Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ปีหน้าน้ำจะท่วมอุบล อีกไหม” เป็นคำถามที่ชาวอุบลราชธานีจะยังคง ค้างคาใจต่อไป และมันจะเป็นภาพหลอนที่จะเกิดขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน

ที่ตั้งของตัวเมืองอุบลราชธานี เป็นพื้นที่รองรับน้ำจากพื้นที่ 10 จังหวัด ภาคอีสาน พื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 69,701 ตร.กม. ที่ไหลมาตามแม่น้ำชีและแม่น้ำมูน มารวมกันในอำเภอวารินชำราบ ก่อนที่จะไหลออกสู่แม่น้ำโขง และไหลไปออกทะเลที่ประเทศเวียดนาม แต่มีสภาพเป็น “คอขวด” เพราะพื้นทีริมน้ำ (พื้นที่บุ่ง - ทาม ) กลายเป็นอาคาร บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จึงปิด ขวางทางน้ำ ในขณะที่ร่องลำน้ำเดิม (มูนหลง) คือ “กุดปลาขาว” ถูกรุกล้ำจนไม่มีสภาพร่องน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ไหลออกได้ไม่สะดวกจนทำให้เกิดการอัดเอ่อของน้ำจนล้นตลิ่งเข้าหลากท่วมในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูน ดังที่เห็นอยู่

วิกฤติอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ อุบลราชธานี เริ่มส่งสัญญานมาตั้งแต่วันที่ 26 สิ่งหาคม 2562 ที่มีปริมาณน้ำจำนวนมากได้ไหลเข้าเขื่อนในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูน ซึ่งเป็นเขื่อนที่อยู่ด้านบนของตัวเมืองอุบลราชธานี ขณะที่ปริมาณน้ำในลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากนั้นแค่ไม่กี่วัน ในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เขื่อนในแม่น้ำชี ตั้งแต่เขื่อนวังยาง ในจังหวัดสารคาม เขื่อนยโสธร – พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เขื่อนธาตุน้อย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบล ได้ทำการระบายน้ำด้วยการแขวนประตูเขื่อนทั้งหมด พร้อมกับติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำออกจากเขื่อน ขณะที่ในแม่น้ำมูน เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ก็ต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเต็มที่ น้ำจากแม่น้ำสองสายหลักไหลมารวมกันที่อำเภอวารินชำราบ ก่อนถึงตัวเมืองอุบลราชธานี (M7) ประมาณ 25 กิโลเมตร เกิดเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ โดยระดับน้ำที่ M7 อยู่ที่ 109.58 ม.รทก. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 59 เซ็นติเมตร (ระดับที่ M7 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 62 อยู่ที่ 108.99 ม.รทก.) ในขณะที่เขื่อนปากมูล ที่อยู่ปลายแม่น้ำมูน ยังปิดประตูระบายน้ำสนิททั้ง 8 บาน และเป็นเพียงเขื่อนเดียวที่ทำการปิดประตูน้ำอยู่ในขณะนั้นเพื่อทำการเก็บกักน้ำ

เขื่อนปากมูล ซึ่งอยู่ปลายแม่น้ำมูน ห่างจากแม่น้ำโขงเพียง 6 กิโลเมตร นอกจากจะไม่เปิดประตูเขื่อนเพื่อช่วยระบายน้ำแล้ว น้ำที่เขื่อนปากมูลเก็บกักไว้ ยังกลายเป็นน้ำต้นทุนที่ทำให้แม่น้ำมูนมีปริมาณน้ำจำนวนมาก เมื่อมีมวลน้ำจากเขื่อนด้านบนไหลลงมาสมทบ และยังมีน้ำฝนที่ตกต่อเนื่องเป็นบริเวณกว้างจึงส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูนเพิ่มระดับสูงอย่างรวดเร็ว จนเกิดน้ำท่วมในพื้นที่รอบริมแม่น้ำมูน และพื้นที่ขยายลุกลามอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่แผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ที่มีกำหนดจะเปิดประตูระบายน้ำในวันที่ 11 กันยายน 2562 ก็ผิดพลาดจนทำให้เขื่อนปากมูล ต้องทำการเปิดประตูระบายน้ำในกลางดึกของคืนวันที่ 2 กันยายน 2562 โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้าแต่อย่างใด

วิกฤติอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่อุบลราชธานี มีสาเหตุมาจากอิทธิพลของพายุโพดุล และ คาจิกิ ที่ทำให้ฝนตกต่อเนื่องกันหลายวัน แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมอุบลราชธานี กลับมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ คือการระบายน้ำที่ท่วมอยู่ ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งอุปสรรคสำคัญของการระบายน้ำ คือ “เขื่อนปากมูลขวางกั้นแม่น้ำมูน” ไว้ จากความกว้างของแม่น้ำมูนในฤดูน้ำหลากประมาณ 400 เมตร เหลือเพียง 180 เมตร ทำให้น้ำอัดเอ่อไหลผ่านเขื่อนได้น้อย จนทำให้น้ำเอ่อหลากท่วมในพื้นที่ด้านหน้าเขื่อนปากมูล เป็นบริเวณกว้าง และท่วมขังเป็นเวลานาน

วิกฤตน้ำท่วมอุบลราชธานีปี 2562 ซึ่งระดับน้ำสูงสุดที่ M7 อยู่ที่ 10.83 เมตร สูงกว่าปี 2545 ที่ระดับน้ำอยู่ที่ 10.77 เมตร เกือบเท่ากับปี 2521 ที่ระดับน้ำอยู่ที่ 12.76 เมตร (อ้างจาก :มติชนออนไลน์ : 13 กันยายน 2562) นับว่าสูงสุดในรอบ 41 ปี แต่มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมปี 2562 ที่อาจสูงถึงหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นความเสียหายที่มากกว่าปี 2521 มหาศาล

จากเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมอุบล ปี 62 ซึ่งผู้เขียนตั้งข้อสงเกตุว่า ด้านบนเหนือตัวเมืองอุบลราชธานี มีเขื่อนจำนวน 6 เขื่อน (เขื่อนในแม่น้ำชี 3 เขื่อน ในแม่น้ำมูน 2 เขื่อน และในลำเซบาย อีก 1 เขื่อน) กลับไม่ได้ทำหน้าที่ในการชะลอ หรือยับยั้งน้ำไม่ให้ไหลลงมาสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ได้เลยแม้แต่เขื่อนเดียว แต่กลับกันเขื่อนทั้ง 6 เขื่อนนี้ ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมวลน้ำจำนวนมหาศาลขึ้น ขณะที่เขื่อนปากมูล ซึ่งอยู่ท้ายแม่น้ำมูนกลับไม่ช่วยพร่องน้ำหรือระบายน้ำเลย หนำซ้ำยังเก็บน้ำจนทำให้เกิดน้ำต้นทุนในปริมาณมาก ขณะที่ตัวเขื่อนปากมูลยังปิดกั้นทางไหลให้เล็กแคบลง จากความกว้างของทางน้ำ 400 เมตร ลดเหลือเพียง 180 เมตร มีสภาพเป็น “คอขวด” จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่มวลน้ำจำนวนมหาศาลจะสามารถไหลผ่านเขื่อนปากมูล ในช่องทางที่เล็กแคบเช่นนี้ได้

ดังนั้นคำตอบของคำถามที่ว่า “ปีหน้าน้ำจะท่วมอีกไหม” ผู้เขียนจึงเห็นว่าการควบคุมปริมาณน้ำฝน คงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ ส่วนการควบคุมปริมาณน้ำด้านบนก่อนไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ก็ยังพอมีโอกาส (เขื่อน 6 เขื่อน) แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้เป็นระบบมากกว่าที่ทำกันอยู่ ส่วนการพร่องน้ำ ระบายน้ำออกจากตัวเมืองอุบล ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้เต็มศักยภาพของแม่น้ำมูน นั้น ผมมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะการปิด – เปิดประตูเขื่อนปากมูล ไม่เคยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดไว้เลย โดยเฉพาะในปีนี้ การบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลแย่มาก

การตัดสินใจว่าจะเปิดประตูเขื่อนปากมูลเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 แต่กำหนดให้เปิดประตูเขื่อนปากมูล ในวันที่ 11 กันายน 2562 ซึ่งในวันที่ 29 สิงหาคม นั้น ระดับน้ำได้เลยเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับเปิดประตูเขื่อนปากมูลมากมาก โดยเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ อัตราการไหลของน้ำที่ M7 อยู่ที่ 500 ลบ.ม./วินาที หรือระดับน้ำแม่น้ำโขง ที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคามอยู่ที่ 95 ม.รทก. ในวันที่ 29 สิงหาคม 2562  อัตราการไหลของน้ำที่ M7 อยู่ที่ 804 ลบ.ม./วินาที และระดับน้ำที่ห้วยสะคามอยู่ที่ 99.45 ม.รทก. ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดมาก และต่อมาระดับน้ำได้สูงขึ้นมาก จนการไฟฟ้า ฯ ได้แอบเปิดประตูเขื่อนปากมูลในกลางดึกของคืนวันที่ 1 กันยายน 2562 ซึ่งบ่งชี้ว่า เป็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำ อย่างชัดเจน และความผิดพลาดนี้ได้นำมาสู่วิกฤตน้ำท่วมใหญ่อุบลราชธานี ดังที่เห็นกันอยู่ ผมจึงเห็นว่า การ “รื้อเขื่อนปากมูล” ที่มีสถาพเป็น “คอขวด” เล็กแคบ เป็นเสมือนประตูบายสุดท้ายสู่แม่น้ำโขง ต้องเปิดทางน้ำให้กว้างขึ้น เท่านั้น จึงน่าจะเป็นหลักประกันได้ว่า โอกาสที่น้ำจะท่วมเมืองอุบลในอนาคต จะน้อยลง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net