Skip to main content
sharethis

อิสระศาลกับ รธน.40 – ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ กล่าวในคำแถลงก่อนยิงตัวเองว่า เข้ามาเป็นผู้พิพากษาในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อเขียนร่างคำพิพากษาเสร็จแล้วไม่ต้องส่งให้อธิบดีตรวจ เพราะในขณะนั้นต้องการให้ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาตัดสินคดี

ไม่ว่ากรณีที่ท่านระบุว่าถูกแทรกแซง จะเป็นจริงหรือไม่ ซึ่ง ก.ต.จะสอบสวนต่อไป แต่ในเชิงระบบ รัฐธรรมนูญ 2540 กับ 2550 ก็เขียนไว้ต่างกันจริงๆ

รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 249 บัญญัติว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น”

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 197 บัญญัติว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย” โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 188 ก็ก๊อบมาคล้ายๆ กัน คำว่า “ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา” หายไป

นอกจากนี้ พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 ซึ่งให้ประธานศาล อธิบดีศาล มีอำนาจหน้าที่ “ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้” ก็มีการแก้ไขในยุค สนช. ประกาศใช้เมื่อปี 2551 ช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

จึงเห็นได้ว่าประเด็นที่ถกเถียงกัน เพิ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 นี่เอง

รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เกิด “อิสระ” ทั้งสองด้าน คือหนึ่ง ศาลเป็นอิสระ แยกจากกระทรวงยุติธรรม แต่มีความยึดโยงกับอำนาจประชาชน สอง ผู้พิพากษาเป็นอิสระในการพิจารณาคดี แต่รัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ก็เข้ามาแก้ไขทั้งสองเรื่อง

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการฝ่ายศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 กำหนดให้มี ก.ต.15 คน ประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง 12 คนมาจากการเลือกของผู้พิพากษา ชั้นศาลละ 4 คน อีก 2 คนเป็นคนนอกที่เลือกโดยวุฒิสภา ซึ่งขณะนั้นมาจากการเลือกตั้ง

แต่พอเกิดรัฐประหาร 2549 ก็มีการแก้ไขผ่าน สนช. เปลี่ยนสัดส่วน ก.ต.เป็นศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน ประเด็นนี้เมื่อปี 2560 มีข่าวผู้พิพากษาเกือบสองพันคนเข้าชื่อ ขอแก้กลับไปดังเดิม แต่ก็เงียบหายไป

ส่วน ก.ต.คนนอก 2 คนที่วุฒิสภาเลือกมา รัฐธรรมนูญ 2560 ก็บอกว่า 250 ส.ว.ตู่ตั้ง จะเลือกคนไปกำกับดูแลศาลได้ไง ฉะนั้นเลิกเถอะ ให้เป็นคนนอก 2 คนที่ผู้พิพากษาเลือกเอง

การยึดโยงอำนาจประชาชน ที่มีเพียงน้อยนิด ก็หายไป เหลือไว้แต่ศาลปกครอง ที่ประธานและตุลาการสูงสุด ต้องผ่านความเห็นชอบ 250 ส.ว.ตู่ตั้ง ประหลาดไปอีกอย่าง

จะเห็นได้ว่าอิสระของ (อำนาจ) ศาล ยิ่งมายิ่งมากขึ้น จากเดิมที่สังคมก็เคารพยำเกรงศาลอยู่แล้ว การเสนองบประมาณ เสนอกฎหมาย เบี้ยประชุม ไม่มีใครค้าน ความกล้าวิพากษ์วิจารณ์ก็กำลังน้อยลงๆ เพราะกลัวความผิดฐานหมิ่นศาล ละเมิดอำนาจศาล

ขณะที่อีกด้าน ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ซึ่งเน้นไปที่ศาลชั้นต้น ก็เห็นได้ว่าลดลง นอกจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม สัดส่วน ก.ต. (ที่มีผู้ใหญ่ในวงการตุลาการตำหนิว่า “เอาเด็กมาปกครองผู้ใหญ่”) จาก พ.ร.บ.ปี 2543 ที่ให้อธิบดีศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลภาค มาจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ก็แก้ไขให้ตั้งผู้พิพากษาผู้ใหญ่ลงไปเป็นดังเดิม พร้อมกับยืดอายุเกษียณผู้พิพากษาจาก 60 เป็น 70 ปี (ภายหลังแก้ไขเป็น 65)

ประเด็นความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ที่จริงข้อโต้แย้งก็น่าฟัง ฝั่งผู้พิพากษาผู้ใหญ่ให้เหตุผลว่า ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีการตรวจสำนวนอยู่แล้ว อดีตประธานศาลอุทธรณ์ก็บอกว่าถ้าให้อิสระ 100% จะกระทบกระเทือนความยุติธรรม ทั้งยังมีผู้ยกงานวิจัยว่าหลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 สถิติที่ศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาพิพากษากลับศาลชั้นต้น ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แต่การกล่าวเช่นนี้ ประชาชนก็ตระหนก เพราะฟังอีกด้านเหมือนผู้ใหญ่ในศาลเองก็ไม่วางใจ จึงต้องมีการตรวจสำนวน ให้คำแนะนำ แต่ก็มีคำถามอีกว่า แค่ไหนคือการแนะนำ แค่ไหนคือความเป็นอิสระ เพราะองค์คณะเป็นผู้ลงชื่อ ต้องรับผิดชอบคำพิพากษานั้น

ขีดคั่นนี้ไม่ชัดเจน เพราะยกตัวอย่าง อดีตประธานศาลอุทธรณ์ถูกร้องว่า โอนสำนวน (ใช้ภาษาโฆษกศาลขณะนั้นคือถูกกล่าวหาว่า “ช็อปปิ้งสำนวน”) ก.ต.มีมติ 14-0 ไม่ให้ท่านเป็นประธานศาลฎีกา ชีพ จุลมนต์ ผู้มีอาวุโสลำดับ 2 จึงได้เป็นแทน ตอนนั้น ก.ต.บอกว่าจะตั้งกรรมการสอบสวน ผ่านไป 2 ปี ก็ยังไม่ทราบผลว่า ข้อกล่าวหาเป็นจริงหรือไม่

กฎหมายศาลปรับปรุงแก้ไขได้ หากศาลเห็นว่าใช้ไปแล้วมีปัญหา แต่ปัญหาคือพอเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และกฎหมายลูกมีปัญหา ก็กลับมาแก้ตอนทหารฉีกรัฐธรรมนูญ โดยผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งเข้าไปเป็น รมว. สนช. ส.ส.ร. กมธ. และ คตส. ไม่ยักแก้ตอนที่มีสภาจากเลือกตั้ง

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_2963708

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net