Skip to main content
sharethis

‘ประชาไท’ รวบรวมงานเสวนา 2 งานอันเนื่องมาจากกรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตนเองในศาลจังหวัดยะลา ต่อเนื่อง 9 ตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตั้งแต่รายละเอียดของคดีจนถึงภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตอน 4 ผ่านมุมมองนักนิติศาสตร์ ปกป้อง ศรีสนิท

  • หลักการสากลระบุว่าศาลต้องเป็นอิสระ เที่ยงธรรม และเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงทั้งจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และจากปัจจัยภายนอกทั้งปวง เพื่อรับประกันสิทธิของประชาชนในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
  • ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปเห็นว่าศาลที่เป็นอิสระถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งของประชาชน
  • ควรยกเลิกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 หรือเพิ่มข้อความลงในระเบียบเพื่อการันตีความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

กรณีการยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ศาลจังหวัดยะลา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันตุลาการและข้อกังขาว่าผู้พิพากษามีอิสระเพียงใดในการพิจารณาคดี ด้วยถ้อยคำในคำแถลงการณ์ที่ว่า

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดงานเสวนาต่อกรณีนี้ 2 งานคือ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต’ ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยากรทั้งสองงานมีตั้งแต่ทนายความที่ทำคดีดังกล่าว นักสิทธิมนุษยชน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นักวิชาการด้านกฎหมาย และสื่อมวลชน

เพื่อให้ภาพที่สมบูรณ์ ครบทุกมิติ ‘ประชาไท’ จึงนำทั้งสองงานมาร้อยเรียงเป็นซีรีส์ว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ข้อเสนอเพื่อแก้ไข และความอิสระที่ว่านั้นควรอิสระเพียงใดจึงจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความอิสระเป็นพิษ

ตอนที่ 4 ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงความจำเป็นว่าเหตุใดศาลจึงต้องมีความอิสระโดยอ้างอิงถึงหลักการสากลระหว่างประเทศ ทั้งยังแนะนำให้ยกเลิกระเบียบฯ ปี 2562 หรือไม่ก็ต้องระบุให้ชัดเพื่อรับประกันความเป็นอิสระของศาล

ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมจะพูดในเรื่องการเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการซึ่งเนื้อหาที่ผมจะพูดจะมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือหลักการความเป็นอิสระของตุลาการ เรื่องที่ 2 คือสถานการณ์ ปัญหา และอนาคต ซึ่งตรงกับชื่องานเสวนาในวันนี้ ว่าเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไร และจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ปัญหาอย่างไร

ศาลต้องเป็นอิสระ เป็นกลาง และเที่ยงธรรม

หลักความเป็นอิสระของตุลาการ คำถามแรกคือทำไมผู้พิพากษาต้องอิสระและเที่ยงธรรม คำตอบคือในคดีอาญา ผู้พิพากษาหรือศาลจะเป็นคนที่เป็นกลางที่มีคู่ความอยู่ 2 ฝั่ง คู่ความฝ่ายแรกคือรัฐซึ่งประกอบด้วยตำรวจ อัยการ คนที่ทำสำนวนฟ้องคดี คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็คือคนที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งถ้าถูกฟ้องก็เรียกว่าเป็นผู้ต้องหา เวลาไปอยู่ในศาลก็เป็นจำเลย ยังมีอำนาจอีกอำนาจหนึ่งเรียกว่าอำนาจในการสืบสวนคดีอาญา เช่นการจับ การค้น การรวบรวมพยานหลักฐาน ตำรวจอยากเรียกใครมา เขาก็ต้องมา ถ้าไม่มาก็จะมีความผิด อำนาจบังคับของรัฐเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความจริงในการที่จะดำเนินคดีของรัฐ

คนที่ถูกดำเนินคดีอาจทำความผิดจริงก็ได้หรือเขาถูกปรับปรำก็ได้ โดยหลักแล้วเขาก็ให้เครื่องมือแก่ผู้ถูกดำเนินคดี ก็คือหลักที่สันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน เครื่องมืออีกอันหนึ่งคือสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เช่น สิทธิในการมีทนาย สิทธิในการได้รับการแจ้งข้อหา สิทธิในการมีเวลาเตรียมตัวพอที่จะสู้คดี เครื่องมือที่เท่ากันเหล่านี้จะให้ทั้งรัฐและจำเลยเพื่อไปสู้กันในศาลที่เป็นกลาง ความจริงจะปรากฏขึ้นมาว่า ถ้าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดศาลก็จะลงทุนอย่างเหมาะสม ถ้าความจริงปรากฏออกมาว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ศาลก็ชอบที่จะยกฟ้อง แล้วปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ออกไป เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็มีอยู่แค่นี้ในการค้นหาความจริง โดยเฉพาะหลักการว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในประเทศที่ใช้ระบอบเสรีประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ศาลจึงต้องมี 2 อันคือเป็นกลางและเป็นธรรม และต้องเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และจากการแทรกแซงจากภายนอกทั้งปวง ศาลที่เป็นอิสระ เป็นกลาง เที่ยงธรรมจะเป็นหลักประกันให้สองฝ่ายได้สู้คดีอย่างเต็มที่ตามหลักการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมศาลต้องเป็นอิสระ เป็นกลาง และเที่ยงธรรม

ลองนึกภาพตามว่าถ้าศาลสามารถถูกแทรกแซงได้โดยรัฐเหมือนที่เกิดขึ้นในบางประเทศ เมื่อนั้นรัฐกับศาลจะอยู่ข้างเดียวกัน เมื่อนั้นผู้ถูกดำเนินคดีก็จะไม่เหลือสิทธิในการต่อสู้คดีอะไร ด้วยเหตุนี้กติการะหว่างประเทศหรือหลักการดำเนินคดีสากลทั้งหลาย จึงยึดมั่นในหลักที่ศาลต้องอิสระ เป็นกลาง และเที่ยงธรรมเสมอ ไม่อาจแทรกแซงได้

เวที “ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต”

กติกาสากลว่าด้วยความอิสระของศาล

หลักความเป็นอิสระของศาลในฐานะที่เป็นหลักสากล ผมพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า สากล มาตลอดเพราะมันจับต้องไม่ค่อยได้ แต่ครั้งนี้ผมพยายามบอกว่าความอิสระของศาล มันเป็นสากลจริงๆ เพราะหลักความเป็นอิสระของศาลบัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไอซีซีพีอาร์ (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 14 ในวรรคแรก ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการพิจารณาโดยศาลที่เปิดเผย เป็นธรรม เป็นอิสระ และเที่ยงธรรม

ถามว่าทำไมมันเป็นสากลในกติการะหว่างประเทศแบบนี้ ประเทศที่เป็นภาคีของ ICCPR  มีอยู่ 172 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่งต้องยึดถือในหลักการที่ว่าผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระและเที่ยงธรรม มันไม่เหมือนอนุสัญญาอื่นๆ หรือความตกลงอื่นๆ ที่บางคนก็เป็น บางคนก็ไม่เป็น น่าจะบอกว่านั่นมันไม่ค่อยสากลพอ แต่ความอิสระของศาลใน ICCPR ผมค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะสากลเพียงพอ

การตีความความเป็นอิสระของศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติก็ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแนะนำว่าคำว่าศาลที่เป็นอิสระหรือพันธะกรณีต่างๆ ของ ICCPR ต้องตีความอย่างไร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เคยให้คำแนะนำอยู่หลายเรื่อง ว่าที่ ICCPR บอกว่าศาลต้องอิสระมีความหมายและนัยยะอย่างไร ข้อที่ 1 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยกล่าวไว้ว่าศาลที่เป็นอิสระเป็นสิทธิสมบูรณ์ ไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ต้องดำรงความอิสระของผู้พิพากษาไว้ให้ได้ ข้อ 2 ศาลที่เป็นอิสระจะต้องปราศจากการถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลจะแทรกแซงไม่ได้ นิติบัญญัติก็ยังแทรกแซงไม่ได้ และต้องสร้างกลไกประกันความเป็นอิสระของศาลในเรื่องการแต่งตั้ง เลื่อนขั้น โยกย้าย กำหนดค่าตอบแทน และการดำเนินการทางวินัย ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ให้คำแนะนำไว้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ สุดท้ายได้บอกไว้ว่าผู้พิพากษาอาจถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่ ได้เฉพาะเหตุผลทางการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่มีความสามารถอย่างร้ายแรงภายใต้มาตรฐานการดำเนินงานอย่างเป็นภาววิสัยและเที่ยงธรรมตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย คนตั้งคำถามว่าปลดผู้พิพากษาได้ไหมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติบอกว่าปลดได้ แต่ต้องมีมาตรฐานและการปลดผู้พิพากษาก่อนเกษียณอายุหรือก่อนครบวาระโดยไม่มีเหตุผลเฉพาะเจาะจง ไม่มีกระบวนการคัดค้านคำสั่งปลดก็ขัดต่อความอิสระของศาลเหมือนกัน มีตัวอย่างหนึ่งครับ การที่ฝ่ายบริหารไปปลดผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาว่าคอรัปชันโดยไม่มีการพิสูจน์ความผิด กรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติก็บอกว่านี่เป็นการขัดต่อความอิสระของตุลาการนั้นเอง

หลักความเป็นอิสระของตุลาการยังปรากฏอยู่ในเอกสารระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 10 อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป ข้อ 6 หลักพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยความอิสระของตุลาการ ข้อที่ 1 และหลักความอิสระของตุลาการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ผมเอาที่เกี่ยวข้องกับไทยที่ไทยไปลงนามและผูกพันเอาไว้ ก็คือหลักพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยความอิสระของตุลาการ ในข้อ 4 เขียนไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าจะต้องไม่มีการกระบวนการแทรกแซงกระบวนการศาลอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่มีเหตุผล คำพิพากษาของศาลจะไม่อยู่ภายใต้กระบวนการแก้ไขปรับปรุง เว้นแต่เป็นการแก้ไขปรับปรุงโดยศาลหรือการลดโทษโดยองค์กรที่มีหน้าที่กำหนดโดยกฎหมาย นี่คือหลักพื้นฐานของสหประชาชาติ ปี 1985 ที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติต้องปฏิบัติตาม

หลักความเป็นอิสระของตุลาการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันนี้ค่อนข้างเล็กและแคบลงมาหน่อย ผู้พิพากษาในกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งออสเตรเลียด้วย เขาก็ไปประชุมกันและประกาศหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขึ้นในปี 1995 อดีตประธานศาลฎีกาของไทยท่านไปร่วมลงนามในหลักการความอิสระนี้ด้วย ข้อ 6 ในการทำคำพิพากษาลำดับชั้นในองค์กรพิพากษาจะไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาในการตัดสินคดี ผมว่าค่อนข้างชัด คือนิติบัญญัติมาแทรกแซงไม่ได้ ฝ่ายบริหารมาแทรกแซงไม่ได้ ลำดับชั้นในองค์กรศาลไม่ว่าจะเป็นอธิบดี ประธานศาล ถ้าตามหลักการข้อนี้ที่ไทยไปลงนามกับเขา ลำดับชั้นของการเป็นผู้บังคับบัญชาในศาลก็ไม่อาจแทรกแซงการทำหน้าที่ได้เช่นเดียวกัน

ศาลที่เป็นอิสระถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งของประชาชน

ผมมีตัวอย่างคดี 2-3 คดีที่เขาสู้กันว่าศาลเป็นอิสระหรือไม่ เป็นคดีที่เกิดขึ้นในยุโรปซึ่งมีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน ศาลที่เป็นอิสระเขาถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งของประชาชน เขาจึงมีศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปคอยดูว่าประเทศที่เป็นภาคีในยุโรปได้ให้หลักประกันในด้านความเป็นอิสระของศาลและหลักการด้านสิทธิมนุษย์ชนถูกต้องตามอนุสัญญาหรือไม่ ประชาชนที่เห็นว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุโรปก็ไปฟ้องที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ภายหลังจากที่ได้ต่อสู้คดีในประเทศอย่างเสร็จสิ้นแล้ว

มีตัวอย่างอยู่ 2-3 อันที่เขาตีความในยุโรป ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นมาตรฐานที่ดีได้ในการตีความเรื่องสิทธิมนุษยชนและการอธิบายว่าความอิสระของศาลคืออะไร มีคดีที่เกิดขึ้นในปี 2008 ประธานศาลของรัสเซียเรียกสำนวนคืนและตั้งองค์คณะใหม่ในเรื่องเดียวกันถึง 11 ครั้ง และให้เหตุผลในการเปลี่ยนเพียง 2 ครั้ง ศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรปพูดไว้ชัดเจนว่าเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจของประธานศาลขัดกับความเป็นอิสระของศาล เท่ากับประธานศาลไปแทรกแซงผลของคดี

อีกคดีหนึ่งคดีที่นายบีฟ้องลิทัวเนียในปี 2000 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่านายบีกระทำความผิดเป็นตัวการฐานรีดเอาทรัพย์และแบล็คเมล์ ศาลอุทธรณ์ก็แก้คำพิพากษาตามลำดับชั้นบอกว่าไม่ใช่ตัวการ มันเบากว่านั้น มันเป็นแค่ผู้สนับสนุน นายบีก็ฎีกาว่าตนไม่ได้กระทำความผิดเลย ทั้งตัวการและผู้สนับสนุน ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้เขียนจดหมายถึงประธานแผนกคดีอาญาของศาลฎีกาประเทศลิทัวเนียว่า ท่านประธานแผนกศาลฎีกาเชื่อผมเถอะ เรื่องนี้มันเป็นตัวการ มันไม่ใช่ผู้สนับสนุนอย่างที่ศาลอุทธรณ์บอก คือไปให้คำแนะนำเขาประธานแผนกคดีอาญาของศาลฎีกาลิทัวเนียก็เขียนหนังสือขึ้นมาว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ควรถูกแก้ไข เพราะปรับใช้กฎหมายผิด นายบีควรถูกลงโทษในฐานเป็นตัวการอย่างที่ศาลชั้นต้นบอก ไม่ใช่อย่างที่ศาลอุทธรณ์บอก ประธานคณะแผนกดังกล่าวได้ตั้งองค์คณะศาลฎีกาขึ้น 3 คนเพื่อพิจารณาคดีดังกล่าว โดยผู้พิพากษาก็ได้พิจารณาตามคำแนะนำของประธานแผนก

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปพิพากษาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลที่อิสระและเที่ยงธรรม เหตุผลเพราะประธานแผนกคดีอาญาของศาลฎีกาไปแทรกแซงการทำหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ไปออกคำสั่งบอกว่าควรจะทำยังไง ควรจะพิพากษาอย่างไร ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปให้เหตุผลว่าการแสดงความอิสระของศาลต้องแสดงทั้งในเชิงอัตวิสัยและภววิสัย ในทางอัตวิสัยก็คือผู้พิพากษาต้องไม่มีอคติในเรื่องที่ตนจะพิพากษา ในทางภววิสัย ผู้พิพากษาต้องแสดงความเป็นกลางและอิสระให้ปรากฏต่อคู่ความ การที่ประธานแผนกคดีอาญาศาลฎีกาไปเขียนความเห็นขึ้นมา ในสายตาของคู่ความดูไม่เป็นกลางเพราะเป็นการแนะนำองค์คณะให้แก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเท่ากับทำให้ประธานแผนกคดีอาญากลายเป็นข้างโจทก์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงบอกว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความอิสระของศาล

อีกคดีหนึ่งเกิดขึ้นที่โครเอเชีย แต่เรื่องนี้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปบอกว่าไม่ขัดการหลักความเป็นอิสระของศาล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นชื่อเอ็นเอ็นได้พิพากษาให้นายพีได้รับเงินจากบริษัทประกัน ต่อมาผู้พิพากษาเอ็นเอ็นไปขอแก้ไขคำพิพากษาเพราะเกิดความผิดพลาดทางสารบัญ ไปคำนวณเลขผิดนิดหน่อย ผลก็คือทำให้นาย พี ได้รับเงินน้อยลงกว่าที่ควรได้รับตามกฎหมาย

ต่อมาผู้พิพากษาเอ็นเอ็นก็เป็นคู่กรณีเพราะไปเรียกเงินที่เกินคืนจากนายพี ผู้พิพากษาไปร้องทุกข์ต่อนายพีให้คืนเงิน ในฐานะที่เป็นคู่กรณีกับนายพี บริษัทประกันก็ฟ้องเรียกเงินที่นายพีได้เงินเกินไปคืนอีกคดีหนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทประกันชนะคดี ต่อมานายพีก็อุทธรณ์ ผู้พิพากษาเอ็นเอ็นเคยอยู่ศาลชั้นต้น ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นประธานศาลอุทธรณ์ในคดีที่นายพีกับบริษัทประกันพิพาทกัน นายพีร้องศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปว่าผู้พิพากษาเอ็นเอ็นอาจแทรกแซงการทำหน้าที่ขององค์คณะของศาลอุทธรณ์ เพราะผู้พิพากษาเอ็นเอ็นเคยเป็นผู้กรณีกับนายพีมาก่อนและต่อมาผู้พิพากษาเอ็นเอ็นก็มาเป็นประธานศาลอุทธรณ์ที่มีอำนาจเหนือองค์คณะที่ตนเองมีคดีอยู่และเป็นเรื่องเดียวกันด้วย

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปบอกว่าเรื่องนี้ไม่ขัดความเป็นอิสระของศาล และให้เหตุผลไว้ 3 ประการ ซึ่งผมเห็นว่า น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีและเป็นตัวอย่างให้ประเทศไทยได้ ถ้าเราสามารถดำเนินการตามเหตุผลทั้ง 3 นี้ได้ ประการที่ 1 ประธานศาลอุทธรณ์มีหน้าที่เพียงการบริหารไม่เกี่ยวข้องกับการพิพากษาคดีในองค์คณะและไม่อาจให้คำแนะนำผู้พิพากษาในศาลได้เพราะกฎหมายโครเอเชียบอกว่าประธานมีคำแนะนำไม่ได้ ประการที่ 2 กฎหมายโครเอเชียมีการกำหนดการจ่ายสำนวนผู้พิพากษาอย่างชัดเจน ประธานศาลไม่สามารถแทรกแซงการจ่ายสำนวนหรือเลือกองค์คณะได้ และประการที่ 3 แม้ประธานศาลมีบทบาทการดำเนินการทางวินัย แต่ก็เป็นอำนาจที่ค่อนข้างจำกัด 3 เหตุผลนี้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจึงเห็นว่าเป็นเครื่องการันตีว่าผู้บริหารศาล ประธานศาล ถ้าได้มาตรฐานพวกนี้ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงการตัดสินใจขององค์คณะภายใต้การดูแลของตน

ยกเลิกระเบียบปี 62

ส่วนสถานการณ์ ปัญหา และอนาคต ประเทศไทยปัญหาอยู่ที่ไหน ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 188 วรรค 2  ก็ได้รับรองความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีไว้อย่างชัดเจน ผู้พิพากษาย่อมมีอิสระก็คือหลักความเป็นอิสระที่อยู่ใน ICCPR ที่เราเป็นภาคีนั่นเอง

ปัญหาคงไม่ใช่รัฐธรรมนูญ พระธรรมนูญศาลยุติธรรมเป็นปัญหาไหม ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะพูดถึงแต่ว่ามีกี่ศาล ประธานศาลทำอะไรบ้าง มีกี่องค์คณะ และมีการจัดการภายในอย่างไร ไม่มีอะไรที่พูดถึงเรื่องความเป็นอิสระของศาลหรือไปขัดหรือแย้งหลักความเป็นอิสระของศาล

แต่ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีมาตราที่เป็นประเด็นคือมาตรา 28 และ 29 ว่าขัดต่อความเป็นอิสระของศาลหรือไม่ ซึ่งมาตรา 28 และ 29 พูดไว้ว่า หากมีเหตุสุดวิสัยหรือจำเป็น ผู้บริหารศาลสามารถมานั่งพิจารณาหรือเป็นองค์คณะฟังคำพิพากษาได้ ผมคิดว่าก็ไม่ขัด เพราะผู้พิพากษาท่านหนึ่งกำลังรับผิดชอบสำนวน ถ้าเกิดองค์คณะ 1 ท่านเกิดเสียชีวิตขึ้นมา คดีนั้นก็ไม่ครบองค์คณะ ท่านจะให้ทำคดีต่อได้อย่างไร พระธรรมนูญศาลยุติธรรมก็ให้ผู้บริหารศาลเข้าไปเป็นองค์คณะเข้าไปพิจารณาคดีต่อ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ก็ไม่ขัดต่อความเป็นอิสระของศาล

แต่เรามีระเบียบอันหนึ่งก็คือระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 ผมคิดว่าระเบียบนี้เป็นประเด็น เพราะเป็นระเบียบที่อาศัยอำนาจตามธรรมนูญศาลข้อ 5 ซึ่งบอกว่าประธานศาลสามารถออกระเบียบการดำเนินการในเรื่องการตรวจสำนวนได้และระเบียบนี้ก็เป็นประเด็นที่ท่านคณากรพูดถึงในเรื่องการตรวจสำนวนต่างๆ

ระเบียบนี้สรุปความง่ายๆ คือข้อ 14 ในการเขียนคำพิพากษาต้องมีการส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาเฉพาะคดีสำคัญคดีที่กำหนดไว้ไปให้อธิบดีศาลเป็นคนดู เพื่อรักษาบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปในแนวทางเดียวกัน กรณีการใช้ดุลพินิจต่างๆ ก็ต้องมีเหตุมีผล นอกจากนี้ ระเบียบข้อ 16 ยังเขียนต่อไปอีกว่าถ้าเป็นคดีพิเศษที่กำหนดไว้ตามระเบียบต้องส่งสำนวนคำพิพากษาไปให้อธิบดีทำความเห็น ตรวจสำนวน และให้คำแนะนำ หลังจากนั้นเมื่อศาลที่เป็นองค์คณะได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว ให้รายงานกับอธิบดีด้วยว่าอ่านอย่างไร ผมว่าระเบียบนี้น่าจะเป็นประเด็น

เพราะผู้พิพากษาเวลาทำคำพิพากษาเสร็จแล้วโดยเฉพาะคดีพิเศษ คดีสำคัญสำคัญที่กำหนด ท่านต้องส่งให้อธิบดีเป็นคนดูและเป็นคนให้คำแนะนำ เขาก็มีกลไกของเขาภายใน ปัญหาก็คือระเบียบนี้พูดว่าอธิบดีให้คำแนะนำและทำความเห็นแย้ง แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องความเป็นอิสระของศาล ไม่ได้พูดถึงว่าถ้าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่เชื่ออธิบดีเยอะๆ จะเป็นอย่างไร มันก็เกิดสภาวะที่กดดันหรือเปล่า ผมตั้งคำถาม ผู้พิพากษาบางท่านก็อาจจะบอกว่าไม่ได้กดดันหรอก ก็เป็นความเห็นต่าง คุณก็พิพากษาคดีของคุณไป แล้วอธิบดีก็ให้ความเห็น ก็เป็นความเห็นตามนั้ไม่มีผลในการเลื่อน ลด ปลดชั้นใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันไม่มีถ้อยคำเหล่านี้เขียนบอกไว้ในระเบียบ เมื่อไม่มี ผู้พิพากษาอาจไม่ตั้งคำถาม แต่คนนอกอย่างผมตั้งคำถามว่าถ้าเราไม่เชื่อนาย ไม่เชื่ออธิบดีบ่อยๆ จะเป็นอะไรหรือเปล่า

ผมมีข้อเสนอ 2 ประเด็น ข้อที่ 1 ให้ยกเลิกการให้ส่งร่างคำพิพากษาและสำนวนให้อธิบดีตรวจ มันจะตัดปัญหาทั้งหมดในเรื่องความเป็นอิสระของศาล ปัญหาอยู่ที่ระเบียบตรงนี้ ถ้าเรายกเลิกไปผมว่าจบ ผู้พิพากษาก็มีอิสระในการทำคำพิพากษา

ข้อ 2 ถ้าจะไม่เลิก จะต้องรักษาระเบียบนี้ไว้ ก็คงได้ แต่ผมว่าการคงไว้ซึ่งระเบียบนี้ควรจะปรับอยู่ 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 อธิบดีควรให้คำแนะนำเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ส่วนปัญหาข้อเท็จจริงผมว่าคนที่เป็นผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนที่เขาสืบพยาน เขาน่าจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในการชี้ข้อเท็จจริงเพราะผู้พิพากษาที่นั่งสืบพยาน เขาเป็นคนฟังพยาน เป็นคนเห็นสายตาพยาน เป็นคนเห็นอากัปกิริยาของพยานว่าพูดจริง พูดเท็จ พูดมีน้ำหนักขนาดไหน เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงต้องให้คนที่เขาสืบพยานเป็นคนชี้ เป็นคนตัดสินข้อเท็จจริงได้ดีที่สุด

เช่นคดีของท่านคณากรก็ได้คำพูดของคนที่ถูกขังในกฎหมายฉุกเฉิน เราบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถขังได้ 7 วันตามกฎอัยการศึกและสามารถขยายได้ถึง 30 วันตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ปัญหาที่ว่าคำพูดของคนที่ถูกขังในสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ อันนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลฎีกาในปัจจุบันได้มีบรรทัดฐานไว้แล้วว่า คนที่ถูกขังตามกฎหมายฉุกเฉินทั้งหลายพูดอะไรออกมารับฟังได้เพราะเขายังไม่ใช่ผู้ต้องหา เขาเป็นแค่ผู้ต้องสงสัย นี่คือบรรทัดฐานของศาลฎีกาในปี 60 เพราะฉะนั้นถ้าผู้พิพากษาจะตรวจสำนวนบอกว่าคำพูดของคนที่ถูกขังตามกฎหมายฉุกเฉินฟังไม่ได้ ไม่ให้ฟังเลย เพราะมีความเห็นในข้อกฎหมายต่างกัน อย่างนี้เป็นการเถียงในเรื่องข้อกฎหมาย ถ้าเจ้าของสำนวนบอกว่าผมไม่ฟัง แล้วอธิบดีบอกว่าให้ฟัง ต้องเดินตามฎีกาอย่างนี้ท่านอธิบดีอาจจะให้คำแนะนำได้ว่าให้ฟัง

แต่ถ้าถึงขนาดว่าอธิบดีให้คำแนะนำผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนให้ฟังและให้น้ำหนักเพื่อลงโทษจำเลยด้วยและพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีท่านอธิบดีเห็นว่ามีน้ำหนักพอลงโทษแล้ว แต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเห็นว่าผมก็ฟังแต่ไม่มีน้ำหนักและไม่น่าจะลงโทษได้ตามหลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ แบบนี้ผมว่าอธิบดีไม่น่าจะเข้าไปแทรกแซงหรือให้คำแนะนำได้เพราะอธิบดีไม่ใช่คนสืบพยาน คนฟังพยาน ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอยู่ในจุดที่ชี้ข้อเท็จจริงได้มากกว่า ซึ่งเป็นดุลพินิจในการชี้ปัญหาข้อเท็จจริงผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เพราะฉะนั้นถ้าจะให้คงระเบียบนี้ ขอให้ตรวจเฉพาะข้อกฎหมายได้หรือไม่ และจะบรรลุวัตถุประสงค์ของระเบียบนี้ด้วยเพราะระเบียบนี้ในข้อ 14 ระบุว่าการตรวจร่างเพื่อไม่ให้ผู้พิพากษารุ่นใหม่ๆ ไปแหวกแนวฎีกาหรือไม่รักษาแนวฎีกาและทำให้เกิดความเสียหาย

ประเด็นที่ 2 ถ้าจะคงระเบียบไว้ต้องมีการยืนยันความเป็นอิสระของศาลไว้ในระเบียบด้วย เพราะในระเบียบปี 62 พูดถึงแต่ว่าให้ผู้พิพากษาชั้นต้นทำอะไร แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าไม่ทำจะเกิดอะไร เพราะฉะนั้นน่าจะยืนยันความเป็นอิสระที่ว่าอธิบดีแนะนำไป ให้ความเห็นไป ถ้าคุณไม่ทำ เช่น เขียนเป็นระเบียบออกมาว่าการไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้บริหารโดยมีเหตุผลเป็นเพียงความเห็นต่างในทางข้อกฎหมายหรือเป็นความเห็นต่างในทางกฎหมายไม่มีผลเสียต่อการดำรงสถานะหรือตำแหน่งในอนาคตของท่านเลย ซึ่งผู้พิพากษาบอกว่าไม่ต้องเขียนหรอก มันก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่เมื่อยิ่งรู้กันอยู่แล้วก็ยิ่งต้องเขียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่เขาไม่ทราบหรือคนที่เขาไม่แน่ใจ

ผมสรุปเป็นการปะทะกันของ 2 แนวคิด แนวคิดที่ 1 ก็คือทางผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวน เขาก็ไม่อยากให้เข้ามาแทรกแซง ไม่อยากให้เข้ามาตรวจ ที่เขาบอกว่าให้คืนคำพิพากษาให้ตัวเขา เขาจะได้พิพากษาโดยอิสระภายใต้ข้อเท็จจริง แล้วถ้าคำพิพากษาไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ก็มีกลไกทางกฎหมายอยู่แล้วคือการอุทธรณ์ ฎีกา มาแก้ไขอยู่แล้ว ซึ่งผู้พิพากษารุ่นใหม่ๆ ก็พยายามรักษาความอิสระ

อีกแนวคิดหนึ่งอาจจะเป็นผู้พิพากษาที่อาวุโสหน่อย คิดว่าคำพิพากษาของศาลเด็กๆ ไม่มีคุณภาพเพราะตัดสินอะไรมาเดี๋ยวศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกากลับหมด เมื่อกลับหมดเลย ขอไปดูหน่อยได้ไหม ขอไปทำแนวให้มันตรงๆ หน่อยได้ไหม ความยุติธรรมจะได้ลงไปถึงประชาชนตั้งแต่ชั้นต้น ไม่ต้องรอไปถึงอุทธรณ์ ฎีกา เขาก็มีเหตุมีผล ดูเฉพาะคดีสำคัญสำคัญที่ว่า ให้คำแนะนำ ให้ความเห็นแย้ง และท้ายที่สุดผู้พิพากษาองค์คณะจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ เพราะในตัวลายลักษณ์อักษรทั้งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ทั้งตัวระเบียบตัวปี 62 ก็ไม่มีบอกว่าถ้าไม่เชื่อจะเกิดอะไรขึ้น

การปะทะกันของ 2 แนวคิดนี้ก็น่าตั้งคำถามว่า ถ้าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ตรงกับคำพิพากษาที่ผู้พิพากษาอาวุโสวางแนวไว้ ท่านบอกได้ยังไงว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคุณภาพน้อยกว่าศาลข้างบน บางทีศาลชั้นต้นอาจพิพากษาได้ดีกว่าคำพิพากษาที่เป็นแนวเดิมก็ได้ เพราะการดำเนินคดีในระบบ civil law กฎหมายจะต้องเป็นหลัก ส่วนแนวคำพิพากษาก็เป็นแนวอยู่ จนถึงจุดหนึ่งถ้ามันตีความไม่ถูกต้อง มีข้อเท็จจริงใหม่ หรือมีข้อกฎหมายใหม่ขึ้นมาศาลฎีกาก็เคยเปลี่ยนแนวและก็เคยเปลี่ยนแนวอยู่บ้าง แม้ไม่บ่อยนัก แต่ก็เปลี่ยน คำพิพากษาในระบบ civil law ไม่ได้เป็นตัวหลักของกฎหมาย ในระบบที่เราใช้อยู่ตัวกฎหมายเป็นหลัก

ศาลอุทธรณ์ควรสืบพยานเอง ถ้าจะกลับข้อเท็จจริง

ประเด็นต่อเนื่องมาก็คือ บางคนอาจจะบอกว่าถ้าศาลชั้นต้นไม่ถูกคุมเลย แล้วพิพากษาไปตามของเขาเลย เดี๋ยวขึ้นไปศาลอุทธรณ์ต้องกลับอยู่ดี ประเด็นนี้ผมเห็นว่าศาลอุทธรณ์ทุกวันนี้มีอำนาจพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ข้อกฎหมายมีอำนาจอยู่แล้วไม่มีปัญหา แต่ปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร พยานน่าเชื่อหรือไม่อย่างไร มีน้ำหนักพอที่จะลงโทษหรือไม่ ทุกวันนี้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้เห็นพยาน ท่านอ่านสำนวนแล้วก็ชี้ขาด สมมติศาลชั้นต้นบอกว่าไม่ทำ ศาลอุทธรณ์อ่านสำนวนเสร็จ หน้าพยานยังไม่เห็นเลย แต่บอกว่าน่าเชื่อว่าทำ ผมว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดคือคนที่สืบพยานเพราะฉะนั้นศาลอุทธรณ์ควรจะสืบพยานด้วย ถ้าจะกลับข้อเท็จจริงควรเรียกพยานมาสืบใหม่

มีบทบัญญัติที่ดีอันหนึ่ง แต่เรายังไม่ได้ใช้กันมากหรืออาจไม่ได้ใช้เลย ปี 2551 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้การสืบพยานในศาลชั้นต้นให้บันทึกภาพและเสียงพยานไว้เพื่อรวมให้ศาลอุทธรณ์ดู ผมคิดว่าอันนี้ถ้าทำได้ปัญหาที่จะเถียงกันว่า เวลาพยานหรือคู่ความให้ปากคำ ศาลบางทีจดบ้างไม่จดบ้าง มันจะหมดปัญหาไปเพราะทุกปากถูกบันทึกไว้ในวีดีโอเทปและรวมไปกับสำนวน แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่เรียกพยานมาสืบใหม่ ท่านอยากจะกลับข้อเท็จจริง ท่านก็เปิดเทปนี้ดู จริงๆ กฎหมายเรามีแล้ว ถ้าศาลท่านสามารถติดวีดีโอได้หมด มันก็จะช่วยได้ ทั้งที่ตัวไม่ได้เห็นพยาน ผมคิดว่าถ้าปรับตรงนี้ได้ ความชัดเจนในการดำเนินคดีอาญารวมทั้งคดีอื่นๆ น่าจะชัดเจนขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net