“คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” (2): คืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้

‘ประชาไท’ รวบรวมงานเสวนา 2 งานอันเนื่องมาจากกรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตนเองในศาลจังหวัดยะลา ต่อเนื่อง 9 ตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตั้งแต่รายละเอียดของคดีจนถึงภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านมุมมองของทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

  • การใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้อำนาจทหารในการคุมตัวผู้ต้องสงสัยและซักถามโดยไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  • การซ้อมทรมานยังคงมีในพื้นที่และยังไม่มีคดีใดที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษ
  • พยานหลักฐานที่ได้จากการใช้กฎหมายพิเศษกลับถูกนำไปใช้ในชั้นศาล
  • คืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้

กรณีการยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ศาลจังหวัดยะลา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันตุลาการและข้อกังขาว่าผู้พิพากษามีอิสระเพียงใดในการพิจารณาคดี ด้วยถ้อยคำในคำแถลงการณ์ที่ว่า

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดงานเสวนาต่อกรณีนี้ 2 งานคือ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต’ ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยากรทั้งสองงานมีตั้งแต่ทนายความที่ทำคดีดังกล่าว นักสิทธิมนุษยชน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นักวิชาการด้านกฎหมาย และสื่อมวลชน

เพื่อให้ภาพที่สมบูรณ์ ครบทุกมิติ ‘ประชาไท’ จึงนำทั้งสองงานมาร้อยเรียงเป็นซีรีส์ว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ข้อเสนอเพื่อแก้ไข และความอิสระที่ว่านั้นควรอิสระเพียงใดจึงจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความอิสระเป็นพิษ

ตอนที่ 2 เราจะฟังประสบการณ์ของ อับดุลกอฮาร์ แอแวบูเต๊ะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภายใต้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ความยุติธรรมจะเกิดได้จริงหรือ?

 

อับดุลกอฮาร์ แอแวบูเต๊ะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

ผมในฐานะของทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมและทำคดีความมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2547 ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัด พูดถึงคดีความมั่นคงก็มีลักษณะเฉพาะที่พิเศษกว่าคดีทั่วไป ส่วนใหญ่แล้ว คดีความมั่นคง พอหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบก็มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ตอนแรกก็ยังใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติคือใช้พนักงานสอบสวนในการสอบสวน แสวงหาพยานหลักฐาน

เสวนาทางกฎหมาย เรื่อง“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

กฎหมายพิเศษให้อำนาจทหารเริ่มทำคดี

แต่พอใช้ไปช่วงหนึ่งปรากฏว่าคดีมีการยกฟ้องเยอะ ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ในช่วงแรกๆ หลังจากนั้นเท่าที่ผมจำได้ก็มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปี 2551 เกี่ยวข้องกับการรับฟังพยานหลักฐานตามมาตรา 226 ในการแก้ไขก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานจากพยานบอกเล่า พอหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายดูเหมือนว่าคดีความมั่นคงเริ่มจะมีการใช้วิธีดำเนินการซักถามในค่ายทหาร ซึ่งใช้สำหรับกรณีผู้ที่ต้องสงสัยตามกฎอัยการศึก แล้วก็จะทำรูปแบบผลซักถามเป็นลักษณะคำให้การชั้นสอบสวน

อำนาจในการควบคุมตัวครั้งแรกใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก 7 วัน หลังจากหมดอำนาจตามกฎอัยการศึก ถ้ายังจะควบคุมตัวต่อพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ถูกต้องสงสัยในคดีนั้นๆ จะต้องร้องขอต่อศาลเพื่อขออำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548) โดยศาลจะพิจารณาว่าจะให้อำนาจควบคุมตัวต่อหรือไม่ ถ้าศาลให้อำนาจควบคุมตัวต่อ ผู้ต้องสงสัยคนนั้นก็เปลี่ยนจากกระบวนการซักถามตามกฎอัยการศึก 7 วันไปสู่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้นเพราะว่าการใช้คดีความมั่นคงในสามจังหวัดส่วนใหญ่ที่ผมสังเกตเห็นก็คือว่าหลังจากที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะมีกลุ่มบุคคลเป้าหมายที่อยู่ในเป้าหมายของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว อย่างเช่นที่ได้จากการซักถามบุคคลอื่น ที่ได้จากการซัดทอดที่เป็นข้อมูลทางการสืบสวนทางการข่าว แล้วก็นำตัวครั้งแรกมาในฐานะผู้ต้องสงสัย พอซักเสร็จแล้ว รับสารภาพในชั้นซักถามก็อ่านคำรับสารภาพนั้นเพื่อไปขอหมายจากศาลซึ่งส่วนใหญ่ศาลอนุญาต แต่มันจะแตกต่างจากกฎอัยการศึกคือหมายคควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกได้ครั้งหนึ่ง 7 วันและขอเป็นคราวๆ ไปครั้งละ 7 วันแต่ต้องไม่เกิน 30 วัน

สถานที่ควบคุมก็ยังใช้ที่เดิมก็คือศูนย์ซักถามที่ค่ายอิงคยุทธฯ ซึ่งระยะเวลาก่อนที่จะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าเต็มที่คือ 37 วัน แล้วส่วนใหญ่จะเต็ม 37 วัน บางครั้งญาติก็ไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมได้ ไปเยี่ยมได้ก็เพียงแต่ให้จับมือ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ จะไม่ให้เยี่ยมเลย พอหลังจากอยู่นานๆ ก็จะผ่อนคลายลงนิดหนึ่ง ซึ่งกระบวนการตรงนี้ในฐานะที่เราเป็นนักกฎหมาย ผมมองว่ามันไม่ใช่กระบวนการของชั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่กระบวนการที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ทหาร แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้คำว่า 3 ฝ่าย คือฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ แต่ในเมื่อถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายก็ถือว่าอยู่ในอำนาจของทหาร

การซ้อมทรมาน

แล้วกระบวนการซักถามจะเหมือนกันหมด ซักถามตามกฎอัยการศึกเสร็จ ก่อนนำตัวส่งขอควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอกสารที่ซักถามตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็คือชุดเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนเจ้าหน้าที่คนทำงานเท่านั้นเอง แล้วบางครั้งบางคนซักถามจนไม่มีข้อมูลแล้ว แต่ก็ยังขยายต่อ คือเราไม่รู้ว่ากระบวนการหล่านี้มีหลักเกณฑ์อะไรและก็ตรวจสอบไม่ได้ ชั้นที่มีปัญหาของการเรียกร้องไม่ใช่เฉพาะกรณีของอับดุลเลาะห์ที่เป็นข่าว ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ผมเข้าใจว่าแรกเริ่มที่ใช้บังคับเราก็ยังมีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีเหตุการณ์เกี่ยวกับการซ้อมทรมานที่อยู่ข้างใน

แต่ว่าพัฒนาการในการจัดการอาจจะเปลี่ยนแปลง เช่นเมื่อก่อนอาจจะมีแผล แต่ปัจจุบันอาจจะไม่มีแผลคือมีการพัฒนาการในกระบวนการ แต่ข้อมูลจากญาติที่ร้องเรียนเราก็ยังได้รับข้อมูลอยู่ ซึ่งผลซักถามทั้งหมดถ้ามองในมุมของทนาย ผมมองว่ามันก็คือเอกสารที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มันไม่ใช่กระบวนการที่เป็นเรื่องของการสอบสวน แล้วบางครั้งลองนึกจินตนาการดูว่าบุคคลคนหนึ่งถูกจับกุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัย ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ให้การรับสารภาพชั้นกฎอัยการศึก พอไปอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังอยู่ในค่ายอยู่ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนเข้ามาสอบสวน สอบสวนในฐานะพยาน สอบสวนโดยใช้แบบพิมพ์ของพนักงานสอบสวนสอบสวนผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ การสอบสวนในฐานะที่เป็นพยานโดยให้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการก่อเหตุต่างๆ ทั้งที่เขายังอยู่ในชั้นของกฎหมายพิเศษ

พอพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผู้ต้องหาก็ให้การปฏิเสธ เพราะหลังจากที่พ้นการควบคุมตัวของกฎหมายพิเศษ ญาติก็สามารถเข้าไปเยี่ยมและสามารถนั่งฟังการสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนก็เปิดโอกาสให้ให้การได้อย่างอิสระ ซึ่งมันขัดแย้งกับผลของการให้การเป็นพยานในชั้นการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นี่คือสิ่งที่ผมมองว่า มันไม่แฟร์กับคนที่เป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาก็คือว่าในขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ข้างในไม่มีอิสระและเอกสารทั้งหมดก็ถูกจัดทำขึ้นในชั้นของกฎหมายพิเศษ ปัจจุบันคดีความมั่นคง พนักงานสอบสวนก็เป็นพนักงานสอบสวนชุดความมั่นคงต่างหาก อาจจะไม่ใช่พนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุ แต่เป็นพนักงานสอบสวนที่มีการจัดตั้ง ถ้าเราจำกันได้สำนักงานอัยการสูงสุดเคยมีการจัดตั้งอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 เป็นชุดพิเศษของคดีความมั่นคงและทำงานร่วมกับตำรวจในกระบวนการการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้พยานหลักฐานในชั้นกฎหมายพิเศษ แต่จัดทำโดยตำรวจบ้างก็มีให้มีอำนาจในการร่วมการสอบสวนแต่ปัญหาในทางปฏิบัติคือนำพยานหลักฐานนี้เข้าสู่ศาล

พยานหลักฐานจากกฎหมายพิเศษถูกใช้ในศาล

ที่นี้ หลักเกณฑ์หรือมาตรฐานในการพิจารณา บางคดีก็รับฟังแต่บางคดีก็ไม่รับฟัง คือพยานบอกเล่าตามหลักการรับฟังไม่ได้ ถ้าจะรับฟังก็จะอ้างมาตรา 226/3 (1) แต่ถ้าไม่รับฟังก็จะไปมาตรา 227/1 ก็คือเป็นพยานที่ไม่เป็นอิสระเพราะเป็นชั้นของการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ คำให้การของพยานจะทำในค่ายทหารเหมือนกันก็คือมองว่าไม่อิสระ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดที่มีปัญหาอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ในส่วนของศาล อธิบดีก็จะให้ภาคเข้ามา คือคดีอาญาปกติจะมีองค์คณะ 2 คน แต่ถ้าคดีความมั่นคงจะมีภาค 9 เข้ามาเป็นองค์คณะร่วมและมานั่งพิจารณาร่วมกับองค์คณะ 2 ท่านของศาลชั้นต้น ซึ่งแตกต่างกับคดีอาญาทั่วไป อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีความมั่นคง

ส่วนใหญ่ก็คือแทบทุกคดีก็เป็นหลักฐานที่มาจากชั้นการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขนาดคดีปกติที่เป็นคดีที่ยะลายังใช้กฎหมายพิเศษเลย ตรงนี้ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าอันไหนจะใช้กฎหมายพิเศษอันไหนที่ไม่ควรใช้ อย่างเช่นปัญหาใน 3 จังหวัดผมถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกคนก็บอกว่า มันก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร บางทีอาจไม่ใช่ขบวนการก็ได้ เหมือนคดีที่เป็นปัญหานี้ วิธีการก่อเหตุเหมือนขบวนการเลย แต่เป็นเรื่องยาเสพติด แต่พอสอบสวนลึกลงไปก็พบว่าไม่ใช่คดีความมั่นคง ก็เป็นคดีอาญาปกติ แต่มาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้กฎอัยการศึก ตอนจับก็ใช้กฎหมายพิเศษนำหน้าไปก่อนแล้ว

คือปกติคดีอาญาเกิด พนักงานสอบสวนสอบสวนที่เกิดเหตุและขยายผล เริ่มจากพยานหลักฐานได้อะไร ได้โทรศัพท์ ได้ DNA ภาพกล้องวงจรปิด แล้วก็ขยายไปว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่คดีใน 3 จังหวัด ตอนเกิดเหตุไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้าย แต่อยู่ดีๆ วันหนึ่งก็จับบุคคลที่ต้องสงสัยมา 4-5 คนแล้วก็ดำเนินคดี คือตรงนี้จะบอกว่าสมมุติว่ามันไม่ใช่คดีความมั่นคง แต่ไปเอาคนที่ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง อย่างนี้คนเหล่านั้นก็ต้องรับกรรม

เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยได้รับการลงโทษ

การจะเอาความผิดเจ้าหน้าที่รัฐประสบปัญหามาก หลายคดีแล้วที่ใช้ความพยายาม ไม่ว่าจะเรื่องคดีไต่สวนการตาย คดีวิสามัญฆาตกรรม คดีตายในค่าย ผมไม่เคยประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง ฟ้องตลอด แพ้ตลอด ไม่เคยชนะเลย แต่ผมว่าชนะครั้งเดียวคุ้ม เพราะมันจะปกป้องอีกหลายคน แต่ว่าไม่อยากให้หมดความพยายาม ผมอ่านความคิดจากท่านคณากรก็คือว่าเหตุที่ท่านมองว่าเจ้าหน้าที่ควรได้รับโทษ เพราะการเป็นเจ้าหน้าที่มีความพิเศษกว่าคนอื่น แต่ใช้โอกาส ใช้สถานะของตนเองในการทำความผิด

สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือมีเจ้าหน้าที่น้อยมากที่จะเข้าสู่กระบวนการการดำเนินคดี แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีแล้ว ผมเข้าใจว่าท่านคณากรจะมองเหมือนประชาชนทั่วไปว่าเขาไม่ควรได้รับสิทธิพิเศษกว่าคนอื่น เมื่อกฎหมายบังคับใช้กับเขาแบบนี้ เจ้าหน้าที่ก็สมควรได้รับโทษเหมือนกัน

คืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ 3 จังหวัด

การคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนมันเป็นหน้างานของผมคืออันดับแรกผมจะบอกว่าคดีความมั่นคง ถ้าถามว่าเป็นคดีประเภทไหน ดูในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มี แต่ในประมวลกฎหมายอาญามีมาตรา 135/1 ก็คือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย คดีที่ถูกฟ้องส่วนใหญ่จะถูกฟ้องที่ศาลจังหวัด เพราะที่กรุงเทพฯ ทิศทางคดีจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น ในคดีความมั่นคงที่เรานิยามไว้หมายถึงคดีที่ฟ้องตามมาตรา 135/1 ฟ้องเกี่ยวกับก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร เหตุการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดซึ่งคดีพวกนี้ส่วนใหญ่จะถูกบังคับใช้ และการดำเนินคดีมีลักษณะพิเศษกว่าคดีอื่นคือใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อน

อย่างเช่นคดีนี้ใครเป็นคนเก็บพยานหลักฐาน ตามที่อ่านในคำแถลงการณ์เจ้าหน้าที่กู้ภัยเป็นคนเก็บพยานหลักฐาน บางคดีทหารเป็นคนเก็บพยานหลักฐาน หลายคดีพนักงานสอบสวนยังเข้าไปไม่ถึง จุดที่เกิดเหตุเลย แต่พยานหลักฐานทั้งหมดถูกจัดมาเรียบร้อยแล้ว และสิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือพอใช้กฎหมายพิเศษ สงสัยใคร มีเป้าหมายใคร ก็สามารถเอาตัวมาได้ แล้วค่อยทำพยานหลักฐานทีหลัง ในขณะที่กระบวนการสอบสวนปกติดูจากพยานก่อนและเชื่อมโยงกับใครแล้วค่อยมีการแจ้งข้อกล่าวหาจึงตกเป็นผู้ต้องหา ดังนั้น ระบบคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดจึงเริ่มจากความสงสัยก่อนซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะว่าถ้าคดีนั้นเกี่ยวกับการก่อการร้ายจริง เป็นการกระทำของขบวนการจริง เจ้าหน้าที่อาจจะมีเป้าหมายที่เป็นรายชื่อของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ แต่ถ้าไม่ใช่ เช่นเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วไปเชื่อมโยงถึงใครก็ไม่รู้ อาจเชื่อมโยงถึงใครที่มีอำนาจก็ไม่ดำเนินคดี คือสามารถที่จะเลือกดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีกับใครก็ได้โดยอาศัยกฎหมายพิเศษ

บางครั้งผมสงสัยมาก อย่างเช่นคดีที่ผมเคยเจอ ผลซักถามออกมาว่าคนนี้เป็นคนไปวางระเบิด คนนี้เป็นคนดูต้นทาง แบ่งหน้าที่กันทำ คนวางระเบิดถูกกันไว้เป็นพยาน แต่คนดูต้นทางถูกดำเนินคดี คุณใช้หลักเกณฑ์อะไร ในการที่จะเอาใครดำเนินคดี ใครจะไม่ถูกดำเนินคดี นี่คือตัวอย่างที่ผมพบว่ามันไม่มีมาตรฐาน ไม่มีหลักเกณฑ์ และมันถูกเลือกโดยที่มีอำนาจว่าเขาจะจัดวางใครให้อยู่ที่ส่วนไหนและจะเลือกดำเนินคดีกับใคร ผมก็เข้าใจว่าคนที่ให้ความร่วมมืออาจจะได้เกณฑ์ที่ดีกว่า แยกกันถามแยกกันซัก คนที่ไร้เดียงสาหน่อยใครที่เชื่อคำเจ้าหน้าที่อาจจะได้ ผมเข้าใจเอง แต่ผมไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ผมไม่เข้าใจในบางเรื่องว่าทำไมผู้ที่ก่อเหตุไม่ถูกดำเนินคดี

แต่ขณะเดียวกันคนที่อยู่ปลายๆ แล้วกลับถูกดำเนินคดี นี่เป็นสิ่งที่ผมตั้งข้อกังขาในการทำสำนวนวันนี้ อาจไม่ใช่การคืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา แต่คืนอำนาจสอบสวนให้พนักงานสอบสวนและคืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในคดีอาญาใน 3 จังหวัดด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท