Skip to main content
sharethis

วงเสวนามองดูผลกระทบของการประท้วงฮ่องกงถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การชุมนุมครั้งก่อนถึงครั้งนี้ สะท้อนการปะทุเพราะเป็นกึ่งประชาธิปไตย-กึ่งเผด็จการ การใช้ทหารปราบม็อบยังเป็นไปได้ แต่ตอนนี้จีนมีเครื่องมืออื่นเยอะแยะ ทว่าม็อบที่ล้มเหลว นำไปสู่ม็อบที่ทรงพลังขึ้นในครั้งต่อไป แนวคิดแยกฮ่องกงจากจีนนั้นยาก แต่น่าศึกษาในเรื่องอธิปไตยเขตปกครองพิเศษที่อำนาจอาจจะมากกว่ารัฐในสหรัฐฯ เสียอีก

ซ้ายไปขวา: นภิสา วิสุทธิพันธุ์ ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช

11 ต.ค. 2562 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีงานเสวนา “เกิดอะไรในฮ่องกง?: วิเคราะห์การประท้วงในฮ่งกง กับผลกระทบในจีน/อุษาคเนย์” โดยมี ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ศึกษา ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช ผอ.หลักสูตรการจัดการธุรกิจสากล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ และมีนภิสา วิสุทธิพันธุ์ ดำเนินรายการ การเสวนาจัดโดยหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

สังคมปะทุเพราะเป็นกึ่งประชาธิปไตย-กึ่งเผด็จการ

ดุลยภาค ผู้ไปศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงเมื่อปี 2557 กล่าวว่า เห็นความเชื่อมโยงบางอย่างในฮ่องกงกับการเมืองเอเชีย มหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ได้ไปศึกษาปริญญาเอกมานั้น ก่อตั้งในปี 2454 ปีเดียวกับปฏิวัติซินไห่ มีซุนยัดเซ็นเป็นศิษย์เก่า เป็นมหาวิทยาลัยที่อังกฤษวางรากฐานไว้แห่งแรกในเอเชียตะวันออก ก่อนหน้านั้นเป็นวิทยาลัยแพทย์ การปฏิวัติซินไห่เป็นการเขย่าราชวงศ์ชิง บวกกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นการปฏิวัติที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงทิศทางประเทศของจีน การปฏิวัติครั้งนั้นใช้การระดมทุนจากชาวจีนโพ้นทะเลทั้งในมลายา ไทย สิงคโปร์ และที่อื่นๆ พอมีแนวร่วมจากชาวจีนโพ้นทะเล และล้มราชวงศ์แมนจูได้ ในปี 2455 ที่ไทย มีกบฏ ร.ศ. 130 หรือกบฏหมอเหล็ง ซึ่งตัวแบบจากปฏิวัติซินไห่ก็เป็นรูปแบบที่สำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย

ดุลยภาคมองว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นผลลัพธ์จากลักษณะพิเศษของฮ่องกงซึ่งเป็นรัฐกึ่งอาณานิคมกึ่งประชาธิปไตย เดิมฮ่องกงเคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ พอส่งคืนจีนก็ปกครองหนึ่งประเทศ สองระบบกับจีนที่ถูกบิดเบี้ยวและคุกคาม ฮ่องกงมีอำนาจจัดการตัวเองสูงมากยกเว้นเรื่องการทหารและการต่างประเทศ แต่ตอนนี้เวลาเดินมาถึงตอนนี้เงาของจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาบดบังฮ่องกงในหลายมิติ ทั้งการเงิน วัฒนธรรม เศรษฐกิจ นักท่องเที่ยว นักศึกษาที่ชาวจีนแผนดินใหญ่ล้นทะลักเข้ามา แม้กระทั่งกระบวนการเลือกตั้งที่ชาวฮ่องกงก็บอกว่าอยู่ในลักษณะกึ่งอาณานิคม เพราะมาจากคณะเลือกตั้ง (electoral college) ที่มีครึ่งหนึ่งเป็นพวกสนับสนุนรัฐบาลจีน และผู้ว่าฯ ก็ต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีนด้วย

ลักษณะที่เผด็จการกับประชาธิปไตยมาอยู่ร่วมกัน รูปลักษณ์ ความรู้สึกนึกคิดของคนก็รู้สึกแบบนั้น สามารถใช้อธิบายต้นแบบการประท้วงของฮ่องกงในยุคหลังๆ ได้ เนื่องจากการประท้วงเหล่านั้นมันมาจากปัจจัยสองอย่างข้างต้น การประท้วงในปี 2546 รัฐบาลตงฉื่อหวาชงกฎหมายความมั่นคงออกมา ชาวฮ่องกงก็กลัวว่าจะโดนล่วงละเมิดสิทธิ เสรีภาพจากรัฐบาลจีน แถมรัฐบาลก็ล้มเหลวในการบริหารนโยบาย เมื่อสองสาเหตุผนวกกันทำให้คนออกมาชุมนุมขนานใหญ่

ดุลยภาคกล่าวว่า การประท้วงครอบคลุมเกาะตอนเหนือและตะวันตก กระจายไปที่เกาลูน นิวเทอริทอรีที่ติดเสินเจิ้นและสนามบินในเกาะเกาลูน พลังการประท้วงค่อนข้างจะรุนแรงและกระจายไปทั่ว แต่ก็ไม่เชื่อว่าการประท้วงจะไม่เจออุปสรรคขัดขวางเนื่องด้วยตำรวจฮ่องกงถูกฝึกการจัดการม็อบมาอย่างดี 

สิ่งที่นักวิเคราะห์บางคนจะพูดถึงคือกองทัพปลดแอกประชาชน (PLA) ของจีน ว่าจะเข้าแทรกแซงวิกฤต ยุติการชุมนุมประท้วงหรือไม่อย่างไร ซึ่งฐานทัพทหารจีนมีอยู่ในตอนเหนือใกล้ๆ เสินเจิ้น 3 แห่ง และยังมีที่บริเวณสนามบินและเกาลูนอีก มีการประเมินกำลังโดยสังเขป 8,000- 10,000 นายทั่วเกาะฮ่องกง สถานการณ์จะจบลงแบบไหนนั้นยากที่จะตอบ แครี่ แลม ก็บอกแล้วว่าไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่จะนำ PLA มาปราบม็อบเหล่านี้ 

ดุลยภาคยังเล่าเทียบกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 ว่า ช่วงจัตุรัสเทียนอันเหมิน จีนยังไม่มีนวัตกรรมการปราบจลาจลแบบในปัจจุบัน แต่วันเวลาผ่านไปจีนมีหน่วยรบ มีหน่วยเคลื่อนที่ที่ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนทหารราบหรือรถถังมหาศาลไปปราบผู้ชุมนุม มีหน่วยกึ่งทหารกึ่งตำรวจปราบม็อบแล้วอัดลงยูทูปเพื่อทำสงครามจิตวิทยากับผู้ชุมนุมมาแล้ว แต่ชาวฮ่องกงก็ไม่ได้ติดอาวุธเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบขนาดนั้น ถ้าจีนจะส่งมาคงเป็นหน่วยพิเศษในการปราบม็อบมา นอกจากนี้ ในหมู่ผู้ชุมนุมมีการจัดทำสื่อเพื่อการตอบโต้กับมาตรการของเจ้าหน้าที่ มีนวัตกรรมเพื่อปิดบังอัตลักษณ์ ไปจนถึงการแก้ไขการรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่เห็นในม็อบปี 2557 ที่อุปกรณ์น้อยกว่า สถานการณ์ต่อสู้ไม่ได้เป็นรองฝ่ายตำรวจฮ่องกงเองที่ก็แข็งแกร่งขึ้นมาก

แยกฮ่องกงจากจีนยาก แต่น่าศึกษาอธิปไตยเขตปกครองพิเศษที่สูงกว่าสหรัฐฯ 

ดุลยภาคกล่าวว่า ฮ่องกงเข้าสู่จุดที่เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกแยกรุนแรงและร้าวลึกหลายแง่มุมที่นำมาสู่ความรุนแรง ม็อบประชาชนแบ่งหลักๆ เป็น 2 ส่วน หนึ่ง กลุ่มที่อยากให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ยังเคารพการเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีน และอีกกลุ่มคือต้องการการถอนตัวจากหนึ่งประเทศ สองระบบ หรือแบ่งแยกดินแดน จีนมักอดทนอดกลั้นได้เสมอจากพัฒนาการที่ผ่านมาหากม็อบเล่นเรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียว เช่น ให้ผู้ว่าการเกาะมีสัดส่วนตัวแทนจากปะรชาชน แต่จีนจะไม่อดทนอดกลั้นถ้าเห็นการประท้วงแบ่งแยกประเทศ หรือหนึ่งประเทศ สองระบบ ทั้งนี้ ฮ่องกงเป็นเมืองนานาชาติ การใช้มาตรการรุนแรงหรือการที่จีนใจร้อนเกินไป โดยใช้กองทัพขนานใหญ่มาจัดการจะต้องพิจารณาให้ดี

พรรคการเมืองในฮ่องกงก็มีหลายประเภท ความแตกแยกขัดแย้งในทางการเมืองก็ร้าวลึก การประท้วงในย่านธุรกิจที่ผ่านมาก็มีสมาคมชาวจีนออกมาเชียร์รัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่ง พยายามหาเครื่องมือมาป้องกันห้างร้านของตัวเองเพราะพวกเขามองม็อบในแง่ร้ายแล้ว ถ้ายืมคำว่านิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่บอกว่าชุมนุมป้องกันตัวเองตามธรรมชาติก็เป็นแบบนั้นภายใต้บริบทเมือง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของแรงปะทะของม็อบก็มาจากนโยบายอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลฮ่องกงด้วยที่ไม่สามารถให้คนจนมีที่อยู่อาศัยได้ตามมาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่น มีกระทั่งการเปิดกรงให้เช่าเพื่อหลับนอน

เวลาเราคุยเรื่องหนึ่งประเทศ สองระบบ จะพอเข้าใจเลยว่าจีนที่เป็นรัฐเดี่ยว มีการรวมศูนย์อำนาจ แต่จีนก็มีการกระจายอำนาจในระดับสูง นักวิเคราะห์บางคนมองว่าฮ่องกงและมาเก๊าอยู่ภายใต้รัฐเดี่ยวของจีน แต่อยู่ใต้โปรเจคต์พิเศษ SAR (เขตการปกครองพิเศษ) มากกว่ามลรัฐอื่นๆ ที่อยู่ในระบบสหพันธรัฐอื่นแม้แต่สหรัฐฯ เสียด้วยซ้ำ ตรงนี้ก็เป็นตัวแบบที่พิเศษว่ามันสะท้อนประโยชน์ในการศึกษาเรื่องอธิปไตย แต่การที่อยู่ใต้ร่ม SAR เหมือนกัน แต่ทำไมเราถึงเห็นการประท้วงทางการเมืองที่ค่อนข้าง ดุเดือดมากในฮ่องกง แต่ไม่ใช่มาเก๊า หลายคนอาจย้อนไปถึงมรดกอาณานิคมอังกฤษที่สร้างรากฐานการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบหนึ่งซึ่งต่างจากมาเก๊าที่โปรตุเกสเคยยึดครอง

นักรัฐศาสตร์ฮ่องกงจะเปรียบเทียบฮ่องกงกับสิงคโปร์ จนมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เลยทีเดียว เพราะเป็นรัฐขนาดเล็ก อดีตอาณานิคมอังกฤษ จีดีพี ประชากร อันดับมหาวิทยาลัยก็ใกล้กัน ระบอบก็เหมือนกันคือเป็นประชาธิปไตยที่มีเผด็จการผสม แต่การชุมนุมขนานใหญ่แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับสิงคโปร์ เรื่องนี้ก็ยังเป็นอะไรที่น่าสนใจ ส่วนประเทศในเครือจักรภพอังกฤษก็มีการเคลื่อนไหวช่วยผู้ประท้วง มีคนฮ่องกงย้ายไปอยู่แคนาดาเยอะขึ้น ถ้าคนฮ่องกงจะเอาตัวรอดจากระบบที่พวกไม่ชอบ เขาจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ออสเตรเลียและแคนาดาตอนนี้มีนัยสำคัญในลักษณะนั้นขึ้นมาอยู่

มีกลุ่มที่บอกว่าอยากให้ฮ่องกงแยกตัวจากจีน คำถามคือสามารถแยกตัวได้อย่างสำเร็จหรือไม่ ส่วนตัวก็คิดว่าโดยโครงสร้างนั้นยาก จีนก็รู้ว่าการดึงฮ่องกงเข้ามาในอดีตจะช่วยเสริมด้านเศรษฐกิจ แต่ทว่าต่อมาจีนฉลาดพอที่จะพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจของตัวเองขึ้นมา

ฮ่องกงในภาวะการค้นหาอัตลักษณ์ (ที่ไม่ใช่จีน?)

ชาญวิทย์กล่าวว่า ถ้าใช้วิชาประวัติศาสตร์จับดูจะพบว่าฮ่องกงเกี่ยวกับไทยมากมายมหาศาล ถ้าย้อนกลับไปยังสมัยสงครามฝิ่นที่อังกฤษยึดครองฮ่องกง ทำให้สถานการณ์ในเอเชียเปลี่ยนหมดเลย เซอร์ จอห์น บาวริง ผู้ว่าการฮ่องกงคือคนที่เดินทางมายังไทยในสมัย ร.4 แล้วบังคับให้ไทยลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงใน พ.ศ. 2398 ชัยชนะของอังกฤษเหนือจีนยุคนั้น ทำให้กรุงเทพฯ อาณาจักรรัตนโกสินทร์ที่ส่งจิ้มก้องให้จีนถึงกับเลิกส่ง สยามประเทศของเราออกจากวงอำนาจของจีนในอดีตมาอยู่ภายใต้วงอำนาจของอังกฤษ อยากเชื่อว่าตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงก็มีผลกระทบกับเมืองไทยแน่ๆ 

ชาญวิทย์กล่าวต่อไปว่า ในอดีต 1950-1970 เป็นสงครามเย็น แต่ในตอนนี้เป็นสงครามการค้าที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งก็มีผลกระทบกับเมืองไทย ไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกประกบด้วยจักวรรดิญี่ปุ่น มารบกับจักรวรรดินิยมฝรั่ง ย้อนกลับไปอีก สมัยก่อนหน้าก็ถูกประกบด้วยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ-ฝรั่งเศส ดังนั้นผลกระทบที่ไทยอยู่ตรงกลางในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องใหม

ชาญวิทย์ยังกล่าวว่า ในแง่ทฤษฎี ถ้าดูจากที่เบน แอนเดอร์สันพูดในหนังสือ “ชุมชนจินตกรรม” อยากจะสรุปว่า ชุมชนจินตกรรมคือชาติ เป็นชุมชนที่ถูกจินตนาการขึ้นมา คนฮ่องกง เป็นคนฮ่องกงมากกว่าเป็นคนจีนใช่หรือไม่ หรือที่คนไต้หวันคิดว่าเป็นคนไต้หวัน ไม่ใช่คนจีน หรือที่คนไทยเชื้อสายจีนที่เลิกใช้แซ่ นักวิชาการคนหนึ่งที่ดังมากๆ จี วิลเลียม สกินเนอร์ เขียนเรื่องชุมชนจีนในเมืองไทย ที่บอกว่ามีคนไม่น้อยที่ไม่คิดว่าตนเองเป็นคนจีนอีกต่อไป ซึ่งคนจีนรุ่นเก่ารับไม่ได้

จีนบางคนสร้างอัตลักษณ์ใหม่ อย่างลีกวนยูที่เป็นชาวสิงคโปร์ หรือกลายเป็นไต้หวันและอเมริกันเยอะแยะ ความเป็นไทยอย่างเราๆ ท่านๆ ฮ่องกงที่กำลังเป็นคือกำลังอยู่ในภาวะนี้หรือเปล่า คือยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร การบอกว่าจะแยกดินแดนก็ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้

ชาญวิทย์กล่าวในกรณีที่มีการโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ภาพถ่ายของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับโจชัว หว่อง นักกิจกรรมชาวฮ่องกงว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นเจเนอเรชั่น 24 มี.ค. (การเลือกตั้ง ส.ส.) คือปรากฏการณ์อนาคตใหม่ ที่เพิ่งตั้งพรรคการเมืองมาได้แป๊บเดียวและทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนมาเพื่อพวกเขา แปลว่าจะต้องมีปรากฎการณ์บางอย่างกับคนรุ่นใหม่ อะไรก็ตามที่เกิดกับไทย ถ้ายังรัฐประหารแบบเดิมๆ คิดว่าบ้านเมืองเราคงไปไม่รอด ขอให้ใช้ประวัติศาสตร์มาดูเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงและการนองเลือด

'ธนาธร' แจงปมภาพคู่ 'โจชัว หว่อง' ยันไม่เคยเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองในฮ่องกง ภารกิจสร้าง ปช.-ความก้าวหน้าสังคมไทย

คลื่นประชาชนลุกฮือ ยิ่งปราบ ยิ่งแกร่ง?

ดุลยภาคกล่าวว่า ในการเปรียบเทียบไทยกับฮ่องกง ฮ่องกงพิเศษตรงมีทั้งการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยและการต่อต้านจีน ซึ่งกินความไปถึงการแบ่งแยกดินแดน แต่ฮ่องกงให้ประสบการณ์อันมีค่า ในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ตามคอนเซปต์ของแซมมูเอล ฮันติงตัน ที่มีหลายรัฐที่เปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตย มีการโต้กลับ ฟื้นคืนชีพสู่เผด็จการ และก็ยังมีการเปลี่ยนกลับไปเป็นประชาธิปไตยอีกนั้น ในปี 2557 ที่มีการปฏิวัติร่ม ก็มีคละเคล้ากลิ่นอายต่อต้านจีนซึ่งในตอนนี้ก็ปะทุขึ้นมาอีก แต่ในปี 2557 กับ 2562 ยังเปลี่ยนฮ๋องกงให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการประท้วงทั้งสองครั้งจะไม่มีผลอะไรเลยต่อสังคมและการเมืองของฮ่องกง การปฏิวัติร่มกลับเป็นแรงบันดาลใจให้กับม็อบให้ทรงฤทธานุภาพมากขึ้นอีกในเวลาต่อมา ถ้าครั้งนี้ไม่สำเร็จ การตกตะกอนทางประวัติศาสตร์ก็อาจทำให้ม็อบข้างหน้าทรงพลังขึ้นอีก

ทั้งนี้ ฮ่องกงมีความเกี่ยวข้องกับไทยมากในเรื่องเศรษฐกิจ นักลงทุนฮ่องกงจำนวนมากสนใจลงทุนในประเทศไทย ชนชั้นทางเศรษฐกิจไทยอย่างซีพีก็มีเครือข่ายในฮ่องกง ฮ่องกงตอนนี้อยู่ภายใต้บริบทการแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน แต่ที่สำคัญคือมันอยู่ใต้กรอบภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ของจีนอย่างหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่ครอบคลุมเอเชียแปซิฟิก และอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง 

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขเนื้อความที่ ผศ.ดุลยภาคกล่าวในเรื่อง การประท้วงทางการเมืองที่ค่อนข้างดุเดือดมากเกิดขึ้นในฮ่องกง แต่ไม่ใช่มาเก๊า จากเดิมที่เขียนว่าการประท้วงการเมืองที่ค่อนข้างดุเดือดมากเกิดขึ้นในมาเก๊า แก้ไขเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2562 เวลา 13.44 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net