เจตนา: ตัวชี้วัดจริยธรรมที่ใช้ไม่ได้จริง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เจตนาเป็นมาตรวัดสำคัญในการตัดสินคนในสังคมที่เชิดชูคุณธรรม ทั้งที่เจตนาเป็นนามธรรมที่พิสูจน์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการกล่าวอ้างและตีความ ศาสนาพุทธเป็นหนึ่งในแหล่งที่มาของการอ้างอิงเจตนา สิ่งนี้นำไปสู่การตราหน้าฝ่ายตรงข้ามว่าเจตนาร้าย และปกป้องฝ่ายเดียวกันว่าเจตนาดี จนทำให้สังคมไทยละเลยที่จะพัฒนาเครื่องมือชี้วัดที่เป็นรูปธรรมอย่างอื่นขึ้นมา เช่น กฏหมายเรื่องสิทธิ เป็นต้น

เจตนา: คำที่เอาไว้ด่าฝ่ายตรงกันข้าม

นักวิชาการด้านสันติศึกษาและสอนวิปัสสนาท่านหนึ่งกล่าวว่า “พวกนักวิชาการ ที่คิดแต่จะหาข้อด้อยของคนอื่นเพื่อเอามาเขียนงาน วิพากษ์ประเทศชาติหรือศาสนาโดยไม่เคารพ คนพวกนี้มีเจตนาร้าย พวกเขาไม่มีทางมีความสุขหรือสันติในใจได้หรอก” หรือการวิจารณ์คนฆ่าตัวตายว่า “เพราะถูกโทสะและโมหะครอบงำ เจตนาร้ายที่จะจบชีวิตตัวเองย่อมพาเขาไปนรก” จะเห็นว่า การอ้างเจตนาเพื่อตัดสินว่าคนอื่นผิด เป็นเรื่องที่พบจนเป็นปกติของสังคมไทย

“ดูก่อนภิกษุ เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” เป็นคำสุดคลาสสิกที่ชาวพุทธชอบยกมาใช้ โดยที่ประโยคนี้สื่อนัยถึงคุณธรรมแบบปัจเจก เช่น เมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข เราก็มีจิตอนุโมทนา เจตนาที่ดีนี้ก่อให้เกิดกรรมดีที่เป็นกุศล ทำให้ผู้นั้นบ่มเพาะเมตตา ไม่อิจฉาริษยา นี่เป็นคุณธรรมด้านในที่ศาสนาสอน

แต่โลกของความเป็นจริงมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ถ้าแดงโกหกแม่ว่าผลตรวจสุขภาพระบุว่า แม่สุขภาพดี ทั้งที่ความจริงคือ แม่จะตายในอีก 3 เดือน เจตนาดีของแดงจะถูกตั้งคำถามว่าขัดกับคุณธรรมหรือไม่ ? นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องทั่วไป ที่คนสามารถตีความว่าดีหรือไม่ดีก็ได้

เช่น นศ.ที่วาดรูปพระพุทธเจ้าอุลตร้าแมน ขณะที่เธอยืนยันว่า เจตนาเธอคือการมองพระพุทธเจ้าว่าเป็นวีรบุรุษผู้มาช่วยโลก เธอเคารพพระพุทธเจ้าในจินตนาการแบบนี้ ซึ่งเป็นเจตนาที่ดี อีกฝ่ายก็มองว่า เธอเจตนาร้าย ตั้งใจจะลบหลู่และทำลายศาสนาพุทธ ประเด็นคือ เราไม่สามารถทราบได้ว่า เจตนาแบบไหนจริงหรือปลอม การจะอ้างว่า “กรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา” ก็ใช้พิสูจน์ไม่ได้จริงเพราะนั่นเป็นนามธรรม ที่ขึ้นอยู่กับการตีความ

ในวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ไม่เพียงแต่ระบบยุติธรรมทำงานล่าช้าหรือปล่อยให้เกิดการทำร้ายร่างกาย/จิตใจผู้ต้องหาแล้ว การตัดสินของคนยังถูกมายาคติเรื่องเจตนาและบุญบารมีเป็นตัวหนุนด้วย หาก ก. แชร์ข้อความที่เป็นการให้ข้อมูล ถ้าเขาเคยร่วมชุมนุมประท้วงเป็นต้น ก็จะถูกตัดสินว่า เขามีเจตนาร้าย ในขณะที่คนอื่นๆ ซึ่งแชร์ข้อความเดียวกัน แต่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม เขาก็ถูกตัดสินว่ามีเจตนาดีหรือกลางๆ นั่นคือ เมื่อต้องเอาเจตนาเป็นเครื่องวัดความผิดของคนหนึ่ง ก็เท่ากับใช้เจตนาเป็นตัวปล่อยให้อีกคนไม่ต้องรับผิด

แม้พุทธจะเน้นเจตนา แต่ก็ไม่ให้ทำร้ายเหยื่อ

เจตนาเป็นนามธรรมที่พิสูจน์ให้สาธารณะยอมรับไม่ได้ ตัวอย่างนี้มีมาตั้งแต่พุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตัดสินคดีความ ก็จะถามเจตนา เช่น เมื่อพระถูกผู้หญิงข่มขืน (อาบัติปาราชิกจะวัดกันที่มีเจตนา/ความยินดี ปาราชิกเป็นอาบัติหนัก ที่พระทำแล้วต้องขาดจากความเป็นพระ) ท่านจะถามว่า ดูก่อนภิกษุ เธอมีเจตนา/กำหนัดหรือไม่? หากพระตอบว่า “มี” ก็จะตัดสินว่า “เธอปาราชิกแล้ว” แต่หากตอบว่า “ไม่มี” ก็จะตัดสินว่า “เธอยังไม่ปาราชิก”

นั่นหมายความว่า เราไม่มีทางทราบได้เลยว่าพระนั้นโกหกหรือไม่ (ใครจะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูรู้ใจคนก็ได้ แต่อย่างน้อย ท่านก็ไม่เคยตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ เรารู้ว่าเธอโกหก จงสารภาพเสียใหม่เถิด”) ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนว่า วิธีวัดความผิดที่อิงอยู่กับเจตนาเป็นเครื่องมือที่ด้อยประสิทธิภาพมาก 

กล่าวได้เช่นกันว่า ปาราชิกจะเกิดก็ต่อเมื่อคนนั้นยอมรับว่าตนทำผิด ตราบใดที่เขายังยืนยันเจตนาว่าบริสุทธิ์ (หรือไม่มีเจตนา) ก็ปรับอาบัติปาราชิกกับเขาไม่ได้ แม้จะมีกล้องวงจรปิดจับได้ว่า เขาเด้งสะเอวรับการกระแทกของอีกฝ่าย หรือส่งเสียงครวญครางอย่างมีความสุข เพราะเขาสามารถอ้างได้ว่า ขณะนั้นเขาไม่มีสติ เหมือนถูกผีเข้าสิง หลักเจตนาไม่สามารถเอาผิดเขาได้เลย เพราะไม่มีเครื่องมือที่เป็นรูปธรรม 

เราอาจเชื่อว่า ท่านโกหกผู้อื่นได้ แต่เจตนาที่ท่านมีจะทำให้ท่านปาราชิกไปอย่างอัตโนมัติแล้ว ซึ่งไม่จริง เพราะการเป็นพระ เป็นเพียงสมมติที่คณะสงฆ์รับรอง ไม่ใช่ดวงวิญญาณพระจะบินมาเข้าสิงเมื่อสวดญัตติ และจะบินออกไปเมื่อคนทำปาราชิกหรือสึก เมื่อสงฆ์ไม่สามารถเอาผิดเขาได้ เพราะเขายืนยันเจตนาว่าบริสุทธิ์ สงฆ์ก็ไม่สามารถทำให้เขาพ้นจากความเป็นพระ (ที่สมมติกัน) ได้ ป.ล. มีคำพูดติดสนุกแต่ซีเรียส์ในวงการพระว่า “หากไม่อยากปาราชิก ก็แค่อย่ายอมรับ”

เพราะความที่เจตนาเป็นสิ่งพิสูจน์ยาก การวินิจฉัยเช่นในคัมภีร์ สมันตปาสาทิกา จึงมีกรณีตัวอย่างเยอะมาก แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้พระรูปนั้นจะมีแววว่าปาราชิก ก็อย่าเพิ่งตัดสินให้ท่านปาราชิก แนะนำให้ท่านไปหาเสนาสนะที่สงัดและปฏิบัติธรรม เพราะการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นของยาก จึงไม่ควรตัดโอกาสในการเติบโตทางธรรมของคน (เพราะหากตัดสินว่าปาราชิก พระจะเชื่อกันว่าปฏิบัติธรรมให้บรรลุไม่ได้แล้ว) ถ้าท่านปฏิบัติก้าวหน้าก็ดีไป แต่หากปฏิบัติไม่ได้ผล ก็เท่ากับท่านปาราชิกแล้ว (วินัยปิฎกและอรรถกถา ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า หน้า 763)

การวินิจฉัยเช่นนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับจำเลยอย่างมาก ตรงที่ยอมรับว่า ผู้ตัดสินไม่สามารถทราบเจตนาของเขา จึงต้องปล่อยให้เขาพิสูจน์ด้วยตัวเอง ผมเชื่อว่า ปาราชิกไม่มีผลกับการปฏิบัติธรรม (ตามทฤษฎี ความเป็นพระมีได้เพราะสมมติ ไม่ใช่วิญญาณพระมาเข้าสิง) แน่นอนว่า หากคนกลัวจนกลายเป็นปมในใจ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติจริง แต่การที่พระวินัยธรไม่เร่งตัดสินว่าปาราชิก อาจเป็นการเปิดโอกาสให้เขาในแบบที่ผมว่าก็ได้

โลกยุคใหม่ควรมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เลียนแบบศาสนา

เหตุที่ศาสนาพุทธเน้นเรื่องเจตนาเช่นนั้น อาจเพราะ 1) ศาสนาพุทธเองเก่าแก่มาก ในยุคนั้นจึงไม่มีเครื่องมือที่ดีกว่านี้ 2) เพราะศาสนาหรือคุณธรรมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ที่ถือว่าใครทำกรรมเช่นไรก็รับกรรมเช่นนั้นเอา คนอื่นไม่ได้มีหน้าที่มาจับผิดหรือเอาใครไปลงโทษ (นี่คือความต่างระหว่างทางโลกและทางธรรม) แน่นอนว่า คณะสงฆ์เองจำต้องมีกฏในการอยู่ร่วมกันเพื่อรักษาอัตลักษณ์ คำสอนจึงมุ่งไปที่การหนุนการปฏิบัติของกันและกัน จะใส่ใจเรื่องกฏหมาย เศรษฐกิจ หรือการเมืองน้อยมาก (ส่วนใหญ่ก็มาจากการตีความของคนรุ่นหลัง) แต่ข้อดีของพุทธอย่างหนึ่งคือ ในเมื่อพิสูจน์ให้ชัดไม่ได้ก็ไม่ลงโทษเหยื่อ ซึ่งต่างกับสังคมไทยปัจจุบัน ที่ใช้หลักพุทธในการอ้างเจตนามาจัดการคนคิดต่าง

กรณีเรื่องพระพุทธรูปอุลตร้าแมน เรากลับมาเถียงกันว่า ผู้วาดมีเจตนาดีหรือเจตนาร้าย จนนำไปสู่การด่าทอ เชื่อมโยงว่าเป็นพวกต่างศาสนาตั้งใจมาทำลายพุทธเป็นต้น และแน่นอนว่า หากเรื่องนี้ได้รับการพิจารณาในศาล เจตนาก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ถูกพิจารณา 

ทั้งที่เราควรหันมาตกลงในสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนกันดีกว่าว่า “มนุษย์ควรมีสิทธิที่จะแสดงออกในสิ่งที่ตนเชื่อหรือไม่?” ศาสนาควรถูกรัฐคุ้มครอง ด้วยการกำหนดให้มีการตีความแบบเดียว และลงโทษคนที่คิดต่างไปจากสิ่งที่สถาบันสงฆ์ของรัฐนั้นรับรองหรือไม่? เช่น การที่นักวิชาการตะวันตกเสนอว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตรไม่ได้เป็นเทศนากัณฑ์แรก” “บาลีเป็นภาษาที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อสร้างความเป็นเถรวาท ไม่ใช่ภาษาที่พระพุทธเจ้าพูด” เขาควรถูกจับตัวหรือถูกห้ามเข้าประเทศไทยหรือไม่? 

สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอ้างเจตนา เพราะเจตนาเป็นนามธรรม และหากจะยึดนามธรรมเช่นนี้ เผด็จการก็สามารถตีความเจตนาเพื่อลงโทษฝ่ายที่ตนไม่เห็นด้วยจนได้ แต่ควรตกลงกันว่า เขามีสิทธิวาดภาพที่เราไม่เคยเห็นไหม? ถ้าสิ่งนั้นกระทบต่อความรู้สึกเรา (แต่ไม่กระทบความรู้สึกอีกหลายคน) เขาต้องรับโทษไหม? หรือกรณีที่นายดำไม่พอใจทุกวัดที่มีพระพุทธรูป (เพราะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นภายหลังโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตพระพุทธเจ้า) นายดำ (ในฐานะที่อ้างว่าเป็นพุทธแท้) มีสิทธิฟ้องร้องทุกวัดไหม? 

การมาตกลงเรื่องกฏหมายเสรีภาพว่ามีขอบเขตแค่ไหน เช่นเดียวกับ Free Speech ที่เราสามารถวิจารณ์ผู้อื่นได้แค่ไหน ศึกษาประวัติศาสตร์แล้วเขียนงานออกมาได้แค่ไหนจึงจะเรียกว่าละเมิดจนต้องถูกลงโทษ ต่อให้สังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องเสรีภาพหรือเพดานของ Free Speech เป็นต้น แต่การหันมาถกเรื่องพวกนี้อย่างเป็นรูปธรรม และเขียนออกมาเป็นกฏหมายให้ชัด ดีกว่าการส่งเสริมให้ใช้ “เจตนา” ในการด่าคนและเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้องคดีความ เพราะแม้จะไม่ได้เพดานเสรีภาพที่สูงเสียทีเดียว แต่ก็พัฒนาไปตามยุคได้ และจะไม่มีคนตกเป็นเหยื่ออย่างไม่เป็นธรรม

 

ภาพประกอบโดย: พัทธ์ธีรา  นาคอุไรรัตน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท