Skip to main content
sharethis

นักศึกษารัฐศาสตร์ มช. จัดรำลึกเหตุการณ์ในเดือนตุลากับการเมืองไทย กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด และ ธเนศวร์ เจริญเมือง ร่วมเสวนาว่าด้วยทุนนิยมไทยกับบริบททางการเมือง รวมทั้งเทียบบทบาทนักศึกษาทางการเมืองยุค 14 ตุลา 16 ย้ำรัฐธรรมนูญเป็นบ่อเกิดของรัฐบาลการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจะสามารถแก้ปัญหาปากท้องได้ 

วันที่ 9 ต.ค.2562 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาที่เรียนวิชาปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ได้มีการจัดกงานรำลึกเหตุการณ์ในเดือนตุลากับการเมืองไทย ซึ่งในช่วงเช้ามีการฉายภาพยนตร์ “14 ตุลาสงครามประชาชน” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตของนักกิจกรรมและนักวิชาการอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์หลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนที่มีนิสิต นักศึกษา คนหนุ่มสาวเป็นแกนนำในยุค 14 ตุลาคม 2516

ช่วงบ่ายของงานมีการจัดบรรยายพิเศษและเสวนาเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลา และสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับทุนนิยมในประเทศไทย ซึ่งมีวิทยากรในการบรรยายพิเศษได้แก่ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ช่วงแรก รศ.ดร.กุลลดา กล่าวอธิบายบริบททุนนิยมกับการเมือง โดยมองบริบททุนนิยมโลกที่ได้รับการสนับสนุนจากการนำของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น ที่ส่งผลโดยตรงกับการเมืองไทยในช่วงที่รัฐบาลทหารมีอำนาจ โดยใช้การเรียกประชาธิปไตยในยุค 14 ตุลา 2516 ว่าเป็น “Democratic management” เป็นการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์โดยใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้เพื่อไม่ให้เกิดกการปฎิวัติเหมือนหลายๆประเทศในอินโดจีน

ศ.ดร.ธเนศวร์ ในฐานะคนเดือนตุลา กล่าวเสริมว่าในยุคนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ได้มีการปฏิวัติหลายๆ แห่งโดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดอย่างลาวและเวียดนามโดยใช้โมเดลเดียวกันกับในประเทศจีนคือป่าล้อมเมือง ใช้ชนบทเป็นที่ตั้งฐานกำลังในการปฏิวัติ แต่ในบริบทของไทยและด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กทำให้การปราบปรามของฝ่ายที่ต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์เป็นไปโดยง่าย และได้กล่าวเสริมอีกว่าการกลับออกจากป่าของนักศึกษาเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศ ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นอีกทางเลือกของคนหนุ่มสาวที่เข้าป่าในขณะนั้นซึ่งต้องยอมรับว่าชีวิตที่อยู่ในป่าและชนบทต่างจากชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ความสะดวกสบาย และปัจจัยในการดำรงชีวิตหลายๆ อย่าง

“เพื่อนผมบางคนนี่ ตอนเราเดินขึ้นดอยที่มีความสูงชันมาก แดดร้อนๆ มันกลับพูดว่าอยากกินเป๊ปซี่โว้ย อยากกินไอติมวนิลาโว้ย นานเข้าๆ บ่อยครั้งเข้า มันทำให้ทุกคนคิดถึงชีวิตในสังคมเมืองมากขึ้น เพื่อนผมบางคนบอกอยากกลับบ้านเพราะอยากกินผัดซีอิ๊วด้วยซ้ำ” ศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าว

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า ทุนนิยมไทยในปัจจุบันที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดมีความสัมพันธ์ หรือเชื่อมโยงอย่างไรบ้างกับบริบททางการเมืองนั้น รศ.ดร.กุลลดา กล่าวว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุนนิยมจะเติบโตได้อย่างมากในสภาพการปกครองแบบรวมอำนาจเช่นนี้ เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนจึงยกตัวอย่างในประเทศเยอรมันช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการปกครองแบบฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองในรูปแบบที่มีการรวมอำนาจในการตัดสินใจอย่างเบ็ดเสร็จการผูกขาดของทุนรายใหญ่ในประเทศจึงเติบโตได้มากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่ในประเทศไทยซึ่งแม้ทุนรายใหญ่นั้นจะเติบโตได้ดีในยุคที่เป็นประชาธิปไตยรัฐบาลมาจากกการเลือกตั้ง แต่การตัดสินนโยบายย่อมล่าช้าอันส่งผลต่อกำไรเมื่อเทียบกับรัฐบาลในปัจจุบันอย่างชัดเจน

ขณะที่การเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาในยุคปัจจุบันกับยุค 14 ตุลา 16 มีความเหมือนหรือความแตกต่างกันอย่างไรนั้น  ศ.ดร.ธเนศวร์ มองว่ามีความแตกต่างกันในลักษณะสังคมรวมถึงสิ่งแวดล้อม แต่โดยส่วนตัวมองว่าการที่จะทำให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ตระหนักในสิทธิของตัวเองได้ต้องให้การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ปลุกให้ท้องถิ่นตื่นตัวกับสิทธิของตนเอง รวมถึงในปัจจุบันที่มีกระแสความเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องพยายามเชื่อมโยงให้ได้ว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญมากกว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างไร

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นบ่อเกิดของรัฐบาลที่สร้างความจนให้กับประเทศ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจะสามารถแก้ปัญหาปากท้องได้ ไม่ใช่การไล่หว่านแจกเงินประชาชน” รศ.ดร.กุลลดา กล่าวเสริมในตอนท้าย พร้อมย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องบอกสังคมให้ชัด

นักศึกษา ม.เชียงใหม่ จุดเทียนรำลึก 14 ตุลาคม 2516

ขณะเดียวกันมีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงเย็นของวันที่ 14 ต.ค. 62 ที่อ่างแก้ว ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีกลุ่มนักศึกษาร่วมกันจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net