วิเคราะห์พรรค NLD-อองซานซูจี ล้มเหลว หลงทางอย่างไร ก่อนเลือกตั้งทั่วไป 2563

สื่อต่างประเทศนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี ที่อองซานซูจีเป็นหัวหน้าพรรค เหตุใดภาพลักษณ์พรรคประชาธิปไตยที่สั่งสมมาเริ่มผุกร่อน ดูปัญหาในแนวนโยบายทั้งเรื่องใหญ่อย่างการเจรจาสันติภาพ แก้รัฐธรรมนูญไปถึงเรื่องภายในพรรค และจะกอบกู้วิกฤตศรัทธาได้อย่างไรเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึงในปี 2563

อองซานซูจี ระหว่างร่วมเปิดงานคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ซึ่งจัดโดยพรรคเอ็นแอลดี เมื่อ 30 ธ.ค. 54 (ที่มา:แฟ้มภาพ)

ปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เพิ่งจะเป็นวันครบรอบการก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของพม่า พรรครัฐบาลปัจจุบันที่มีอองซานซูจีเป็นหัวหน้าพรรค และยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐซึ่งเปรียบได้กับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลในทางพฤตินัย

ในตอนที่ซูจีและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยกลุ่มเล็กก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดีในปี 2531 นั้น ชื่อเสียงของเธอในฐานะลูกสาวของนายพลอองซาน วีรบุรุษผู้ปลดปล่อยพม่ายังเป็นเพียงเรื่องราวเล็กๆ ส่วนหนึ่ง ก่อนที่ 3 ปีถัดจากนั้นเธอจะกลายเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการยืนหยัดต่อต้านเผด็จการทหาร และ 30 ปีหลังจากนั้นมาจนถึงตอนนี้เธอก็ยังคงเป็นที่นิยมมากในหมู่ประชาชนชาวพม่า

แต่ในช่วงที่พรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาล ประชาคมนานาชาติที่เคยชื่นชมเธอในเรื่องการต่อสู้กับเผด็จการทหารก็เริ่มตีตัวออกห่าง เหตุผลส่วนใหญ่เป็นเพราะพรรคเอ็นแอลดีล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารหมู่ต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ในขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปทำการคว่ำบาตรกับเจ้าหน้าที่ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน นักวิเคราะห์นานาชาติต่างวิพากษ์วิจารณ์บทบาทการนำของอองซานซูจีที่มีลักษณะแบบอำนาจนิยม ไม่ยอมกระจายอำนาจและสงวนท่าทีต่อการจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่วงการการเมือง

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกรณีที่กลุ่มภาคประชาสังคมชี้ให้เห็นว่าพรรคเอ็นแอลดีมีการฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทมากกับทั้งนักข่าวและนักกิจกรรมโดยใช้กฎหมายว่าด้วยการโทรคมนาคมที่ออกมาเมื่อปี 2556 ในการปิดปากและข่มขู่คุกคามคนที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่สำหรับภายในประเทศพม่าแล้ว เอ็นแอลดียังคงได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะในหมู่คนในเมืองศูนย์กลางใหญ่ๆ เช่นย่างกุ้งหรือมันฑะเลย์ และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งถัดไปแม้ว่าจะทำสิ่งที่เคยสัญญาไว้ในการหาเสียงครั้งก่อนหน้านี้ได้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจรจาไกล่เกลี่ยกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หรือเรื่องที่สัญญาว่าจะปฏิรูปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่ร่างโดยทหาร

กระน้้น ปัญหาการเมืองในพม่าคือพวกเขาขาดพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะมาท้าทายพรรคเดิมทำให้ยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงอีกไม่กี่ปีถัดจากนี้

ความตึงเครียดกับกลุ่มชาติพันธุ์

ความล้มเหลวไม่ได้แปลว่าเอ็นแอลดีไม่ได้พยายามทำตามสัญญา แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือระบบของพรรคที่เป็นอำนาจแบบจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง มีการทำให้ชุมชนชาติพันธุ์รู้สึกแปลกแยกด้วยการแต่งตั้งมุขมนตรีของตัวเองไปประจำตามรัฐต่างๆ แม้แต่ในพื้นที่ที่เอ็นแอลดีไม่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมาก แถมยังก่อดราม่าด้วยการจะสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซาน ซึ่งเป็นคนที่ชนกลุ่มน้อยในพม่ามองว่าเป็นสัญลักษณ์การครอบงำของคนเชื้อสายพม่า (Burmese) ต่อชนกลุ่มน้อยเชื้อสายอื่นๆ

กระบวนการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ก็ไม่เกิดผลคืบหน้าใดๆ ในช่วงที่เอ็นแอลดีเป็นรัฐบาล  แถมยังมีความขัดแย้งในรัฐฉานและยะไข่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2560 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอ็นแอลดีสั่งยุบศูนย์สันติภาพเมียนมาร์ซึ่งก่อตั้งจากรัฐมนตรีเพื่อการปฏิรูปในสมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง และยังประกาศยุบทีมเจรจาเดิม ก่อตั้งทีมเจรจาของตัวเองขึ้นมาใหม่ ทำให้ฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์สูญเสียความเชื่อใจในตัวรัฐบาลกลาง และพลอยทำให้ความเชื่อใจที่สร้างกันมาในชุดเจรจาเดิมหายไปด้วย

ซูจีไม่มีอะไรไปคัดง้างกับกองทัพพม่า (ทัตมาดอว์-tatmadaw) กองทัพพม่าละเมิดสนธิสัญญาหยุดยิงซึ่งกลายเป็นการทำลายความความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นในยุคสมัยเต็งเส่ง ทำให้รัฐบาลเอ็นแอลดีเสียจุดยืนในการเจรจา และที่สำคัญกว่านั้นคือรัฐธรรมนูญปัจจุบันของพม่ายังคงให้อำนาจกองทัพในการควบคุมเรื่องงบประมาณและสามารถควบคุมหลายกระทรวงได้

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในช่วงเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของรัฐบาลเอ็นแอลดี พวกเขาพยายามแก้รัฐธรรมนูญด้วยการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการฉุกเฉินด้านการปฏิรูปรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภา คณะกรรมาธิการดังกล่าวเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับของทหารถึง 4,000 จุด หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขมาตรา 436(a) ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องการเสียง 2 ใน 3 จากสภาเท่านั้นจากเดิมที่ต้องการ 3 ใน 4 ซึ่งเป็นความพยายามปรับไม่ให้ทหารที่มีสัดส่วนในสภาถึง 1 ใน 4 ถืออำนาจวีโต้ในการแก้รัฐธรรมนูญ

เซาธ์อีสต์เอเชียโกลบมองว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเชิงยุทธศาสตร์ของเอ็นแอลดีเพื่อสร้างคะแนนนิยมหลังจากที่ล้มเหลวในกรณีกระบวนการเจรจาสันติภาพ แต่พรรคเอ็นแอลดีก็ต้องระมัดระวังในการคลายความตึงเครียดกับกองทัพและจัดการกับความคาดหวังให้มีการปลดอาวุธจากกลุ่มชาติพันธุ์

ฝ่ายกองทัพคือพรรคยูเอสดีพี นอกจากจะต่อต้านคณะกรรมาธิการปฏิรูปรัฐธรรมนูญแล้ว อีกจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความตึงเครียดคือส่วนที่มีการแก้ไขให้เวลาที่กองทัพเสนอปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตามจะต้องผ่านการพิจารณาจากสมาชิกของพรรคเอ็นแอลดี 45 ราย แทนที่จะผ่านการพิจารณาจากสภา ซึ่งการแก้ไขนี้เป็นไปเพื่อจำกัดอำนาจบริหารของประธานาธิบดีทั้งในระดับรัฐและในระดับท้องถิ่น

กีดกันพรรคเล็ก

เซาธ์อีสต์เอเชียโกลบตั้งข้อสังเกตว่าเอ็นแอลดีมีการกีดกันพรรคเล็กๆ ออกจากกระบวนการร่างกฎหมาย เช่น เหตุการณ์ที่อดีตสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีรายหนึ่งลาออกจากตำแหน่งกรรมาธิการโดยกล่าวหาว่าเอ็นแอลดี "ข่มเหงรังแก" พวกเขา นอกจากนี้ พรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์กับเอ็นแอลดีก็มีความคลางแคลงใจในเรื่องความคืบหน้าในเรื่องการปลดอาวุธมาก่อนอยู่แล้ว โดยพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์มีข้อเรียกร้องขอให้กองทัพพม่าออกไปจากการเมืองโดยด่วน

ฝ่ายเอ็นแอลดีก็พยายามทำให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงให้อำนาจมาสู่พลเรือนมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากการโอนให้กระทรวงกิจการภายในมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลพลเรือน และในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งปี 2563 พวกเขาก็เน้นย้ำเรื่องการปลดอาวุธและเรื่องการกระจายอำนาจ แต่ทว่ากลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับเอ็นแอลดีก็แสดงความกังขาต่อความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้งซึ่งจะกลายเป็นการลดทอนความชอบธรรมในชัยชนะของพรรคเอ็นแอลดี นอกจากนี้ ประเด็นในเรื่องการโจมตีมุ่งทำลายภาพลักษณ์ตัวบุคคลก็กลายเป็นสิ่งที่ส่งอิทธิพลต่อความขัดแย้งทางการเมืองในพม่ามากขึ้น

เทคโนโลยีและการโจมตีมุ่งทำลายภาพลักษณ์บุคคล

หนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรโซเชียลมีเดีย Athan ในกรุงย่างกุ้งเปิดเผยว่า ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2563 ในพม่ามีผู้ใช้วิธีการโจมตีมุ่งทำลายภาพลักษณ์บุคคลผ่านทางข่าวปลอม รวมถึงมีความกังวลว่าอาจจะมีการใช้เทคโนโลยี "ดีพเฟค" ที่เป็นเทคโนโลยีการตัดต่อนำภาพใบหน้าบุคคลไปแปะไว้ในวิดีโอเพื่อใส่ร้ายป้ายสีให้ดูเหมือนคนๆ นั้นทำในสิ่งที่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ทำ

เซาธ์อีสต์เอเชียโกลบประเมินว่าในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2563 พรรคเอ็นแอลดีคงจะพยายามเอาใจฐานเสียงของตัวเองโดยเน้นเรื่องในเชิงโวหารมากกว่าจะปฏิบัติอะไรอย่างจริงจัง ทำให้มีคำถามว่าพวกเขาจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในการหาเสียงครั้งที่แล้วมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็พอจินตนาการได้ว่า ถ้าเอ็นแอลดีได้รับคะแนนเลือกตั้งมาก พวกเขาก็จะรู้สึกว่ามีแรงหนุนในการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยภาพลักษณ์ของนักปฏิรูป แต่ถ้าหากพวกเขาได้คะแนนเลือกตั้งน้อยโดยเฉพาะในภูมิภาคที่เป็นพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเร่งปฏิบัติการต่างๆ ให้เร็วขึ้น

อีกประการหนึ่งคือ เอ็นแอลดีต้องเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการสันติภาพของพวกเขาที่ลักษณะแบบชนชั้นนำนิยม ให้ความสำคัญกับชาติพันธุ์พม่า (Burman) และมีลักษณะบนลงล่าง พวกเขาควรจะมีการเจรจาหารือที่มีโครงสร้างที่ดีกว่านี้ เล็งเห็นว่าชนกลุ่มน้อยต่างๆ มีความต้องการทางการเมืองที่กระจัดกระจาย พวกเขาจึงควรนำวิธีการที่ประสบความสำเร็จในยุคอ่องมินมาพิจารณา นอกจากนั้น เอ็นแอลดีควรดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียสดใหม่เข้าไปอยู่ในพรรคด้วย ซึ่งจะทำให้ฐานการปฏิรูปของพวกเขากว้างขวางมากขึ้นในหมู่คนรุ่นเยาว์

ท่าทีของกองทัพพม่า

สำหรับโจทย์ที่ว่านายทหารระดับสูงของกองทัพพม่าจะพร้อมสละอำนาจหรือไม่นั้นเป็นอะไรที่จัดการยาก ถ้ามองโลกในแง่ดี ทัตมาดอว์อาจจะยอมรับการมีผลประโยชน์ร่วมกันกับรัฐบาลเอ็นแอลดีไปพร้อมๆ กับการทำให้พม่าเป็นสหพันธรัฐอย่างแท้จริง โดยแก้ไขภาพลักษณ์แย่ๆ ในสายตาชาวโลกไปพร้อมๆ กับการทำให้ความขัดแย้งตลอดเวลา 70 ปีจบสิ้นลง แต่ถ้าหากมองโลกในแง่ร้ายแล้ว ทัตมาดอว์อาจจะเห็นว่าความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความพยายามท้าทายพวกเขาและอาจจะถึงขั้นแทรกแซงด้วยการรัฐประหาร ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นระหว่างมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับซูจีก็อาจจะเป็นสิ่งที่ขัดขวางการเจรจาหารืออย่างเกิดผลและการยึดกุมประชาธิปไตยเอาไว้ได้

ทั้งนี้ การที่มีพรรคใหม่ๆ ลงชิงชัยในการเลือกตั้งในปี 2563 ก็อาจกดดันให้ทั้งฝ่ายกองทัพและฝ่ายเอ็นแอลดีหารือร่วมกันในการสร้างความก้าวหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปประชาธิปไตยก็ได้ ถ้าเอ็นแอลดีอยากจะได้ความศรัทธาต่อพรรคจากรากเหง้าเดิมของพวกเขากลับคืนมา ก็ควรจะสร้างสมดุลระหว่างซูจีกับพรรค ทำการปฏิรูปในแบบที่คำนึงถึงเรื่องอำนาจและความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ และลงทุนในเรื่องการสร้างสมรรถภาพให้กับพรรคตัวเอง

เรียบเรียงจาก

Hunter Marston, Abigail Chan, Life of the party, South East Asia Globe, Sep. 26, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท