14 ตุลา: ประวัติศาสตร์ที่ต้องเขียนใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

14 ตุลาคม 2516 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่โค่นล้ม “3 ทรราช” ออกไปจากประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคประชาธิปไตยของประชาชน  แต่ความจริงที่ซ่อนเร้นน่าจะมีมากมายที่ต้องเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่แตกต่างจากความเชื่อเดิม

1. ประวัติศาสตร์หน้านี้เป็นการวางแผนอย่างเป็นกระบวนการในการสร้างกระแสเกลียดชัง “3 ทรราช” ตั้งแต่การใช้เรื่องทุจริต การใช้กระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างการตีข่าวการพบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหาร จนมีการตีพิมพ์ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" เพื่อรวมกระแสพุ่งเป้าไปที่ “3 ทรราช”

2. สาเหตุสำคัญหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีการกล่าวถึงคือการสืบทอดอำนาจของ “3 ทรราช” แต่รัฐบาลประยุทธ์ที่ครองอำนาจจากรัฐประหารมา 5 ปี ก็ยัง “สืบทอดอำนาจ” เช่นกัน แต่ไม่มีกระแสต่อต้านเพราะเหล่าชนชั้นนำประสานประโยชน์กันได้ ซึ่งก็เช่นเดียวกับการสืบทอดอำนาจของถนอมตั้งแต่หลังการตายของสฤษดิ์ ธนะรัชต์และการทำรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ก็ไม่มีใครต่อต้านเพราะฝ่ายต่อต้านยังไม่พร้อม ยังรอการสุกงอมของสถานการณ์

3. การที่นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคลื่อนขบวนนักศึกษาประชาชนไปวังสวนจิตรฯ โดยพลการนั้น (https://bit.ly/2yRXiop) ในแง่หนึ่งอาจเป็นความบังเอิญ แต่ในแง่หนึ่งอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นการรับแผนร้ายมาจากใครหรือไม่ เพราะการเคลื่อนขบวนเช่นนี้ ทำให้เกิดการจลาจลขึ้น

4. รัฐบาล “3 ทรราช” ในขณะนั้นไม่ได้หวังสร้างความรุนแรง ได้เปิดการเจรจาตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมแล้ว และได้บรรลุข้อตกลงทั้งการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งใหม่  แต่ฝ่ายตรงข้ามกับ “3 ทรราช” ได้ฉวยโอกาสก่อการจลาจลขึ้น

5. ที่มีข่าวลือว่า พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ยิงประชาชนบนถนนราชดำเนินนั้น พ.อ.ณรงค์ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่เป็นความจริง (https://bit.ly/2OLtnHq) ซึ่งก็คงเป็นไปได้ตามนั้น เพราะหากมีการกราดยิงใส่ผู้คนจำนวนมากจริง ยอดผู้เสียชีวิตคงมีมากกว่า 77 รายเป็นแน่ และคงพบผู้ที่ถูกกราดยิงด้วยกระสุนจากเฮลิคอปเตอร์บ้าง

6. การเผาแล้วได้เป็นวีรชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา นั้นคล้ายกับการเผาในกรณีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการเผาในเหตุการณ์พฤษภา 2553  แต่คนเผาอาจเป็นคนพวกเดียวกันที่สร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้ดูวุ่นวายว่าเป็นความโกรธแค้นของประชาชน  

7. สถานที่หนึ่งที่ถูกเผาก็คือตึก กตป. (คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติราชการ) ซึ่งเป็นศูนย์การปราบปรามการทุจริต  ในประวัติศาสตร์อ้างว่าประชาชนโกรธแค้นที่ พ.อ.ณรงค์เป็นผู้บังคับบัญชาที่นั่น  แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า ฝ่ายตรงข้ามกับ “3 ทรราช” อาจมีหลักฐานในการทำผิดคิดชั่วเก็บอยู่ในอาคารนั้น จึงสั่งชายฉกรรจ์นอกเครื่องแบบมาเผา

8. นอกจากการเผาแล้วยังมีการทุบทำลายไฟจราจรตามสี่แยกต่างๆ จำนวนมาก คล้ายกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อีกเช่นกัน  การสร้างความวุ่นวายอย่างนี้ก็เพื่อสร้างกลียุค หวังผลในการโค่นล้มผู้ปกครองในยุคนั้น (3 ทรราช / พล.อ.สุจินดา)

9. ผู้เผาทำลายสถานที่ต่างๆ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และเหตุการณ์พฤษภา 2553 นั้น เห็นหน้าตาชัดเจน แต่ไม่เคยจับคนเผาได้  ใน 2 เหตุการณ์แรก บุคคลนิรนามเหล่านั้นอาจได้รับการยกย่องเป็นวีรชน  แต่สำหรับเหตุการณ์พฤษภา 2553  การเผาของบุคคลนิรนามเหล่านั้น กลับถูกใช้ใส่ร้าย “เสื้อแดง” ว่าเป็นคนเผา ซึ่งภายหลังศาลฎีกาก็ได้ยกฟ้องไปในที่สุด (https://bit.ly/31jtvjP)

10. รัฐบาลจอมพลถนอม พอเห็นเหตุการณ์บานปลาย จึงตัดสินใจลาออก และยอมที่จะออกนอกประเทศ ซึ่งแม้ในขณะนั้นจะกุมอำนาจเต็ม  หากสั่งการปราบปรามเฉียบขาดแบบกรณีเทียนอันเหมิน ประชาชนก็คงถูกฆ่าตายเป็นเบือ โดยกรณีเทียนอันเหมินตาย 400-3,000 คน (https://bit.ly/2ON33N5)  ส่วนเหตุการณ์ 14 ตุลา ตาย 77 คน (https://bit.ly/2kUGB1R) นี่แสดงว่ารัฐบาลในสมัยนั้นเห็นแก่ชีวิตของประชาชน ในขณะที่ผู้ก่อจลาจลซึ่งเป็นบุคคลนิรนามในที่มืดที่ถูกบงการโดยศัตรูทางการเมืองของ “3 ทรราช” ที่ใช้ชีวิตของประชาชนมาเปลี่ยนแปลงการปกครองต่างหากที่สมควรถูกประณาม

11. กรณีการยึดทรัพย์ “3 ทรราช” ปรากฏว่ามีทรัพย์สินที่ยึด 434 ล้านบาท (https://bit.ly/35y1KYh) ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ 2,874 ล้านบาท (https://bit.ly/2IR8ebb) อย่างไรก็ตามทรัพย์สินจริงๆ ที่ “3 ทรราช” ถูกยึดจริงมีน้อยกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก และส่วนมากเป็นมรดกตกทอดกันมา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริต  แต่การ “ใส่ไข่” ในการข่าวทำให้พวกเขากลายเป็นมารไป

12. การสร้างวาทกรรม “3 ทรราช” ก็เหมือนกับการสร้างวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ซึ่งแม้จะไม่จริงที่ว่าเสื้อแดงเผา แต่ก็ได้ผลชะงัดกับการป้ายใส่หรือใส่ร้ายศัตรูทางการเมือง  กระบวนการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองเกิดขึ้นมานานตั้งแต่สมัยนายปรีดี พนมยงค์ที่โดนมาแล้ว จอมพล ป. ก็ถูกกล่าวหาว่า “โกงเลือกตั้ง” พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ก็เคยถูกป้ายสีว่าอยากเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไทย (https://bit.ly/2nHuRXY) เป็นต้น  ศัตรูในที่มืดของเหล่าทหารที่กุมอำนาจใช้กลเม็ดนี้ในการทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างมีประสิทธิภาพ

13. เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ไม่ใช่การปฏิวัติของประชาชน  แต่เป็นเพียงการ “ดรามา” ใช้ชีวิตผู้คนที่รักชาติ รักประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการโค่นล้ม “3 ทรราช” เพื่อขึ้นมามีอำนาจแทน  จะเห็นได้ว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ผู้นำนักศึกษาประชาชน ชาวนา กรรมกรถูกหมายหัวฆ่าตายทีละคนสองคนอย่างโหดเหี้ยม

14. ขั้วอำนาจตรงข้ามกับ “3 ทรราช” นี้ใช้ชีวิตประชาชนให้ตายไปเหมือนผักปลา อย่างเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดจากกระบวนการป้ายสีนักศึกษาอย่างเป็นระบบตลอด  3 ปี (2516-2519) ให้เกิดความเกลียดชังคล้ายการเกลียดชัง “3 ทรราช” ป้ายสีว่าไม่จงรักฯ / หมิ่นฯ แล้วเข้าปราบปราม อย่างคนที่เอาเก้าอี้ฟาดศพนักศึกษาที่ถูกแขวนคอ ก็เป็นไปได้ว่าเขาก็คือคนนอกเครื่องแบบที่แอบมาสร้างสถานการณ์ สร้างความเกลียดชังในหมู่ชน แต่ไม่ใช่ประชาชนแท้ๆ

15. เราได้โค่นล้ม “3 ทรราช” ลงแล้ว แต่ระบอบเผด็จการทรราชยังอยู่ ทรราชก็ยังแอบอยู่ และยังมี “ทรราช” อีกหลายตัวค่อยๆ ทยอยปรากฏ บ้างก็อยู่ในที่ลับ บ้างก็อยู่ในที่แจ้ง  ข้อนี้แตกต่างจากกรณีการโค่นล้มทรราชมาร์กอสแห่งฟิลิปปินส์ ทรราชซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย ที่หลังจากโค่นล้มแล้ว ก็ไม่มีทรราชหลงเหลืออยู่อีกเลย

ลองตรองดูว่าจริงหรือไม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท