‘ยกเลิกโทษประหารชีวิต’ เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตกับกระบวนการยุติธรรมที่บกพร่องของไทย

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล แต่การยกเลิกโทษประหารในสังคมไทยยังไม่อาจเป็นจริง เมื่อประชาชนยังเข้าใจผิดว่าการประหารจะทำให้อาชญากรรมลดลง อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมที่บกพร่องก็อาจทำให้เราต้องประหารชีวิตคนบริสุทธิ์

สมชาย หอมลออ, เกศริน เตียวสกุล และอัจฉราพรรณ จรัสวัฒน์ (ที่มาภาพ AMNESTY INTERNATIONAL THAILAND)

  • โทษประหารชีวิตคือสิ่งสะท้อนความอ่อนแอของรัฐในการปกป้องดูแลประชาชนของตน
  • กระบวนการยุติธรรมของมีข้อบกพร่อง เช่น การไม่ให้ศาลใช้ดุลพินิจ อัยการไม่มีสิทธิ์ลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ทำให้ไม่อาจอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่
  • การมีหรือไม่มีโทษประหารชีวิตไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการทำให้อาชญากรรมลดลงหรือเพิ่มขึ้น

 

‘ไม่มีกระบวนการยุติธรรมของประเทศใดที่สมบูรณ์แบบ’ การลงโทษประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์จึงอาจเกิดขึ้นได้แม้แต่ในประเทศตะวันตก หากย้อนมองกลับมายังประเทศไทย ต้องทิ้งเป็นคำถามว่ากระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีความน่าเชื่อถือเพียงใด?

เพราะไม่มีกระบวนการยุติธรรมของประเทศใดที่สมบูรณ์แบบ หลายประเทศจึงยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ไม่ใช่แค่นั้น ฐานคิดอีกประการคือสิทธิในชีวิตที่ไม่มีใครสามารถพรากไปได้ ต่อให้เป็นรัฐเองก็ตาม

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 17 ทางเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิตโดยการสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศส จึงได้จัดงานเสวนา ‘เพื่อยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทยในโอกาสวันยุติโทษประหารชีวิตสากล’ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มุมมองจากนานาชาติ

กิโยม สิมง นักกฎหมายจากฝรั่งเศส กล่าวว่า ในหลายประเทศ ประชาชนเห็นด้วยกับโทษประหาร ในไทยก็เช่นกัน เขาเห็นว่าควรเปิดให้มีการอภิปรายประเด็นนี้ในวงกว้าง ตั้งคำถามว่าทำไมรัฐต้องลงโทษด้วยการประหารชีวิต ซึ่งก็มีหลายทฤษฎีที่คัดค้านการลงโทษประหาร เช่น นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 อย่างโธมัส ฮอบส์ บอกว่ารัฐต้องให้การปกป้องรักษาบุคคลที่เป็นประชาชนของตัวเองจึงไม่สามารถให้รัฐมาประหารชีวิตประชาชนได้

“รัฐต้องปกป้องรักษาชีวิตทุกคน ทำไมรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายต้องฆ่าคนคนหนึ่ง ต้องกลัวคนนี้ทำร้ายประเทศของตัวเอง การลงโทษประหารชีวิตแปลว่ารัฐมีความอ่อนแอ ไม่สามารถดูแลปกป้องประเทศได้ เป็นการยอมรับว่าตนเองไม่มีความสามารถที่จะปกครองได้”

ด้าน ฮานน์ โซฟี เกรฟ กรรมาธิการคณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิต กล่าวว่า ถ้าเราต้องการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความงอกงาม ความกลมเกลียว จำเป็นต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต เธอเล่ากรณีที่เกิดขึ้นในประเทศนอร์เวย์ของเธอว่า

“ในนอร์เวย์มีเคสฆาตกรรม ชายหนุ่มคนหนึ่งฆ่าเยาวชน 80 คนในค่ายฤดูร้อน เขาพูดที่ศาลว่าไม่ยอมรับศาลและต้องการโทษประหารชีวิต ศาลปฏิเสธ ประชาชนนับหมื่นแสนออกมาบอกว่าฆาตกรคือฆาตกร แต่เราไม่ใช่ฆาตกร”

 

 

โทษประหารในสังคมไทย

“เรื่องโทษประหารมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน บางประเทศต้องการโทษประหารชีวิต บางประเทศก็บอกว่าไม่จำเป็น แต่สังคมไทยเป็นสังคมที่ยังเรียกร้องโทษประหารชีวิต เพื่อต้องการลดอาชญากรรมเพราะคนไทยคิดว่าโทษมันเบาไปจึงต้องมีโทษหนักๆ แต่หารู้ไม่ว่า ประเทศไทยเรามีฐานความผิดที่มีโทษประหารชีวิตมากมาย แต่ทำไมอาชญากรรมไม่เคยลดลงเลย ทำไมเราต้องรอให้สังคมมากำหนดว่า การที่เราจะยกเลิกโทษประหารชีวิตเราจะมารอ consensus ของสังคมไม่ได้ เราต้องการผู้นำที่มีความเด็ดขาดในการยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีนั้นเพราะว่าถ้าเราเลือกวิธีนั้นเราก็จะเป็นอีกประเทศที่กลับไปกลับมา เพราะโดนประชาชนเรียกร้อง เราจะต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนก่อนว่าโทษประหารชีวิตมันจำเป็นกับสังคมไทยเราจริงๆหรือ” น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าว

น้ำแท้อธิบายต่อว่า ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนของฝรั่งเศสบอกว่ามนุษย์ทุกคนย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง หมายความว่าจะลงโทษก่อนมีความผิดไม่ได้ เพราะในอดีตมีการใช้วิธีบังคับ นำตัวไปทรมาน ถ้าทนได้ก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าทนไม่ได้ ยอมสารภาพก็ถือว่าเป็นคนผิด วิธีการแบบนี้เป็นการลงโทษก่อนจะพิสูจน์ว่าผิด ซึ่งไม่ได้แปลว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะลงโทษก่อนพิสูจน์ความผิดไม่ได้และวิธีคิดนี้ต้องใช้ตั้งแต่การสอบสวน การฟ้องคดีจะต้องมั่นใจว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริงๆ จึงฟ้องคดีได้ แต่วิธีคิดแบบนี้ยังไม่มีในกฎหมายไทย

ในงานวิจัยที่น้ำแท้ทำให้กระทรวงยุติธรรมเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว พบว่าประเทศไทยมีฐานความผิดทางอาญาที่มีโทษประหารชีวิตอยู่ 55 ฐาน ยาเสพติดและวางเพลิงเผาทรัพย์เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเราคิดว่าสามารถลดฐานความผิดได้แม้ประเทศไทยยังไม่ถึงจุดที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ทั้งหมด แต่เราจะสามารถทำความก้าวหน้าได้ด้วยการลดโทษบางอย่างที่ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์หรือยาเสพติด เป็นต้น

“ประเด็นต่อมาคดีบางประเภทเราไม่ให้ดุลพินิจผู้พิพากษา เราบอกว่าถ้าทำความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฆ่าบิดามารดาก็บอกว่าต้องประหารสถานเดียว ศาลตัดสินเป็นอื่นไม่ได้ เรื่องนี้ต้องให้ดุลพินิจของศาลในการลงโทษเป็นการจำคุกตลอดชีวิต

“แล้วก็ยังมีงานวิจัยว่าถ้าเราเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกประหารชีวิตโดยไม่ให้เขาได้รับการลดโทษเลย กลับพบว่าคนเหล่านี้ตอบว่าให้เขาตายเลยดีกว่าอยากขังเขาไว้ทั้งชีวิตเลย แล้วคนเหล่านี้จะเป็นคนที่ดูแลยากมากเขาพร้อมที่จะกระทำความผิดในคุกได้ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ก็จะมีอันตรายในการดูแลคนเหล่านี้คนเหล่านี้ถ้าเราบอกว่า จากโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษ ไม่ว่าเขาจะเป็นนักโทษที่ดีอย่างไรคนเหล่านี้เราจะต้องเอาไปขังคุกมืดเขาจะมีชีวิตไม่ต่างจากสัตว์ ดังนั้น เขาก็คิดว่าตายซะดีกว่าถ้าไม่มีโอกาสจะได้เสรีภาพเลย”

น้ำแท้ยังกล่าวเสริมว่า อาชญากรรมมีสาเหตุจากปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองความอบอุ่นในครอบครัว แต่เรากำลังจะโยนให้โทษประหารชีวิตหมดเลย อ้างเหตุผลว่าที่อาชญากรรมมีจำนวนมากเพราะโทษไม่รุนแรงพอ ดังนั้น การยกเลิกโทษประหารชีวิตเท่ากับจะทำให้อาชญากรรมเพิ่มขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว การบังคับใช้กฎหมายต่างหากที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนที่มีอำนาจสามารถทำให้เจ้าหน้าที่ชั้นต้นบิดเบือนพยานหลักฐานได้ ที่เรียกว่าการสอบสวนทำลายหลักฐาน ไม่ใช่เพื่อรวบรวมหลักฐาน

ประเทศไทยต้องการระบบการสอบสวนที่ทำลายพยานหลักฐานไม่ได้ แต่ปัจจุบัน การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมีเพียงหน่วยงานเดียว รู้เห็นคนเดียวจะลบกล้องวงจรปิด ลบลายนิ้วมือ เช็ดรอยเลือดในสถานที่เกิดเหตุอย่างไรก็ได้ จุดอ่อนอีกประการหนึ่งคืออัยการของไทยไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงไปดูพื้นที่เกิดเหตุ เพราะฉะนั้นอัยการจะต้องเชื่อสิ่งที่ตำรวจเขียนมาในรายงานเท่านั้น น้ำแท้เห็นว่าหากให้อัยการมีอำนาจหน้าที่ในการลงพื้นที่เกิดเหตุได้ รับรู้พยานหลักฐานได้ ก็จะมีโอกาสให้ความเป็นธรรมได้อีกมาก

กระบวนการยุติธรรมที่บกพร่อง

ด้าน สมชาย หอมลออ ทนายความสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ใช่เพียงการคุ้มครองสิทธิในชีวิตของผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาเท่านั้น แต่เป็นตัวชี้วัดว่าในสังคมนั้นผู้คนเคารพสิทธิในชีวิตของคนอื่นมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้นอกจากจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่อาจตกเป็นจำเลยในคดีอาญาแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองสิทธิในชีวิตของพวกเราทุกคน แม้แต่คนที่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตหรือคนที่ยุยงส่งเสริมให้เกิดใช้ความรุนแรงเนื่องจากไม่คำนึงถึงคุณค่าของชีวิตของผู้อื่น

ประเด็นต่อไปคือบุคคลที่อาจถูกประหารชีวิตทั้งที่ตนไม่ได้กระทำความผิด ในกระบวนการยุติธรรมไทย โอกาสที่คนซึ่งไม่ได้กระทำความผิดและเป็นผู้บริสุทธิ์อาจตกเป็นจำเลยและนักโทษประหารมีโอกาสมาก สมชายยกตัวอย่างว่า

“คดีที่โด่งดังถึงแม้ว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาจะพิพากษาให้ประหารชีวิตแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 2 คนในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงจากประเทศตะวันตก เรื่องนี้องค์กรด้านสิทธิมนุษย์ชนหลายองค์กรได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ทนายความและผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำคดีมีความเชื่อมั่นเรื่องพยานหลักฐานและจากปากคำของผู้ที่ตกเป็นจำเลยซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรอการประหารว่าน่าจะเป็นแพะ สิ่งหนึ่งที่น่าจะชี้ว่าเขาน่าจะแพ้ก็คือระหว่างที่รอการตัดสินของศาลฎีกา ทนายความได้ชี้แจงให้ทั้งสองคนฟังว่าถ้ารับสารภาพคดีก็จะยุติ ศาลฎีกาอาจลดโทษให้จำคุกตลอดชีวิตและเรากำลังจะมีการพระราชทานอภัยโทษในวาระที่มีการสถาปนาในหลวงพระองค์ใหม่ นักโทษประหารสองคนนี้ยืนยันว่าตนเองไม่ผิด เขาไม่ได้ทำ ก็เป็นเรื่องน่าแปลกว่าถ้า 2 คนนี้ทำผิดจริงแล้วโอกาสที่จะรอดชีวิตรออยู่ข้างหน้า ทำไมเขาไม่รับสารภาพ”

สมชายยังกล่าวด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีข้อบกพร่องอยู่มาก โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นคือในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นตำรวจ และชั้นอัยการ ซึ่งรวบรวมและชงพยานหลักฐานไปสู่การพิจารณาของศาลและระบบของศาลไทยก็เป็นระบบที่ศาลอยู่เฉยๆ ต้องให้คู่ความนำเสนอพยานต่อศาล ประเด็นปัญหาก็คือขณะที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน เป็นอัยการที่มีอำนาจตามกฎหมายอยู่ในมือ รวบรวมพยานหลักฐานมา แต่มีหลายกรณีหลายคดีที่จำเลยซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดถึงขั้นต้องโทษประหารชีวิตเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ที่จำนวนมากก็ไม่มีเงินทองที่จะจ้างทนายความที่มีความสามารถในการต่อสู้คดีดังนั้น โอกาสที่จะต้องโทษประหารชีวิตจึงมีมาก

ยิ่งไปกว่านั้นคดีบางคดีที่เกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษที่มีการประกาศกฎอัยการศึกหรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เช่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันจำนวนผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนต้องโทษประหารชีวิตมีมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนได้หยิบยกขึ้นมาเรียกร้องรัฐบาล เรียกร้องศาลให้พิจารณาประเด็นนี้เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรแล้ว คือเมื่อเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกซึ่งนำโดยทหารจับผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนก็สามารถจำขังได้ 7 วันที่ค่ายทหารโดยที่ไม่ต้องขออนุญาตต่อศาล

หลังจากกักตัวไว้ 7 วันแล้วก็ส่งตัวไปที่ศูนย์ซักถามและควบคุมตัวตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งละ 7 วันจนครบ 30 วัน ซึ่งจะมีการซักถามผู้ต้องหา ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่เรียกว่ากรรมวิธีซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าหมายถึงอะไร แต่จากการสอบข้อเท็จจริงขององค์กรสิทธิมนุษยชนรวมทั้งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่า กรรมวิธีที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการซักถามผู้ที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือการทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูล เช่น คำรับสารภาพของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวหรือคำซัดทอดของผู้ที่ถูกควบคุมตัวต่อคนอื่น ทั้งยังมีการบันทึกไว้ให้ลงชื่อ ในเนื้อหาเขียนด้วยว่าไม่มีการทรมานหรือหลอกลวงใดๆ ทั้งสิ้น แต่คนที่ถูกควบคุมตัว 7 วันบวก 30 วันนี้ไม่มีโอกาสพบกับทนายความและน้อยคนที่จะได้รับการเยี่ยมจากญาติในระยะแรก

“ประเด็นต่อไปก็คือว่าศาลไทยรับฟังบันทึกของพยานที่เกิดขึ้นโดยที่ตอนนั้นให้ถ้อยคำผ่านกรรมวิธีและเซ็นเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล แน่นอน ศาลอาจจะอธิบายว่านี่ไม่ใช่พยานหลักฐานหลัก แต่จะใช้ประกอบหลักพยานหลักฐานอื่นๆ แต่ก็เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นหลักฐานที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าโดยกรรมวิธีและกระบวนการเหล่านี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เราจึงมีนักโทษประหารเพิ่มขึ้นทุกวัน

“ในจุดนี้เอง ผมคิดว่าปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของเราเป็นปัญหามาก แล้วไม่มีหลักประกันสิทธิในชีวิตของประชาชนเลย ในฐานที่อาจจะตกเป็นจำเลย แล้วเราจะแก้กันยังไง ผมยังมองไม่เห็นว่าจะทำยังไง ปัญหาคือเราต้องมีเจตจำนงที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง International Covenant on Civil and Political Rights) ที่บอกว่าถึงเราจะไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่เราก็ต้องลดโทษประหารชีวิตลง พักโทษ และนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด ปัญหาก็คือว่าเราจะมีรัฐบาลที่มีความกล้าหาญในเรื่องนี้หรือเราจะมีรัฐบาลที่เพียงแต่ต้องการจะฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ที่คนไทยประชาชนไทยทุกข์ระทมจากปัญหาอาชญากรรม ซึ่งผมคิดว่าไม่แฟร์ต่อประชาชน”

โทษประหารชีวิตไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง

ขณะที่ อัจฉราพรรณ จรัสวัฒน์ อดีตประธานหลักสูตรสาขาวิชาอาชญวิทยาและงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตอนปี 2550 นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ได้ทำการสำรวจการยกเลิกโทษประหารพบว่า ประชาชนไม่ต้องการให้เลิกเพราะเชื่อมั่นว่าถ้ามีโทษประหาร อาชญากรรมจะลดลง แต่จริงๆ แล้วในทางอาชญวิทยาไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโทษประหารชีวิตก็ไม่เกี่ยวกับการทำให้อาชญากรรมลดลงแต่อย่างใด

“ประเด็นที่ 2 คือสถานการณ์โลกปัจจุบัน ส่วนมากสรุปว่าเห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารเพราะเป็นการให้ความสำคัญกับการเป็นมนุษย์และสิทธิของการดำรงตนของความเป็นมนุษย์ อยู่ๆ จะไปฆ่าไปแกงเขาไม่ได้ แต่ปัญหาที่ดิฉันตระหนักจากการทบทวนวรรณกรรมมานานพบว่า ข้อจำกัดของมนุษย์มี 3 เรื่องใหญ่ๆ ก็คือเป็นความเคยชินที่ฟังตามๆ กันมาแล้วบอกว่าต้องประหารให้หมดเลยในคดีที่รุนแรงต่างๆ แต่มันไม่ใช่ทางออกในทางอาชญวิทยา อันที่ 2 คนทั่วๆ ไปกลัวการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ตำรวจ ศาล หรือราชทัณฑ์ อันที่ 3 ข้อจำกัดของมนุษย์ที่จะมาร่วมรณรงค์กับเราก็คือความไม่รู้ ดิฉันเจอตลอดเลย อาจารย์รักโจรมากหรือไง โจรห้าร้อยจะไม่ฆ่าเราหรือไง จะรอให้มันมากระทำกับอาจารย์”

ในส่วนของการรณรงค์นั้น อัจฉราพรรณเสนอว่าต้องรณรงค์เพื่อให้เกิดแนวร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ สร้างการสนับสนุนจากพลังสังคมและคนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด และสร้างเชื่อมโยงกับระบบยุติธรรมทางเลือก ยุติธรรมสมานฉันท์ ถ้ายุติธรรมชุมชนเข้มแข็ง ยุติธรรมทางเลือกไปได้ ยุติธรรมสมานฉันท์ชัดเจน ก็จะช่วยให้เกิดพลังในการเชื่อมโยงกับระบบยุติธรรมกระแสหลักและกระแสรอง

“ต้องสร้างการตระหนัก ประกาศตัวตนไปว่าเรามีความคิดหลักในกระบวนการยุติธรรมว่าเราต้องการยุติโทษประหาร เจอใครบอกหมดว่าไม่ควรมีแล้ว ต้องมีข้อเสนอในทุกรูปแบบว่าจะเอาอะไรมาให้เขารู้สึกว่าทดแทนได้ และต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ มีแนวร่วมชัดเจน มีพลังรณรงค์อย่างต่อเนื่องผ่านรูปแบบของสมัชชาการยกเลิกโทษประหาร”

เสียงจากนักโทษรอประหาร

เกศริน เตียวสกุล อดีตนักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ศึกษาเรื่องนักโทษประหารชีวิตในเรือนจำ เล่าประสบการณ์จากการศึกษาว่า

“ดิฉันเองได้เข้าไปในเรือนจำ 2 แห่งคือเรือนจําบางขวางและทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อสัมภาษณ์นักโทษรอประหารจำนวน 20 คนในปี 2561 ขณะที่เราทำเรื่องนี้ นักโทษรอประหารคือนักโทษเด็ดขาดแล้ว มีจำนวน 205 คนเป็นผู้ชาย 183 คน เป็นผู้หญิง 22 คน แต่ปรากฏว่า ณ วันนี้นักโทษรอประหารมีอยู่ 259 คน”

ขอบเขตของการเข้าไปพูดคุยกับนักโทษรอประหารคือการเข้าไปรับฟังความรู้สึกนึกคิด สัมผัสอารมณ์ ความโศกเศร้า ความทุกข์ทรมานของพวกเขาหลังจากที่ศาลตัดสินประหารชีวิตและคดีถึงที่สุด

“ดิฉันพบว่านักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตทุกคนในกระบวนการ กว่าจะถูกศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิตพวกเขา ได้รับรู้ว่าถ้าเขารับสารภาพ โทษประหารชีวิตจะลดลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็น่าแปลกว่าพวกเขายืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่รับสารภาพ ด้วยเหตุผลอะไร เราก็พบว่าส่วนหนึ่งทำความผิดจริง แต่เป็นผู้ร้ายปากแข็งคือไม่ยอมรับสารภาพเพราะมีความเชื่อหรือได้รับการแนะนำว่าสามารถวิ่งคดีได้ คนเหล่านี้จะเป็นคนที่มีทุนทรัพย์ เราไม่ต้องพูดถึงคนจนเลย คนเหล่านี้จะเสียเงินไปหลายล้านแต่ในที่สุดก็ถูกตัดสินประหารชีวิต อันนี้คือไม่ได้รับรับอานิสงส์จากการรับสารภาพ

“อีกกลุ่มหนึ่ง ถึงแม้รู้ว่ารับสารภาพแล้วโทษจะลดลง คู่คดีก็รับสภาพไปแล้ว หรือคนที่ทำจริงก็รับสารภาพไปแล้ว แต่เขามีความเชื่อว่าเขาไม่ได้ทำความผิดเพราะฉะนั้นเขาจะรับสารภาพทำไม คนกลุ่มนี้ที่น่าสงสารมากก็คือผู้หญิงซึ่งถูกซัดทอดจากญาติพี่น้อง ผู้หญิงที่มีสถานะเป็นเมียแล้วสามีเป็นผู้ค้ายาเสพติด แล้วไปอยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเองไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้ขายยา แต่ศาลก็ไม่อาจตัดสินเป็นอื่นได้เนื่องจากบทสันนิษฐานของศาลนั้น ถ้าปริมาณของยาเป็นหมื่นเม็ด ยาไอซ์เป็นกิโล ศาลก็ไม่สามารถตัดสินให้มีโทษจำคุกตลอดชีวิตได้ก็คือต้องประหารสถานเดียว”

เกศริน เล่าว่ามีนักโทษรอประหารหญิงรายหนึ่ง ไม่รู้ว่าแม่ของตนค้ายาเสพติด วันหนึ่งแม่ก็โทรมาให้ไปรับจากภาคเหนือเดินทางกลับกรุงเทพฯ พอขับรถมาเจอด่านตรวจ ความร้อนของเครื่องยนต์ทำให้กลิ่นของยาเสพติดจำนวนมากที่ซุกไว้โชยออกมา ผู้หญิงคนนี้บอกว่าตนเองไม่รู้ว่าแม่ค้ายาเสพติด ขณะที่แม่รับสารภาพ แต่ผู้หญิงคนนี้ไม่รับสารภาพ ฝ่ายแม่ถูกจำคุกตลอดชีวิต แต่ลูกสาวถูกตัดสินประหารชีวิต

“ข้อสังเกตหนึ่งที่พบก็คือว่าความเป็นผู้หญิงในคดีฆ่า ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจากอดีตสามีหรือจะเป็นสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ตาม ในบทบาทที่เป็นภรรยารู้สึกถูกกดขี่จากผู้ชายของตัวเองก็เลยฆ่าหรือจ้างวานผู้อื่นเพื่อแก้ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้โดยวิธีอื่นแล้ว แต่แรงจูงใจในการกระทำของผู้หญิงไม่ได้รับการพิจารณาเลยว่าเป็นข้อในการลดโทษ มีอีกกรณีหนึ่ง นักศึกษาคนหนึ่งถูกหมายจับในคดีระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ เขาหนีไปแล้วเพราะว่ารถจักรยานยนต์ของเขาซึ่งจอดทิ้งไว้ที่ค่ายอาสาที่ตัวเองเคยทำถูกตำรวจกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด ทั้งที่เป็นรถคนละยี่ห้อกัน แล้วก็มีโครงการให้กลับบ้านเพื่อสู้คดี นักศึกษาคนนี้ก็กลับบ้านเพื่อสู้คดี แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต เขาไม่มีโอกาสอุทธรณ์หรือฎีกาเนื่องจากทนายความของเขาเสียชีวิตไปก่อน”

เกศรินให้ข้อมูลอีกว่า นักโทษประหารจะยังไม่ถูกประหารชีวิตจนกว่าฎีกาที่ส่งไปจะตกลงมา ถึงแม้กฎหมายจะบอกว่าถวายฎีกาไป 60 วัน ถ้าไม่ลงมาก็ต้องถูกประหารชีวิต แต่ในทางปฏิบัติจะยังไม่มีการประหารตราบใดที่ฎีกายังไม่ตกมา

“ทีนี้พออยู่ไปเรื่อยๆ ก็อยู่ด้วยความทุกข์ทรมานเพราะไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่งจะถูกเอาไปประหารชีวิต สิ่งเหล่านี้สำหรับนักโทษรอประหารมันคือความทรมาน แม้แต่คนที่ไม่ใช่นักโทษ อธิบดีท่านหนึ่งก็ยังเล่าให้ฟังว่าในแต่ละวันถ้าเกิดเหตุการณ์ผิดปกติก็คือเอานักโทษเข้าเรือนจำเร็วตั้งแต่เที่ยงก็จะรู้แล้วว่าจะมีใครคนใดคนหนึ่งถูกนำตัวไปประหารชีวิต มันคือความทุกข์ทรมานที่ต้องเป็นพยานการตาย

“เราพูดกันเสมอว่าต้องรอให้ประชาชนเห็นพ้องในการยกเลิกโทษประหารชีวิต ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มันก้าวหน้าในสังคมจะมีคนที่อนุรักษ์นิยมที่ต้องการอยู่แบบเดิมๆ ต้องการอะไรแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เรารอไม่ได้ มันเป็นหน้าที่ของรัฐ เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท