Skip to main content
sharethis

6 เครือข่าย People Go Network แถลงเข้าร่วมคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ย้ำเดินหน้าแก้ รธน. สร้างสังคมประชาธิปไตย-พื้นที่ประชาชน คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพร่วมด้วย ยันอีกครั้งไม่ยอมรับ-นับผลประชามติ ที่ไม่แฟร์ ไม่ฟรี หวังดัน สสร.เหมือนปี 39 และประชามติใต้กระบวนให้สิทธิเสรีภาพและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว

14 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุมชั้นสี่ ตึกคณะสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายข่ายภาคประชาชน 6 เครือข่ายใน People Go Network และเครือข่ายอื่นๆ แถลงเข้าร่วมกับ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เพื่อรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 สร้างสังคมประชาธิปไตย สร้างพื้นที่ให้ประชาชน พร้อมทำกิจกรรมเดินรอบสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศเจตนารมณ์สร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม

สำหรับ เครือข่ายข่ายภาคประชาชน 6 เครือข่ายประกอบด้วย 1) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 2) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 3) เครือข่ายสลัมสี่ภาค 4) เครือข่ายทรัพยากรและสิทธิชุมชน 5) เครือข่ายนักกฎหมายและนักวิชาการ และ 6) เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

นอกจาก People Go Network แล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ยังมีเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ  คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) 

โดยมี อนุสรณ์ อุณโณ แกนนำ ครช. มอบเสนอต้อนรับเครือข่ายต่างๆ ที่เข้าร่วม พร้อมประกาศเดินหน้ารณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ และเชิญชวนองค์กรเครือข่ายต่างๆ มาเข้าร่วมเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากนั้น เครือข่ายเหล่านี้ประมาณ 50 คน ตั้งขบวนเดินรอบสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนมาหยุดที่ลานปฏิมากรรม 6 ตุลา ตรงประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับอ่านแถลงการณ์ เครือข่าย People Go เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สร้างสังคมประชาธิปไตย สร้างพื้นที่ให้ประชาชน โดยมี เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ เครือข่าย People Go 
เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
สร้างสังคมประชาธิปไตย สร้างพื้นที่ให้ประชาชน


ตามที่หลายหลายภาคส่วนของสังคมกำลังให้ความสนใจกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผ่านการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มาแล้ว ทำให้สังคมเห็นปัญหาและบทเรียนจากกลไกที่ช่วยให้ผู้เข้าสู่อำนาจไม่ได้มาจากเสียงสนับสนุนของประชาชนอย่างแท้จริง เครือข่าย People Go ก็เห็นผลกระทบและปัญหาความไม่เป็นธรรมจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่นเดียวกัน

เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในประเด็นต่างๆ เช่น รัฐสวัสดิการ เกษตรกรรมทางเลือก ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ต่างพบว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีเนื้อหาที่ละเลยสิทธิของประชาชนในประเด็นที่แต่ละเครือข่ายกำลังประสบปัญหาและต่อสู้อยู่ ทั้งยังมอบอำนาจรัฐให้กับองค์กรที่สืบทอดมาจากการรัฐประหาร อนาคตภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีแนวโน้มเพียงว่า ปัญหาของประชาชนจะถูกละเลย ขณะที่กลไกต่างๆ ในสังคมถูกบิดเบือนเพื่อรักษาอำนาจให้กับคณะทหารชุดเดิม

เครือข่าย People Go จึงต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเดินหน้ารณรงค์ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเห็นควรเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน ที่ใช้ชื่อว่า คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่ประกาศตัวต่อสาธารณะไปแล้วก่อนหน้านี้ และหลังจากนี้จะจัดกิจกรรมสร้างช่องทางการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเปิดเวทีสาธารณะร่วมกันต่อไป

เครือข่าย People Go เชื่อมั่นว่า สังคมที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีสวัสดิการที่ดี มีสิทธิเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ได้รับความคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น และประชาธิปไตยที่จะเกิดผลได้อย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงตัวหนังสือต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนร่วมกันสร้าง ซึ่งขั้นตอนพื้นฐานที่สุด ต้องเริ่มต้นโดยการสร้างรัฐธรรมนูญจากความต้องการของประชาชนเท่านั้น

14 ตุลาคม 2562
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะที่ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ได้ออกแถลงการ "การเข้าร่วม ครช. ยืนยันอีกครั้งไม่ยอมรับ-นับผลประชามติ ที่ไม่แฟร์ ไม่ฟรี และข้อเรียกร้องต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

เรื่อง การเข้าร่วมคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ยืนยันอีกครั้งไม่ยอมรับ-นับผลประชามติ ที่ไม่แฟร์ ไม่ฟรี และข้อเรียกร้องต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2559 ผ่านไปกว่า 3 ปีแล้ว คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ยอมรับและนับผลประชามติดังกล่าว เพราะนอกจากกระบวนการประชามติไม่มีเสรีภาพและความเป็นธรรม ฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญถูกขัดขวางและจับกุมคุมขัง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนสามารถระดมทรัพยากรของรัฐเพื่อรณรงค์ได้อย่างเต็มที่แล้ว ภายใต้บรรยากาศแห่งการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่มีรัฐประหาร และรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงการทำประชามติ จึงไม่ต่างจากการลงประชามติภายใต้ปากกระบอกปืน อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ก็ล่าช้า ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอ ความกลัวและอุปสรรคต่าง ๆ ข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้ออกเสียงประชามติน้อยลงเป็นประวัติการณ์ มิใช่เพราะบุคคลเหล่านั้น “นอนหลับทับสิทธิ์” แต่อย่างใด

ผลของประชามติมีผู้มาออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ 16.8 ล้านคน นับเป็นประมาณ 34% หรือเพียง 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50 ล้านคนเท่านั้น จึงเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ผ่านการรับรองจากเสียงข้างมากของคนไทย ทั้งที่เป็นกติกาสูงสุดของประเทศ

ต้นไม้พิษย่อมให้ผลไม้พิษตามมา คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ขอย้ำเช่นเดิมว่าเราไม่ยอมรับกระบวนการทำประชามตินี้ตั้งแต่ต้น รวมทั้งกระบวนการต่อเนื่องภายหลังประชามติ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ประกาศใช้ยังได้ผ่านการแก้ไขในหลายมาตราจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นฉบับเดียวกับที่ผ่านประชามติอีกต่อไป พร้อมทั้งยังมีกระบวนการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกอีกหลายฉบับตามมา โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งสามารถร่างกฎหมายลูกได้ตามต้องการโดยไม่ต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชน

การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 การปฏิรูปประเทศ ไปจนถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลทหารที่พร่ำบอกว่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่สันติประนีประนอมได้นั้นเป็นเรื่องโกหก เพราะฐานคิดของผู้นำผู้มีอำนาจรัฐในระบบโครงสร้างการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งระบบราชการ มองประชาชนเป็นเพียงฟันเฟืองของกลไกทางเศรษฐกิจ หุ้นส่วนที่ต้องร่วมจ่าย ผู้บริโภค หรือผู้ด้อยโอกาสที่ต้องให้การสงเคราะห์ โดยประชาชนไม่มีอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองได้เต็มที่ อีกทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญยังเน้นแนวคิดความมั่นคงของรัฐเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างเงื่อนไขทำให้ประชาชนผู้คิดต่างไม่สามารถมีอำนาจต่อรองและกำหนดอนาคตของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ยุติธรรม

ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดและมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศก็คือปัญหาที่เกิดจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ถูกแทรกแซงโดย ส.ว. 250 คน และการบริหารราชการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่ง คสช. เขียนขึ้นเองโดยไม่ฟังเสียงประชาชน

กว่า 3 ปีที่ผ่านมาคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกว่าไม่ยอมรับและนับผลประชามติดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เราได้จัดเสวนารณรงค์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญนี้ในประเด็นต่าง ๆ หลายครั้ง เพื่อหวังผลในอนาคตว่าจะมีกระบวนการบอกเลิกให้ประชามติ พ.ศ. 2559 เป็นโมฆะและมีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อถอนต้นไม้พิษและลบล้างมรดกบาปของ คสช. เสีย

ในโอกาสนี้คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องของเราดังนี้

1. ขอสงวนสิทธิไม่ยอมรับนับผลประชามติ พ.ศ. 2559 และถือว่าประชามติเป็นโมฆะ หรืออย่างต่ำสุดเป็นโมฆียะซึ่งพลเมืองยังคงสิทธิที่จะบอกล้าง และถือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นเพียงฉบับชั่วคราว

2. เรามีมติเข้าร่วมกับคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เพื่อผลักดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เหมือนครั้ง พ.ศ. 2539 และเปิดให้มีการประชามติภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว

3. ขอเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะร่วมกันร่างขึ้นขยายสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค รับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข และความมั่นคงในการทำงาน ให้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และหน่วยงานของรัฐรวมทั้งกองทัพและตำรวจยึดโยงกับประชาชน อยู่ใต้การบังคับบัญชาของประชาชน เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ให้อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

จึงเรียนมาเพื่อเชิญชวนให้สาธารณชนร่วมกันพิจารณาและร่วมกันผลักดันต่อไป

คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

14 ตุลาคม 2562

(ปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมจากฉบับเดิม วันที่ 7 สิงหาคม 2560)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net