Skip to main content
sharethis

'วัส ติงสมิตร' ประธาน กสม. ร่อนสารถึง “2 ประธานศาล” แจง 4 ประเด็นคำแถลงการณ์ศาลฎีกามีข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ยืนยันแต่งตั้ง กสม.ชั่วคราวล่าช้า พร้อมย้ำ ยิ่งยื้อเวลา ประเทศชาติและประชาชนได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น

แฟ้มภาพ

11 ต.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่เลขาธิการประธานศาลฎีกาและเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา สรุปขั้นตอนดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่จะมาทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นการชั่วคราวของประธานศาลฎีกาและเลขาธิการประธานศาลฎีกา และเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองยังมีความเห็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในเรื่องการแต่งตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวด้วยนั้น

วัส กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ (11 ต..62) ตนได้ตอบหนังสือไปยังเลขาธิการประธานศาลฎีกาและเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เพื่อนำความกราบเรียนประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อทราบและพิจารณาต่อไป ขอเรียนว่า ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามหนังสือที่เลขาธิการประธานศาลฎีกาส่งถึงประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและแถลงการณ์ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนดังต่อไปนี้

1. คุณสมบัติของบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว

การแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวในครั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล โดยให้นำมาตรา 22 อันเป็นบททั่วไปมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งบัญญัติให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์เท่านั้น รัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่า จะต้องมีคุณสมบัติด้านใดด้านหนึ่งใน 5 ด้าน ตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และตามบทเฉพาะกาล กฎหมายบัญญัติให้ประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปัจจุบันยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่า ประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีก 2 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน จัดเป็นบุคคลที่มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่งใน 5 ด้าน ตามมาตรา 8 ดังนั้น สำนักประธานศาลฎีกาจึงไม่มีอำนาจจัดให้ประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีก 2 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน เป็นผู้มีคุณสมบัติด้านใด เพื่อจะไม่แต่งตั้งบุคคลเข้าทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวเกินจากที่กฎหมายกำหนดดังคำแถลงการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องการแต่งตั้งบุคคลเข้าทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวในอนาคต

2. การสอบถามความประสงค์ของบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว

การที่เลขาธิการประธานศาลฎีกาได้สอบถามความประสงค์ของบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา และได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่วุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ซึ่งมี 2 คน ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน) ตามที่ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด แต่บุคคลทั้งสองไม่ประสงค์จะได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวนั้น กฎหมายมอบอำนาจให้แต่งตั้งได้ถึง 4 คน การเชิญบุคคลมาสอบถามเพียง 2 คน จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3. การหารือในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562

การแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวในครั้งนี้ เป็นการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 22 ประกอบมาตรา 60 วรรคสาม อันเป็นหน้าที่ของประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพื่อเห็นชอบให้เลขาธิการวุฒิสภาในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นปัจจุบันต่อประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน (วันที่ 31 ตุลาคม 2562) โดยไม่ต้องพิจารณาต่อไปว่า การที่เวลาล่วงเลยมากว่า 60 วัน ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ  ประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มามากแล้ว หากต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 30 วัน ย่อมทำให้เสียหายมากยิ่งขึ้น

4. ความประสงค์และความยินยอมเพื่อรับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว

การที่เลขาธิการประธานศาลฎีกาสอบถามความประสงค์และความยินยอมของบุคคลเพียง 2 คน เพื่อรับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว ทั้ง ๆ ที่มีบุคคลซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมาหลายรอบ เป็นจำนวนหลายสิบคน และในจำนวนนั้น มีบุคคลหลายคนแสดงความประสงค์และความยินยอมเพื่อรับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวแล้ว การไม่ดำเนินการแต่งตั้ง ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมโดยรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net