Skip to main content
sharethis

ซีพี ออลล์ ยืนยัน 7-11 ไทยยังแข็งแกร่ง มีการจ้างงานต่อเนื่อง ปี 2562 เปิดรับพนักงานอีกว่า 35,000 อัตรา

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2562 สำนักบริหารการสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่กรณี "เซเว่น อีเลฟเว่น" ในประเทศหนึ่ง มีการปิดสาขา และเลิกจ้างพนักงาน นั้น "บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ขอยืนยันว่าเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทยยังคงขยายการให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ และยังคงรับสมัครพนักงานอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2562 เปิดรับพนักงานอีกว่า 35,000 อัตรา

ที่มา: คมชัดลึก, 11/10/2562 

กพร.-กรมศิลป์-ยูเนสโก มอบวุฒิบัตร 'ช่างอนุรักษ์' สถาปัตยกรรมไม้ของไทย

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กพร. โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี (สพร.14 ปทุมธานี) ร่วมกับยูเนสโก พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กรมศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มหาวิทยาลัยศิลปากร และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG จัดอบรมหลักสูตร ช่างอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไม้ของไทย ให้กับช่างไม้และช่างก่อสร้าง ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม 2562 มีผู้ผ่านการฝึกอบรมและเข้ารับวุฒิบัตรในครั้งนี้จำนวน 21 คน และในจำนวนนี้มีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไม้ก่อสร้าง ระดับ 1 จำนวน 7 คน การอบรมแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ช่วงแรก เป็นการถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมประเภทไม้ ระหว่างวันที่ 19 – 23 สิงหาคม 2562 ณ องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ และศึกษาดูงานที่พระราชวังสนามจันทร์ ช่วงที่ 2 เป็นการฝึกออกสำรวจและบันทึกสภาพโบราณสถานก่อนการอนุรักษ์ ประเมินความเสียหาย และการวางแผนอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 2 กันยายน 2562 ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และศึกษาดูงานที่สถาปัตยกรรมเพชรบุรี ช่วงที่ 3 พัฒนาทักษะและเทคนิคเพื่อการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ประเภทไม้ การอนุรักษ์เชิงป้องกันและการบำรุงรักษา ระหว่างวันที่ 2 – 11 ตุลาคม 2562 ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

นายสุชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันช่างที่มีความชำนาญงานบูรณะโบราณสถาน มีจำนวนน้อยมากและขาดโอกาสในการสืบทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ จำเป็นต้องฟื้นฟูความรู้ทักษะช่าง เพื่อใช้ในการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ อีกทั้งต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประกอบการเรียนรู้และการทำงานด้วย กพร.จึงร่วมกับกรมศิลปากร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดฝึกอบรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมปลูกฝังจริยธรรมทางวิชาชีพให้แก่แรงงานรุ่นใหม่ เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาช่างสถาปัตยกรรมไทยแบบดั้งเดิม สู่การอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก

“การฝึกอบรมในครั้งนี้ มุ่งพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรสำหรับช่างอนุรักษ์ ให้ครอบคลุมเนื้อหาองค์ความรู้ เกี่ยวกับการอนุรักษ์สถาบัตยกรรมไม้ สร้างผู้สอนช่างอนุรักษ์รุ่นใหม่ ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงานและทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ กพร. ยังเตรียมพร้อมในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานเฉพาะ ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ในลำดับต่อไปอีกด้วย” อธิบดี กพร.กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 11/10/2562 

รมช.คมนาคม ขีดเส้นบินไทย 30 วันจัดทำแผนฟื้นฟู/เล็งลด 'โอที' พนักงาน

ที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2562 นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน บริษัท การบินไทย พร้อมได้มีข้อสั่งการให้เร่งดำเนินการภายหลังจากที่ทางคณะกรรมการ การบินไทยได้มีการสั่งให้ทบทวนแผนจัดหาฝูงบินใหม่จำนวน 38 ลำ และนำกลับมาเสนอ ภายใน 6 เดือน ตามมติเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง ตลาดเปลี่ยนแปลง ซึ่งยอมรับว่าธุรกิจการบินปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมากหลายประเด็นการบินไทยไม่ได้รับ แต้มต่อ เช่น เรื่องของราคาเชื้อเพลิง การเปิดน่านฟ้าเสรี รวมถึงภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่องที่ส่งผลให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้จึงสั่งการให้มีการรายงานผลประกอบการเป็นรายเดือน และให้บริษัท จัดทำแผนฟื้นฟูฯและแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันนี้

"ในส่วนของแผนการจัดหาเครื่องบิน ใหม่ 38 ลำ ตามที่คณะกรรมการได้สั่งให้ทบทวนแผนใหม่นั้น การบินไทยจะต้องรายงานความคืบหน้าให้ตนรับทราบแผนการดำเนินงานเป็นประจำทุกเดือนจนกว่าแผนจะแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา 6 เดือน พร้อมกันนี้ให้รายงานความก้าวหน้า เรื่องการลงทุนของบริษัทในศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) ที่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาทุก 15 วัน โดยให้การดำเนินงานของบริษัทยึดตามแผน EEC ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาลโดยเคร่งครัดและให้เร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว" นายถาวร กล่าว

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการการบินไทย กล่าวว่า นายถาวร ได้มีการกำชับให้การบินไทยพิจารณาแผนจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ อย่างรอบคอบ พร้อมตั้งคำถามของการวางแผนจัดใช้เครื่องบิน สถานะทางการเงิน และแผนต่อสู้การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินเพื่อประกอบในแผนจัดหาฝูงบินดังกล่าว

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย เปิดเผยว่าทางการบินไทยได้มีการเร่งจัดทำแผนระยะสั้นในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ของปีนี้ เพื่อฟื้นฟูให้ได้มากที่สุดและก็มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนดังกล่าว

นอกจากนี้จะมีการหารือร่วมกับพนักงานในการลดวันหยุดลง 1 วัน เพื่อช่วยในเรื่องของค่าแรงการทำงานล่วงเวลา (OT) และลดค่าแรงของผู้บริหารบางส่วนลง โดยมองว่าเจตนาดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือองค์กรในการคุมค่าใช้จ่าย

ที่มา: แนวหน้า, 11/10/2562 

แจงสภาพกลุ่มแรงงานพื้นที่สมุทรสาคร ยอดกว่า 1.5 แสนคน จ่อตั้งศูนย์วันสตอปเซอวิสต่ออายุปลายปี 2562

นางอัธยา อ่ำหนองโพ หน.จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร รายงานว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา ในฐานะกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร ซึ่งบัตรยังไม่หมดอายุ และกลุ่มที่ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งยังมีเวลาเหลืออยู่ในเวลาวันที่ยื่นขออนุญาตเพื่อสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อ และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี โดยมีระยะการอนุญาตให้อยู่ทำงาน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มใบอนุญาตทำงาน ก่อนหมดอายุ (ปีหน้า) หรือในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ซึ่งอนุญาตให้อยู่ได้ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 ปรากฏว่า มีจำนวนแรงงาน 25,230 ราย และ 2. ที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป ซึ่งได้มีอนุญาตให้ทำงานอยู่ได้ถึง 31 มี.ค. 2565 มีจำนวน 124,986 ราย

หน.จัดหางานฯสมุทรสาคร ชี้แจงว่า สำหรับสถานการ์แรงงานในจังหวัดโดยกลุ่มแรก มีมายื่นแบบคำขอบัญชีแรงงานกับทาง สนง.จัดหางานจังหวัดฯ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้นายจ้างที่มีลูกจ้างในกลุ่มนี้สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ทำการจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ขณะที่ในส่วนแรงงานในกลุ่มที่ 2 จะใช้วิธีดำเนินการให้นายจ้างในแบบการเปิด “ศูนย์วันสตอปเซอวิส”ภายในวันที่ 16 ธ.ค. 2562 นี้ สำหรับสถานที่ใช้รองรับการทำงานเพื่อใช่จัดการนั้นอยู่ระหว่างกำลังมีการพิจารณาจัดตั้งสถานที่ ได้ก่อนจะถึงกำหนดเวลาดังกล่าวต่อไป”

ด้านนายนิรัตน์ ฐากูรบุตร แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวชี้แจงว่า สำหรับสภาพโดยรวมการจ้างงานต่างๆ ในจังหวัดในขณะนี้การจ้างงานยังคงมีแนมโน้มไปในทิศทางที่ดี ซึ่งหลายบริษัทที่ความต้องการแรงงานหลายอัตรา เช่น ที่ทางจัดหางานจังหวัด ก็มีบริษัทมาแจ้งความประสงค์ต้องการพนักงานมากนับ 1,000 คน ซึ่งยังมีผู้ที่ได้งานทำปัจจุบันนี้ก็มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัทอื่นๆ ก็มาแจ้งไว้ถึงความต้องการแรงงานอยู่ตลอด

“ขณะเดียวกันทางบริษัทต่างๆ ก็มีการประกาศรับสมัครแรงงานเอง และที่ได้ผ่านหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมองว่า การจ้างงานของในสมุทรสาครยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีแม้ว่าช่วงนี้อาจจะมีเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ดูว่าอาจไม่สู้ดีนัก และหวั่นว่า จะกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งเรื่องนี้ทางแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร อย่างไรก็ดีพบว่า เมืองสมุทรสาครแม้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจลงบ้างแต่ก็น้อยส่วนมาก ทั้งนี้หาก ปชช.รายใด ต้องการมีงานทำหรือมีว่างงาน ติดต่อไปยังจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครได้ หรือติดตามจากการประกาศของบริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็มีเปิดรับสมัครแรงงานกันอยู่แบบต่อเนื่องมากพอสมควร”

ที่มา: สยามรัฐ, 11/10/2562 

เตือนคนไทยในเกาหลีใต้รายงานตัวล่วงหน้าก่อนเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนา 21 ต.ค. 2562 นี้เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2562 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้เผยประประกาศสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐเกาหลี เรื่อง การรายงานตัวล่วงหน้าก่อนเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนา สำหรับชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป

โดยประกาศฯ ระบุว่าชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมายที่ต้องการเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนา ก่อนเดินทาง 3 – 15 วันทำการจะต้องรายงานตัวพร้อมเอกสารประกอบ ได้แก่ (1) หนังสือเดินทาง หรือหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity - C.I.) (2) บัตรโดยสารเครื่องบิน และ (3) แบบฟอร์มการรายงานตัว (สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ immigration.go.kr หรือ hikorea.go.kr) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่ทำงาน/ที่พัก โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะดำเนินการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและพิจารณาอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาต่อไป จากนั้นจะต้องไปรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยานของสาธารณรัฐเกาหลีอีกครั้งก่อน check-in เพื่อเดินทางกลับประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ขอให้คนไทยที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมายหรือทำหนังสือเดินทางหายหรือหนังสือเดินทางหมดอายุที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทยหลังวันที่ 21 ต.ค. 2562 เดินทางมาทำหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity - C.I.) หรือ “พาสขาว” ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ก่อนจะไปรายงานตัวได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ใกล้เคียงและที่ท่าอากาศยานด้วย

ที่มา: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล Royal Thai Embassy, Seoul, 10/10/2562 

โรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี ประกาศปิดโรงงานกะทันหัน ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า คนงานเดือดร้อนหนัก

โรงงานอุตสาหกรรมแห่งนี้ อยู่ในตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้ประกาศปิดโรงงานกระทันหัน โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ปลดคนงานทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่ผู้จัดการโรงงาน ไม่มีเงินชดเชย นอกจากนี้ยังค้างจ่ายเงินเดือน และมีประกาศให้ไปรับแบ่งเป็น 2 งวด คือ 11 ตุลาคม รับที่สำนักงานแรงงานจังหวัดสิงห์บุรีครึ่งหนึ่ง และวันที่ 18 ตุลาคมอีกครึ่งหนึ่ง โดยคนงานหวั่นไม่ได้รับเงินเดือนครบ มีภาระหนี้สิน และโรงงานยังไม่จ่ายค่าประกันสังคมให้คนงานมา 3 เดือนแล้ว แถมยังต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เดือนร้อนอย่างหนัก

ทั้งนี้จึงอยากวอนขอทางแรงงานจังหวัดฯเร่งให้ความช่วยเหลือ โดยอยากเรียกร้องสิทธิที่สมควรจะได้ คือเงินเดือนที่เหลือ และเงินชดเชยต่าง ๆ ที่สำคัญคือเรื่องเงินประกันสังคมที่ต้องส่งต่อเองซึ่งตอนนี้ยังไม่มีเงินไปส่งต่อ ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่า แรงงานจังหวัดสิงห์บุรีได้รับแจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้แจ้งให้ทางโรงงานเข้าพบเพื่อให้ข้อเท็จจริง

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวก็ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ทางโรงงาน แต่ยังไม่มีการตอบรับ มีแต่การประกาศผ่านคนงาน โดยในวันที่บอกเลิกจ้าง ทางโรงงานบอกกับคนงานว่าให้ไปฟ้องร้องเงินชดเชยกันเอาเอง

ที่มา: PPTV, 10/10/2562 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดผลการสำรวจพบว่าเดือนกันยายนมีผู้ว่างงานกว่า 3.85 แสนคน เพิ่มกว่าปีที่ผ่านมาขณะที่นักศึกษาจบใหม่กว่า 5 แสนคนเสี่ยงเผชิญปัญหาการว่างงานสูง

วันที่ 9 ต.ค.2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนกันยายน 2562 พบว่า ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 56.64 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงานจำนวน 37.72 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ที่มีงานทำจำนวน 37.21 ล้านคน, ผู้ว่างงาน 3.9 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.2 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 18.92 ล้านคน

ขณะทีช่วงเดือนกันยายน 62 มีผู้ว่างงานกว่า 3.85 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราส่วนการว่างงานร้อยละ 1.0 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นคน ส่งผลให้ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมากและอัตราการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเยาวชนหรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 6.5 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้ อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.4 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 5.1 เป็นร้อยละ 6.5 พบว่าผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวนสูงสุดคือ 1.73 แสนคน (อัตราการว่างงานร้อยละ 2.2) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 8.4 หมื่นคน (ร้อยละ 1.3) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.7 หมื่นคน (ร้อยละ 1.2) ระดับประถมศึกษา 4.2 หมื่นคน (ร้อยละ 0.5)และไม่มีการศึกษา และต่ำกว่าประถมศึกษา 9.0 พันคน (ร้อยละ 0.1) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบว่า ผู้ว่างงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 2.0 หมื่นคน ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาลดลง 3.0 พันคน ในขณะที่ระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 2.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 4.0 พันคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเพิ่มขึ้น 3.0 พันคน

ที่มา: Spring News, 9/10/2562 

งานวิจัยระบุแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์เสี่ยงตกงาน 300,000 คน

งานวิจัยในโครงการบทบาทของการค้าและเทคโนโลยี ต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดแรงงานของไทย โดยนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ผศ.วรประภา นาควัชระ และนางสาวเนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาทดแทนแรงงานคน พบว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับแรงงานไทยใน 20 ปีข้างหน้า อาจมีความเสี่ยงที่จะตกงานได้มากถึง 12 ล้านคน จากการใช้หุ่นยนต์และย้ายฐานการผลิต เว้นแต่อาจมีงานประเภทใหม่ๆอาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือแรงงานสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือพนักงานระดับปฏิบัติการในโรงงาน มีหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร ทำส่วนประกอบต่างๆ เสมียน หรือที่เรียกว่ากลุ่มที่มีทักษะต่ำ (Low Skill) อีกกลุ่มที่น่ากังวลคือกลุ่มการศึกษาระดับประถมศึกษา มีความเสี่ยงตกงานได้มากถึง 5 ล้านคน ซึ่งแรงงานที่มีอายุ 35 –44 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้นการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) จะทำได้ยากขึ้น

