สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนาไม่สถาปนา ‘เสรีภาพทางศาสนา’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เดิมทีศาสนามี “จิตวิญญาณเสรีภาพ” ในบางความหมาย เช่น โมเสสใช้พลังศรัทธาในพระเจ้าปลดปล่อยชาวยิวจากการตกเป็นทาสชาวอียิปต์ แต่ในนามของพระเจ้าชาวยิวก็ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองเดิมเพื่อทวงคืน “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” ก่อตั้งรัฐของชาวอิสราเอล 

ขณะเดียวกันเมื่อชาวยิวรังเกียจคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ เยซูกลับสอนมองคนทุกศาสนาเป็น “เพื่อนบ้าน” และสอนว่าควร “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเราเอง” จากนั้นก็เสนอว่า บนสวรรค์ของพระเจ้านั้นไม่มีนายและข้ารับใช้ พระเจ้าไม่ได้ใช้อำนาจเผด็จการบังคับกดขี่ แต่ทรงเปี่ยมด้วยความรักต่อมนุษย์ทุกคนในฐานะลูกของพระองค์เสมอกัน อันเป็นที่มาของการยืนยันว่า “ทุกคนเท่าเทียมกันในสายตาของพระเจ้า” ความหมายเริ่มแรกหมายถึง ทุกคนไม่ว่าชาติพันธุ์หรือเพศไหนๆ มีสิทธิ์ที่จะได้รับความรักและความยุติธรรมในการให้ผลตอบแทนจากพระเจ้าเท่าเทียมกัน 

แต่คำสอนของเยซูขัดกับความเชื่อของผู้นำศาสนายิวในเวลานั้น ที่ถือว่า “ศาสนาของเราต้องดีกว่าศาสนาของเขา” จึงทำให้ “เขา” ที่นับถือศาสนาอื่นน่าชิงชัง อันสะท้อนออกมาจากความเชื่อพื้นฐานแบบศาสนา “เอกเทวนิยม” (monotheism) ยุคแรกๆ ดังที่ ธเนศ วงศ์ยานนาวา เขียนไว้ในบทนำของหนังสือ “ว่าด้วยเอกเทวนิยม: เส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าของจริง” ว่า

“กรอบความคิดของเอกเทวนิยม ไม่ยอมให้มีศาสนาที่นอกเหนือไปจากตนเอง ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ไม่นับว่าเป็นศาสนา ศาสนาแบบอื่นนั้นไม่มี ดังนั้น ‘religion’ ตามแบบเอกเทวนิยมจึงไม่ควรมี ‘religions’ แต่นั่นเป็นเพียงหลักการตามคำสอนหรือคัมภีร์ เพราะศาสนาอื่นดำรงอยู่ทั่วโลกมาตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์”

ด้วยเหตุนี้ การที่เยซูมองศาสนาอื่นๆ เป็นเพื่อนบ้าน จึงถูกบรรดาผู้นำศาสนายิวนิกายฟาริสีมองเป็น “ศัตรู” ที่ต้องกำจัด การประกาศตนเป็น “บุตรของพระเจ้า” จึงมีความหมายเป็นการ “ดูหมิ่นพระเจ้า” ขณะเดียวกันใครก็ตามที่ประกาศตนเป็น “พระเมสสิยาห์” (messiah) ในเวลานั้นย่อมถือเป็น “กบฏ” ในสายตาของผู้ปกครองที่เป็นตัวแทนอำนาจจักรวรรดิโรมัน 

วิธีลงโทษด้วยการตรึงกางเขนบรรดากบฏเป็นพันๆ คน คือวิถียุติธรรมของผู้ทรงอำนาจบนพื้นพิภพ ที่ไม่เคยรักผู้ใต้ปกครองเหมือนพระเจ้าบนสวรรค์ โชคร้ายที่เยซูต้องกลายเป็น 1 ในบรรดากบฏจำนวนมากที่ถูกตรึงกางเขน แต่ก็เฉพาะ “ร่างบนไม้กางเขน” และ “ไม้กางเขน” ที่ตรึงร่างของเยซูเท่านั้นที่กลายมาเป็น “สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์” ทางศาสนา นี่เป็นประเด็นที่ซับซ้อน

ซับซ้อนพอๆ กับประเด็นว่า เหตุใดเยซูบุรุษลึกลับที่ทำงานสอนศาสนาเพียง 3 ปี จากช่วงอายุ 30-33 ปี เท่านั้น จึงกลายเป็น “พระเยซูคริสต์” ที่มีมวลมนุษย์นับถือมากที่สุดในโลก มองในทางประวัติศาสตร์หากไม่มี “ปอล” หรือ “เปาโล” ผู้กลับใจจากที่เคยเป็นผู้ไล่ล่าชาวคริสต์มาเป็นสาวกของ “พระคริสต์” เพราะเชื่อในการฟื้นคืนชีพของเยซู หรือลึกๆ เขาอาจจะเห็นอะไรบางอย่างจากบุคลิกภาพของเยซู และเห็นความโหดร้ายที่อำนาจผู้ปกครองกระทำต่อเยซูและบรรดาผู้คนในเวลานั้น จนทำให้เชื่อมั่นว่าเส้นทางแห่งความรักและการให้อภัยของเยซูเป็นเส้นทางที่ถูกต้อง 

เมื่อเปาโลนำคริสต์ศาสนาจากดินแดนปาเลสไตน์ไปสู่โรม คริสต์ศาสนาก็ไม่ใช่สมบัติของชาวยิวอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นศาสนาที่ถูกนำเสนอด้วยปณิธานว่าจะทำให้เป็น “ศาสนาของชาวโลก” ทว่าทั้งเปาโลและชาวคริสต์ก็ถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมเสียยิ่งกว่าที่เยซูเคยถูกกระทำ แต่สำหรับผู้คนที่เชื่อว่า “อาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้าจะมาสู่โลกในไม่ช้า” การยอมพลีชีพเพื่อศาสนาเป็น “มรณสักขี” ย่อมเป็นสิ่งที่คุ้มค่า ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่พูดกันเป็นสำนวนว่า “ตายหนึ่งเกิดแสน” จึงสะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวคริสต์ในกรุงโรมช่วงสามถึงสี่ร้อยปีแรกได้เป็นอย่างดี 

ต่อเมื่อ “จักรพรรดิคอนสแตนติน” ที่เห็นการขยายตัวของชุมชนชาวคริสต์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเกิดปัญญารู้แจ้งว่า พลังสนับสนุนของชาวคริสต์จะช่วยให้เขาพิชิตศัตรูได้ เขาจึงอ้าง “นิมิต” เห็นภาพไม้ขางเขนบนธงเป็นสัญลักษณ์นำทัพพิชิตศัตรูทางการเมือง และนำภาพนิมิตนั้นมาใช้ในการออกรบจนได้ชัยชนะในที่สุด จากนั้นศาสนาคริสต์ก็ได้รับการอุปถัมภ์จากจักรรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคกลาง ไม้กางเขนที่เคยใช้ประหารชีวิตเยซูอย่างทารุณ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการพิชิตในสงคราม เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของโบถส์ และอื่นๆ และแล้วคริสต์ศาสนาก็เรืองอำนาจตลอดยุคกลางที่ยาวนานร่วมพันปี ภายใต้กรอบคิดหลักดังที่ธเนศเขียนว่า

“กรอบความคิดการเป็นพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว เป็นความคิดแบบ ‘ผูกขาด’ เป็นความคิดที่ไม่เปิดโอกาสให้พระเจ้าองค์อื่นมีโอกาสมีอำนาจ กรอบความคิดของพระเจ้าที่รวมอำนาจแต่เพียงผู้เดียวนี้ยังเปิดทางให้กับการสถาปนาอำนาจทางการเมืองแต่เพียงผู้เดียว กล่าวคือ เป็นอำนาจแบบศูนย์รวมและรวมศูนย์อยู่ที่พระองค์ โดยที่พระองค์ปฏิบัติการผ่านตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ หรือเหล่าพระทั้งหลาย ที่กระทำกิจกรรมต่างๆ ในนามของพระองค์”

ชาวพุทธบ้านเรามัก “ขับเน้น” ภาพอำนาจผูกขาดและความรุนแรงของศาสนจักรคริสต์และรัฐคริสเตียนในประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง รวมทั้งภาพสงครามทางศาสนา นิกายศาสนา ความรุนแรงในการปฏิวัติประชาธิปไตย แล้วก็ “หลอกตัวเอง” ว่าประวัติศาสตร์ศาสนาและการเมืองไทยไม่กดขี่รุนแรง แต่มีลักษณะของเมตตาธรรม การประนีประนอมมากกว่าอะไรทำนองนั้น 

แต่อันที่จริงแล้ว แม้พุทธเถรวาทไทยจะไม่มีศาสนจักรเรืองอำนาจแบบศาสนจักรคริสต์โรมันคาธอลิกยุคกลาง ทว่าอำนาจในนามศาสนานั้นรวมศูนย์อยู่ที่ “พระเจ้าแผ่นดิน” ตำแหน่งนี้บอกอยู่แล้วว่าผูกขาดอำนาจรวมศูนย์ในฐานะ “พระเจ้า” บนโลกที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแผ่นดิน และเป็น “เจ้าชีวิต” ของบรรดาผู้ใต้ปกครองทั้งปวง พระเจ้าแผ่นดินจึงใช้อำนาจผูกขาดและเด็ดขาด (despotism) ในฐานะสมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรมในการพิทักษ์ปกป้องระบบสังคมศักดินามาตลอดระยะเวลาเกือบพันปี ในยุคสังคมจารีตแบบสยาม/ไทย

ประเด็นคือ ไอเดีย “อำนาจผูกขาดในนามของพระเจ้า” กับ “ความเสมอภาคในสายตาของพระเจ้า” เป็นประเด็นถกเถียงยาวนานในยุคกลาง ระหว่างนักบวชสายอนุรักษ์กับสายปฏิรูป และผสมโรงด้วยข้อถกเถียงของนักคิดแนวมนุษยนิยม เสรีนิยม และโลกวิสัย (secularism) ในเวลาต่อมา ทำให้เกิดการปฏิรูปศาสนาที่ให้เสรีภาพทางศาสนาได้เพียงว่า ปัจเจกแต่ละคนมีเสรีภาพอ่านและตีความคำสอนในไบเบิลได้โดยตรง ไม่ต้องขึ้นต่ออำนาจวินิจฉัยของนักบวชและศาสนจักรอีกต่อไป 

แต่นี่ได้กลายเป็นการ “เปิดทาง” ให้กับการตั้งคำถามบนจุดยืนโลกวิสัยที่เข้มข้นมากขึ้นในยุคต่อมาว่า เมื่อมนุษย์เสมอภาคในสายตาของพระเจ้าได้ มนุษย์ก็ย่อมเสมอภาคในสายตาของมนุษย์ด้วยกันได้ และเสมอภาคทางกฎหมายตามหลักนิติรัฐ (rule of law) ได้ด้วย แน่นอนว่าเมื่อปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพตีความไบเบิลได้ ก็ย่อมสามารถจะมีเสรีภาพทางการเมืองได้ด้วยเช่นกัน กระทั่งมีเสรีภาพที่จะกำหนดหลักการทางศีลธรรมขึ้นจากการใช้เหตุผลและอิสรภาพของตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อฟังศีลธรรมแบบเทวบัญชา และอำนาจเทวสิทธิ์ของสันตะปาปาและกษัตริย์อีกต่อไป

ถึงตรงนี้เมื่อสิ้นสุดอำนาจศาสนจักรและรัฐศาสนาแบบคริสเตียน เสรีภาพทางการเมืองจึงถูกสถาปนาขึ้นขึ้น และการมีเสรีภาพทางการเมืองจึงเป็นหลักประกันการมีเสรีภาพด้านอื่นๆ รวมทั้ง “เสรีภาพทางศาสนา” (freedom of religion) ก็ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญบนหลักการโลกวิสัย (secular principles) ที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา และให้หลักประกันความเสมอภาคทางศาสนาและความเชื่อต่างๆ ด้วย 

ชาวพุทธบ้านเรามักอ้างว่า หลักพุทธศาสนาเปิดกว้างต่อเสรีภาพทางศาสนาและอื่นๆ อยู่แล้ว แต่ชาวคริสต์ก็อ้างได้เช่นกันว่าหลักคำสอนของเยซูเรื่อง “ความรักและการให้อภัย” ก็เปิดกว้างต่อเสรีภาพสุดๆ เช่นกัน ทว่าศาสนาเป็นมากกว่าหลักคำสอน และตามความจริงทางประวัติศาสตร์ศาสนาต่างๆ ล้วนสถาปนาอำนาจรัฐ สร้างประเพณี พิธีกรรม วัฒนธรรมชนชั้นทางสังคมอย่างขัดหลักคำสอนแบบที่เชื่อกันว่าเป็น “แก่นสาร” ของศาสนานั้นๆ เสมอมา

ดังนั้น ศาสนาใดๆ โดยตัวมันเองจึงไม่เคยสถาปนา “หลักเสรีภาพทางศาสนา” ขึ้นมาได้เลย เสรีภาพทางศาสนาแบบที่เรารับรู้ในกรอบเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้ เพราะสามารถสถาปนาเสรีภาพทางการเมืองขึ้นมารองรับ หรือให้หลักประกันเสรีภาพด้านอื่นๆ ให้เป็นไปได้จริง 

และขณะที่รัฐไทยยังไม่สามารถสถาปนาเสรีภาพทางการเมืองขึ้นมาได้จริง เสรีภาพทางศาสนาก็ยังกระท่อนกระแท่นไม่ต่างจากเสรีภาพทางการเมือง ศาสนาหรือสถาบันทางศาสนาก็ยังเป็นกลไกสำคัญหนึ่งของอำนาจที่ขัดทั้งเสรีภาพทางการเมือง และเสรีภาพทางศาสนาอยู่นั่นเอง

 

ที่มาภาพ: http://tripopyun.blogspot.com/2013/09/2.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท