เครือข่ายยุติโทษประหารฯ เสนอใช้จำคุกตลอดชีวิตแทนและหาทางเยียวยาผู้เสียหาย

เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ร้องขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต  ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต ขณะที่ 'โรม' ชี้ประสบการณ์จากต่างประเทศ โทษประหารไม่ได้ทำให้คดีอาญาลดลง

ที่มา เว็บไซต์แอมเนสตี้ฯ

10 ต.ค.2562 เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า วันนี้ (10 ต.ค.62) เวลา 13.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดงานเสวนาเพื่อยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศส

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้แทนเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต กล่าวว่า ประเทศไทยคุ้นเคยกับโทษประหารชีวิต ที่เป็นบทลงโทษทางกฎหมายในระบบยุติธรรมของไทยมานานหลายศตวรรษ จนกลายเป็นความเชื่อ ค่านิยม และบรรทัดฐานทางสังคม แต่มีองค์กรหลายแห่งเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องการเห็นโทษประหารชีวิตสิ้นสุดลง และแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านโทษประหารชีวิตแห่งโลก เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต จึงจัดงานเสวนายุติโทษประหารชีวิต เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศอาเซียนและประเทศไทย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงความเหมาะสมในการยุติโทษประหารชีวิต

ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลายประเทศยังมีการใช้โทษประหารโดยปราศจากการอภิปรายในที่สาธารณะ ซึ่งบางครั้งเพราะขาดประชาธิปไตย ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องทางการเมืองยังนำโทษประหารมาใช้อย่างสม่ำเสมอ ฝรั่งเศสต่อต้านการนำโทษประหารมาใช้ทุกวาระเป็นพันธกิจแน่วแน่และต่อเนื่องของเรา การต่อต้านโทษประหารชีวิตเป็นภารกิจทางอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทั้งหมด ขอยืนยันว่าโทษประหารชีวิตเป็นการกระทำอมนุษย์ แทนที่จะมีการปกปักรักษาชีวิตมนุษย์ วิคเตอร์ อูโก กล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรท้าทายกว่าความคิดที่มาถึงแล้ว” วันนี้ทางเลือกของพวกท่านมาถึงแล้วขออย่ารีรอที่จะต่อสู้

โคทม อารียา อ่านถ้อยแถลงของเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ระบุว่า ด้วยเหตุที่มีความจำเป็นที่จะปกป้องสังคมจากอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดจนเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมต่างๆ สังคมจึงมีกระบวนการยุติธรรมเชิงโทษทัณฑ์ (retributive justice) ได้แก่ การตัดสินโทษทางอาญา การราชทัณฑ์ เป็นต้น และมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ได้แก่ การชดเชยผู้เสียหายและการคืนความสมานฉันท์สู่สังคม

“โทษสูงสุดและเด็ดขาดทางอาญาคือโทษประหารชีวิต แต่มีข้อศึกษาทางอาชญาวิทยาว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรมและป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือกระทำการ ประเทศส่วนใหญ่  (ประมาณ 106 ประเทศ) ได้ยุติโทษประหารชีวิต อีกหลายประเทศ (ประมาณ 28 ประเทศ) มีการตัดสินลงโทษแต่ไม่มีการบังคับโทษประหารชีวิต (moratorium) โดยที่สถิติอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศเหล่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ประเทศที่เหลือ (ประมาณ 56 ประเทศ) มีการตัดสินและการบังคับโทษประหารชีวิต

“การลงโทษประหารชีวิตไม่เปิดโอกาสการกลับตัวกลับใจของผู้ถูกลงโทษ อีกทั้งกรณีการตัดสินคดีที่มีข้อผิดพลาดด้านพยานหลักฐานก็ไม่สามารถคืนความยุติธรรมได้ ในประการสำคัญการประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และการปลิดปลงชีวิตน่าจะขัดกับหลักคำสอนของหลายศาสนา” โคทม กล่าว พร้อมระบุว่า ทางเครือข่ายมีข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่และต่อสังคมดังนี้

1. ขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา (โดยเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต) วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง

2. ขอให้พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหมวดโทษ มาตรา 18 เป็น “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ 1. จำคุก 2. กักขัง 3. ปรับ 4. ริบทรัพย์สิน” และขอให้ยกเลิกข้อความในมาตรา19 “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย”

3. ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต

'โรม' ชี้ประสบการณ์จากต่างประเทศ โทษประหารไม่ได้ทำให้คดีอาญาลดลง

ขณะที่วานนี้ (9 ต.ค.62) รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม' ว่า กรรมาธิการฯได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับสถานทูตและเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่กรรมาธิการได้แลกเปลี่ยนในประเด็นการยกเลิกประหารชีวิต

ประเด็นหนึ่งที่ได้มีการแลกเปลี่ยนคือเรื่องโทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้คดีอาญาลดลง เรื่องนี้สะท้อนผ่านประสบการณ์และสถิติในต่างประเทศ ผมคิดว่าเราสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศได้ว่าพวกเขาซึ่งมีบทเรียนและประสบการณ์ทำอย่างไรจึงทำให้คนในประเทศเห็นด้วยกับการไม่ใช้โทษประหารชีวิตอีกต่อไป

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า มีคำพูดหนึ่งที่ผมชอบมากๆ จากการสนทนาในวันนี้ “ในประเทศนอเวย์ได้มีชายคนหนึ่งทำการกราดยิงพลเรือน ชายคนนั้นเรียกร้องให้มีการใช้โทษประหารชีวิตกับตัวเขา ปรากฏว่ากระแสสังคมไม่เห็นด้วย และบอกกับชายคนนั้นว่า เราไม่ใช่ฆาตกร และเราจะไม่ใช้โทษประหารเพื่อทำให้คุณได้กลายเป็นฮีโร่” 

ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2552 ประเทศไทยไม่ได้มีการใช้โทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติจนถึงปี 2561 ที่ได้มีการบังคับใช้อีกครั้งต่อกรณีนักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์รายหนึ่ง เป็นเวลา 9 ปีที่ประเทศไทยไม่ได้บังคับใช้โทษประหารชีวิต ขาดอีกแค่ 1 ปี คือเดือนสิงหาคม 2562 ประเทศไทยจะถือได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยปริยาย (หากประเทศใดไม่มีการประหารชีวิตเกิน 10 ปี สหประชาชาติถือว่าประเทศนั้นเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ) น่าเสียดายที่ประเทศไทยต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในเรื่องนี้น่าเสียดายที่ประเทศไทยต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในเรื่องนี้

"ส่วนตัวผมมีจุดยืนในการต่อต้านโทษประหารและรู้สึกขอบคุณที่วันนี้ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์โดยเฉพาะกับสถานทูตต่างประเทศ หวังว่าวันนึงประเทศไทยจะไม่มีโทษประหารอีกต่อไปครับ" รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท