เช็คอย่างน้อย 5 ปม จากทอล์ค พล.อ.อภิรัชต์ ที่คุณต้องร้อง อิหยังวะ!

ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการบรรยายพิเศษของ พล.อ.อภิรัชต์ อย่างน้อย 5 ประเด็นที่ต้องบอกว่าไม่จริงหรือเข้าใจผิด ตั้งแต่ การเสียดินแดน 14 ครั้ง? เอาฝรั่งที่ไหนก็ไม่รู้ มาถ่ายรูปหน้าโรงพัก? ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนไปเรียบร้อยแล้ว? โจชัว หว่องมาเมืองไทยไม่รู้กี่รอบ? จนถึง Big Data Analytics?

จากกรณีเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2562 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) โดยมีข้าราชการกระทรวงกลาโหม นิสิตนักศึกษา สื่อมวลชนไทย และต่างประเทศร่วมฟังการฟังบรรยายร่วม 1 ชั่วโมงครึ่ง (อ่านรายละเอียดแบบคำต่อคำที่นี่) ซึ่งเปิดเผยทั้งความคิด ข้อมูล ทัศนคติทางการเมืองของ ผบ.ทบ. อย่างไรก็ตามในข้อมูลนั้นก็มีข้อโต้แย้งทั้งในเชิงข้อเท็จจริงและความคิดอยู่ ซึ่งประชาไทได้รวบรวมบางส่วนมานำเสนอดังนี้

ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน 14 ครั้ง?

พล.อ.อภิรัชต์ พูดตอนหนึ่งว่า “..เดิมนั้นอาณาจักรของไทยตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรีมีความกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหน ทิศเหนืออาณาจักรล้านนาเป็นของเรา ทิศใต้ตั้งแต่ดินแดนรัฐกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี เป็นของประเทศไทย ทิศตะวันออกตั้งแต่ลาว เขมร จบที่ญวณก็เป็นของประเทศไทย ส่วนทิศตะวันตกจรดดินแดนเมาะตะมะ ทวาย มะริด ตะนาวศรี ข้อมูลพวกนี้น้องๆ หาดูได้ ผมไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้โรงเรียนยังสอนวิชาประวัติศาสตร์เหล่านี้อยู่หรือเปล่า น้องๆ รู้ไหมว่าแต่ก่อนมันกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหน แล้วทำไมตอนนี้แผ่นดินจึงไม่มีรูปร่างอย่างนี้แล้ว มาดูกันว่ามันเกิดเห็นอะไรกันบ้าง เราเสียแผ่นดินทั้งหมด 14 ครั้ง ในรัชกาลที่ 1 เราเสียดินแดนสองครั้งคือ เกาะหมาก หรือปีนัง (มีเสียงการสู้รบด้วยการฟันดาบดังขึ้น) ใครไม่รู้จักปีนังบ้าง แต่ก่อนเป็นของเรา เราเสียให้อังกฤษ..”

จากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ไล่ประวัติการเสียดินแดน ซึ่งเป็นไปตามที่หลายคนเคยเห็นตามหนังสือแบบเรียนหรือคลิปในยูทูบ 14 ครั้ง จนครั้งล่าสุดคือ กรณี เขาพระวิหาร

คลิปประวัติการเสียดินแดน 14 ครั้ง ที่มีผู้ชมกว่า 1.6 ล้าน ที่มา armjtb

ประเด็นนี้แม้ช่วงหลังจะมีการเสียพื้นที่ไปหลังจากมีเส้นเขตแดนช่วงรัชกาลที่ 5 แล้วก็ตาม แต่คำถามใหญ่ๆ ที่ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เคยอธิบายไว้ในบทความซึ่งเผยแพร่ทางประชาไท เมื่อปี 2554 (ดู) ว่า ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเรื่องการ “เสียดินแดน” มีองค์ประกอบทางปัญญาสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ต้องอ้างว่าเป็นเจ้าของดินแดนประเทศราชมาแต่โบราณซึ่งเป็นทัศนะประวัติศาสตร์ของเจ้ากรุงเทพฯ และต้องถือเอาความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯ มาเป็นของตนด้วย และ 2. ต้องอ้างว่าเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวแบบชาตินิยมของรัฐชาติสมัยใหม่ โดย ธงชัย ได้อธิบายถึงความรู้ประวัติศาสตร์เรื่อง “การเสียดินแดน” ว่าวางอยู่บนความเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ 4 ประการ โดยจะขอยกบางตอนของบทความธงชัย มานำเสนอ ดังนี้

1. เข้าใจผิดว่า รัฐสมัยเก่า (ก่อนศตวรรษที่ 20) ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องใหญ่

ความจริง – รัฐสมัยเก่าไม่ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าเป็นเรื่องของเจ้าที่มีอำนาจมากถืออำนาจบาตรใหญ่เหนือเจ้าที่มีอำนาจน้อยกว่า ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นกันลงไป คือ เป็นความสัมพันธ์แบบเจ้าพ่อนั่นเอง เจ้าพ่อรายใหญ่ย่อมเรียก “ค่าคุ้มครอง” จากเจ้าพ่อรายเล็กกว่าในรูปของส่วยสาอากรผลประโยชน์ต่างๆ และไพร่พล จากนั้นเจ้าพ่อทั้งรายใหญ่รายเล็กก็ไปขูดรีดเอากับไพร่ฟ้าข้าไทในเขตอิทธิพล ของตนอีกทอดหนึ่ง

อำนาจของเจ้าพ่อรายเล็กจึงอยู่ที่อำนาจเหนือไพร่ฟ้าข้าไทในเขต อิทธิพลของตน อำนาจของเจ้าพ่อรายใหญ่จึงอยู่ที่อำนาจเหนือเจ้าพ่อรายเล็กและไพร่ฟ้าข้าไท ในเขตอิทธิพลของตน อธิปไตยเหนือดินแดนแบบสมัยนี้ยังไม่มี อำนาจขององค์อธิปัตย์หมายถึงอำนาจเหนือคน คือ เหนือเจ้าพ่อรายเล็กและไพร่ฟ้าข้าไท ไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตชัดเจน บางทีก็มีบางทีก็ไม่มี ไพร่ฟ้าจะเดินทางไกลไปไหนต่อไหนก็ยังถือว่ายังอยู่ ใต้อำนาจของเจ้าองค์เดิม หรือที่เรียกว่า “ใต่ร่มพระบรมโพธิสมภาร” ของเจ้าองค์เดิม

“ดินแดน” ที่รัฐสมัยเก่าหวงแหนสุดขีดคือเมืองและวัง เพราะหมายถึงอำนาจของเจ้าพ่อ รัฐสมัยเก่าไม่หวงแหนชายแดน ยกให้เป็นของขวัญแก่ฝรั่งอังกฤษมาแล้วก็มี

2. เข้าใจผิดว่า เมืองขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยของรัฐเจ้าพ่อใหญ่

ความจริง – เจ้าพ่อรายเล็กที่ยอมเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชของรัฐเจ้าพ่อใหญ่ยังคงมี อำนาจเหนือเมือง วัง ไพร่ฟ้าข้าไทและเขตอิทธิพลของตน เพียงแต่ไม่ถือว่าเป็น “อิสระ” (คำว่า “อิสระ” แต่เดิมหมายถึงเป็นใหญ่สูงสุด ความหมายเพิ่งเปลี่ยนเป็น independence พร้อมๆกับรัฐสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 นี่เอง) จะถือว่าเป็น “อิสระ” ได้ยังไงในเมื่อยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐเจ้าพ่อใหญ่ แต่การสวามิภักดิ์มิได้หมายถึงตกเป็นสมบัติของรัฐเจ้าพ่อใหญ่แต่อย่างใด เพียงหมายถึงยอมอยู่ใต้อำนาจบาตรใหญ่ “ความคุ้มครอง” ของเจ้าพ่อรายใหญ่กว่าและยอมจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ตามที่เจ้าพ่อรายใหญ่เรียกมาเท่านั้นเอง

“เขตอิทธิพล” หรือดินแดนที่ไม่มีขอบเขตชัดเจนของเมืองขึ้นหรือประเทศราชจึงไม่ใช่สมบัติ ของเจ้าพ่อรายใหญ่ แต่แน่นอนว่าเจ้าพ่อใหญ่อย่างเจ้ากรุงเทพฯ ย่อมถือว่าประเทศราชเป็นสมบัติของตน

ทัศนะที่ถือว่าประเทศราชและดินแดนชายขอบอำนาจเป็นของประเทศไทยมาแต่โบราณ เช่น สุโขทัยเป็นเจ้าของทั้งแหลมมลายู จึงเป็นทัศนะประวัติศาสตร์แบบเจ้าพ่อใหญ่ เช่น เจ้ากรุงเทพฯ เจ้าอังวะ หงสา ฯลฯ แต่ทว่าไทย/สยามที่เป็นรัฐแบบชาติสมัยใหม่กลับรักษาทัศนะประวัติศาสตร์ของ เจ้ากรุงเทพฯและยกให้เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติอีกด้วย ประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็น “ราชาชาตินิยม” คือไม่ใช่แค่ชาตินิยมอย่างประเทศอื่น แต่เป็นชาตินิยมที่คิดแบบเจ้ากรุงเทพฯ เช่น ถือว่าประเทศราชและดินแดนชายขอบอำนาจเป็นของประเทศไทยมาแต่โบราณ

3. เข้าใจผิดว่า เมืองขึ้นหรือประเทศราชหนึ่งย่อมขึ้นต่อเจ้าพ่อรายใหญ่เพียงรายเดียว เมืองขึ้นของสยามย่อมขึ้นต่อสยามเท่านั้น ดังนั้นดินแดนประเทศราชย่อมเป็นของประเทศสยามแต่ผู้เดียว

ความจริง – ประเทศราชของอยุธยาและกรุงเทพฯ แทบทั้งหมดในประวัติศาสตร์เป็นเมืองขึ้นของเจ้าพ่อใหญ่รายอื่นด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น พม่า (อังวะ หงสาวดี) และเวียดนาม (เว้ ตังเกี๋ย) เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าแบบเจ้าพ่อนั้น รัฐเล็กๆ ถือว่ายอมอ่อนน้อมต่อเจ้าพ่อใหญ่ดีกว่าโดนเจ้าพ่อลงโทษ ครั้นเจ้าพ่อใหญ่หลายรายมาเรียก “ค่าคุ้มครอง” ก็ยอมซะเท่าที่ยังพอทนไหว (หากทนไม่ไหวค่อยฟ้องเจ้าพ่อ ก. ให้มาจัดการกับเจ้าพ่อ ข.) ประเทศราชของอยุธยาและกรุงเทพฯเป็นประเทศราชของ 2-3 เจ้าพ่อใหญ่ในเวลาเดียวกัน เจ้ากรุงเทพฯมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 รู้ข้อนี้ดีว่าประเทศราชไม่เคยขึ้นต่อสยามแต่ผู้เดียว

ดังนั้น ขอบข่ายอำนาจของเจ้าพ่อใหญ่อย่าง สยาม พม่า เวียดนามจึงซ้อนทับกันเป็นแถบเบ้อเริ่ม เพราะต่างมีประเทศราชร่วมกัน อำนาจซ้อนทับแบบนี้ไม่เป็นปัญหาต้องแบ่งปันกันหรือรบราฆ่ากันเพราะทุกรัฐ สมัยเก่าขอแค่ประเทศราชยอมสวามิภักดิ์และจ่ายค่าคุ้มครองสม่ำเสมอเป็นใช้ได้

แต่ครั้นทุกรัฐรับธรรมเนียมสมัยใหม่จากฝรั่งในปลายศตวรรษที่ 19 ที่ไม่ยอมรับอำนาจเหนือดินแดนแบบซ้อนทับอีกต่อไป และถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องแย่งชิงกันว่าดินแดนของประเทศราชเป็นของใครกันแน่แต่ผู้เดียว ความขัดแย้งระหว่างสยามกับอังกฤษ ฝรั่งเศสสมัยรัชกาลที่ 5 คือ การพยายามแข่งขันกันช่วงชิงดินแดนประเทศราชมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว กรณี “เสียดินแดน” คือผลของการแย่งชิงกันแล้วสยามแพ้ สยาม“ไม่ได้ดินแดนมาเป็นของสยามแต่ผู้เดียว” ฝรั่งชนะจึงได้ไป

ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมของรัฐไทยสมัยใหม่จึงแย่ยิ่งกว่าเจ้ากรุงเทพฯแบบก่อนศตวรรษที่ 20 เสียอีก คือ หลงคิดว่าประเทศราชเป็นของตนแต่ผู้เดียวมาแต่โบราณ ครั้นแย่งดินแดนประเทศราชกันแล้วแพ้เขา จึงเรียกว่า “ไทยเสียดินแดน”

4. เข้าใจผิดว่า ดินแดนของรัฐสมัยเก่ากำหนดชัดเจนแน่นอนว่าตรงไหนของใคร จึงสามารถพูดได้ว่า ไทยเสียดินแดนไปกี่ครั้งกี่ตารางกิโลเมตร

ความจริง – จากที่อธิบายมาข้างต้นคงเห็นแล้วว่า อำนาจดินแดนของรัฐสมัยเก่ามีทั้งซ้อนทับกันและโดยมากไม่กำหนดขอบเขตดินแดน ชัดเจน ดินแดนของรัฐสยามสมัยใหม่ที่ชัดเจนมีเส้นเขตแบ่งปันเพิ่งเกิดขึ้นมาก็ต่อ เมื่อแย่งชิงกันจบด้วยกำลังทหาร (ซึ่งสยามสู้ฝรั่งไม่ไหว) สยามจึงไม่เคยเสียดินแดนที่ไม่เคยเป็นของตน

ในเมื่อไม่เคยเป็นเจ้าของดินแดนประเทศราช ไม่เคยเป็นเจ้าพ่อใหญ่แต่ผู้เดียวด้วยซ้ำไป แถมอำนาจเหนือดินแดนไม่มีขอบเขตชัดเจน การ “เสียดินแดน” แท้ที่จริงแล้วจึงเป็นการเสียอำนาจแบบเจ้าพ่อแบบโบราณ คือ ไม่สามารถอวดอ้างความเป็นอธิราชได้อีกต่อไป เรียกให้เขาอ่อนน้อมไม่ได้แล้ว เรียกเก็บผลประโยชน์ก็ไม่ได้เช่นกัน ในจารีตแบบรัฐราชาธิราชหรือรัฐเจ้าพ่อแบบสมัยเก่านั้น นี่เป็นการเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่สุดประเภทหนึ่ง ความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯจึงเป็นเรื่องของการที่พระองค์เสียพระเกียรติยศ อย่างสาหัส ไม่ใช่การ “เสียดินแดน” ในแบบที่เราวัดกันออกมาได้เป็นตารางกิโลเมตร

เอาฝรั่งที่ไหนก็ไม่รู้ มาร่วมถ่ายรูปหน้าโรงพัก?

พล.อ.อภิรัชต์ พูดถึงเรื่อง Hybrid Warfare โดยประเด็นหนึ่งคือสงครามการทูตว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแต่สำคัญ พร้อมกล่าวว่า “มีการใช้องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรอิสระต่างๆ เพื่อยกระดับเหตุการณ์ และความสำคัญของกลุ่มเองขึ้นมา การไปเอาฝรั่งที่ไหนก็ไม่รู้ มาร่วมถ่ายรูปหน้าโรงพักบ้าง มายืนกับกลุ่มชุมนุมบ้าง เพื่อให้เห็นว่านี่มันอินเตอร์ นี่มันเป็นสากล มันรุนแรงเหลือเกินจนชาวต่างชาติต้องเข้ามา ภาพต่างๆ เหล่านี้อยู่ในวงของสงครามลูกผสม”

ภาพ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา  ตัวแทนจากสถานทูต 12 ประเทศ เข้าสังเกตการณ์การแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 ต่อ ธนาธร ที่ สน.ปทุมวัน เป็นภาพจากข่าวสดออนไลน์ โดยภาพนี้ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งภาพดังกล่าวถูกโซเชียลเน็ตเวิร์คพยายามนำเสนอว่า มีการนำเอาชาวต่างประเทศมาถ่ายรูปเพื่อให้ดูว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับสากล

ปรากฎการณ์ที่ พล.อ.อภิรัชต์ พูดถึง การ “เอาฝรั่งที่ไหนก็ไม่รู้ มาร่วมถ่ายรูปหน้าโรงพักบ้าง มายืนกับกลุ่มชุมนุมบ้าง” เพิ่งเป็นข้อถกเถียงเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานี้เอง โดยในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2562 ปรากฎภาพชาวต่างประเทศถ่ายรูปร่วมกับ ธนาธร ในวันที่เขาเข้ารับทราบข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิคความวุ่นวาย  ตามมาตรา 116 และช่วยเหลือให้ที่พักพิงผู้ต้องหาตามมาตรา 189 ที่ สน.ปทุมวัน (ดู) ต่อมาภาพนี้ถูกโซเชียลเน็ตเวิร์คนำไปตั้งประเด็นว่ามีการจ้างชาวต่างชาติที่ไหนมาไม่ทราบ เพื่อมาถ่ายรูปกับ ธนาธร ให้ดูเป็นปัญหาใหญ่ระดับสากล

ประเด็นการโจมตีว่าเอาชาวต่างชาติไม่ทราบที่มามาถ่ายรูปนั้นตกไป หลังกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาแถลงว่า ธนาธรเป็นผู้เชิญ 12 ตัวแทนทูตและตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ มาติดตามการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ก็ดูเหมือนมีข้อมูลที่เข้าใจผิดอยู่ ทำให้ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคฯ ชี้แจงต่อสาธารณะว่า เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติหรือยูเอ็น ติดต่อมายังพรรคอนาคตใหม่ ทนายความของ ธนาธร และสน.ปทุมวันด้วยตนเองว่า จะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 โฆษกพรรคฯ ยืนยันว่า เรื่องนี้สามารถสอบถามไปยังสน.ปทุมวันเองได้

ในส่วนของทูตจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรปหรืออียูนั้น โฆษกพรรคฯ แถลงว่า พรรคฯมีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ทั้ง 12 ตัวแทนจากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่จะมาร่วมสังเกตการณ์ พรรคอนาคตใหม่รู้ล่วงหน้า เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประสานงานสื่อมวลชนและสน.ปทุมวัน แต่ต่อให้ธนาธรเป็นผู้เชิญเอง ถ้าไม่ใช่ประเด็นน่าห่วงกังวลจริงๆ ตัวแทนนานาชาติเหล่านี้ก็จะไม่ร่วมติดตามสถานการณ์ เพราะมีธรรมเนียมทางการทูตในการทำงานอยู่ แต่ที่ 12 ตัวแทนนานาชาติมาร่วมสังเกตการณ์นั้น เพราะเห็นว่า การให้กฎหมายความมั่นคงตามมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นนั้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก และน่ากังวลมากขึ้นไปอีกเมื่อถูกใช้กับ หัวหน้าพรรคการเมือง ที่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรก แต่ได้รับส.ส.ถึง 80 กว่าที่นั่ง

ประเด็นนี้กระทรวงต่างประเทศเองก็มีการเชิญเอกอัครราชทูตของประเทศที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์กรณีนี้มาพบหารือ ซึ่งวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงต่างประเทศ แถลงผลการหารือด้วยว่า รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความผิดหวัง และห่วงกังวลต่อการปรากฏตัวของผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะการทำให้เกิดภาพที่ถูกตีความได้ว่าเป็นการไปให้กำลังใจแก่ธนาธรและเป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในบริบททางการเมืองไทยในปัจจุบัน

แรกสุดฮ่องกงเป็นเกาะ ตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนไปเรียบร้อยแล้ว?

พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวเกี่ยวกับฮ่องกงตอนหนึ่งว่า “ฮ่องกงนั้นมีสภาพเป็นเกาะ ท่านต้องเข้าใจนะครับว่าเป็นเกาะ เคยเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร หลังจากหมดข้อตกลงกันแล้วบัดนี้ก็เป็นของจีน ที่ผมพูดสภาพทางภูมิศาสตร์เพราะอะไร เพราะแตกต่างกับประเทศไทยซึ่งเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่างๆ”

ดินแดนฮ่องกง มีทั้งส่วนที่เป็นเกาะและคาบสมุทรที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ โดยเกาลูนและนิวเทอริทอรีส์ อยู่บนแผ่นดินใหญ่ และส่วนที่เป็นเกาะ คือเกาะฮ่องกง 

อังกฤษส่งมอบฮ่องกงให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ 1 ก.ค. 2540 และจีนไม่ได้ปกครองฮ่องกงโดยตรงแบบมณฑลอื่นๆ บนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงมีฐานะเป็น "เขตบริหารพิเศษ" โดยจีนให้ฮ่องกงปกครองตนเองตามหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ตามที่ตกลงกันระหว่างอังกฤษกับจีน ปรากฏในปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2528 โดยนับตั้งแต่ส่งมอบฮ่องกงในปี 2540 ฮ่องกงจะยังคงมีอิสระในระบบราชการ ศาล กฎหมาย และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรี ตลอดจนมีหลักประกันว่าระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชาวฮ่องกงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดระยะเวลาไว้จนถึงปี 2590

ข้อมูลเพิ่มเติม https://en.wikipedia.org/wiki/Hong_Kong และ https://en.wikipedia.org/wiki/Sino-British_Joint_Declaration

โจชัว หว่องนั้นมาเมืองไทยไม่รู้กี่รอบ  มาพบกับใคร มีวาระซ่อนเร้น วางแผนคบคิดทำอะไร?

พล.อ.อภิรัตน์ กล่าวถึง โจชัว หว่อง แกนนำผู้ประท้วงที่ฮ่องกง ด้วยว่า นายโจชัว หว่องนั้นมาเมืองไทยไม่รู้กี่รอบ มาพบกับใคร มาพบกับไอ้คนประเภทไหน การพบกันนั้นมีวาระซ่อนเร้น วางแผนคบคิดทำอะไรกันอยู่หรือเปล่า แถมในขนาดที่มีเหตุการณ์ยังมีการไป เยี่ยมคล้ายกับไปให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน

ภาพ ธนาธรและโจชัว หว่อง ภาพซ้ายที่ พล.อ.อภิรัตน์ ขึ้นสไลด์ประกอบการบรรยาย ภาพขวา ภาพที่ โจชัว หว่อง โพสต์

โจชัว หว่อง ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไทยถือเป็นบุคคลต้องห้าม ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 โจชัว หว่อง ได้รับเชิญให้ร่วมพูดในงานรำลึก "40 ปี 6 ตุลา 19" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 6 ตุลาคม 2559 โดยเขามีกำหนดเดินทางมาถึงประเทศไทย โดยสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบิน EK385 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เวลา 23.45 น. อย่างไรก็ตาม เขาถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกักตัว และผลักดันกลับฮ่องกง

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในเวลานั้นยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ผลักดันโจชัว หว่อง ไม่ให้เข้าประเทศ อ้างว่าเป็นธรรมดาที่ประเทศอื่นๆ ก็ปฏิบัติกันหากพิจารณาแล้วว่าชาวต่างชาติคนใดอาจสร้างความวุ่นวายขึ้นในประเทศของตนก็มีสิทธิสั่งห้ามเข้า เป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้นๆ และไม่มีชาติใดหรือใครมากดดัน

ส่วน พล.ต.ต.ภาคภูมิ สัจจพันธุ์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในเวลานั้นระบุว่าที่พบตัวโจชัว หว่อง และผลักดันกลับประเทศได้ เพราะมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และ โจชัว หว่อง เป็นบุคคลต้องห้ามที่ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้อีกต่อไป

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงว่า ได้รับเชิญจากนิตยสาร The Economist ให้ไปพูดที่งาน Open Future Festival เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ฮ่องกง ในหัวข้อเรื่อง “Inside the Minds of Asia’s Next Gen Politicians” และได้พบกับบุคคลหลายวงการ นอกจากโจชัว หว่อง ที่เขาได้คุยตอนงานเลิกเป็นเวลา 5 นาที แล้ว เขายังได้คุยกับ Shaun L. Rein จาก China Market Research Group ผู้เขียนหนังสือ The War for China’s Wallet ซึ่งเขา และมีโอกาสสนทนาหลายเรื่อง ทั้งนี้ Shaun L. Rein มีจุดยืนตรงข้ามกับโจชัว หว่องในเรื่องการประท้วงที่ฮ่องกง  

เขาเรียกว่า Big Data Analytics?

พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวถึงกระบวนการโฆษณา propaganda ปั่นสมองเยาวชน โดยให้ชื่อว่า "big data analytics" ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า "ที่สำคัญคนที่ออกมาคือกลุ่มวัยรุ่นทั้งนั้น ผมถามน้องๆ นิสิตนักศึกษาว่า ถ้าวันหนึ่ง คนที่มันผิดหวัง คนที่ยั่วยุปลุกปั่น คนที่ใช้โซเชียล คนที่ใช้การโฆษณา propaganda มาปั่นสมองน้องๆ ให้ออกมาแบบฮ่องกง น้องๆ จะออกมาไหมครับ ภาพเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองเมื่อปี 52-53 ผมรู้สึกว่าวัยรุ่นนิสิตนักศึกษามีความอ่อนไหวมาก และจะต้องเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งเขาจะต้องรู้ความจริง เด็กบางคนที่ผมไปพบเช่น นักศึกษาวิชาทหาร นักเรียน ผมถามว่าเกิดปีอะไร อายุเท่าไหร่ สมัยก่อนเด็ก 6-7 ขวบ ไม่รู้หรอกครับว่ามีการเผาศาลากลางจังหวัด ลืมไปหมดแล้ว เพราะแต่ก่อนเด็กไม่สนใจอะไร ไปถามเขาก็บอกไม่รู้เรื่อง ไม่เคยได้ยิน แล้วภาพเหล่านี้ถูกระบบที่เรียกว่า big data analytics โดยมีการใช้ระบบนี้เพิ่มข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนให้ข้อเท็จจริงหายไปจากโซเชียล หรือทำให้ค้นหายาก นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น" 

ซึ่งเพจ 'กระจ่าง - The Enlightener'  โพสต์ถึงประเด็นนี้ว่า พอฟังดูแล้ว ก็เลยเกิดความสงสัยว่า เรื่องนี้มันเรียกว่า Big Data Analytics จริงๆ เหรอ? ทางเพจ เลยไปค้นหาความหมายในเบื้องต้นของ Big Data Analytics มาให้ชาวกระจ่างได้รับรู้รับทราบกันในเบื้องต้น Big Data Analytics คือ การวิเคราะห์ชุดของข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อค้นหารูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้นที่ซ่อนอยู่ข้างใน หาสิ่งเชื่อมโยงที่เชื่อมข้อมูลเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน

เป้าหมายหลักของ Big Data Analytics คือ ใช้เป็นข้อมูลในการช่วยตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยอาศัยหลักสถิติที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ โดยยิ่งมีข้อมูลมาก ความแม่นยำในการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลดังกล่าว ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงการธุรกิจนั้น ยิ่งมีการวิเคราะห์ข้อมูลด้านพฤติกรรมของลูกค้าได้แม่นยำเท่าไหร่ โอกาสที่จะขายสินค้าหรือบริการที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้า แบบถูกที่ถูกเวลา ก็ยิ่งมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การนำข้อมูลการเปิดเข้าชมเว็บซื้อสินค้าออนไลน์มาวิเคราะห์แบบ Big Data Analytics เราก็จะทราบถึงข้อมูลว่า คนมักจะเข้าดูช่วงเวลาไหน? ในแต่ละช่วงเวลา คนเข้าดูสินค้าแบบไหน? คำที่ใช้ค้นหาคืออะไร? จ่ายชำระแบบใด? ฯลฯ ซึ่งแต่ละคำถาม ก็สามารถแยกแยะในเชิงประชากรศาสตร์ได้อีกว่า เป็นเพศใด อายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร เข้าถึงเว็บด้วยอุปกรณ์อะไร หรือเชิงภูมิศาสตร์ เช่น อาศัยอยู่ที่ไหน ทำงานที่ย่านไหน เป็นต้น

แต่ในการวิเคราะห์ดังกล่าวนั้น จำเป็นจะต้องมี Software ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ออกมาเป็นผลดังกล่าว เพื่อจัดทำข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น การวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ล่วงหน้า การทำเหมืองข้อมูล (Data mining) การวิเคราะห์ข้อความ และการวิเคราะห์ทางสถิติ อย่างไรก็ตาม การจะทำ Big Data Analytics ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งอุปสรรคอาจเกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่สูง ผู้ใช้ข้อมูลขาดทักษะการวิเคราะห์ ปริมาณและที่มาของข้อมูลมีความหลากหลาย กฎหมายและสิทธิส่วนบุคคล รวมไปถึงตัวคุณภาพของข้อมูลเอง ที่จะเป็นข้อจำกัดในการใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากความหมายของ Big Data Analytics ที่หมายถึงการนำข้อมูลต่างๆ มาทำการวิเคราะห์แล้วนั้น จะเห็นได้ว่าอาจเป็นการใช้คำผิดของ พล.อ.อภิรัชต์ เพราะดูจากบริบทแล้ว น่าจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation หรือ IO) มากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท