าที่กลบฝังและฉกฉวยการมีตัวตนอยู่ของวีรชนผู้นี้ ทั้งที่ ลุงนวมทอง เป็นบุคคลร่วมสมัยแทบจะเป็นคนเดียวที่สู้อุตส่าห์แสดงเจตนาเพื่อที่จะลบล้างคำสบประมาทของนายทหารผู้หนึ่งที่ว่า “...ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้...” [1] ทั้งลุงนวมทองก็มิได้กระทำตนในลักษณะของการปลุกระดม มิได้สร้างเหตุการณ์อาศัยมวลชน หรือมิได้กล่าวสุนทรพจน์หรือปราศรัยให้ใครต้องแสดงความนับถือในปณิธานของตน ลุงนวมทองเลือกที่จะพลีชีวิตของตนเป็น “มรณสักขี” (Martyr) อย่างเงียบๆ ด้วยการผูกคอตายราวกับจะเยาะเย้ยว่า ความตายไม่อาจเปลี่ยนความจริงในใจของตนได้ ก็สมตามที่ เกษียร เตชะพีระ ได้หยิบยืมคำนี้มายกย่อง [2] 

ที่น่าเศร้าคือ ความตายของลุงนวมทองจัดประเภทไม่ได้ เพราะ เป็นการฆ่าตัวตาย รัฐมิได้อยู่ในฐานะจำเลยโดยตรงที่กระทำให้ตาย ซ้ำร้าย ลุงนวมทอง มิใช่บุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง นั่นยิ่งทำให้ ลุงนวมทองผู้สมควรเป็นวีรชนร่วมสมัย มิอาจเป็นแรงบันดาลใจที่ลึกซึ้งให้กับผู้ใดได้ เหตุว่า โลกทุนนิยมไม่พร้อมที่จะผลิตซ้ำสินค้าที่ขายไม่ได้ดังเช่นลุงนวมทอง ชายแก่นิรนามที่ผ่านมาและผ่านไป และเมื่อสืบค้นลงไปในอดีต ก็ยิ่งพบอีกว่า มีบุคคลนิรนามเช่นนี้อีกมากที่ถูกลืมเลือน ตัวอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เช่น กรณีของ ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2533  ผู้เผาตัวตายไม่ต่างจากชาวทิเบตที่แสดงสัญลักษณ์ต่อรัฐบาลจีน แต่วีรกรรมที่หนักแน่นดังกล่าวกลายกลับเป็นเรื่องที่ผู้คนกลับลืมเสียสิ้น ข้อความนี้ ผู้อ่านพิสูจน์ได้จากการสืบค้นข่าวดังกล่าวด้วยตนเอง 

ความแปลกประหลาดเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของความสงสัยที่ว่า มีมโนทัศน์อะไรที่แฝงฝังอย่างแนบเนียนอยู่ในสังคมไทยหรือไม่ ซึ่งมโนทัศน์ดังกล่าวยังผลให้ทุกชีวิตที่ล้วนตายจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่อาจกลายเป็นวีรชนได้ตามความหมายของวีรชนเลย มิพักต้องพูดถึง ความตายที่มีเงื่อนงำของนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ยังคงหายสาบสูญ  หรือแม้กระทั่งกรณีของ “บิลลี่” ผู้เสียชีวิตในลักษณะไม่ต่างจากมรณสักขีในยุคเริ่มต้นของศาสนจักร กล่าวคือ การถูกเผา ในท่ามกลางความเงียบของวันที่สัตว์อย่างเสือดำมีแนวโน้มว่าจะตายฟรีเสียแล้ว เพราะแม้แต่คนเองยังตายฟรี ความเงียบที่ปรากฏตัวสม่ำเสมอกว่าความกล้าหาญนี้ คงเคียงข้างความตายของลุงนวมทองในเส้นเชือกที่ใช้ปลิดชีวิตวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ในความเงียบ และในการไม่กลายเป็นวีรชน

เพราะฟันเฟืองนิรนามมิได้ถูกทำให้ขับเคลื่อนสิ่งใด

มีอะไรบางอย่างทำให้ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองคงเป็นเพียงฟันเฟืองนิรนามที่มิได้ขับเคลื่อนสิ่งใด แม้ว่า พวงทอง ภวัครพันธุ์ และ ธงชัย วินิจจะกูล (2561) พยายามอย่างน่านับถือที่จะคืนชื่อเสียงเรียงนามให้กับผู้ที่ตายนั้น  และในความพยายามหลายปีของพวงทองนี้เอง เธอตั้งข้อสังเกตว่า มีวัฒนธรรมบางอย่างฝังรากลึกในระบบความคิดของผู้คน ซึ่งในบรรดายอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมานั้น เธอเรียกวัฒนธรรมที่เป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยนั้นว่า “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” (impunity) [3] (พวงทอง ภวัครพันธุ์ ใน กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, 2560, น.74-92)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยิ่งชัดเจนในตัวเองว่า ฟันเฟืองนิรนามจะยังไม่ถูกรับเข้าสู่กระบวนการใดๆ ด้วยว่า การเข้าสู่กระบวนการจะเป็นการลากจูงฉุดรั้งให้มีคนต้องรับผิด มากยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบระหว่าง 2 เหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงในเดือนตุลา คือ 6 และ 14 เหตุการณ์ที่ชื่อว่าป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรมมากที่สุดอย่าง 6 ตุลา กลับยิ่งไม่ถูกพูดถึง จะเห็นว่า ญาติมิตรของผู้ตาย รวมถึง อดีตนักเคลื่อนไหวถูกบังคับให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นเองขบวนการฟื้นฟูความทรงจำเดือนตุลาจึงจำกัดวงชัดอยู่แต่เหตุการณ์ 14 ตุลา เท่านั้น [4]

ข้อจำกัดนี้ เป็นบทพิสูจน์ว่า ฟันเฟืองนิรนามเหล่านี้ยังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในสังคม จะคงเหลือไว้ก็แต่การทำบุญอุทิศส่วนกุศลตามวาระเท่านั้น ขณะที่การสรรเสริญว่าเป็น “...วีรชน...” เป็นการให้เกียรติที่ดูเหมือนจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ

วีรชนในมโนทัศน์ตะวันตกที่จุดไม่ติดในประเทศไทย

สาเหตุที่คนเล็กน้อย ผู้ซึ่งตายเพื่อยืนหยัดอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ ยิ่งทียิ่งเงียบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะมีการสรรเสริญพวกเขาอยู่บ้างก็ตาม ไม่เหมือนกับความตายของคนเล็กน้อยในมโนทัศน์ตะวันตก ด้วยว่า ความตายในโลกทัศน์ตะวันตกมีรากฐานมั่นคงมาจากปฏิสัมพันธ์ที่สังคมมีต่อคริสต์ศาสนา ไม่ว่าผู้นั้นจะยังคงนับถือหรือเลิกนับถือคริสต์ศาสนาไปแล้วก็ตาม จึงมโนทัศน์ที่หยั่งรากลึกมายาวนานยังขับเคลื่อนผู้คนให้ใส่ใจต่อความตายของคนเล็กน้อยที่กล้าเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ด้วยอุดมการณ์ เช่น คำกล่าวต้นฉบับของแตร์ตูเลียนซึ่งได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นคริสตวรรษที่ว่า “...ยิ่งฆ่าพวกเราก็ยิ่งทวีคูณ เลือดของมรณสักขีคือเมล็ดพันธุ์ของคริสตชน...” (Plures efficimur quotiens metimur a vobis: semen est sanguis Christianorum) ยังคงเป็นที่มาของข้อความสร้างแรงบันดาลใจในทำนองเดียวกันนี้อีกมากมาย และน่าสังเกตว่า คนไทยก็เคยหยิบยกมาใช้ด้วยซ้ำในการปราศรัย แต่แน่นอนที่สุด ความคิดเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เรามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองไม่น้อยแล้วที่ถูกฆ่าอย่างอำมหิตแต่ก็กลับเงียบเชียบที่สุด ความกลัวปกคลุมไปในสังคมไม่ต่างจากสมัยที่คริสตชนหวาดกลัวการเบียดเบียนของชาวโรมัน แต่ทว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญที่มากและไร้เหตุผลขึ้นเรื่อยๆ มิได้ทำให้เกิดการทวีคูณหรือกลายเป็นเมล็ดพันธุ์

น่าสันนิษฐานว่า มโนทัศน์ที่สังคมไทยมีอยู่คงเป็นคนละรูปแบบกับการยอมตายแบบมรณสักขีของคริสต์ศาสนา เช่น ตัวอย่างจากความคิดแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัดซึ่งมักคิดว่า บุคคลที่หยัดยืนในอุดมการณ์นั้น รนหาที่ / บังเอิญตาย / ทำเพื่อผลประโยชน์ที่หยาบ  (การรับเงินมาจากผู้ไม่ประสงค์ดีต่อรัฐ) ทัศนคติเช่นนี้ โถมทับให้การเคลื่อนไหวเพื่ออุดมการณ์ในสังคมไทยต้องไม่มีลักษณะรนหาที่ นั่นเองทำให้การเคลื่อนไหวยิ่งตีบแคบในตัวมันเอง นักเคลื่อนไหวหลายคน รวมถึง คนเดือนตุลาฯด้วย เปลี่ยนแปลงวิธีการไปไม่น้อย อีกทั้ง ผู้มีอำนาจซึ่งเห็นประโยชน์จากความไม่พร้อมยอมเป็นวีรชนนี้ ย่อมจะทำให้แน่ใจว่าความสงบราบคาบแบบ
กดบังคับจะเกิดขึ้นได้จริงและคงอยู่ตลอดไป โดยวาดภาพให้ความตายรออยู่ในมุมมืด เช่น การบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งเหตุการณ์ดิบเถื่อนนี้ล้นออกมาจากมุมมืดจนเห็นได้ชัดในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ธงชัย วินิจจะกูล (2553) เรียกว่า จากชัยชนะสู่ความเงียบแต่ยังชนะอยู่ดี [5] และอย่าว่าแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 เลย แม้กระทั่งความตายของมรณสักขีชาวคริสต์ในช่วงสงครามอินโดจีน ก็ไม่เป็นที่รู้จักหรือถูกอ้างถึงในการวิชาการทางรัฐศาสตร์ของประเทศไทยสักเท่าไร

พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย : การทำให้วีรชนในมโนทัศน์ตะวันตกไม่ปรากฏ

ถ้าไม่ใช่คนอย่าง เกษียร เตชะพีชะ จรดปากกายกย่อง นวมทอง ไพรวัลย์ ใครกันจะกล้าใช้คำใหญ่เช่นนี้เพื่อยอมรับว่า ชายแก่ที่กระทำอัตนิวิบากกรรมคนนี้เป็น “...มรณสักขี...” เพราะต่อให้คนเล็กน้อยยกย่องกันเองโดยใช้คำใหญ่ทุกอย่างก็ย่อมลับเลือนหายไปจนอาจสืบค้นไม่ได้ เราอาจแสดงปรากฏการณ์ที่กลบฝังกรณีลุงนวมทองได้ 2 ชั้น ได้แก่

(1) พฤติกรรมรนหาที่ตายจากความคิดของอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ดูแคลนผู้ที่คิดต่างมาโดยตลอด ดังนั้น ใครที่เข้าข่ายรนหาที่ตาย บุคคลนั้นกลายเป็น คนไร้ค่า (ฟันเฟืองนิรนาม) ที่ต้องไม่ถูกพูดถึงทันที ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความหวาดกลัวที่จะต้องรับผิด (วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด) หรืออะไรก็ตาม คำสอนที่เข้ามาสอดรับกับเรื่องนี้ ได้แก่ กรรมชั่วที่ทำให้บุคคลนั้นรนหาที่ตาย, ความโง่เขลาอวิชชา

(2) พฤติกรรมฆ่าตัวตาย เป็นการรนหาที่ตายที่ซับซ้อนไปกว่าเพราะมิได้รบกวนแต่ความคิดของอนุรักษ์นิยม และยังท้าทายมโนสำนึกของญาติมิตรพวกเดียวกันอีกด้วย กล่าวคือ ต้องยอมรับการฆ่าตัวตายหรือไม่? เพราะคำสอนที่เข้ามาสอดรับกับเรื่องนี้ ได้แก่ การฆ่าตัวตายเป็นการกระทำที่สูญเปล่า เป็นการกระทำที่เป็นบาป

เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีฆ่าตัวตายบีบบังคับอย่างหนักหน่วงให้ไม่เกิดทางออกทางจริยศาสตร์ที่เหมาะสม ด้วยว่าคำสอนในพุทธศาสนาเถรวาทของสังคมไทยไม่มีที่ทางให้ปรากฏการณ์นี้อยู่ก่อน กล่าวคือ ญาติมิตรพวกเดียวกันควรจะสรรเสริญยกย่องดังเช่นที่ชาวคริสต์ยกย่องมรณสักขีของตนหรือไม่? หรืออีกแง่คำสอนที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยที่ว่า “การฆ่าตัวตาย” เป็นบาปหนักก็หลอกหลอนและรบกวนมโนสำนึกอยู่ตลอดเช่นกัน จึงทำให้เกิดความคลางแคลงว่า จะต้องยกย่องวีรชนผู้สมัครใจที่จะตายเช่นนี้ (Voluntary martyr) ในระดับใดจึงจะไม่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเลียนแบบฆ่าตัวตาย หรือหนักไปกว่านั้น คือ กลับมองว่าความตายอันมีคุณค่านี้เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น โดยมิได้ แยกแยะระหว่างความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อความตายที่ยังไม่เกิด กับ ความตายที่เกิดขึ้นไปแล้ว ความสับสนดังกล่าวนำไปสู่ “...ความเงียบ...” กล่าวคือ คงดีกว่าถ้าจะปล่อยให้การสร้างแรงบันดาลใจเป็นหน้าที่ของบุคคลที่มีชื่อเสียงประกอบสร้างขึ้นมา ขณะที่ ญาติมิตรพวกเดียวกันทำได้อย่างที่ดีที่สุด คือ การอุทิศส่วนกุศลในตามวาระ

ลักษณะนี้ตอกย้ำว่า วีรชนไม่ใช่เรา นั่นหมายความว่า เราจะไม่ยอมตายแบบวีรชน อีกด้วย ความตายของวีรชนจึงกลายเป็นบทเรียนที่ห้ามทุกคนไม่ให้กล้าหาญที่จะตาย

“...กรรม...” ในฐานะสูตรสำเร็จของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและการไม่กลายเป็นวีรชน

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเชื่อสับสนในเรื่องของกรรม แต่ในความสับสนนั้นบ่อยครั้งที่ “...กรรม...” กลายเป็นสูตรสำเร็จในการตอบคำถามที่ถูกยกเว้น (Unspeakable) และการอ้างเหตุผลเช่นนี้ สัมพันธ์กับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด 

กล่าวคือ เมื่อไม่รู้จะให้เหตุผลอย่างอารยะรูปแบบไหนแล้ว ก็โพล่งใช้เหตุผลเรื่อง “...กรรม...” เพื่อลอยตัวเหนือภาวะที่ตนเองต้องรับผิดชอบ ดังเห็นได้จาก คำพิพากษาคดีพระพิมลธรรม วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ซึ่งมีเนื้อหาพิลึกพิลั่นว่า “...ไม่ใช่ความผิดของผู้ใด แต่เป็นความผิดของสังสารวัฏเอง...” และเมื่อผู้มีอำนาจโยนภาระต้องรับผิดให้เป็นเรื่องของนามธรรมเช่นนี้ ทุกอย่างที่ถูกยกเว้น หรือ ห้ามพูดก็จะกลายเป็นเพียงอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันและไม่มีใครอยากให้เกิดบ้าง หรือเป็นความบังเอิญของเหตุการณ์ที่น่าเห็นอกเห็นใจบ้าง จนที่สุด ย่อมลงท้ายด้วยการเสแสร้งและปลอบใจด้วยคำว่า “...คงเป็นกรรมเก่า...” มุมมองเช่นนี้แฝงในนัยยะของการเหยียดหยามผู้ตายด้วยว่า พวกเขาเสวยวิบากชั่ว เป็นทุคติ ซึ่งข้อนี้แตกต่างอย่างรุนแรงกับมโนทัศน์แบบตะวันตกที่ชี้ว่า ความทุกข์อันเกิดจากการถูกเบียดเบียนเพราะความชอบธรรมเป็นหนทางสู่สุคติ ทั้งยังเป็นการบำเพ็ญตบะแบบที่พระเยซูได้กระทำ อันที่จริง แนวคิดเช่นนี้มีปรากฏในพุทธศาสนาแบบทิเบตและพระสูตรมหายาน จึงควรกล่าวให้ชัดว่า คงเป็นพุทธศาสนารูปแบบเฉพาะของประเทศไทย

ก็ในเมื่อ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ฟันเฟืองนิรนาม, นวมทอง ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองจากความขัดแย้งที่ปะทุตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็น “...ผู้ได้รับผลกรรม...”  ต้องลำบาก ต้องตาย ต้องถึงแก่กรรมในลักษณะอย่างทุคติ ก็ด้วยเพราะกรรมชั่วที่ตนเคยทำมาทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ เมื่ออธิบายกันเช่นนี้ หากพูดกันจนถึงที่สุด ผู้ตายจะถูกยกย่องสรรเสริญให้กลายเป็น วีรชน / มรณสักขี ที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของแรงบันดาลใจได้อย่างไร ในเมื่อมโนทัศน์เบื้องลึกเต็มไปด้วยความกลัว เป็นมโนทัศน์เชิงลบ เมื่อยกตัวอย่างมโนทัศน์อื่น เช่น แรงบันดาลใจของชาวทิเบตที่ออกมาเผาตัวเองอย่างไม่รู้จักความหวาดกลัว ย่อมแน่ชัดว่ามิได้ถือกำเนิดขึ้นจากการมองตนเองติดลบเช่นนี้ และยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นอีกประการหนึ่งนั่นคือ “...หรือความเป็นวีรชนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสงวนไว้...”มีเพียงบางคนที่สามารถเป็นวีรชน ไม่ใช่ ทุกคนที่สามารถเป็นวีรชน

ไม่เพียงแต่รัฐหรือผู้มีอำนาจที่พยายามกดบังคับให้ประชาชนเชื่อและคิดเช่นนั้น แต่เป็นประชาชนเองด้วยที่ช่วยกันเชื่อและเชื่องต่อมโนทัศน์ดังกล่าวนี้ พุทธศาสนาถูกแบ่งแยกให้กลายเป็น พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ผู้เต็มไปด้วยความไม่รู้ เจือปนเรื่องผี และพระภิกษุสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัดพระธรรมวินัย กับ พุทธศาสนาแบบผู้รู้ ซึ่งมีขั้นตอนการเลือกเฟ้น แต่ละสิ่งที่ส่งเสริมศรัทธาอย่างมีเหตุผลและพิถีพิถัน

ปรากฏการณ์นี้โดยตัวมันเองกีดกันและก่อให้เกิดมโนทัศน์ว่า จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่จะถูกอนุญาติให้เข้าไปสู่ปริมณฑลของพุทธศาสนาแบบผู้รู้ และเมื่อประกอบกับคำอธิบายว่า พระพุทธเจ้าคือเอกะ คือ บุคคลผู้เลิศในโลก ซึ่งมีน้ำเสียงเน้นชัดไปในทำนองว่า ไม่ใช่แค่บางคน แต่เป็นเพียงคนเดียว (unique one) ยิ่งผลักไสโพธิญาณให้มิใช่เรื่องของทุกคนแต่อย่างใด แตกต่างจากคำสอนของมหายานที่วางฐานความเชื่อไว้ว่า ทุกคนมีโพธิจิตเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการตรัสรู้อยู่ การแบ่งแยกอย่างชัดซึ่งสามารถสอบทานได้จากปรากฏการณ์ในสังคมไทยที่มีตัวอย่างมากมายจนยกกันได้เองนี้ ทำให้เกิดการขีดเส้นใต้ว่า “...มีเพียงบางคนที่สามารถเป็นวีรชน...”

ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นการแสดงออกที่สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนถูกกดบังคับจนรู้สึกด้อยคุณค่าเพียงใด 
เมื่อประชาชนไม่ตระหนักเลยว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางบวกโดยธรรมชาติ ประชาชนก็ย่อมที่จะสยบยอมและเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมภายใต้ชุดคำอธิบายต่างๆ และในเมื่อธรรมชาติของสังคมถึงแม้จะกดบังคับ หรือ ฝืนธรรมชาติเพียงใด ก็ยังก่อเกิด “...บางคน...” ที่จะพร้อมจะลุกขึ้นมาด้วยความเชื่อว่า ตนมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมจนได้ แต่บุคคลเหล่านั้นมักมีตัวตนอยู่และจากไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทันระมัดระวังตัว ในมุมมืด ในความกลัว ในการคุกคามของผู้มีอำนาจ จนที่สุด ประชาชนพร้อมจะรู้สึกว่า ตนไม่สามารถเป็นวีรชน ด้วยว่า บุญญาบารมีอาจไม่ถึงขีดขั้น จึงพาลคิดว่าการเป็นวีรชนคือคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเสมอ ทำให้เมื่อเกิดคนอย่างนวมทองขึ้นมาความสับสนอลหม่านทางจริยศาสตร์จึงเกิดขึ้น เช่น “...นวมทองควรเป็นมรณสักขี...” หรือไม่? ควรปฏิบัติอย่างไร?

จะมีวีรชนในวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้หรือไม่? 

ขณะที่ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ยังคงอยู่ จะมี “...วีรชน...” ได้หรือไม่ ? คำตอบคือ มีได้ เห็นได้จากความพยายามที่น่านับถือของนักวิชาการในความพยายามที่จะไม่ลืม “...ฟันเฟืองนิรนาม...”(โปรดดูใน doct6.com) อย่างไรก็ตาม แก่นรากของการไม่กลายเป็นวีรชนอยู่ที่มโนทัศน์ของผู้คนในสังคมเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลใกล้ตัว ญาติมิตรหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่จะหลงลืมลดคุณค่าของผู้ตายและของตนจนกลายเป็นผู้รอให้ถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ การศึกษาเหตุการณ์ความสูญเสียซึ่งทำให้สังคมไทยมี “...วีรชน...” ในทุกปีนั้น ควรทำให้เกิดความตระหนักรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับตนเองในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ถูกกดบังคับภายใต้รัฐผ่านความตายของผู้กล้าหาญซึ่งล่วงหน้าไปแล้วคนนั้น

อีกประการหนึ่งคือ พุทธศาสนาก็มิใช่จำเลยที่กีดกันไม่ให้เกิดวีรชนด้วย แต่เป็นบางส่วนในพุทธศาสนาเถรวาทของไทยต่างหากที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น ซึ่งสมควรจะทำการวิจัยเพื่อให้เชื่อมโยงกับข้อสังเกตของนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ต่อไป และคงจะมีแต่ความรู้จักตนก่อนเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การขยับขับเคลื่อนของความรู้จักคุณค่าในตนเองจนกระจ่างแก่ใจว่า “...การเป็นวีรชนเป็นเรื่องของทุกคน ผู้หยัดยืนเพื่ออุดมการณ์อย่างน่านับถือนั้น ย่อมเสมือนเป็นตัวเราคนหนึ่งด้วย ความกล้าหาญของวีรชนผู้ล่วงหน้าเราไปแล้ว เป็นแบบอย่างและพลังใจให้เราสามารถยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมได้จนถึงที่สุด...” 

เช่นนี้ คำกล่าวที่ตกทอดมาว่า... “...ยิ่งฆ่าพวกเราก็ยิ่งทวีคูณ เลือดของเราคือเมล็ดพันธุ์...”   จึงจะเป็นจริง

เพื่อที่จะมีวีรชนให้สมกับการประดับคำว่าวีรชนตามโอกาส ก็ควรยิ่งที่จะยอมรับเสียก่อนว่า สังคมไทยยังไม่ถึงขั้นที่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองจะมีอิทธิพลในฐานะแรงบันดาลใจจนถึงขั้นเป็นวีรชน

แม้จะน่าเศร้า และขมขื่น แต่ความจริงจะทำให้เราเป็นอิสระ

เพื่อ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ของลุงนวมทอง จะไม่เงียบอีกต่อไป

อ้างอิง
[1] ประชาไท. (2007, ตุลาคม 31). ครบรอบปี คลี่จดหมายลายมือ “ลุงนวมทอง” มาอ่านอีกครั้ง “ชาติหน้าเกิดมา คงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก”. Retrieved from https://prachatai.com/journal/2007/10/14666
[2] เกษียร เตชะพีระ. (2549). “แด่นวมทองไพรวัลย์:มรณสักขีเพื่อประชาธิปไตย”. มติชนรายวัน, ปี 29, ฉ.1047, วันที่ 10 พ.ย. 2549, น.6
[3] โปรดดูใน พวงทอง ภวัครพันธุ์. (2560). วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ใน กฤษฎา ศุภวรรณธนะกุล (บรรณาธิการ). 
แผ่นดินจึงดาล การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ. กรุงเทพฯ: มาตาการพิมพ์. น. 74-92
[4] ดูข้อสังเกตที่น่าสนใจของกนกรัตน์ เพิ่มเติมใน กนกรัตน์ เลิศชูสกุล. (2561). “การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็นคนเดือนตุลาฯจากนักศึกษาฝ่ายซ้ายผู้พ่ายแพ้สู่คนเดือนตุลาฯนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งทศวรรษ 2510” . ใน ไชยันต์ ไชยพร (บรรณาธิการ). พินิจการเมืองไทย ปัจจุบัน และอนาคต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[5] ธงชัย วินิจจะกูล. (2553). “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549: จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)” ใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บรรณาธิการ). ความรุนแรงซ่อน/หาในสังคมไทย. กรุงเทพฯ:มติชน.หน้า 61-62.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท