“คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” (3): การตรวจสำนวนยังคงจำเป็น แต่ไม่อาจก้าวก่ายดุลพินิจของผู้พิพากษา

‘ประชาไท’ รวบรวมงานเสวนา 2 งานอันเนื่องมาจากกรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตนเองในศาลจังหวัดยะลา ต่อเนื่อง 9 ตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตั้งแต่รายละเอียดของคดีจนถึงภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตอน 3 มุมมองของอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

  • พระธรรมนูญศาลยุติธรรมให้อำนาจผู้พิพากษาระดับสูงขึ้นไปสามารถทำความเห็นแย้งได้ หากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา
  • ในมุมมองของอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา การตรวจสำนวนยังมีความจำเป็น เพราะผู้พิพากษาอาวุโสมีประสบการณ์การทำงานมากกว่า สามารถให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์
  • แม้แต่ประธานศาลฎีกาก็ไม่มีสิทธิเข้าไปก้าวก่ายดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย
  • แนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ว่าผู้ยึดอำนาจสำเร็จเท่ากับเป็นรัฏฐาธิปัตย์ต้องเปลี่ยน

กรณีการยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ศาลจังหวัดยะลา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันตุลาการและข้อกังขาว่าผู้พิพากษามีอิสระเพียงใดในการพิจารณาคดี ด้วยถ้อยคำในคำแถลงการณ์ที่ว่า

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดงานเสวนาต่อกรณีนี้ 2 งานคือ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต’ ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยากรทั้งสองงานมีตั้งแต่ทนายความที่ทำคดีดังกล่าว นักสิทธิมนุษยชน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นักวิชาการด้านกฎหมาย และสื่อมวลชน

เพื่อให้ภาพที่สมบูรณ์ ครบทุกมิติ ‘ประชาไท’ จึงนำทั้งสองงานมาร้อยเรียงเป็นซีรีส์ว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ข้อเสนอเพื่อแก้ไข และความอิสระที่ว่านั้นควรอิสระเพียงใดจึงจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความอิสระเป็นพิษ

ตอนที่ 3 คือมุมมองของอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ว่าการตรวจสำนวนโดยผู้พิพากษาอาวุโสมีความจำเป็นและไม่ได้ขัดกับความอิสระของผู้พิพากษาอย่างไร ถึงกระนั้น การรักษาแนวของคำพิพากษาศาลฎีกาก็ไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และบางคำพิพากษาเธอคิดว่าควรเปลี่ยนเสียที

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

เนื่องจากอยู่ศาลมานาน 30 กว่าปี มันมีความผูกพันลึกซึ้ง พอมีข่าวที่ค่อนข้างทำให้ศาลลดระดับความน่านับถือลง ดิฉันเสียใจทุกครั้ง ครั้งนี้ก็กระทบกระเทือนใจอย่างมากที่ท่านผู้พิพากษาที่ยะลาใช้ปืนยิงตัวเอง แล้วก็มีคนมาถามความรู้สึก ถามความเห็น มันเกิดอะไรขึ้นกับวงการศาลยุติธรรม เพราะเราไม่เคยพบเคยเห็น มีแต่ว่าเราอยู่กันด้วยความสงบเรียบร้อยกันตลอด เรามีระบบระเบียบ มีกฎหมายที่เราใช้กันมา เรามีระบบอาวุโสที่เราเคารพกัน

ผู้พิพากษาเริ่มต้นชีวิตต้องเป็นไปตามอาวุโส เขาจะมีบัญชีเงินเดือนและในบัญชีเงินเดือนจะมีระดับของผู้พิพากษา ระดับที่ 1 แน่นอนคือประธานศาลฎีกาต่อมาก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงผู้ช่วยผู้พิพากษา เพราะฉะนั้นเราเคารพในระบบอาวุโส เราจึงอยู่กันมาอย่างที่คนภายนอกอาจจะไม่เข้าใจ

เสวนาทางกฎหมาย เรื่อง“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

พระธรรมนูญศาลยุติธรรมให้อำนาจทำความเห็นแย้งได้

ดิฉันสอนเรื่องระบบศาล ระบบของศาลมีกี่ชั้น มีองค์คณะเป็นอย่างไร ใครบังคับบัญชาใคร ใครจะเข้าไปแทรกแซงความอิสระของศาลได้หรือไม่ มันอยู่ในกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องศาล ตัวหลักใหญ่คือพระธรรมนูญศาลยุติธรรม โดยระบบของศาลจะมีระบบที่แตกต่างจากข้าราชการพลเรือนทั้งหลาย อย่างเรื่องที่เกิดขึ้น การที่ต้องรายงานคำพิพากษาให้ท่านอธิบดี ถามว่ามีมานานหรือยัง มีมาตั้งแต่ดิฉันเริ่มเป็นผู้พิพากษาปี 2515 เป็นระเบียบอยู่ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่เราต้องมีการรายงานให้อธิบดี เพราะในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11  ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ ซึ่งมีอยู่ 7 ข้อ แต่ขอพูดอย่างเดียว คือการนั่งพิจารณาพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้น เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ ในมาตรา 13 ของพระธรรมนูญบอกว่าอธิบดีผู้พิพากษาภาคต้องมีอำนาจตามมาตรา 11 ด้วยเพื่อให้มีอำนาจในการนำพิจารณาพิพากษาคดี

การทำงานของศาลจะมีองค์คณะ ถ้าศาลชั้นต้นองค์คณะ 2 คน ถ้าศาลอุทธรณ์ 3 คน ถ้าท่านอธิบดีผู้พิพากษาเห็นว่าคดีมีความสำคัญมาก พยานหลักฐานมีมาก เป็นที่สนใจมาก ท่านสามารถเข้ามานั่งพิจารณาพิพากษาโดยไม่มีชื่อในองค์คณะได้ตามอำนาจในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 หรือไม่เคยนั่งพิจารณาเลย แต่ก็ขอตรวจสำนวนได้ เมื่อตรวจสำนวนแล้ว ถ้าท่านไม่เห็นด้วยกับผลของคำพิพากษาท่านก็ทำความเห็นแย้งได้ ดิฉันงงอยู่เหมือนกันว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันมีความขัดแย้งระหว่างท่านอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 และท่านผู้พิพากษาเจ้าของสํานวนหรือเปล่า เพราะถ้าท่านอธิบดีมีความเห็นไม่ตรงกับเจ้าของสำนวนท่านสามารถทำความเห็นแย้งได้เลย

ท่านทั้งหลายคงจำกันได้ในคดีการชุมนุมของ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ปี 2553 ที่อดีตนายกและอดีตรองนายกให้ใช้อาวุธสงครามจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ศาลชั้นต้นคือศาลอาญาไม่รับคดีที่อัยการฟ้องและมันพ่วงกับ 157 ศาลอาญาวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องของการทำตามหน้าที่เพราะฉะนั้นจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา ท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขณะนั้น ท่านใช้อำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 คือท่านทำความเห็นแย้งว่าควรรับ ท่านสามารถทำได้โดยถูกต้องและไม่ต้องไปเถียงกับผู้พิพากษาด้วยว่าความเห็นท่านไม่ถูก ดิฉันจะไม่พูดว่าใครผิดใครถูกในเรื่องนี้ แต่จะพูดในหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติที่เราทำมาตลอด

การตรวจสำนวนยังมีความจำเป็น

มีแต่คนบอกให้เลิกเลย ไม่เอาแล้ว ไม่ให้อธิบดีศาลเข้ามาตรวจ ตัวดิฉันค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เพราะท่านอธิบดีศาลเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ท่านผ่านประสบการณ์มามาก การอำนวยความยุติธรรมนั้นผู้พิพากษาไม่ใช่จะรอบรู้หรือเก่งทุกคน คนที่ทำงานมาน้อยกว่า ความรอบรู้ ความรอบคอบยังมีน้อยกว่าคนที่มีประสบการณ์การทำคดีมานาน ดังนั้น อธิบดีท่านจะเป็นที่พึ่งในที่นี้ด้วย ที่ปรากฏมาตลอดเวลาของดิฉันที่อยู่มาก็ไม่เคยมีการกระทบกระทั่งกับท่านอธิบดีเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งเหมือนจะกระทบ แต่ปรากฏว่าเป็นที่พึ่งได้อย่างดี

คดีนั้นเป็นคดีที่เรือเดินสมุทรชนกับเรือท่องเที่ยวปรากฏว่า ตอนนั้นอาจารย์ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าคณะปฏิวัติอย่างน้อย 2 ครั้งให้เป็นตุลาการศาลทหาร อัยการเป็นอัยการศาลทหาร แล้วก็พิจารณาคดีของพลเรือนทั่วๆ ไป แต่มันมีคดีตามคำสั่งที่ออกมาจากคณะปฏิวัติว่ามีอะไรบ้างที่จะขึ้นศาลทหาร แล้วก็มีพิเศษอยู่นิดหนึ่งคือศาลยุติธรรมที่เป็นศาลทหารจะมีองค์คณะ 3 คน ปกติจะมี 2 คน และก็อุทธรณ์ ฎีกาไม่ได้จบแค่ศาลชั้นต้น คดีที่ดิฉันว่าดิฉันเป็นเจ้าของสำนวนคดี เขียนคำพิพากษาเสร็จก็ปรึกษากับท่านผู้พิพากษาด้วยกัน 3 คน เราสองคนมีความเห็นตรงกันว่าสมควรพิพากษายกฟ้อง แต่มีคนหนึ่งบอกว่าต้องลงโทษ

และคนที่มีความเห็นต่างกับเราเป็นท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ถ้าเป็นผู้พิพากษาเท่ากัน ดิฉันก็จะให้เขียนคำเห็นแย้งมาก็จบ แต่ท่านเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาและท่านก็ไม่ได้บอกว่าจะเขียนความเห็นแย้ง เรากลุ้มใจจะทำยังไงกันดี ถ้าเอาจริงๆ เสียง 2 คนออกไปได้เลย เราใช้วิธีการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ตรงตามข้อมูลศาลยุติธรรม ตรงตามวิธีพิจารณาความอาญา เราไม่ผิดเลย ดิฉันจะเขียนคำพิพากษานี้ออกไป ถ้าท่านไม่เห็นด้วยก็เขียนความเห็นแย้งออกไป

แต่คนเราทำงานอยู่ด้วยกันมันมีวิธีการที่จะทำโดยประนีประนอมไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่ท่านหัวหน้าผู้พิพากษาเป็นสุภาพบุรุษ ท่านบอกว่าท่านสมรักษ์ครับ เอาคำพิพากษานี้ไปปรึกษาท่านอธิบดีภาค 1 ท่านเห็นอย่างไรผมเห็นด้วยกับท่าน ผมเซ็นชื่อให้เลย เราก็เลยเอาคำพิพากษาไปปรึกษาท่านอธิบดี ถ้าเราไม่มีท่านอธิบดีคดีนี้ลำบากเลย นี่คือความสำคัญ อย่างหนึ่งที่เรามีผู้พิพากษาผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ เมื่อท่านฟังโดยละเอียดแล้ว ท่านบอกว่าเห็นด้วยกับท่านสมลักษณ์ ไปเรียนท่านหัวหน้าศาล จบด้วยดี

แม้แต่ประธานศาลฎีกาก็ไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายดุลพินิจผู้พิพากษา

เล่าเรื่องนี้ให้ท่านทั้งหลายฟังว่ามันยังจำเป็นเหมือนกันที่ในศาลชั้นต้นน่าจะต้องมีผู้พิพากษาผู้ใหญ่ แต่ดิฉันไม่รู้ว่าเวลาที่ท่านพูดอะไรกันตอนที่ส่งสํานวนให้อธิบดีภาค ท่านมีการเขียนแย้งอะไรมาซึ่งเป็นการบีบบังคับหรือไม่ แต่เชื่อว่าผู้พิพากษาผู้ใหญ่ทุกคนรู้ ดิฉันก็เคยเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 เคยมีความเห็นแย้งกับเจ้าของสำนวน เราก็เขียนไปว่ามีความเห็นอย่างนี้ๆ พอเขาบอกว่าเขาไม่เห็นด้วย เขายืนยันตามสำนวนของเขา เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นต้องเอาเข้าที่ประชุมใหญ่ การพิพากษาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา เอาเข้าที่ประชุมใหญ่ได้ ปรากฏว่าเจ้าของสำนวนชนะก็เขียนคำพิพากษาไปตามความเห็นของมติที่ประชุมใหญ่

ท่านเจ้าของสำนวนเดินมาขอโทษ ดิฉันบอกว่าไม่ต้องขอโทษนี่คือระบบของเรา ต้องยอมรับเมื่อที่ประชุมมีมติอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น ถ้าเจ้าของสำนวนไม่เขียนเพราะเขาไม่เห็นด้วย ก็ต้องโอนสำนวนไปให้ท่านใหม่ที่สามารถเขียนได้และทำตามมติของที่ประชุมใหญ่ มันมีทางแก้ไขได้มากมาย ก็ยังงงอยู่ว่าเรื่องนี้เกิดความเป็นปฏิปักษ์กันได้อย่างไร เพราะว่าท่านผู้พิพากษาทุกคนรู้ดีว่าแม้กระทั่งประธานศาลฎีกา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาก้าวก่ายดุลพินิจเพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนรับรอง แม้แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ก็ บัญญัติว่าการพิพากษาพิจารณาคดีเป็นอำนาจของศาลจึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็วและปราศจากอคติทั้งปวง

แล้วตัวท่านผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ท่านก็รู้ว่าไม่มีสิทธิ์เลยที่ใครจะเข้ามาก้าวก่ายในชีวิตของท่าน ถ้าท่านเห็นว่าไม่ผิดหรือเห็นว่าผิด ก็เขียนไปตามนั้น มีแต่ว่าท่านอธิบดีไม่เห็นด้วยท่านก็ทำความเห็นแย้งหรือมีการปรึกษาหารือ ท่านอาจจะเรียกไปคุยว่าท่านเห็นอย่างนี้ แต่ถ้าองค์คณะไม่เห็นด้วยก็ต้องออกไปตามองค์คณะ

แล้วถามว่าทำไมต้องส่งสำนวนไปให้ผู้พิพากษาภาคตรวจก่อนอ่าน มันมีระเบียบว่าคดีอะไรบ้างที่ต้องส่งไปให้ภาคตรวจก่อน ส่วนมากจะเป็นคดีอาญาที่มีโทษหนักและไม่มีทางที่คู่ความจะไม่รู้ว่าคดีนั้นต้องส่งภาคตรวจก่อนเพราะคดีอาญาเมื่อมีการสืบพยานเสร็จเรียบร้อยต้องอ่านคำพิพากษาภายใน 3 วันหลังจากพิจารณาเสร็จ แต่ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในกฎระเบียบที่ต้องส่งอธิบดีภาคตรวจก่อนอ่านก็ต้องเขียนได้รายงานให้คู่ความทราบ นี่เป็นหลักที่ทำมาตั้งแต่สมัยดิฉันยังเป็นผู้พิพากษา สงสัยนิดหนึ่งว่าทำไมทั้งสองท่านไม่เห็นทางแก้ ทั้งที่มันมีทางแก้ตามที่ดิฉันว่า

ข้อเสียของการตรวจสำนวน

แต่เรื่องนี้มันก็มีข้อเสีย ผู้พิพากษาจะเขียนคำพิพากษาอย่างไรต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ฟังเรื่องนอกสำนวน ครั้งหนึ่ง ดิฉันเคยเอาคำพิพากษาไปปรึกษาท่านรองอธิบดีท่านหนึ่งดูแล้วว่าเรื่องนั้นต้องยกฟ้อง ท่านก็ไม่ว่าอะไรแต่ท่านพูดขึ้นมาคำนึง ดิฉันก็งง ท่านบอกว่าแต่จำเลยคนนี้ไม่ใช่คนดีเลยนะ ทำไมเหรอในสำนวนนั้น พยานหลักฐานมันฟังไม่ได้ ส่วนเขาจะเป็นคนดีหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเขียนไม่ได้จริงๆ ที่จะเขียนลงโทษเขาเพราะพยานหลักฐานมันอ่อน

ส่วนเรื่องในชั้นสอบสวนในค่ายทหารทำไมศาลบางศาลก็รับฟัง บางศาลก็ไม่รับฟัง มันเป็นเรื่องที่สมัยดิฉันเป็นผู้พิพากษาไม่เคยรับฟังเลย ยกเว้นบางทีที่สอดคล้องกับพยานอื่นที่เป็นประจักษ์พยานแน่นหนามาก ดิฉันจะเขียนให้คำพิพากษาเลย ส่วนที่ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนนั้น เป็นคำให้การบอกเล่า ไม่ควรรับฟัง ปรากฏกับดิฉันจริงๆ สืบพยานอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นคดีลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ จำเลยร่วมคนนี้นั่งอยู่ด้วยแล้วก็ปฏิเสธมาตลอด ตอนหลังมารับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่พอมาในห้องพิจารณาเขาบอกว่าเขาไม่ได้รับสารภาพ เพราะว่าตำรวจเจ้าของสำนวนให้พวกผมวิ่งเอาหัวชนกัน ผมก็เลยรับสารภาพ มันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเรา

ถามว่าทำไมเราไม่เอาผู้พิพากษาศาลสูงมานั่งในศาลชั้นต้น ที่จริงมีมานานแล้วคือผู้พิพากษาอาวุโสก็มานั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นด้วย หลายท่านที่เป็นอดีตประธานศาลฎีกา อดีตประธานศาลอุทธรณ์ บางท่านอายุ 70 ปีแล้วท่านมานั่ง สาเหตุที่มานั่งพิจารณาเพราะมีคนที่คิดแบบนี้ แล้วผลก็ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 40 ว่าทำไมเราถึงเอาผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์สูง มีความรู้ดีไปนั่งกินนอนกินอยู่ที่บ้าน เอาท่านมาเป็นผู้พิพากษาอาวุโสสิ แต่ไม่ให้ท่านเป็นผู้บริหาร เอามาเป็นเหมือนที่ปรึกษาและอยู่ในเฉพาะศาลชั้นต้น เพราะเหมือนเราสร้างบ้านเราจำเป็นต้องมีเสาที่แข็งแรง เราคงเห็นคดีที่ขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาตกมาเยอะแยะเลย อันนี้จะมีประโยชน์มากก็เลยเกิดความคิดให้มีผู้พิพากษาอาวุโส แต่ตอนหลังรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ให้ผู้พิพากษาอาวุโสจนกระทั่งอายุ 70 ปี แล้วให้อยู่ศาลอื่นก็ได้ ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา เพราะเราขาดผู้พิพากษาศาลสูง พอเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้เป็นผู้พิพากษาได้จนอายุ 65 แล้วก็ให้เป็นผู้พิพากษาอาวุโส

เมื่อยึดอำนาจสำเร็จถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์เป็นแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ต้องเปลี่ยน

ส่วนเรื่องแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกา เรายึดถือกันมาซึ่งจะถามดิฉัน โดยส่วนตัวดิฉันก็ไม่เห็นด้วยที่จะต้องยึดแนวบรรทัดฐาน ดิฉันเคยเขียนบทความว่าแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาสามารถกลับได้หรือไม่ มันกลับได้ แต่ต้องกลับโดยเข้าไปในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ดิฉันเห็นว่าควรกลับเสียทีก็คือคำพิพากษาที่บอกว่าหัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหารเมื่อกระทำการสำเร็จถือว่าคำสั่งเป็นกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านสภา เป็นอย่างนี้มาตลอด แล้วที่ท่านอ้างนี้ท่านอาศัยอะไร เพราะมาตรา 113 การทำรัฐประหาร มันก็ทำครบองค์ประกอบคือมีความผิดฐานเป็นกบฏต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ถ้าทำการไม่สำเร็จก็ยิงเป้าเลย แต่คนทำสำเร็จเมื่อไรเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งเป็นกฎหมายไม่ต้องผ่านสภา ท่านเอามาจากไหน ยกเว้นท่านจะเขียนกฎหมายอาญา มาตรา 113/1 ให้อำนาจทำอย่างนั้นว่าผู้ใดกระทำตามมาตรา 113 หากจะทำการสำเร็จถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท