‘Damage Joy’ ละครที่ทดสอบว่าคุณตลกบนความเจ็บปวดคนอื่นได้แค่ไหน จุดเริ่มต้นจากพฤษภา 53

 

‘Damage Joy’ ละครเวทีเปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ว่าด้วยเรื่องของตัวตลกในโลกพิลึกที่พยายามเอ็นเตอร์เทนผู้ชมด้วยความตลกที่เพิ่มขึ้นจนนำไปสู่ความรุนแรงที่คุณอาจอยากให้มันหยุดลง คุยกับ นานา เดกิ้น ถึงที่มา จากความรุนแรงช่วงพฤษภา 53 ที่ทำให้เธอตั้งคำถามว่าความรุนแรงของมนุษย์ต่อมนุษย์ในช่วงนั้นมีที่มาจากอะไร

 


ภาพจาก Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

หนึ่งชั่วโมงกับการดูละคร ‘Damage Joy’ ละครที่รุนแรงเหลือเกินในแง่กายภาพ จนทำให้เรามีคำถามว่า “เขาทำไปทำไม”

 

1.

เราออกมาจากโรงละครด้วยความรู้สึกปนเปกันไปหมด ความเจ็บปวดและเหน็ดเหนื่อยของนักแสดง ความทุกข์และความสนุกสนานของผู้ชม ช่วงเวลาที่หลายคนอาจมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ แล้วฉับพลัน ปราศจากการไต่ระดับอารมณ์ ใบหน้าผู้ชมอีกหลายคนก็แปรเปลี่ยนเป็นการขมวดคิ้ว กระหึ่มกันโบกธงสีแดงในมือที่เขียนคำว่า Stop ให้การแสดงนั้นหยุดลง เป็นประสบการณ์ชมละครแบบที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วม

Damage Joy คือหนึ่งในการแสดงของการประชุมนานาชาติทางศิลปะการแสดงแห่งกรุงเทพฯ หรือ Bangkok International Performing Arts Meeting ย่อสั้นๆว่า BIPAM ซึ่งครั้งนี้มาในธีม Eyes Open มีตั้งแต่วันที่ 16-20 ต.ค. นี้ การแสดงชุดนี้กำกับโดย นานา เดกิ้น จาก B-Floor Theatre นักแสดง 4 คน ได้แก่ สุมณฑา สวนผลรัตน์, ณัฐพล คุ้มเมธา (ธา เบบี้ไมม์), วิทุรา อัมระนันทน์ และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 


ภาพจาก Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ไร้บทพูด แต่สิ่งที่ละครมีตลอดเวลาคือเสียงหัวเราะ เสียงตะโกน เสียงกรีดร้อง และการกระโดดโลดเต้นเคลื่อนไหวเกือบไม่หยุดนิ่งของ 4 ตัวตลกในโลกอันเพี้ยนพิลึกไร้ตรรกะเหตุผล เริ่มจากการเต้น ละเล่น หยอกล้อ ฉับพลันก็เพิ่มระดับความรุนแรง นักแสดงยอมเจ็บตัว เพื่อท้าทายมโนสำนึกของผู้ชม

เงื่อนไขของการชมละครเรื่องนี้คือ หากอยากให้สถานการณ์ตรงหน้าหยุด ก็จงโบกธงสีแดงที่เขียนว่า Stop ซึ่งแจกให้แก่ผู้ชมทุกคน เหตุการณ์นั้นจะหยุดก็ต่อเมื่อผู้ชม 100% ในห้อง โบกธงพร้อมกัน ซึ่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้น (ในการแสดงรอบนั้น) ยากฉิบที่จะเป็นไปได้ ผู้ชมบางคนร้องตะโกนว่า ใครไม่โบกธง พร้อมหน้านิ่วคิ้วขมวด

อินในอิน แต่ถ้าไม่ 100% ก็หยุดไม่ได้ เราพอเข้าใจว่าละครต้องการทดสอบผู้ชมเกี่ยวกับเรื่องการใช้ความรุนแรง แต่การทุ่มเทร่างกายของนักแสดงขนาดนี้ มันมีเหตุผลเบื้องหลังมากไปกว่านี้หรือไม่ เราจึงชวนนานา ผู้กำกับคุยถึงประเด็นนี้เพื่อเข้าใจถึงเรื่องนี้ในมุมของคนสร้างละคร

 

2.


นานา เดกิ้น

 

“ละครเรื่องนี้แสดงครั้งแรกปี 2011 หลังเหตุการณ์ที่สี่แยกราชประสงค์เดือนพฤษภาปี 2010 เรารู้สึกความรุนแรงอยู่ในบ้านเมืองเราค่อนข้างสูง จำได้ว่าเพื่อนๆ คนที่อยู่รอบตัวเราจะรู้สึกหงุดหงิดกับคนที่กำลังประท้วง เพราะทำให้การเดินทางไม่สะดวก และความหงุดหงิดนี้นำไปสู่คำพูดว่า ‘อยากให้พวกมันตาย’ จำไม่ได้ว่าใครพูด แต่จำความรู้สึกได้คือ ตกใจ มนุษย์สามารถพูดแบบนี้ต่อมนุษย์ได้ เรารู้สึกว่ามันแรงมาก ทำให้เราสงสัยว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง ความรู้สึกว่าเราพร้อมจะรุนแรงต่ออีกคนหนึ่ง มันเริ่มต้นจากอะไร” นานาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของละครให้เราฟัง

สำหรับนานา เธอไม่ค่อยขำกับตลกตีหัว หรือตลกใช้ความรุนแรง ซึ่งในภาษาเยอรมันมีคำเฉพาะว่า Schadenfreude แปลออกมาคือ Damage Joy ซึ่งเธอเลือกมาใช้เป็นชื่อการแสดง การแสดงชุดนี้เธอพยายามสร้างโลกที่คนดูคุ้นเคย คือโลกของตัวตลก ให้ความบันเทิงกับคนอื่น แต่หลังจากนั้นหากความบันเทิงนี้ควบคู่ไปกับความรุนแรง ปฏิกิริยาของผู้ชมจะเป็นอย่างไร จะมีคำถามอย่างไร จุดไหนที่ผู้ชมจะรู้สึกสนุก และจุดไหนที่ผู้ชมจะรู้สึกว่าพอแล้ว นี่คือสิ่งที่เธอตั้งคำถาม

เราถามเธอกลับว่า ถ้าหากเธอไม่ชอบตลกแบบใช้ความรุนแรง แล้วการเป็นผู้กำกับที่กำกับละครที่ทั้งตลกและใช้ความรุนแรงแบบนี้เธอชอบไหม นานาหัวเราะก่อนตอบว่า เธอคิดว่าตลกเจ็บตัวแบบนี้ สเต็ปแรกเป็นเหมือนสันดานของมนุษย์ที่จะขำทั้งที่รู้ว่าอีกคนเจ็บปวด และสเต็ปต่อมาเราจะเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ควรเกิดขึ้น เราไม่ควรหัวเราะกับอะไรแบบนี้ ซึ่งเธอมองว่าสามารถเป็นไปได้ทั้งสองแบบ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะคาดหวังให้ทุกคนหยุดขำกับความเจ็บปวดของคนอื่น ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้ชมแต่ละคนจะได้สังเกตตัวเอง

 


ภาพจาก Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

“การรู้ตัวก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ บางครั้งเราเห็นนักแสดงตีกัน แล้วเรารู้สึกแย่มากในฐานะผู้กำกับ ในฐานะคนที่สร้างงานนี้ึขึ้นมา แต่สิ่งที่ช่วยเราคือ เราตอบตัวเองได้ว่านี่เป็นสิ่งที่เราได้รับ consent (ความยินยอม) จากนักแสดงแล้ว นี่คือการแสดง และทุกคนให้ความร่วมมือในการสร้างบรรยากาศให้คนดูได้คิดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่บางครั้งเราก็รู้สึกผิดอยู่ดี” นานากล่าว

ส่วนเรื่องกระแสตอบรับ นานายอมรับว่าในฐานะคนสร้างงานก็หวังให้ทุกคนชอบ แต่เธอเคารพความรู้สึกของคนดู มีเพื่อนของเธอคนหนึ่งเขียนรีวิวว่า “รักนักแสดงทุกคน แต่เกลียดผู้กำกับ” ซึ่งเธอเข้าใจความรู้สึกนี้ เพราะผู้ชมดูแล้วอาจจะรู้สึกว่าไม่แฟร์กับนักแสดง

“คนจะชอบไม่ชอบการแสดงนี้เป็นสิทธิของเขา เป็นรสนิยม แต่สิ่งสำคัญคือเราได้สร้างโอกาสให้คนกลุ่มหนึ่งเข้ามาอยู่ในพื้นที่และเวลาเดียวกัน ได้อยู่ในประสบการณ์ร่วมกัน ทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองและกับคนอื่น ซึ่งนี่เป็นโอกาสพิเศษที่เราจะได้อยู่ร่วมกันจริงๆ” นานากล่าวทิ้งท้าย

 

3.

-สปอยล์เนื้อหา-

วริศ ลิขิตอนุสรณ์ นักเขียนและนักวิจารณ์งานศิลปะ ได้เขียนรีวิวเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ในเฟสบุ๊คของเขา โดยกล่าวถึงเนื้อหาการแสดงตอนหนึ่งว่า 

"พูดถึงสิ่งที่สนใจที่สุดตรงนี้

เราสนใจเก้าอี้ลายเสือที่ตัวละครกลัวเหมือนมันเป็นเสือจริงๆ ตรงนี้คนดูไม่รู้สึกว่ามันเป็นการ bully ทรมาน หรือทนไม่ไหวอะไรเลย พวกเราไม่สามารถรู้สึกกลัวกับเก้าอี้ลายเสือได้ จึงยอมให้ตัวละครแกล้งกันด้วยเก้าอี้ตัวนั้นไปเรื่อยๆ และเราค่อนข้างสนุกสนาน

นี่น่าจะเป็นส่วนเดียวที่ต่างกับส่วนอื่นๆ ที่มีคนยกธงเพราะนึกออกว่าความเจ็บปวดที่ตัวละครเจอน่าจะเจ็บปวดจริงๆ

แต่สำหรับตัวละครเหล่านั้นในโลกของเรื่องเล่า ดูเหมือนว่าเก้าอี้ตัวนั้นจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวเหมือนเสือจริงๆ คำถามที่เกิดขึ้นในใจเราคือ นี่หรือเปล่า ที่แท้จริงแล้วคือการ bully หรือการอยาก/ปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้น

มันไม่ใช่ความทรมานหรือความรุนแรงที่เรารู้อยู่ว่ามันรุนแรง แต่เราไม่รู้เลยต่างหากว่ามันรุนแรง เราจินตนาการไม่ได้ถึงความเจ็บปวดที่ไม่ใช่ของเรา และเราจึงเฉยๆ ไปจนถึงยินดีที่มันเกิดขึ้น

Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจ แท้จริงแล้วมันมากกว่าการรับรู้ถึงความเจ็บปวดเท่าที่เรามีได้ แต่มันเป็นความสามารถที่จะจินตนาการถึงความเจ็บปวดแบบที่เราไม่อาจมีได้ด้วยซ้ำหรือไม่

นั่นคือนักเรียนที่รู้สึกถึงความกดดันแบบครู ครูที่จำได้ถึงความกดดันแบบนักเรียน คือคนรวยที่เจ็บปวดแบบคนจน คนจนที่เจ็บปวดแบบคนรวย ผู้ชายที่จินตนาการถึงการคลอดลูก ผู้หญิงที่จินตนาการถึงซิปหนีบจู๋ สิ่งเหล่านี้ดูเป็นไม่ได้ แต่ความพยายามที่จะไปถึงมัน ล้วนสร้างความเคลื่อนไหว แต่จะเป็นความเคลื่อนไหวแบบไหน ส่งผลดีต่อใคร ยากที่จะจินตนาการ"

 

Damage Joy จัดขึ้นในวันที่ 16 - 20 ตุลาคมนี้ สถานที่ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถหาซื้อบัตรได้ที่ https://www.bipam.org/tickets-and-bipam-pass

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท