Skip to main content
sharethis

3 อนาคตใหม่ อภิปราย พ.ร.บ.งบฯ ชี้เหมือนโยนของเหลือจากคนรวยสู่คนส่วนใหญ่ ระบุ 4 ปัญหาใหญ่คู่สังคมไทยสร้าง "สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร" เจียดงบกลาง 3 หมื่นล้าน "ปฐมพยาบาลการศึกษาไทย" 5 แผลใหญ่ต้องดูแล - 1 แผลเรื้อรังรักษาก่อนลาม จัดการอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนแก้เหลื่อมล้ำด้านงบประมาณ - กระจายงบวิจัยให้ท้องถิ่น

4 ปัญหาใหญ่คู่สังคมไทยสร้าง 'สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร'

18 ต.ค.2562 ทีมสื่อสารพรรคอนาคตใหม่ รายงานว่า วันนี้ (18 ต.ค.62)ที่รัฐสภา (เกียกกาย) วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคอนาคตใหม่แบบบัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปรายในการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยระบุว่า สวัสดิการสังคมที่ดีหมายถึง สวัสดิการที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นรากฐานให้ใช้ชีวิตมั่นคงได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน แต่ที่เป็นอยู่นั้นไม่ใช่ เพราะต้องแลกมาด้วยการพิสูจน์ความจน บางคนตกสำรวจ คนเข้าไม่ถึงมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งถามว่าหลักเกณฑ์ในการได้มานั้นเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ และเอาบรรทัดฐานเราตัดสินชีวิตคนอื่นได้จริงหรือไม่ 

วรรณวิภา กล่าวว่า ในการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีของฝ่ายบริหาร ตนและคนอื่นๆ รู้สึกมีความหวัง มีความฝันว่าจะนำภาษีที่เราเสียไปจัดให้ประชาชนอย่างเสมอภาค เท่าเทียม เงินเหล่านี้จะไม่ทุ่มให้นายทุนหรือให้สิทธิ์คนร่ำรวย แล้วปล่อยให้คนส่วนใหญ่ได้เพียงเศษเนื้อและพูดถามถึงบุญคุณ ดังนั้น ตนและพรรคอนาคตใหม่จึงพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อประชาชนทุกคน หากแต่ร่างงบประมาณนี้ไม่มีนโยบายที่เป็นสวัสดิการเหล่านั้น เกิดปั๊บรับแสน มารดาประชารัฐ ไม่มี มิหนำซ้ำกลับจัดสรรให้โดยไม่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำซึ่งมากขึ้น เกิดความไม่เป็นธรรม ไม่สะท้อนความกินดีอยู่ดีกับคนส่วนใหญ่ และสุดท้ายก็ปล่อยให้รัฐสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายเป็นเพียงฝันของประชาชนต่อไป

"งบประมาณสวัสดิการสังคมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ปีนี้ถือว่าได้รับเพิ่ม แต่ทว่ากลับถูกนำไปจัดสรรให้ถึงมือประชาชนน้อยมาก เพราะมีหลายโครงการ คำถามคือ ไปอยู่ที่ไหน และโครงการอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง บางโครงการไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ค่าใช้จ่ายหมดกับการดำเนินงาน เบี้ยเลี้ยง พาหนะ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เงินแทบไม่เหลือไปถึงมือประชาชน" วรรณวิภา กล่าว 

วรรณวิภา กล่าวว่า อีกประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน คือ การทำให้สิ่งที่เป็นสวัสดิการเป็นเหมือนการโยนของเหลือจากคนรวยสู่คนส่วนใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 4 เรื่องสำคัญได้แก่  

1.สวัสดิการมีลักษณะเป็นการพิสูจน์ความจนมากขึ้น งบประมาณที่ขยายเพิ่มช่วยเด็กยากจน แต่มีเงื่อนไขคือครอบครัวต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ซึ่งแนวทางนี้เราเคยใช้มาแล้ว แต่ล้มเหลว ต้องยกเลิกและปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบถ้วนหน้าในกรณีเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะเหตุไม่ทำให้คนที่จนที่สุดเข้าถึงสวัสดิการนี้ได้อย่างแท้จริง และเพราะคนต้องทำมาหากินไม่มีเวลาไปพิสูจน์เรื่องแบบนี้ 

2.งบประมาณการพิสูจน์สิทธิ์อาจสูงขึ้น เหล่านี้หมดไปกับการอบรม การบริหารจัดการให้เจ้าหน้าที่ไปพิสูจน์เรื่องนี้ ซึ่งต่อปีสูงถึง 2 พันล้านบาท หรือสูงขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ที่่ต้องจ่ายให้กับเด็กๆ หมายความว่าต้องใช้งบประมาณนี้เพียงเพื่อส่งต่อเงินก้อนนี้ให้กับเยาวชน

3.มีกระบวนการตีตรามากขึ้น ถามว่าบัตรสวัสดิแห่งรัฐ เคยใช้หรือไม่ เคยเห็นแววตาคนใช้หรือไม่ พ่อแม่ถือบัตรนี้ลูกหลานเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร มันทำให้เขารู้สึกผิด รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ ดังนั้น ถ้าทำให้เป็นสวัสดิการตามช่วงอายุได้ ให้คนเท่ากัน  เกิด แก่ เท่ากัน เป็นเหมือนเพื่อนร่วมชาติด้วยกันอย่างแท้จริง หรือทุกวันนี้ยังมองเป็นคนงาน คนที่ได้รับความเวทนา นโยบายออกมาจากความภาคภูมิใจของคนคิด โยนความสงเคราะห์ให้คนส่วนใหญ่ แต่ไม่เคยเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า มรดกที่ดิน เลิกนายทุนผูกขาด คนส่งต่อนโยบายไม่เคยได้ใช้ มิหนำซ้ำยังสิ้นเปลืองไปกับการจัดการมากกว่าส่งต่อให้ประชาชน แม้จะบอกว่าฝนตกมาทั่วถึง แต่หญ้าที่อยู่บนดินอย่างเราไม่เคยรู้สึกเช่นนั้น 

4.การแก้ไขมีราคาสูงมากกว่าการป้องกัน มีตัวอย่างมากมาย ว่ารัฐบาลทุกยุคถนัดแก้ไขมากกว่าป้องกัน  ปัญหาอาชญากรรมแก้ไขได้ด้วยการกินดีอยู่ดีของประชาชน ปัญหาน้ำท่วม พืชผลเกษตรตกต่ำ ถ้าสวัสดิการที่ดีพ่อแม่มีบำนาญ จะทำให้ชีวิตมีประชาชนมีความเสี่ยงน้อยลง 

"ถามว่าพรรคอนาคตใหม่ ทำไมเราชอบพูดถึงความเท่าเทียม นั่นเพราะเราเชื่อว่าการที่ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร จะเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างสังคมได้ และนี่คือเหตุผลเห็นด้วยกับจัดทำสวัสดิการถ้วนหน้ามากกว่าการสงเคราะห์แบบที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ในปัจจุบัน งบประมาณอาจไม่แตกต่างจากแต่ก่อน แต่ทำไมความเหลื่อมล้ำสูง ความมั่นคั่งอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม แต่ความเสี่ยงอยู่กับคนส่วนใหญ่ ดังนั้น ต้องเปลี่ยนระบบสังเคราะห์อนาถา มาเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า" วรรณิภา กล่าว

เจียดงบกลาง 3 หมื่นล้าน "ปฐมพยาบาลการศึกษาไทย" ชี้ 5 แผลใหญ่ต้องดูแล - 1 แผลเรื้อรังรักษาก่อนลาม 

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยระบุว่า งบประมาณนี้กำลังสะท้อนปัญหาการศึกษา ทำให้เกิดแผลใหญ่ 5 แผล และเป็นแผลเรื้อรังอีก 1 แผล ต่อการศึกษาไทย

กุลธิดา กล่าวว่า แผลที่ 1 การลงทุนไม่ถูกจุด โดยลงทุนกับเด็กน้อยเกินไป จากสัดส่วนลงทุนทั้งประเทศ ร้อยละ 20 พบว่าลงทุนกับเด็กเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณในส่วนแผนบูรณาการศึกษามูลค่า 570,000 ล้านบาท พบว่า มีเรื่องการเรียนรู้ที่เป็นของนักเรียนโดยตรงเพียง 1,305 ล้านบาท หากเทียบเป็นเงินร้อยบาทก็คือ มีแผนเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยตรงเพียง 1 สลึง เท่านั้น จึงเป็นคำถามว่าเราได้ลงทุนกับการศึกษามากจริงหรือไม่ ทั้งที่งบประมาณของกระทรวงศึกษาที่ได้เกือบ 4 แสนล้านบาท ถือว่าได้มากเป็นอันดับ 2 รองจากงบกลาง แต่เมื่อลงไปในรายละเอียดอย่างงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  จะพบว่า งบส่วนใหญ่กระจุกอยู่ที่งบบุคลากร หรือในขณะที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่า อาชีวะศึกษามีความสำคัญมาก แต่เมื่อมาดูงบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา (สอศ.) ได้รับกลับเป็นเพียงร้อยละ 7 ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมดเท่านั้น ทั้งนี้ งบประมาณคือภาพสะท้อนถึงความจริงใจในการอุดหนุนและพัฒนาเด็กๆ ของประเทศ ซึ่ง TDRI เคยคำนวนไว้ว่า หากต้องการให้อาชีวะไทยมีความเทียบเท่าสิงคโปร์ จะต้องใช้งบลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 44,000 ล้านบาท  ซึ่งงบที่ได้รับในเวลานี้ถือว่าห่างไกลมาก

กุลธิดา กล่าวอีกว่า แผลที่ 2 ใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ พบว่า มีโครงการที่สร้างภาระงานครู พาครูออกนอกห้องเรียนและไม่พัฒนาผู้เรียนอีกกว่า 3,500 ล้านบาท เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยดิจิตอลเทคโนโลยี 35 ล้านบาท ซึ่งในโครงการหาความเป็นดิจิตอลไม่เจอ เจอแต่ค่าเบี้ยเลี้ยงและที่พัก หมายความว่า โครงการนี้ต้องพาครูไปอบรม ครูจึงต้องออกนอกห้องเรียนแถมยังต้องใช้จ่ายเพื่อบริหารจัดการ ซึ่งโครงการแบบนี้ยังมีอีกมาก

"แผลที่ 3 เงินไปถึงเด็กจริงน้อยมาก จากงบประมาณของ สพฐ. 290,000 ล้านบาท พบว่า ไปถึงเด็กจริงเพียง 1 ใน 7 ยอกจากนี้ ในส่วนงบอุดหนุนเด็กยังพบว่ามีการให้คงที่เท่าเดิมมาตั้งแต่ 2553 แม้ว่าราคาสินค้าจะพุ่งสูงขึ้นไปร้อยละ 12 ในปัจจุบัน" กุลธิดา กล่าาว 

กุลธิดา กล่าวว่า แผลที่ 4 จัดสรรเหลื่อมล้ำ พบว่า โรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์จะได้งบประมาณ 450,000 บาทต่อคน หรือมูลค่าเท่ากับรถอีโคคาร์หนึ่งคัน ขณะที่โรงเรียนขนาดกลางทั่วไปได้รับ 300,000 บาทต่อ 134 คน  หรือเท่ากับได้ข้าวสารประมาณครึ่งกระสอบต่อคน แม้ว่าการพัฒนาวิทยาศาสตร์จะมีความสำคัญแต่โรงเรียนอื่นๆก็ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดคุณภาพในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันด้วย นอกจากนี้มีปัญหาของการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว  โรงเรียนขนาดกลางและเล็กยังได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ครูไทยต้องเป็นทั้งแม่ครัว ช่างซ่อม ช่างปะปา เป็นทุกอย่างให้เธอ ต้องทำได้ทุกอย่างยกเว้นการทำงานเป็นครู เมื่อการทำงานได้อย่างอัตคัตและยากลำบาก ทำให้ต้องขอรับบริจาคจากภาคเอกชนหรือวัด จึงเป็นคำถามว่าทำไมหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาสาธารณูปโภคและคุณภาพชีวิตของของนักเรียนกว่า 30,000 โรงเรียน จึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดมาตรฐานเท่าเทียมกัน

"และแผลที่ 5  งบประมาณที่ใช้จ่ายในการศึกษาลดลง ซึ่งสิ่งที่คาดหวังคือการเห็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ลดลง แต่โดยเฉพาะหลัง คสช.เข้ามา พบว่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเทียบกับรายจ่ายรวมของรัฐนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง” น.ส.กุลธิดา กล่าว  และว่า ทั้งหมดที่ว่ามานี้ทำให้เกิดล้วนมีผลทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังของการศึกษาไทย ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว และอาจลุกลามไปอีกได้ นั่นคือคุณภาพที่ลดลง ถ้าไปดูคะแนนการสอบ PISA จะพบว่าไทยได้คะแนนลดลงทุกวิชา เช่นเดียวกับคะแนน O-NET ที่สอบตกครึ่งประเทศเกือบทุกวิชา และกรุงเทพฯมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด

กุลธิดา กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับสิงคโปร์ สิ่งที่แตกต่างคือ แม้จะมีประชากรลดลงแต่เขากลับเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น เพราะมองเห็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ตอบโจทย์กับอนาคต ดังนั้น สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในการศึกษาไทย ขอเสนอให้เจียดงบกลางมา 30,000 ล้านบาทเพื่อเพิ่มเติมโรงเรียนขนาดกลาง-เล็ก 10,000 โรงเรียน โรงเรียนละ 1 ล้านบาท ต้องพิสูจน์ว่าอาชีวะศึกษาเป็นผู้สร้างชาติจริง จึงควรได้งบเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในวัสดุและอุปกรณ์ส่งเสริมทักษะ และควรเพิ่มงบประมาณอุดหนุนรายหัวนักเรียนประถมอีก 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ เงินที่สร้างภาระครู 3,500 ล้านบาทที่กล่าวไปแล้วสำหรับโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์ ยังสามารถนำมาอุดหนุนเด็กเล็กยากจนกลุ่มปฐมวัย 3-5 ขวบ ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ ซึ่งจะสามารถช่วยเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกกว่า 1.5 แสนคน จากที่สำรวจพบว่ามี 2.3 แสนคน ได้

จัดการอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนแก้เหลื่อมล้ำด้านงบประมาณ - กระจายงบวิจัยให้ท้องถิ่น 

สุรวาท ทองบุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ร่วมอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 กรณี ปัญหาการจัดงบประมาณในการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการวิจัยในปี 2563  โดยระบุว่า งบประมาณที่ได้เห็นในเอกสาร ในส่วนของมหาวิทยาลัยซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นหลักนั้น ไม่ได้สะท้อนให้เห็นและไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือแม้แต่สังคมไทย และที่สำคัญคือบริบทและปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยในวันนี้ ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้รับการแก้ไข, การจัดสรรงบประมาณในรายมหาวิทยาลัย ในกลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ, การจัดสรรงบประมาณการวิจัย ที่ผิดไปจากปีก่อนๆ  วันนี้งบประมาณเพื่อการวิจัยนั้นไม่ได้ปรากฏในมหาวิทยาลัยใด 

"สิ่งที่เราอยากเห็นคือการจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษานั้น ควรจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เป็นรูปแบบใหม่ๆ เทคโนโลยีรูปแบบวิธีการสอนทั้งหลายจะต้องหลากหลาย เป็นไปด้วยการผสมผสานประสบการณ์ในชีวิตจริง รวมทั้งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม และผ่านโลกของดิจิตอล ที่จะต้องผสมผสานกันอย่างกลมกลืน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ทั้งนี้ งบประมาณที่ทางกระทรวงอุดมศึกษาได้จัดสรรไว้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เล็กน้อยเหลือเกิน โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่มีงบถึง 931 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพียง 3,869 คน ในขณะที่ผู้เรียนอยู่ในวันนี้นับล้านคน, โครงการปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน อบรมเพียง 400 คน จากประชากรไทย 60 กว่าล้านคน นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีความต้องการที่จะใช้ครูปีหนึ่งประมาณ 2 หมื่นกว่าคน  กลับมีการกำหนดโครงไว้เพียง 2,974 คน ด้วยประมาณ 283 ล้านบาท นอกนั้น ดูเหมือนจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ ด้วยงบ 25 ล้านบาท สำหรับผู้เรียน 5,000  คน ขณะที่วันนี้มีคนจะต้องเรียนรู้ในระบบได้เรียนรู้ตลอดชีวิตหลายสิบล้านคน" สุรวาท กล่าว

สุรวาท กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านงบประมาณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ได้รับงบประมาณ 18,267 ล้านบาท  ดูแลนักศึกษาอยู่เกือบ 5 แสนคน ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ และ ม.มหิดล เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีต้นทุน และมีทำเล มีอะไรอยู่มากมาย ก็ยังได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 21,000 ล้าน ส่วนมหาวิทยาลัยราชมงคลนั้นก็เช่นกันได้งบ 8,000 ล้านบาท ใน 9 แห่ง ยังไม่รวมวิทยาเขต ถ้าท่านดูการจัดสรรงบประมาณรายหัว จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐ ซึ่งยังต้องเป็นภาระรับงบประมาณจากรัฐบาลอยู่ จากงบประมาณแผ่นดิน จากภาษีของประชาชนอยู่ วันนี้ยังได้รับงบประมาณรายหัวของผู้เรียนถึง 135,000 บาท ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏต่อหัวนั้นแค่ 36,000 กว่าบาท คิดเป็น 3.7 เท่า  ที่มหาวิทยาลัยในกำกับได้มากกว่า และได้มากกว่ามหาวิทยาลัยราชมงคล 2.3 เท่า

"อีกประเด็นคือเรื่องการจัดตั้งงบประมาณของการวิจัย มหาวิทยาลัยไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเลย จะมีการจัดตั้งงบประมาณไปไว้ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 5,800 ล้านบาท และที่กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) 12,000 ล้าน คำถามคือ ตั้งงบประมาณไว้อย่างนี้ และจะจัดสรรให้ใคร อย่างไร มีการกระจายที่เป็นธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่คือ กระจายจากงบดำเนินการเป็นงบลงทุน เพื่อพัฒนาสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคล, การลงทุนกับบุคลากร จัดสรรงบโดยใช้อัตราที่เท่าเทียบกัน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคล เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ รวมถึง กระจายงบวิจัยจากส่วนกลางให้กับสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น เพื่อสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น ซึ่งเขาเข้าใจปัญหาดี รู้ว่าจะต้องแก้อย่างไร แต่วันนี้พวกเขามีโอกาสที่จะเข้าถึงได้ยากมากในการที่จะรับงบประมาณวิจัย เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อหาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหานั้น" สุรวาท กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net