EU มีมติให้กระชับความสัมพันธ์กับไทยภายหลังการเลือกตั้ง

คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปรับทราบรายงานเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองภายในไทยหลังเลือกตั้ง จึงมีมติให้กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ย้ำเดินหน้ารื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและไทยอีกด้วย

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา European Union in Thailand รายงานว่า วันดังกล่าว คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้รับทราบรายงานจากผู้แทนระดับสูงเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองภายในประเทศไทย หลังจากมีการเลือกตั้งขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ภายใต้บริบทนี้ และเมื่อพิจารณาถึงมติเดิมที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้ให้ความเห็นชอบไว้ในวันที่ 11 ธ.ค. 2560 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจึงพิจารณาว่า ขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วสำหรับสหภาพยุโรปที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รวมถึงความสัมพันธ์ในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และประชาธิปไตยแบบพหุนิยม โดยการเตรียมพร้อมสำหรับการลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการเดินหน้ารื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ภายหลังการรัฐประหาร 2557 สหภาพยุโรปได้มีมติระงับความร่วมมือกับไทย พร้อมทั้งแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับสู่กระบวนการด้านประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ยังถูกคุมขังทางการเมืองทั้งหมด

จนเมื่อเมื่อปีที่แล้ว ช่วง 16 - 18 ก.ค. 2561 คณะทำงานของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐสภายุโรป ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งมี  ปิแอร์ อันโตนิโอ แพนเซรี่ เป็นประธาน 

ซึ่งในครั้งนั้น แพนเซรี่ กล่าวด้วยว่า การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญหากไทยต้องการจะกลับมามีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหภาพยุโรป

“การกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และครอบคลุม คือเงื่อนไขสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยุโรป ซึ่งจะเปิดโอกาสทั้งสองประเทศกลับมาเจราจาทางการค้ากันใหม่ได้ ทั้งข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (PCA)

“รัฐสภายุโรปจะจับตาดูการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับประเมินสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสภาพการจ้างงานในอุสาหกรรมประมง และอุตหกรรมอาหารสำเร็จรูป เช่นเดียวกับปัญหาสิทธิแรงงาน โดยมุ่งความสนใจไปที่การปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานเป็นหลัก” แพนเซรี่ กล่าวในครั้งนั้น

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งเดือนมีนาคมี่ผ่านมา ยังมีข้อกังขาหลายอย่างในเรื่องของเสรีภาพและความเป็นธรรมเนื่องจากรัฐบาล คสช. ยังมีอำนาจพิเศษอยู่ขณะนั้น อีกทั้งกลไกในการเลือกนายกฯ ก็ยังให้ ส.ว.ที่มาจาก คสช. ซึ่ง 100% โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท