สื่อไร้พรมแดนจวก 'รายงานสิทธิมนุษยชน' ครบรอบ 70 ปีจีน ปิดบังความจริง

ก่อนหน้าวันครบรอบ 70 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของรัฐได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในจีน ไม่พูดถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และการปฏิวัติวัฒนธรรมแต่อย่างใด องค์กรสื่อระดับนานาชาติตอบโต้ว่าเป็นแค่ "ควันพรางตา" เพื่อปกปิดความเลวร้ายด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อในประเทศตัวเอง

ธงชาติจีน (ที่มา:publicdomaipictures.net)

รายงานของจีนที่ชื่อว่า "แสวงหาความสุขสำหรับประชาชน 70 ปีแห่งความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในจีน" ออกมาเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 2562 ก่อนหน้าการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานฉบับดังกล่าวนี้ระบุนิยามสิทธิมนุษยชนว่าหมายถึงการที่คนจะมีความสุขและการพัฒนา ขณะที่นิยามจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งออกมาในปี 2491 ไม่ได้มีพื้นฐานเน้นในสองเรื่องนี้ แต่เป็นไปเพื่อยืนยันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 และความรุนแรงในเหตุการณ์ที่คนจีนเข่นฆ่ากันเองในเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมภายใต้รัฐบาลเหมาเจ๋อตุงในช่วงปี 2509-2519 ไว้เลย

มีการวิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบรายงานฉบับนี้จากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ซึ่งเป็นองค์กรด้านเสรีภาพสื่อนานาชาติ พวกเขาระบุว่ารายงานของจีนเป็นแค่ "ควันพรางตา (Smokescreen)" เพื่อปกปิดประวัติเลวร้ายของด้านเสรีภาพสื่อและด้านสิทธิมนุษยชนของจีนเอง

รัฐบาลจีนเสนอในรายงานว่าพวกเขาได้ "พัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน" โดยอ้างอิงถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการลดความยากจน สื่อซินหัวของรัฐบาลจีนระบุถึงเรื่องนี้ว่า "ในช่วง 7 ทศวรรษที่ผ่านมา ชาติจีนได้ยืนหยัดและเติบโตอย่างมั่งคั่ง และกลายเป็นประเทศเข้มแข็ง สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้รับการเคารพและคุ้มครอง นอกจากนี้จีนยังได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของนานาชาติด้วย"

ในรายงานของจีนยังอ้างอีกว่าในยุคใหม่ที่จะมาถึงจีนจะ "ยังคงรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม สื่อสารและเรียนรู้จากอารยธรรมอื่นๆ และทำงานร่วมกับประชาคมโลกเพื่อการพัฒนาและความเฟื่องฟู"

แต่ทว่าเรื่องที่ทางการจีนกล่าวอ้างในรายงานสิทธิมนุษยชนนี้ก็ขัดกับสิ่งที่พวกเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติมาโดยตลอด เช่น ในเรื่องชนกลุ่มน้อยทางการจีนระบุว่าพวกเขาให้การคุ้มครองชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติเป็นอย่างดีโดยอ้างจากตัวเลขจีดีพีในพื้นที่มองโกเลียตอนใน กวางสี ทิเบต หนิงเซีย และซินเจียง เสรีภาพในการใช้ภาษาถิ่น ไปจนถึงอัตราการเข้าถึงการศึกษา และไม่ได้พูดถึงประเด็นที่ถูกวิจารณ์ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบตและซินเจียง

เซดริค อัลวิอานี หัวหน้าสำนักงานเอเชียตะวันออกขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเรียกร้องให้ประชาคมโลกอย่าได้หลงเชื่อรายงานของจีน โดยบอกว่ารายงานของจีนนั้นเป็น "ข้อเขียนที่จงใจทำให้คนไขว้เขวเกี่ยวกับพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนตามแบบที่นิยามไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งจีนที่เป็นหนึ่งในประเทศลงนามให้สัตยาบันทำการละเมิดอยู่ทุกวัน"

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุในแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของจีนว่า "จีนเป็นคุกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับนักข่าว มีผู้ต้องขัง (ที่เป็นนักข่าว) อย่างน้อย 115 ราย ที่มีโอกาสจะประสบชะตากรรมเดียวกันกับผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหลิวเสี่ยวโปและบล็อกเกอร์หยางถงเยี่ยน ทั้งคู่เสียชีวิตในปี 2560 จากโรคมะเร็งที่ไม่ได้รับการรักษาขณะอยู่ในเรือนจำ นอกจากนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 850 ล้านรายที่ถูกกีดกันออกจากชุมชนนานาชาติจากระบบเซนเซอร์และการสอดแนมทางเทคโนโลยีซึ่งจะจำกัดความสามารถของพวกเขาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างอิสระ"

นอกจากผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนแล้ว ผู้ใช้ทวิตเตอร์ยังตั้งข้อสังเกตว่ารายงานของจีนละเลยเรื่องความทุกข์ร้อนของประชาชนในประเทศตัวเองรวมถึงหายนะอย่างเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 มีหลายคนล้อเลียนเสียดสีการโฆษณาชวนเชื่อของทางการจีนด้วยการโพสต์มีมตัวละครวินนี่เดอะพูห์ ซึ่งเป็นตัวละครที่ถูกเซนเซอร์หลังจากที่มีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นว่าสีจิ้นผิงดูคล้ายหมีพูห์ในรูปที่เขาถ่ายร่วมกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา

ในเว่ยป๋อ (Weibo) เว็บโซเชียลมีเดียของจีน ที่มีการกำกับเซนเซอร์อย่างหนักจากทางการจีน มีผู้ใช้งานพากันโพสต์แสดงการสนับสนุนรายงานสิทธิมนุษยชนของจีน เช่น อ้างว่า "อารยธรรมจีนและค่านิยมตะวันตกเป็นแนวคิด 2 แนวคิดที่แยกจากกัน และนิยามสิทธิมนุษยชนก็แตกต่างกันด้วย" บ้างก็อ้างว่า "ประชาชนจีนเท่านั้นที่มีสิทธิพูดถึงสิทธิมนุษยชนในจีน"

สื่อโกลบอลวอยซ์ก็รายงานว่าโซเชียลมีเดียของจีนที่มีลักษณะการกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดนั้นเป็นเสมือน "ฟ้องเสียงสะท้อน" ที่เต็มไปด้วยความเห็นแบบเดียวกันไม่มีการอภิปราย มีแต่การยกย่องว่าระบบการเมืองและเศรษฐกิจของจีนเท่านั้นที่ดีเลิศล้ำหน้ากว่าที่อื่นๆ ของโลก รวมถึงพยายามกระจายโฆษณาชวนเชื่อว่าจีนเป็น "ประเทศเข้มแข็ง" สู่สายตาชาวโลก

มีนักเขียนการ์ตูนการเมืองที่รู้สึกไม่พอใจการสร้างภาพลักษณ์เหมือน "โรยด้วยกลีบกุหลาบ" จากพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เขามองว่าขัดกับสภาพความเป็นจริง เขาเขียนการ์ตูนเสียดสีเปรียบเทียบโฆษณาชวนเชื่อของทางการจีนเปรียบเสมือนยาเสพติดที่บีบบังคับให้ประชาชนของตัวเองต้องเสพย์เข้าไป

เรียบเรียงจาก

Press freedom watchdog dismisses China’s '70 Years of Progress on Human Rights’ as ‘smokescreen’, Global Voices, Sep. 29, 2019

For its 70th anniversary, the Chinese regime masquerades as a champion of human rights, Reporters Without Borders, Sep. 26, 2019

Full Text: Seeking Happiness for People: 70 Years of Progress on Human Rights in China, Xinhua, Sep. 22, 2019

China issues white paper on human rights progress over 70 years, Xinhua, Sep. 22, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท