Skip to main content
sharethis

พิษเศรษฐกิจชะลอตัว ส.อ.ท.หั่นเป้าผลิตรถยนต์ปีนี้เหลือ 2 ล้านคัน ยันไม่ถึงขั้นเลิกจ้าง แต่อาจมีการปรับลด OT ลง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่’ประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่ากลุ่มยายยนต์ได้ปรับประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปี 2562 ใหม่อยู่ที่ 2 ล้านคัน ลดลง 1.5 แสนคัน จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 2.15 ล้านคัน ต่ำกว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 2561 ที่ผลิตได้ 2.16 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อส่งออกคาดจะผลิตได้ 1 ล้านคัน ลดลง 1 แสนคัน จากเดิมคาดไว้ที่ 1.1 ล้านคัน ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศคาดจะผลิตได้ 1 ล้านคัน ลดลง 50,000 คัน จากเดิมคาดไว้ที่ 1.05 ล้านคัน

ปัจจัยที่ทำให้ปรับลดเป้าหมายเนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่การจำหน่ายในประเทศที่ลดลงจากสถานการณ์น้ำท่วมและความเข้มงวดที่มากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม หากตลาดรถยนต์ชะลอตัวลงในช่วงสั้นๆ คงไม่ถึงขั้นต้องเลิกจ้างงาน แต่อาจมีการปรับลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลาลงบ้าง โดยจำเป็นต้องติดตามภาคการท่องเที่ยวจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เศรษฐกิจดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้จากภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนกับภาครัฐ รวมถึงแนวโน้มค่าเงินบาท เหล่านี้เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน ทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์น่าจะฟื้นตัวได้ในปี 2563

สำหรับยอดผลิตรถยนต์เดือน ก.ย. 2562 ที่ผ่านมาเทียบช่วงเดียวกับปีก่อนลดลง 7.49% อยู่ที่ 1.69 แสนคัน เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 8.24% อยู่ที่ 91,119 คัน ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 6.59% อยู่ที่ 78,355 คัน ส่วนยอดผลิตรถยนต์รวมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 2562) ลดลง 1.96% อยู่ที่ 1.57 ล้านคัน เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 5.72% อยู่ที่ 8.14 แสนคัน ขณะที่ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 2.42% อยู่ที่ 7.57 แสนคัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/10/2562 

ตัวแทนเครือข่ายพนักงานบริการเรียกร้องรัฐแก้ปัญหา 6 ข้อ

นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก นายวรกร โชติกิจวานิชกุล ตัวแทนเครือข่ายพนักงานบริการ และคณะ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้กับพนักงานบริการ พร้อมยื่นข้อเสนอในการแก้ปัญหาให้กับพนักงานบริการ จำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วย ขอให้รัฐยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ขอให้รัฐหยุดการจับกุม ล่อซื้อกับพนักงานบริการ ในความผิดจากการค้าประเวณี ตามที่รัฐได้รับรองในระดับนานาชาติ ขอให้รัฐจัดตั้งคณะทำงานที่มีทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนพนักงานบริการ อย่างน้อย 1 ใน 3 ของคณะทำงาน

รวมถึงตัวแทนผู้ประกอบการ นักวิชาการ นักกฎหมาย ได้ศึกษาทบทวน ยกเลิกการเอาผิดกับคนทำงานบริการทางเพศต่อไป และพิจารณาข้อจำกัดบางประการของกฎหมายที่มีบังคับใช้อยู่แล้ว เช่น กฎหมายสถานบริการ ขอให้รัฐจัดตั้งคณะในการติดตามบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามข้อเสนอ CEDAW ปี 2017 กับสถานบริการ ขอให้รัฐจัดตั้งคณะทำงานติดตามการจัดสภาพการทำงาน เงื่อนไขการทำงาน ให้พนักงานบริการสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อาทิ ด้านสุขภาพ และขอให้รัฐสนับสนุนจัดตั้งกองทุนให้พนักงานบริการสามารถเข้าถึงการศึกษา และการพัฒนาอาชีพที่ทันสมัย

"การร้องเรียนครั้งนี้ เนื่องจากพนักงานบริการประสบปัญหาหลายด้าน เช่น การถูกเอาเปรียบจากเงื่อนไขทำงานในสถานบริการ พนักงานบริการที่ทำงานในร้านที่ถูกกฎหมายในปัจจุบันยังถูกหักส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 50% และไม่มีสวัสดิการใด ๆให้กับพนักงานบริการ ซึ่งผิดกฎหมายแรงงาน การถูกบังคับให้ดื่ม การไม่มีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะเลือกหรือปฏิเสธลูกค้า และการถูกบุคคลที่อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับเงินเพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้" นายวรกร กล่าว

ด้านนางมุกดา กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะรับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ พร้อมจะตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางเพศของหน่วยงานหรือกฎหมายที่ล้าหลังที่ควรเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 17/10/2562 

ศาลพิพากษา 'มูลนิธิเซนต์คาเบรียลฯ' จ่ายค่าชดเชย-เงินบำนาญ 'ครูอัสสัมชัญเกษียณ'

เฟซบุ๊ก พิทักษ์สิทธิครูอัสสัมชัญ ได้โพสต์ข้อความถึงความคืบหน้ากรณีการเรียกร้องของครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่เกษียณ แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกผู้บริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ที่ไม่จ่ายเงินเกษียณตามสิทธิครู ไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย และไม่จ่ายเงินบำนาญตามสัญญาจ้าง จนนำมาสู่การฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน โดยเพจพิทักษ์สิทธิครูอัสสัมชัญระบุว่า 7 ต.ค. 2562 ศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย จ่ายค่าชดเชย และเงินบำนาญ ให้ครูอัสสัมชัญที่เกษียณอายุร่วมสิบปี พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่เกษียณอายุ ภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ บทสรุปคำพิพากษาศาลแรงงานในคดีครูเกษียณอัสสัมชัญ มีดังนี้ ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาว่า มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย เป็นนายจ้างของครูโรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม และให้มีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ครูอัสสัมชัญที่เกษียณอายุมาร่วมสิบปี ทั้งสิบท่าน พร้อมดอกเบี้ย และให้ร่วมกับโรงเรียนอัสสัมชัญทั้งสองแผนก จ่ายเงินบำนาญให้แก่ครูเกษียณอัสสัมชัญทั้งสี่ท่าน พร้อมดอกเบี้ย ภายใน 15 วัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 17/10/2562 

กระทรวงแรงงาน อุดหนุนงบประมาณจัดทำโครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ

17 ต.ค. 2562 พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน น.ส.กาญจนา หันชัยศรี ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพด้านเครื่องปั้นดินเผาในโครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ โดยสำนักงานจัดหางาน จ.ราชบุรี ณ พิพิธภัณฑ์เรื่องของโอ่ง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพที่ผู้สูงอายุเลือก

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยประชากรที่อยู่ในวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประมาณการว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 20.52 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด เพื่อรองรับบริบทสังคมสูงวัยของประเทศไทยในอนาคต รัฐบาลได้กำหนดวาระการปฏิรูปประเทศตามกรอบการปฏิรูป 11 ด้าน 37 วาระการปฏิรูป

โดยในวาระปฏิรูปที่ 30 กำหนดให้มีการปฏิรูปสังคมสูงวัยโดยการปฏิรูประบบการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มคุณค่าและศักยภาพของผู้สูงอายุในการประกอบอาชีพ และส่งเสริมการจ้างงานให้กับผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยวุฒิ ประสบการณ์ และสมรรถภาพของร่างกาย รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงได้มีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถ และ ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติ เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีหลักประกันเรื่องรายได้ไม่เป็นภาระครอบครัว และสังคม

นางณัฐนา ศรีขวัญ อายุ 71 ปี ประธานกลุ่มสตรี ต.เกาะพลับพลา ม.1 อ.เมือง จ.ราชบุรี บอกว่า เฉพาะที่กลุ่มฯ มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ถึง 76 ปี เริ่มแรกกลุ่มฯ จะแปรรูปอาหารต่อมาเป็นงานฝีมือ เช่น เย็บผ้า ทำกระเป๋าจากผ้าขาวม้า ผ้าทอ เป็นต้น เพราะต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการเสริมรายได้ลดรายจ่ายในครอบครัว พอทราบว่า ก.แรงงานงานมีโครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ จึงสนใจเข้าร่วมอบรมฝึกทักษะเพราะจะได้นำความรู้ไปเผยแพร่ในหมู่บ้านและชุมชน

ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน มีเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ (บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย) จำนวน 18,180 คน แยกเป็น กิจกรรมสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุที่ต้องการประกอบอาชีพหรือทำงานเป้าหมาย 15,600 คน และนายจ้างสถานประกอบการ จำนวน 5,000 แห่ง | กิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระให้ผู้สูงอายุ เป้าหมาย ผู้สูงอายุ จำนวน 1,720 คนกิจกรรมสร้างคุณค่าภูมิปัญญาผู้สูงอายุ | เป้าหมาย ผู้สูงอายุที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น จำนวน 86 รุ่น 860 คน ติดต่อสอบถาม สนง.จัดหางานจังหวัดในพื้นที่ได้ทั่วประเทศ และ กรมการจัดหางาน สายด่วน 1506

ที่มา: ThaiPBS, 17/10/2562 

สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ สั่ง IFEC จ่ายเดือนลูกจ้าง

วันที่ 18 ต.ค. 2562 กรณีนายวีระชาติ คงสาหร่าย หัวหน้าผู้ตรวจสอบภายใน IFEC กับพวกรวม 35 คน ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์เอ็นเนอร์ยี่คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อ IFEC ได้ยื่นร้องต่อพนักงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เมื่อ 28 ส.ค.62 ว่าบริษัท IFEC และนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างเดือน ส.ค. 2562

จากการตรวจสอบข้อร้องเรียนทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างทั้งสองฝ่ายแล้ว ล่าสุด นายณัฐ ปอเจริญ เจ้าพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้มีคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่เขต 5 ที่ 50/2562 ลงวันที่ 18 ต.ค. 2562 สั่งให้บริษัท IFEC โดย นาย.....กรรมการผู้มีอำนาจในฐานะนายจ้าง จ้างเงินค่าจ้างรวมเป็นเงิน 2,020,645 บาท (สองล้านสองหมื่นหกร้อยสี่สิบห้าบาทถ้วน) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายวีระชาติกับพนักงานทั้ง 35 คน ภายใน30วันนับแต่วันที่ทราบ หรือถือว่าทราบคำสั่ง โดยนำเงินดังกล่าวไปจ่าย ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่เขต 5 อาคารประกันสังคม ชั้น 8 กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี กทม. ในวันเวลาราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์เอ็นเนอร์ยี่คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายพลังงานทดแทน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2562 กรรมการของบริษัทมี 8 คนประกอบด้วย พล.ต.บุญลิศ แจ้งนพรัตน์ นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ นายพิชิต สินพัฒนสกุล นายหาญ เชี่ยวชาญ นายกุดัน สุขุมานนท์ นายทวิช เดชะนาวากุล นายบุญเลิศ เอี้ยวพรชัย และ น.ส.ประนอม โฆวินวิพัฒน์

ที่มา: ไทยโพสต์, 18/10/2562 

แรงงานบริษัท เจ.เค.ชนาธาร จ.พะเยา รวมตัวร้องเปิดโรงงานหลังได้รับผลกระทบจากการถูกสั่งปิดโรงงานเรื่องน้ำเสียและกลิ่นเหม็น

แรงงานทั้งชาวไทยและพม่า ของบริษัทเจ.เค.ชนาธาร ในพื้นที่อำเภอเชียงคำจังหวัดพะเยา รวมตัวเรียกร้องกับทางจังหวัดพะเยา หลังได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากถูกปิดโรงงาน เนื่องจากถูกร้องเรื่องน้ำเสียและกลิ่นเหม็น ถึงแม้จะมีการแก้ไขตามที่อุตสากรรมกำหนด แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ จึงเข้าเรียกร้องเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการ ไม่มีงานทำและไม่มีรายได้จากการหยุดกิจการ

แรงงานซึ่งมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานพม่ารวมกว่า 200 คน ของบริษัทเจ.เค.ชนาธาร ในพื้นที่ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำจังหวัดพะเยา ต้องรวมตัวกัน เข้าเรียกร้องต่อทางจังหวัดหลังได้รับความเดือดร้อนเจากการที่โรงงานถูกสั่งหยุดกิจการ เนื่องจากถูกร้องเรียนเรื่องของกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้และส่งผลกระทบต่อแรงงานที่มีกว่า 300 คน ที่ไม่สามารถที่จะทำงานได้และก็ไม่มีรายได้จากการทำงาน เพราะโรงงานถูกสั่งปิดนานกว่า 2 เดือนแล้ว และแรงงานดังกล่าวนั้นได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน และจ้างเหมา จนเป็นสาเหตุให้แรงงานดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนหนักจากการไม่มีรายได้

แกนนำของแรงงานของบริษัทเจเคชนาธาร ระบุว่าขณะนี้พวกตนได้รับความเดือดร้อนจากการที่ถูกปิดโรงงาน มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้ ทั้งที่ได้มีคำสั่งให้ทางโรงงานมีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดจนสามารถที่จะลดปัญหาตามที่อุตสาหกรรมกำหนดได้แล้วแต่ก็ไม่สามารถเปิดกิจการได้ ได้มีการทวงถามกับทางโรงงาน แต่ก็ไม่มีกำหนดที่ชัดเจนในเรื่องของการที่จะเปิดทำการและทำให้พวกเราไม่มีงานทำและมีรายได้ ดังนั้นในวันนี้จึงเดินทางมาเรียกร้องเพื่อข้อความเป็นธรรมกับแรงงานและโรงงานเพื่อสามารถให้เปิดดำเนินกิจการได้ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามที่อุตสาหกรรมกำหนดไว้แล้วเพื่อให้แรงงานดังกล่าวที่มีอยู่ประมาณ 300 กว่าคนมีงานทำและมีรายได้

ที่มา: เชียงใหม่นิวส์, 18/10/2562 

เปิดศูนย์ช่วยคนเข้ามาหางานทำไม่ถูกหลอก

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เปิดศูนย์บริการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน แห่งที่ 3 ขึ้น ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพมหานคร (ถนนบรมราชชนนี) หรือสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เพื่อให้บริการคนหางาน ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดแบบครบวงจร พร้อมคุ้มครองดูแลคนหางานให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย อำนวยความสะดวกขยายการให้บริการแก่ประชาชนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญป้องกันอันตรายจากมิจฉาชีพ ที่จะเข้ามาหลอกลวงคนหางานให้ตกเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะขบวนการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการรับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน และการให้บริการจัดหางาน และขึ้นทะเบียนไปทำงานในต่างประเทศด้วยก่อนหน้านี้ ได้เคยเปิดศูนย์บริการไปแล้ว ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 และสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ch7.com, 17/10/2562 

กสร.เปิดผลการตรวจคุ้มครองแรงงาน ปีงบฯ 2562 ตรวจสถานประกอบกิจการ 36,542 แห่ง

นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยผลการตรวจแรงงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ในปีงบประมาณ 2562 (1ต.ค.61-30 ก.ย.62) ว่า กสร.ได้ดำเนินการตรวจแรงงานในระบบ ตรวจแรงงานในกิจการกลุ่มเสี่ยง และตรวจโดยชุดเฉพาะกิจ รวมสถานประกอบกิจการผ่านการตรวจจำนวน 36,542 แห่ง ลูกจ้างผ่านการตรวจ 1,302,227 คน พบการกระทำผิด 9,981 แห่ง

ขณะที่การตรวจแรงงานในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 403 แห่ง ลูกจ้าง 32,639 คน พบกระทำผิด 94 แห่ง รวมไปถึงการตรวจคุ้มครองแรงงานประมง โดยบูรณาการตรวจแรงงานประมง 22 จังหวัดชายทะเล มีเรือประมงที่ผ่านการตรวจ 529 ลำ ลูกจ้าง 7,203 คน พบเรือประมงที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 14 ลำ และการตรวจแรงงานประมง ณ ศูนย์ PIPO 59,719 ลำ ลูกจ้าง 714,482 คน พบการกระทำผิด 30 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติไม่ถูกต้องในเรื่องการจ่ายค่าจ้างค่าล่วงเวลา

ทั้งนี้พนักงานตรวจแรงงานได้ดำเนินการออกคำสั่งกับสถานประกอบกิจการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องส่งผลให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คิดเป็นเงินกว่า 83 ล้านบาท นอกจากนี้ กสร.ยังดำเนินการในเชิงป้องกัน โดยส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้างมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตนเองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน รวมทั้งให้ความ สำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ เพื่อให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองดูแลและส่งเสริมให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีได้รับสิทธิตามกฎหมายและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 17/10/2562 

สื่อประชาชาติธุรกิจ สำรวจข้อมูลสถิติแรงงาน 9 จังหวัด พบว่างงาน 153,193 คน

ภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้า หลายบริษัทลดขนาดองค์กร และถึงขั้นปิดกิจการ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจข้อมูลสถิติการว่างงานจากสำนักงานแรงงานจังหวัด 9 จังหวัด เริ่มจากจังหวัดสมุทรปราการ ได้รายงานข้อมูลประชากรในจังหวัดมี 1,889,118 คน มีงานทำ 1,357,410 คน ไตรมาส 1 ว่างงาน 22,654 คน ไตรมาส 2 ว่างงาน 19,183 คน เมื่อเทียบไตรมาส 1 พบลดลง 3,471 คน | จำนวนประชากรของชลบุรี มี 1,484,630 คน มีงานทำ 1,072,396 คน ไตรมาส 1 ว่างงาน 21,524 คน ไตรมาส 2 ว่างงาน 21,524 คน เมื่อเทียบไตรมาส 1 พบเพิ่มขึ้น 2,026 คน | จำนวนประชากรขอนแก่น มี 1,457,500 คน มีงานทำ 905,159 คน ไตรมาส 1 ว่างงาน 21,524 คน และไตรมาส 2 ว่างงาน 4,194 คน เมื่อเทียบไตรมาส 1 พบลดลง 17,330 คน

จำนวนประชากรของลพบุรี มี 757,746 คน มีงานทำ จำนวน 439,272 คน โดยไตรมาส 1 ว่างงาน 2,617 คน ไตรมาส 2 ว่างงาน 9,559 คน เมื่อเทียบไตรมาส 1 พบเพิ่มขึ้น 6,942 คน | จำนวนประชากรของระยอง มี 753,842 คน มีงานทำ 582,290 คน ไตรมาส 1 ว่างงาน 3,345 คน ไตรมาส 2 จำนวน 6,609 คน เมื่อเทียบไตรมาส 1 พบเพิ่มขึ้น 3,264 คน | ประชากรของพระนครศรีอยุธยา มี 740,866 คน มีงานทำ 505,715 คน ไตรมาส 1 ว่างงาน 6,094 คน ไตรมาส 2 ว่างงาน 9,559 คน เมื่อเทียบไตรมาส 1 พบเพิ่มขึ้น 1,205 คน | จำนวนประชากรของฉะเชิงเทรา มี 673,251 คน มีีงานทำ 441,377 คน ไตรมาส 1 ว่างงาน 1,283 คน ไตรมาส 2 ว่างงาน 2,191 คน เมื่อเทียบไตรมาส 1 พบเพิ่มขึ้น 909 คน | จำนวนประชากรของสระบุรี มี 645,372 คน มีงานทำ 384,788 คน ไตรมาส 1 ว่างงาน 3,926 คน ไตรมาส 2 ว่างงาน 8,958 คน เมื่อเทียบไตรมาส 1 พบเพิ่มขึ้น 5,023 คน | จำนวนประชากรของภูเก็ต มี 540,635 คน มีงานทำ 324,66 คน ไตรมาส 1 ว่างงาน 3,643 คน และไตรมาส 2 ว่างงาน 4,637 คน เมื่อเทียบไตรมาส 1 พบเพิ่มขึ้น 994 คน | เมื่อรวมสถิติจำนวนประชากรว่างงาน ทั้ง 9 จังหวัดมีประชากรว่างงานทั้งหมด 153,193 คน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/10/2562 

จี้แก้ กม.ดึง ‘ลูกจ้างเหมาบริการ’ เข้าระบบคุ้มครองแรงงาน-ประกันสังคม-เงินทดแทน

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวของทุกหน่วยงานเป็นการจ้างเหมาบริการ ว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานของรัฐหันมาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการจ้างเหมาบริการ ซึ่งเป็นการแปรงบพัสดุมาจ้างคน จึงทำให้รูปแบบการจ้างเป็นเรียกว่าการจ้างทำของ จึงไม่เข้าความคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายเงินทดแทน และกฎหมายประกันสังคม ทำให้ขาดสิทธิประโยชน์ตรงนี้ไป ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เพียงลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ออกมาเรียกร้องเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ รวมกันกว่า 4 แสนคน ที่ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย เมื่อเกิดการจ้างงานรูปแบบนี้

นายมนัส กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาด้วยการแก้ไขกฎหมาย ให้ลูกจ้างเหมาบริการเหล่านี้เข้ามาอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมาย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อาจต้องไปแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 4 เพื่อกำหนดให้ลูกจ้างเหมาบริการเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.ประกันสังคม และ พ.ร.บ.เงินทดแทน ก็จะช่วยให้ได้รับสิทะประโยชน์ ส่วนที่กังวลว่า เมื่อปรับการจ้างงานมาเป็นจ้างเหมาบริการแล้วไม่ได้สิทะประกันสังคมจะทำให้ขาดการส่งเงินสมทบจนกระทบต่อเงินบำราญชราภาพนั้น หากมีการกลับเข้ามาสู่ระบบประกันสังคมจะมีการนับอายุงานต่อทันที ไม่ได้เริ่มนับหนึ่งใหม่

"หากปลดล็อกกฎหมายให้ลูกจ้างเหมาบริการเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับนี้ จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนลูกจ้างทั่วไป คือ เกษียณอายุก็ได้เงินบำนาญชราภาพ ค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งตอนนี้ไม่ได้อะไรเลย ส่วนเรื่องของที่มาของงบประมาณลักษณะการจ้างก็ต้องไปว่ากันในเรื่องของสำนักงบประมาณหรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่หากจะให้ได้รับความคุ้มครองต้องแก้กฎหมายให้ครอบคลุมลูกจ้างเหมาบริการ เพราะที่ไม่เข้ากฎมายเนื่องจากถือเป็นสัญญาจ้างทำของ มีหมดสัญญาจ้าง แต่หน่วยงานรัฐเป็นหน่วยงานบริการ ไม่มีคำว่าหมดสัญญาจ้าง จึงจต้องทำให้ลูกจ้างเหมาบริการอยู่ในความครอบคลุมของกฎหมายด้วย" นายมนัส กล่าวและว่า วันนี้ตนได้มีการเสนอเรื่องนี้ต้องสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้เห็นถึงปัญหา

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/10/2562 

ลูกจ้างธุรการ สพฐ. กว่า 200 คน บุก ศธ.ร้องถูกลดชั้่นเป็นจ้างเหมาโดนตัดสวัสดิการและประกันสังคม

15 ต.ค. 2562 เมื่อเวลา 9.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) - ลูกจ้างธุรการโรงเรียน สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 200 คน เดินทางยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. โดยมีนายธนพร สมศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประจำ ศธ.เป็นผู้รับเรื่อง

นายวิชญ์ธพงศ์ พุ่มบุญภาคย์ ประธานสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มลูกจ้างและนักการภารโรงทั่วประเทศกว่า 60,000 คน ถูกจ้างโดยสัญญาจ้างที่ไม่ชอบธรรม โดยจากเดิมเราอยู่ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนมีสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการอื่นๆที่พึงมีได้ แต่ต่อมาปีงบประมาณ 2563 สพฐ.ได้ส่งหนังสือแจ้งการจัดสรรอัตราจ้างเหมาบริการ ซึ่งเมื่อเป็นตำแหน่งการจ้างเหมาบริการทำให้กลุ่มลูกจ้างถูกตัดสวัสดิการและสิทธิประกันสังคมถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการทำงาน ซึ่งกลุ่มลูกจ้างเกิดความลำบากใจอย่างมากและขาดขวัญกำลังใจจึงขอให้ รมว.ศึกษาธิการ มีคำตอบในเรื่องนี้ให้แก่พวกเราด้วย เพราะไม่เช่นนั้นหากไม่ได้รับคำตอบที่พอใจกลุ่มลูกจ้างก็จะไม่กลับและปักหลักทวงถามที่ศธ.จนกว่าได้จะรับคำตอบให้กลุ่มลูกจ้างได้เป็นพนักงานราชการหรืออย่างน้อยให้กลับไปตำแหน่งลูกจ้างตามเดิม

ด้านตัวแทนกลุ่มลูกจ้างรายหนึ่งจากโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัดกระบี่ กล่าวว่าพวกเราเดือดร้อนมากและไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้ ซึ่งเราทำงานในตำแหน่งกลุ่มลูกจ้างธุรการในโรงเรียนมานานกว่า 10 ปี และอยู่ๆก็มาเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มอัตราจ้างให้เป็นจ้างเหมาแทน ทำให้พวกเราเกิดความไม่มั่นคงในอาชีพ เพราะขณะนี้ทราบข้อมูลมาว่าบางเขตพื้นที่ไม่ต่อสัญญาจ้างแล้วด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลให้คำตอบว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเพราะรัฐไม่มีเงินสมทบประกันสังคมให้จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้การจ้างเหมาะแทน ซึ่งประเด็นนี้พวกเรามองว่ารัฐทำไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีความแตกต่างระหว่างลูกจ้างชั่วคราวกับลูกจ้างเหมาบริการ เช่น สิทธิประโยชน์เกื้อกูล หากเป็นลูกจ้างชั่วคราว มีสิทธิลา มีสิทธิประกันสังคม และสิทธิอื่นๆ ที่ส่วนราชการกำหนด แต่เมื่อเป็นลูกจ้างเหมาบริการ ไม่มีสิทธิประโยชน์เกื้อกูลใดๆ หรือแม้กระทั่งงบประมาณที่ใช้จ้างก็แตกต่างกัน เป็นต้น

ด้านนายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (รองปลัด ศธ.) รักษาราชการแทนปลัด ศธ. กล่าวว่าในวันที่ 16 ต.ค. 2562 นี้ ตนและผู้บริหาร สพฐ.จะไปหารือและชี้แจงกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มครูธุรการกลุ่มนี้ให้ โดยจะเป็นการเยียวยาให้แก่กลุ่มครูธุรการที่มีปัญหานี้เท่านั้น เพราะกลุ่มธุรการดังกล่าวถูกจ้างเป็นอัตราจ้างมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2562 แต่เมื่อปีงบประมาณ 2563 สำนักงบประมาณแจ้งเปลี่ยนสัญญาการจ้างกลุ่มอัตราจ้างให้เป็นจ้างเหมาบริการแทนจึงเป็นความเดือดร้อนของกลุ่มลูกจ้างกลุ่มนี้ ดังนั้นตนจะไปชี้แจงกระทรวงการคลังให้รับทราบถึงปัญหาและขอให้กลับใช้สัญญาจ้างเป็นอัตราจ้างเหมือนเดิม และจะให้ได้รับสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการต่างๆที่พึ่งมีตามเดิม ทั้งนี้ ศธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจพร้อมช่วยเหลือแก้ปัญหาให้อย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับคำตอบภายในวันที่ 25 ต.ค. นี้

ที่มา: ไทยโพสต์, 15/10/2562 

ก.แรงงาน ชวนมีสมุดประจำตัว การันตีทักษะฝีมือ

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานในกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการปรับปรุงการให้บริการกำลังแรงงาน และประชาชนทั่วไป ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนยุ่งยาก และประหยัดการใช้สำเนาเอกสารต่างๆ นั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงงาน จึงได้จัดทำ "สมุดประจำตัว" ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 สำหรับใช้ในการบันทึกประวัติบุคคลที่เกี่ยวกับการศึกษา การฝึกอบรม การสัมมนา การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การประกอบอาชีพ การทำงานที่ผ่านมา และข้อมูลด้านอื่นๆ โดยสมุดประจำตัว สามารถใช้เป็นหลักฐานในด้านต่างๆ อาทิ ขอประเมินรับรองความรู้ความสามารถกับ กพร. ใช้เป็นหลักฐานในการสมัครงาน ติดต่อราชการ และสะดวกในการพกพา หรือกรณีใบรับรองต่างๆ สูญหายไม่ต้องขอทำใหม่เพราะมีบันทึกข้อมูลแล้วในสมุดประจำตัว เป็นต้น

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้สนใจจะมีสมุดประจำตัว ในส่วนกรุงเทพมหานคร ยื่นขอได้ที่กพร. หรือสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร (วัดธาตุทอง) และพื้นที่เขต 1-5 ส่วนจังหวัดอื่นๆ ติดต่อได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หลักฐานในการยื่นคำขอ ประกอบด้วยรูปถ่ายขนาด 1x1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาเอกสารรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ที่ประสงค์จะบันทึกข้อมูลลงในสมุดประจำตัว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วยกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือ สำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2245 1703 และ www.dsd.go.th/oloc

"เพียงแค่มีสมุดประจำตัว ก็สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่นายจ้างและสถานประกอบกิจการ เพราะข้อมูลที่บันทึกลงในสมุดประจำตัวได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากหน่วยงานของกพร. และจัดเก็บข้อมูลลงในระบบสารสนเทศ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการการันตีความสามารถ ทักษะฝีมือ ประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการประกอบการตัดสินใจในการปรับขึ้นค่าจ้าง หรือเลื่อนตำแหน่งงานอีกด้วย" อธิบดี กพร. กล่าว

ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, 15/10/2562

นักวิชาการเป็นห่วงเด็กจบใหม่ กลุ่มวิชาบริหารธุรกิจ-สังคมศาสตร์ ว่างงาน

รองศาสตราจารย์ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าภาวะการว่างงานของนิสิตนักศึกษาจบปริญญาตรี จะแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะได้รับการจ้างงานภายหลังเรียนจบมาได้ประมาณ 3-4 เดือน

อย่างไรก็ตาม สาขาวิชาที่มีแนวโน้มว่างงานมากที่สุด ยังเป็นกลุ่มสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และบริหารธุรกิจ แต่สำหรับวิชาชีพเฉพาะอย่าง แพทย์ พยาบาล และวิศวกร เป็นสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของภาคธุรกิจ และสถานประกอบการ

นอกจากนี้อีกสาขาวิชาที่เป็นดาวรุ่ง ด้านไอที IT หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ กำลังเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน มีแนวโน้มการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มโปรแกรมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญการเขียนโปรแกรม การคีย์ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ และพัฒนาระบบไอที

ที่มา: ch7.com, 14/10/2562 

เตือนหญิงไทยอย่าหลงเชื่อนายหน้าหลอกทำงานสปาในรัสเซีย

กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่คำเตือนของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ที่ระบุว่า มีหญิงไทยจำนวนมากถูกชักชวนจากกลุ่มนายหน้าให้ไปทำงานนวดสปาในประเทศรัสเซีย โดยโฆษณาว่าจะทำให้มีรายได้และสวัสดิการต่างๆ มากเกินจริง แต่กลับไม่มีการแจ้งถึงกฎระเบียบต่างๆ ให้ทราบ จึงทำให้มีหญิงไทยหลายรายหลงเชื่อแล้วไปประสบปัญหาในการทำงาน ทั้งเรื่องสภาพการทำงานไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ หรือจำนวนรายได้ที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน ส่งผลให้มีแรงงานไทยบางส่วนหนีกลับประเทศ หรือบางรายมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ว่าถูกร้านนวดสปาบางแห่งเอาเปรียบ ขณะที่มีหญิงไทยบางส่วนประสบปัญหาต่างๆ อาทิ ถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทาง พวกนายหน้าเถื่อนเรียกเก็บค่าหัวคิวเป็นเงินจำนวนมาก การตกอยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องทำงานฟรี 1 เดือน โดยถูกนายจ้างอ้างว่าเป็นการทดลองงานหรือฝึกฝนฝีมือ หรือกรณีของแรงงานที่มาใหม่หนีกลับประเทศไทย จะถูกนายจ้างหักเงินเดือนไป โดยอ้างว่าเป็นค่าชดเชยความเสียหายของบริษัทนั้นๆ

กรมการกงสุลจึงขอเตือนคนไทยว่า ขอให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของกลุ่มนายหน้าหรือบริษัทที่มาชักชวนให้ไปทำงานด้วยอย่างละเอียด และขอให้ตัดสินใจอย่างรอบคอบ อีกทั้งขอให้ตรวจสอบรายละเอียดสัญญาจ้างให้ชัดเจน ก่อนตัดสินใจไปทำงาน

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องมีวีซ่าทำงานก่อนออกเดินทางไปทำงานนวดสปาที่ประเทศรัสเซีย และต้องหลีกเลี่ยงการใช้วีซ่าผิดประเภทเพื่อลักลอบเข้าไปทำงานในรัสเซีย มิฉะนั้นจะถือเป็นการทำผิดกฎหมายของรัสเซียที่มีบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดในข้อหานี้ คือการถูกสั่งห้ามเข้าประเทศดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี รวมถึงอาจนำไปสู่มาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคนไทยที่จะเดินทางเข้าในรัสเซียด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 14/10/2562 

ไปรษณีย์ไทยตัดเงิน-สอบวินัย จนท.หนุ่มส่งแชทจีบ-คุกคามลูกค้าสาว

จากกรณีที่ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่งได้ใช้ทวิตเตอร์เล่าเรื่องราวหลังจากพบเจอหนุ่มไปรษณีย์ส่งข้อความแชทมาคุยด้วย บอกเห็นเบอร์โทรศัพท์จากตอนไปรับของที่ไปรษณีย์ พร้อมกับส่งข้อความเชิงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กลายเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก

ความคืบหน้าล่าสุด ทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ส่งหนังสือชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงที่ได้ทำการตรวจสอบพบว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริง และถือเป็นการรุกล้ำละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสร้างความไม่พอใจให้กับลูกค้าที่ใช้บริการ

ไปรษณีย์ไทย ระบุว่า หลังได้รับแจ้งได้ประสานงานไปยังไปรษณีย์ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ฯ คนดังกล่าวเป็นอย่างเร่งด่วน ขณะนี้ได้ดำเนินการสั่งตัดเงินเดือนและตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแล้ว และได้ติดต่อกลับไปยังลูกค้าผู้เสียหายในกรณีนี้ เพื่อแสดงความขอโทษต่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ฯ

ส่วนประเด็นที่มีการเสนอแนะให้ยกเลิกแสดงบัตรประชาชนในการฝากส่งสิ่งของเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ทางไปรษณีย์ระบุว่า ขั้นตอนการดำเนินการยังคงเป็นไปเหมือนเดิม ผู้ใช้บริการยังต้องแสดงบัตรประชาชนในการฝากส่งสิ่งของทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 4 และ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2558) เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ ได้เน้นย้ำว่าจะกำชับให้เจ้าหน้าที่ฯ ทุกคนในบริษัท ทำงานอย่างรัดกุมและรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการอีก

ที่มา: Sanook News, 13/10/2562 

ครูอาชีวะเอกชนตัดพ้อสวัสดิการแย่ ฝากผู้บริหารรัฐบาลได้หันมาดูแลสร้างขวัญกำลังใจด้วย

ดร.อดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมป์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี กล่าวเรียกร้องรัฐบาล ว่า การศึกษาอาชีวะเอกชน ได้ถูกคำสั่งมาตรา 44 ฉบับที่ 8/59 ให้ย้ายจากสังกัด คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. มาอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา หรือ สอศ. ปัจจุบัน 3 ปี 8 เดือน เหมือนเราถูกดึงออกจากฝั่ง แต่ตอนนี้ยังมองไม่เห็นฝั่งว่าเราจะไปอยู่ไหน ยังไม่มีกม.รองรับ ทำให้การทำงานยังติดขัดหลายเรื่อง หากเป็นไปได้ ควรยก พรบ.การศึกษาอาชีวะเอกชนเป็นการเฉพาะ หรือ เป็นกฎกระทรวง ที่ทำหน้าที่บริหารงานอาชีวะเอกชน ใน สอศ. เรื่องที่สองความเสมอภาค ความเท่าเทียมของเด็กอาชีวะศึกษาเอกชน ในการจัดการเรียน การสอนในทุกๆหลักสูตร ที่อาชีวะศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ปวช. ปวส. หลักสูตรระยะสั้น ทวิภาคี ถึงระดับปริญญาตรี แต่ทุกวันนี้อาชีวะศึกษาเอกชน เปิดสอนได้เพียง 2-3 หลักสูตร

“และเรื่องสุดท้ายเรื่องเงินเดือนครูอาชีวะเอกชน ที่ยังไม่มีการปรับเพิ่มมา 4 ปี แล้ว เป็นการตัดทอนขวัญกำลังใจของครูอย่างมาก นอกจากเรื่องเงินเดือนแล้ว ยังมีเรื่องของสวัสดิการครูอาชีวะเอกชนทั่วประเทศที่ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล จำกัดวงเงิน 100,000 บาท ต่อคนต่อปี เมื่อไปใช้สิทธิ์ต้องสำรองจ่ายก่อน เบิกทีหลัง ส่วนกองทุนประกันสังคม ไม่ต้องจ่ายก่อน และการรักษาแต่ละโรคไม่จำกัดวงเงิน ครูเอกชนหลายคนที่เป็นโรคเรื้อรัง โรคร้ายแรง เลือกที่จะลาออกเพื่อจะไปใช้สิทธิ์ที่ดีกว่า ส่วนตัวผมจึงเปรียบ เทียบเสมอว่า ครูอาชีวะศึกษาเอกชน มีสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานต่างด้าว จึงฝากผู้บริหารรัฐบาล ได้หันมาดูแลสร้างขวัญกำลังใจด้วย” ดร.อดิศร กล่าว

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 13/10/2562 

รมว.แรงงาน ห่วง 6,300 แรงงานไทยในพื้นที่พายุฮากิบิส กำชับฝ่ายแรงงานฯ ในญี่ปุ่น ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดขอให้แรงงานปฏิบัติตามคำแนะนำจากภาครัฐ

13 ต.ค. 2562 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น จากพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ได้มีประกาศเตือนภัยไต้ฝุ่น หมายเลข 19 (Hagibis) ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เขตคันโต (โตเกียวและพื้นที่โดยรอบ) และเขตโตไก (ชิซึโอกะและพื้นที่โดยรอบ) ทำให้เกิดฝนตกหนักและลมแรงในพื้นที่ดังกล่าว โดยได้รับแจ้งจากอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่นว่า มีแรงงานไทยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 6,300 คน

ทั้งนี้ จึงได้กำชับให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งออกประกาศแจ้งเตือนแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่นผ่านทางช่องทางต่างๆ รวมถึง ประสานกับองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน เพื่อให้แจ้งเตือนแรงงาน และร่วมกันประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากข้อมูลของกรมการจัดหางานพบว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น จำนวนทั้งสิ้น 8,113 คน

รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ขอให้ครอบครัวของแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่นมั่นใจได้ว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยและพร้อมให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ และขอให้แรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น ติดตามข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางภาครัฐอย่างเคร่งครัด โดยแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่นยังสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านทาง TOEA Mobile Application ของกรมการจัดหางาน เพื่อจะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้หากครอบครัวของแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์พายุ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506

ที่มา: คมชัดลึก, 13/10/2562 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net