ผลการวิจัยยังระบุว่า อาชีพพนักงานบริการตามร้านค้าต่างๆ พนักงานขาย หรือแม้กระทั่งเกษตรกร และชาวประมง ล้วนมีแนวโน้มที่จะตกงานมากขึ้น เป็นผลมาเพราะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้าต่างๆได้ง่ายขึ้น เกิดการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนภาคการเกษตรและประมงได้นำเอาเครื่องมือเครื่องจักรขนาดใหญ่มาใช้งานมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการมองว่า เครื่องมือเหล่านี้นอกจากจะช่วยทุ่นแรง ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการจ้างงานแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายกับคนงานในระหว่างการทำงานได้อีกด้วย

ดังนั้น 3 ทักษะที่ควรให้ความสำคัญคือ ทักษะในด้านความรู้ความเข้าใจในการจัดการ ทักษะด้านกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ และทักษะทางด้านสังคม เพราะทั้ง 3 ทักษะนี้ AI ยังไม่สามารถเข้ามาทำงานแทนคนได้

"มองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นแรงงานต้องเปิดใจให้กว้าง พัฒนาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเสมอ ซึ่งแรงงานทุกคนควรจะมีแนวคิดเช่นนี้ไม่ใช่ว่ารอ จริงๆแล้วภาครัฐก็ช่วยในระดับหนึ่ง และนายจ้างก็พยายามช่วยด้วย แต่คุณต้องช่วยตัวคุณเองด้วย" ผศ.วรประภา กล่าว

อีกด้านหนึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ก็มีความเสี่ยงตกงานเช่นกัน เพราะการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่มีต่อแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ของ รศ.กิริยา กุลกลการ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนลดลงจาก 30,000 ชิ้น เหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ท่อไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมัน เป็นต้น

จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีจำนวนประมาณ 816 แห่ง จาก 2,500 แห่ง โดยบริษัทเหล่านี้จ้างแรงงานอยู่จำนวน 326,400 คน หรือ 47% ของแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะได้รับผลกระทบมีอีกจำนวน 183 แห่ง

“สถานประกอบการขนาดใหญ่มักจะผลิตชิ้นส่วนในหลากหลายกลุ่มจึงสามารถปรับตัว และจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าสถานประกอบการเอสเอ็มอี ที่มักจะผลิตชิ้นส่วนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 438-571 แห่ง”
รศ.กิริยาเสนอให้กระทรวงแรงงานควรจัดตั้งศูนย์ฝึกทักษะใหม่ให้แก่แรงงาน เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานกลุ่มต่างๆ ส่วนกลุ่มแรงงนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และการศึกษาน้อย จึงมีข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะหรือเรียนรู้ทักษะทำงานใหม่ๆ หรือเปลี่ยนอาชีพ ส่วนใหญ่จึงออกไปทำงานนอกระบบซึ่งขาดความมั่นคงและสวัสดิการ จึงควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐให้สามารถยังชีพได้ เช่น ส่งเสริมการออม ส่งเสริมให้ทำประกันสังคมมาตรา 39 และจัดระบบการเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม

นายธงชัย นพรัตน์ วัย 50 ปี อดีตช่างผสมสีรถยนต์ ของบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่ง ตัดสินใจเข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือเออรีรีไทร์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ( ส.ค. 2562) เพื่อมาทำการเกษตร ด้วยการเลี้ยงสัตว์และปลูกโกโก้ ที่บ้านเกิด อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท แม้อีกเพียง 5 ปีเขาจะเกษียณอายุก็ตาม แต่เพราะการต้องพัฒนาตัวเองและเรียนรู้งานอื่นๆตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบริษัท เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจในอาชีพที่รัก และทำมาตลอด 24 ปี ซึ่งเขายอมรับว่า อายุที่มากขึ้นอาจเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

“บริษัทให้พยามยามเรียนรู้ในหลายๆจุด สามารถทำงานทดแทนกันได้ จากปกติที่เราจะอยู่แค่จุดที่เราทำงาน ซึ่งก็มีส่วนให้เราเกิดความเครียด เพราะเราต้องไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพิ่มขึ้น” เขายังมองว่าในอนาคต หุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนแรงงานคนมากขึ้น เพราะหุ่นยนต์มีศักยภาพสูงในการทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังไม่มีข้อเรียกร้องใดๆต่อนายจ้าง

ด้านนายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เสนอให้ภาครัฐฝึกอาชีพหรือทักษะใหม่ๆให้แก่แรงงาน ที่สมัครเข้าโครงการใจลาออก เพื่อให้พวกเขายังมีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว

“คนงานเขาอยู่โรงงานเป็นมนุษย์เงินเดือนตลอด บางคนที่ลาออกไปก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรแต่ลาออกไปก่อน ดังนั้นรัฐก็ต้องเข้ามาดูแล ไม่ว่าจะเป็นการฝึกวิชาชีพตอบโจทย์กับยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการทำงานออนไลน์ หรือฟรีแลนซ์ต่างๆ”

ข้อมูลที่ผ่านมา ยังพบว่า บริษัทผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนหลายแห่ง มีการลดการจ้างงานหลายรูปแบบ เช่น โครงการสมัครใจลาออก การไม่รับพนักงานทดแทนคนที่เกษียณอายุไป การลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา การลดวันทำงาน การเลิกจ้างพนักงานซับคอนแทรค รวมทั้งยังมีการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ

ที่มา: ThaiPBS, 9/10/2562 

พนักงานโรงงานตุ๊กตาร้อง ‘ศูนย์ดำรงธรรม’ โดนเบี้ยวค่าจ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ได้มีกลุ่มแรงงานจำนวน 40 คนของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รวมตัวกันเพื่อมาร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสีคิ้ว หลังจากถูกนายจ้างซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายตุ๊กตา เบี้ยวค่าจ้าง ส่งผลทำให้กระทบรายจ่ายและได้รับความเดือดร้อน จึงอยากให้หน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบและขอความเป็นธรรมจากเจ้าของกิจการให้ได้รับเงินตอบแทนกลับมา

ด้านชญานันท์ กอบโชคจีราภัคค์ อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เล่าว่า ตนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากบริษัทผลิตตุ๊กตาไม่ยอมจ่ายเงินเดือน จำนวน 3 วีก ให้กับพนักงานกว่า 100 คน โดยในวันนี้ได้มีพนักงานจำนวน 40 คนได้มากรอกเอกสารกับศูนย์ดำรงธรรมและจะมีการเข้ามากรอกเอกสารและให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ครอบครัวเดือดร้อนเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องมีรายจ่ายอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น ค่ากินค่าอยู่ และอื่นๆจิปาถะ โดยทางบริษัทให้เหตุผลว่าขาดเงินทุนหมุนเวียนเนื่องจากผู้ว่าจ้างงานไม่ยอมจ่ายเงินเพราะเศรษฐกิจไม่ดี จึงทำให้ไม่มีเงินจ่ายให้กับพนักงาน ซึ่งตนเองมองว่าไม่ได้เกี่ยวกับพนักงานเนื่องจากเป็นบุคคลทำงานนายจ้างจะต้องหาเงินมาชำระ ซึ่งขณะนี้ได้มีการยื่นหนังสือลาออกแล้วกว่า 70 คน คาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

จากการสอบถามเจ้าของกิจการทางโทรศัพท์ ซึ่งไม่ขอชื่อและนามสกุลจริง เปิดเผยว่า ตนยอมรับว่าไม่มีเงินจ่ายให้กับลูกจ้าง เพราะว่าผู้ว่าจ้างไม่ยอมโอนเงินเข้ามาให้ อ้างว่าไม่สามารถจำหน่ายของก่อนหน้านี้ได้จึงทำให้ขาดเงินทุนที่จะมาจ้างงานต่อ ทำให้ตนในฐานะเจ้าของกิจการบริษัทตุ๊กตาได้รับความเดือดร้อนและไม่มีเงินทุนที่จะมาหมุนเวียน จนทำให้พนักงานทั้งหมดเดือดร้อน แต่ขอยืนยันว่าจะหาเงินมาชำระหนี้ให้กับพนักงานทุกคน และต้องขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่มา: Spring News, 8/10/2562 

รองประธานสภาองค์กรนายจ้าง เผยรายชื่อจังหวัดคนเสี่ยงตกงานสูง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า สงครามการค้า สหรัฐฯและจีน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีผลให้การส่งออกไทยปีนี้ ติดลบ 1.5-2% และสะท้อนไปยังการจ้างแรงงาน ที่เริ่มชะลอตัวลง เพราะภาคอุตสาหกรรม ทยอยลดกำลังการผลิตลง สิ่งที่ต้องจับตามองคือความเสี่ยงของตลาดแรงงานปีหน้า ที่จะมีมากขึ้นเมื่อนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบอีก 520,000 คน ในเดือน เม.ย.2563 อาจต้องประสบกับภาวะการว่างงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงานในภาคส่วนต่างๆ อาทิ ส่งออก การผลิต การบริการค้าปลีกและค้าส่ง เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงชะลอตัวลง โดยมีการลดการรับแรงงานใหม่ และมีการปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์ ทำให้การจ้างงานลดลง

“ผลกระทบที่เริ่มเห็นสัญญาณคือ การทยอยปิดโรงงานและการเลิกจ้างงาน เมื่อเดือน ก.ย. โดยเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร ที่ปิดกิจการและบางโรงงานลดการจ้างแรงงานใหม่ และจากนี้ไปก็จะเห็นภาพการเลิกจ้างแรงงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น ในพื้นที่ที่มีการตั้งโรงงานที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก อาทิ โรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร โดยสัญญาณการเลิกจ้าง จะเริ่มจากมาตรการขนาดเบา ไปจนถึงการให้ออกจากงานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การไม่รับพนักงานคนใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลง, การใช้หุ่นยนต์, การเลิกใช้บริการเอาต์ซอร์ซ ที่เกี่ยวกับแรงงาน, การลดค่าล่วงเวลา”.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 8/10/2562

รมว.แรงงาน ให้โอวาทแก่คนงานก่อนเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2562 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวให้โอวาทแก่คนงานก่อนเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับทุกคนเป็นอย่างยิ่งที่จะเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้ทุกคนต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกหลายครั้ง ต้องฝึกฝนทั้งทักษะภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน ซึ่งต้องขอชื่นชมเป็นอย่างมากในความพยายามฝึกฝนและความอดทนเพื่อที่จะมีวันนี้ของทุกคน จะเป็นสิ่งสำคัญในการไปทำงานและการใช้ชีวิต ณ สาธารณรัฐเกาหลี ตลอดระยะเวลา 3 ปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้ฝากให้ทุกคนตั้งใจทำงานและรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ปฏิบัติตามกฎหมายและวัฒนธรรมของสาธารณรัฐเกาหลี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งของมึนเมา และการพนัน รู้จักเก็บออม และส่งเงินให้กับครอบครัวที่ประเทศไทย และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงาน โดยสิ่งใดที่ดีเป็นประโยชน์ ขอให้จดจำและนำกลับมาใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะการฝึกฝนภาษาเกาหลี ซึ่งเมื่อครบสัญญาจ้างและเดินทางกลับประเทศไทย สามารถช่วยให้หางานทำได้โดยง่าย รวมทั้งถ่ายทอดให้กับสมาชิกในครอบครัว หรือคนในชุมชน

รมว.แรงงาน ยังได้เน้นย้ำว่า หากทุกคนนำไปปฏิบัติก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเอง ครอบครัวและชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานรุ่นต่อๆ ไปอีกด้วย

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 7/10/2562 

กลุ่มสหภาพแรงงานเรียกร้องรัฐยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2562 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุม 3 กลุ่ม ประกอบด้วยเครือข่ายสลัม 4 ภาค สมัชชาคนจน รวมถึงคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดกิจกรรมที่หน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนราชดำเนิน โดย คสรท.และสรส.ร่วมกันจัดกิจกรรม “วันงานที่มีคุณค่าสากล” เพื่อรณรงค์ให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่าในสถานที่ทำงาน ซึ่งนำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. ประกาศขอยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง รวมถึงเร่งรัดให้รัฐบาลสร้างงานที่มีคุณค่าแห่งอนาคต โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาล ออกมารับหนังสือข้อร้องเรียนดังกล่าว ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะได้ แยกย้ายกันเดินทางกลับ

สำหรับกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค และสมัชชาคนจน ยังปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุติดำเนินคดีที่ดินกับผู้ไร้ที่ดินทำกินและไร้ที่อยู่อาศัย และขอให้ปฏิรูปกองทุนยุติธรรมให้กับคนจนได้รับความช่วยเหลือเข้าถึงอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้มีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มารับหนังสือด้วยตัวเอง โดยเมื่อรับหนังสือแล้ว นายเทวัญ กล่าวบนรถที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียงว่า ตนขออนุญาตลาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชั่วคราว เพื่อมารับข้อร้องเรียน ทั้งนี้ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาให้กับผู้มีรายได้น้อย ขณะที่ตนมีความเห็นใจทุกคน จึงได้ลาที่ประชุมครม.รีบออกมารับหนังสือจากทุกคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับว่าเมื่อรับหนังสือเรียบร้อยแล้วให้นำมาชี้แจงต่อนายกฯในทันที ซึ่งตนก็รับปากนายกฯไปแล้ว ทั้งที่ขณะนี้ ที่ประชุมครม.กำลังเร่งพิจารณาวาระร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณแผ่นดินเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในสัปดาห์หน้า ซึ่งเมื่อร่างพ.ร.บ.งบประมาณผ่านรัฐสภาแล้ว เราจะได้เห็นทิศทางในการช่วยนำงบประมาณไปพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่

ที่มา: เดลินิวส์, 7/10/2562 

ปลัดแรงงานสั่ง 'นิวเจน แอร์เวย์ส' จ่ายเงินลูกจ้างกว่า 200 ราย รวม 44 ล้านบาท

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีลูกจ้างบริษัท นิวเจน แอร์เวย์ส จำกัด กว่าพันคนร้องนายจ้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการให้บริการสายการบินนิวเจนแอร์เวย์ส หยุดทำการบินแต่ไม่ปิดกิจการและค้างจ่ายค่าจ้าง ว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบเรื่องดังกล่าวทันที ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าที่ผ่านมาได้มีลูกจ้างของบริษัททยอยมายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ทั้งกรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างและเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย จนถึงปัจจุบันรวมจำนวน 234 ราย ทั้งนี้พนักงานตรวจแรงงานได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย รวม 18 คำสั่ง สิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ รวมทั้งสิ้น 44,123,434 ล้านบาท ซึ่งได้มีการดำเนินคดีกับนายจ้างเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว 5 คดี สำหรับส่วนที่เหลือจะติดตามผลการปฏิบัติตามคำสั่งและหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินคดีฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอีก

นายสุทธิ กล่าวว่า สำหรับลูกจ้างบริษัท นิวเจน แอร์เวย์ส จำกัด ที่ยังไม่ได้มายื่นมาคำร้อง สามารถมายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่สถานประกอบกิจการของลูกจ้างตั้งอยู่ หรือยื่นคำร้องที่กองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ดินแดง กรุงเทพฯ และกรณีที่ลูกจ้างได้รับเดือดร้อนด้านการเงินสามารถใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นได้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/10/2562 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net