Skip to main content
sharethis

‘ประชาไท’ รวบรวมงานเสวนา 2 งานอันเนื่องมาจากกรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตนเองในศาลจังหวัดยะลา ต่อเนื่อง 9 ตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตั้งแต่รายละเอียดของคดีจนถึงภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านมุมมอง รณกรณ์ บุญมี นักวิชาการด้านนิติศาสตร์

  • ยกเลิกระบบการตรวจคำพิพากษาเพื่อให้ผู้พิพากษามีอิสระในการใช้ดุลพินิจ
  • ผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษไม่มีสิทธิตามกฎหมายปกติและถูกควบคุมตัวได้ถึง 7 วัน ซึ่งขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน
  • คำพิพากษาต้องเปิดเผยให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอลได้เพื่อเป็นการยึดโยงกับประชาชน
  • ศาลไทยไม่ยอมรับว่ามียี่ต๊อกหรือแนวทางการกำหนดโทษ ทั้งที่ในความจริงแล้วมีอยู่ แต่ไม่ยอมเปิดเผย ทั้งที่ในอังกฤษมีการเปิดเผยต่อสาธารณชน

กรณีการยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ศาลจังหวัดยะลา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันตุลาการและข้อกังขาว่าผู้พิพากษามีอิสระเพียงใดในการพิจารณาคดี ด้วยถ้อยคำในคำแถลงการณ์ที่ว่า

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดงานเสวนาต่อกรณีนี้ 2 งานคือ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต’ ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยากรทั้งสองงานมีตั้งแต่ทนายความที่ทำคดีดังกล่าว นักสิทธิมนุษยชน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นักวิชาการด้านกฎหมาย และสื่อมวลชน

เพื่อให้ภาพที่สมบูรณ์ ครบทุกมิติ ‘ประชาไท’ จึงนำทั้งสองงานมาร้อยเรียงเป็นซีรีส์ว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ข้อเสนอเพื่อแก้ไข และความอิสระที่ว่านั้นควรอิสระเพียงใดจึงจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความอิสระเป็นพิษ

รณกรณ์ บุญมี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญที่ผู้พิพากษาต้องมีอิสระ ทั้งยังชี้จุดอ่อนของศาลไทยว่ากำลังมีปัญหาอะไร ส่วนในกรณีภาคใต้ ความมั่นคงที่ต้องแลกด้วยเสรีภาพเป็นราคาที่ไม่คุ้มพอจะจ่าย

รณกรณ์ บุญมี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนอื่นเราต้องชัดว่าในแถลงการณ์ของท่านคณากรมี 2 ประเด็นหลักๆ ที่เราต้องคุยกันคือผู้พิพากษาควรเป็นอิสระหรือไม่ หรือว่าในการทำคำพิพากษาควรจะให้ผู้พิพากษาผู้ใหญ่ตรวจสำนวนหรือไม่ จริงๆ ในคดีนี้คนที่ตรวจสำนวนมี 3 ท่าน ไม่ใช่แค่อธิบดีผู้พิพากษา คือหัวหน้าคณะ รองอธิบดี และก็อธิบดี เซ็นรับ 3 คนเลยในเอกสารลับที่ทำความเห็น เพราะฉะนั้นคคือเคลียร์เรื่องแรกก่อน เวลาที่เราพูดว่าเอกสารลับ มันไม่ใช่จดหมายน้อยที่ขอกันส่วนตัว อันนี้เป็นเอกสารทางการที่เป็นความลับภายในซึ่งในองค์กรรัฐมีเอกสารที่เป็นความลับอยู่แล้ว

ประเด็นที่ 2 ที่วันนี้ควรจะพูดกันก็คือว่าแล้วคำให้การ ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ คำรับสารภาพที่เกิดขึ้นในช่วงใช้กฎหมายพิเศษควรรับฟังหรือไม่ จริงๆ ประเด็นนี้ผมอยากจะถอยไปถึงว่ามันควรมีกฎหมายพิเศษหรือไม่

เสวนาทางกฎหมาย เรื่อง“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

ขอพูดเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาก่อน เวลาเราคุยกันเรื่องนี้เราก็จะพูดถึงความเป็นอิสระจากนิติบัญญัติ จากฝ่ายบริหาร แต่จริงๆ เทรนด์โลกช่วงหลังก็เพิ่งมาสนใจเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาภายในศาลด้วยกันเองว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนเช่นกัน การที่ผู้พิพากษาไม่สามารถเป็นอิสระจากผู้พิพากษาผู้ใหญ่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคู่ความ เทรนด์นี้เพิ่งมีประมาณปี 1980 ตลอดเวลา 40 ปี ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสินอยู่ 14 คดีว่าการที่ผู้พิพากษาผู้ใหญ่มาแทรกแซง มาสั่งการแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิ์

ผมไม่ได้กำลังบอกว่าการที่ระบบพระธรรมนูญศาลยุติธรรมไทยหรือมีคำสั่งใดๆ ก็ตาม อนุญาตให้มีการรีวิวคำพิพากษาในประเทศไทยได้นั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่เหมือนกันเพราะการที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนนั้นต้องเป็นการรีวิวแบบสั่งการหรือต้องสั่ง และต้องสั่งโดยคนที่มีอำนาจให้คุณให้โทษ แต่ประเทศไทย อธิบดีศาลมีอำนาจให้คุณให้โทษไหม ถ้าเราพูดถึงตามระบบก่อน ไม่มีนะครับ อธิบดีศาล อธิบดีภาค ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษ จะย้าย จะขึ้นเงินเดือน จะตั้งสอบวินัย อันนั้นเป็นเรื่องของ ก.ต. (สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม) อันนี้คือหลักการตามกฎหมาย แต่ที่คดีนี้น่าสนใจเพราะมันมีแชทซึ่งคุณคณากรอ้างว่าตัวเองถูกข่มขู่ว่าจะย้ายออกนอกพื้นที่ ถ้าไม่ตัดสินตามความเห็นแย้ง อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ต้องแยกเป็นส่วนๆ

จุดอ่อนในระบบศาล

ตัวระบบกฎหมายของเราผมยืนยันในฐานะสอนทั้งกฎหมายทางอาญาและสิทธิมนุษยชน ในฐานะคนทำรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ผมบอกได้เลยว่าตัวกฎหมายเราไม่ได้ขัดสิทธิมนุษยชนด้วยตัวมันเอง เว้นแต่มันมีการเปิดช่องหรือการใช้อำนาจเป็นรายกรณีไป เช่นเดียวกันกับการที่มีกฎหมายแล้วไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยกับระบบปัจจุบันที่ปล่อยให้ผู้พิพากษาผู้ใหญ่มารีวิว แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนในระบบศาลอยู่ 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 แสดงให้เห็นความไม่เชื่อใจที่ผู้พิพากษาผู้ใหญ่ที่มีต่อผู้พิพากษาที่มีอาวุโสน้อยกว่า กรณีคุณคณากรเป็นผู้พิพากษามาประมาณ 17 ปี เรายังไม่สามารถเชื่อใจผู้พิพากษาที่ทำงานมา 17 ปีได้เหรอครับ ถ้าเรายังไม่สามารถเชื่อใจได้ ระบบยุติธรรมมีปัญหาแล้วครับ นั่นแปลว่าประชาชน จำเลย คู่ความ ถูกทำให้เสี่ยงที่จะถูกพิพากษาโดยคนที่ไร้ความสามารถ ไร้ซึ่งคุณสมบัติ และไม่มีวิจารณญาณที่เหมาะสมในการพิพากษา แสดงว่า เรายังเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่จึงต้องมีการรีวิวหรือครับ ถ้าจะละเมิดสิทธิประชาชน เราละเมิดข้อนี้แหละครับ เราไม่มีผู้พิพากษาที่ดีพอใช่ไหมจึงต้องมีระบบนี้ ระบบนี้เคยถูกยกเลิกช่วงสั้นๆ ประมาณสามสี่ปีหลังเรามีรัฐธรรมนูญปี 40 และผลก็คือคำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกกลับระเนนระนาดเลย นี่อาจเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บอกบางอย่าง

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา ผมเคารพอาจารย์สมรักษ์ จัดกระบวนพล (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา) เราเชื่อว่าในกรณีที่ท่านจะทำความเห็นแย้ง ท่านจะไม่สั่ง ท่านจะไม่บังคับ ท่านจะไม่ขู่เข็ญ อันนี้เป็นความรู้สึกแบบอัตวิสัย ความเป็นอิสระของศาลไม่ใช่เพียงอัตวิสัยว่าตนเองไม่มีข้อรังเกียจ ไม่มีปัญหาต่อคู่ความ หรือทำตัวเป็นที่น่าเคารพในภาพรวมๆ ทั่วไปเท่านั้น แต่ต้องเป็นอิสระในเชิงภววิสัยด้วย แปลว่าใครก็ตามที่มองระบบนี้ต้องสิ้นสงสัยทันทีว่าจะไม่มีการแทรกแซงใดๆ ก็ได้

ระบบที่ผมบอกว่าไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบบที่ให้มีการรีวิวภายใน ถามตัวเราเองได้ครับว่าเราสิ้นข้อสงสัยได้หมดหรือไม่ว่าคำพิพากษานั้นจะถูกต้อง เที่ยงธรรม ทำไมคนที่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดี ทำไมคนที่ไม่ได้เห็นอากัปกิริยาของจำเลยจึงสามารถใช้ดุลพินิจ มีวิจารณญาณ ได้ดีกว่าคนที่พิจารณาคดีด้วยตนเอง อย่าลืมนะครับ ระบบรีวิวของศาลไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้อนุญาตแค่ให้รีวิวตัวกฎหมาย ไม่เหมือนในต่างประเทศ

ยกเลิกการรีวิวคำพิพากษา

ในต่างประเทศ ศาลอุทธรณ์ก็ดี ศาลฎีกาก็ดี ไม่มีการกลับข้อเท็จจริงคุณอยากกลับข้อเท็จจริง คุณต้องพิจารณาคดีใหม่ คดีนี้เพิ่งยืนยันอีกครั้งหนึ่งในปี 2017 ที่อังกฤษ เขาไม่ได้อนุญาตให้ศาลสูงกลับข้อเท็จจริง แต่ของเราอนุญาตให้อธิบดีภาคบอกว่าฉันอ่านรายงานของเธอแล้ว ฉันคิดว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง คนที่เห็นพยานหลักฐานเอง คนที่ซักถามพยานเองบอกว่า ผมคิดว่าไม่น่าเชื่อพยานต่างๆ ที่เอามาปรักปรำจำเลย ผมคิดว่าควรยกฟ้อง แต่ระบบของเรากลับปล่อยให้คนที่เพียงอ่านตัวอักษร แม้จะบันทึกอากัปกริยากระสับกระส่าย กระวนกระวายอะไรก็ตาม แต่ไม่ได้เห็นเอง รีวิวได้อย่างไร ระบบต่างประเทศบันทึกเสียง บางมลรัฐในอเมริกาบันทึกภาพ เขายังไม่ให้กลับเลย เราอ่านตัวอักษร ผู้พิพากษาไทยเก่งมากๆ อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล ธรรมศาสตร์เคยทำข้อเสนอไปแล้วว่าศาลควรต้องแก้ระบบนี้

อันนี้คือปัญหาในเชิงภววิสัย เราเชื่อได้อย่างไรว่า ผู้พิพากษาจะไม่สั่ง ผมมีโอกาสได้อ่าน ต่อให้ผมเชื่ออธิบดีภาค 9 ว่าท่านเป็นคนดี แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าอธิบดีภาค 10 11 12 13 จะไม่เป็นแบบนี้

ระบบเราไม่โปร่งใสข้อที่ 2 คืออะไร ผมบอกว่าไม่ควรมีรีวิว แต่ผมยอมถอยครึ่งก้าวถ้าจะมีรีวิว ขอรีวิวเฉพาะข้อกฎหมายได้ไหม ไม่รีวิวข้อเท็จจริงได้ไหม ถ้าจะรีวิว จะทำความเห็นแย้ง ทำไมไม่ทำความเห็นแย้งมาเลย ผมไม่ได้บอกว่าท่านอธิบดีทำผิดเพราะตามระเบียบมันเปิดช่องให้มีการหารือกันก่อน ในกรณีนี้หรือทุกๆ กรณี การทำคำพิพากษามีการหารือกับผู้พิพากษาระดับหัวหน้า ระดับรองอธิบดี ระดับอธิบดี เราเรียกเขาว่าอาจารย์ ด้วยความเคารพ แต่ถามว่ามีการให้คำแนะนำว่าจะแก้คำนั้น ไม่ควรแก้คำนี้ ควรจะพิพากษาในลักษณะนั้น ควรจะรับฟังพยานหลักฐานนี้ ถ้าเราอยากให้โปร่งใส อย่างนี้ได้ไหมครับ เขียนมาเลย เขียนความเห็นแย้งมาเลย ในอังกฤษความเห็นแย้งอยู่ในส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ไม่เห็นด้วยประเด็นไหนก็ใส่มา เห็นด้วยก็ว่ามา แบบนี้จะโปร่งใสมากกว่า

ผมเข้าใจดีถึงข้อจำกัดบางประการและเราก็เห็นเป็นประจักษ์พยานว่า เราเคยยกเลิกการรีวิวแล้วมีปัญหา ใจผมเพอร์เฟคที่สุดคือยกเลิก ถึงแม้ยังไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่มันไม่โปร่งใสในเชิงภววิสัย แต่ถ้ายกเลิกไม่ได้เพราะมีความจำเป็น ผู้พิพากษายังไม่สามารถมีประสบการณ์ได้เพียงพอแม้จะทำงานมา 17 ปี ถ้าปล่อยไม่ได้ผมขอ 2 ข้อ ข้อแรก ไม่รีวิวข้อเท็จจริง ข้อ 2 เขียนมาเป็นลายลักษณ์อักษรเลยว่าจะเห็นแย้งอะไรบ้าง

อีกประเด็นที่ผมคิดว่าโยงกันกับเรื่องนี้คือเรื่องการจ่ายสำนวน คดีของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปประเด็นที่น่าสนใจคือการจ่ายสำนวน ถ้าเราย้อนหลังไป 2 ปี ในเดือนกรกฎาคมเรามีข่าวใหญ่ในวงการตุลาการของผู้พิพากษาท่านหนึ่งที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งหนึ่ง ระบบเราปล่อยให้มีการพิพากษาในศาลสูง ประธานไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลขัดความยุติธรรมนู่นนี่นั่น เขียนในพระธรรมนูญศาลเลยนะครับว่าถ้าไม่เห็นด้วย ให้เปลี่ยนเจ้าของสำนวน เปลี่ยนองค์คณะได้ อันนี้ก็น่ากังวล ทำไมถึงเปลี่ยนองค์คณะได้ ทำไมถึงเลือกจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาชุดใดชุดหนึ่งได้ มันควรจะเป็นลิสต์ใช่ไหมคดีนี้มาชุดที่ 1 ชุดที่ 2 ที่ 3 รับไปเว้นแต่มีข้อสังเกตว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง

ความมั่นคงที่ต้องแลกด้วยเสรีภาพเป็นราคาไม่ควรจ่าย

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากคุยก็คือแล้วข้อมูลหรือคำรับสารภาพภายใต้กฎหมายพิเศษในภาคใต้น่ารับฟังหรือไม่ ผมไม่ได้เห็นด้วยกับท่านคณากรทั้งหมด แต่ประโยคหนึ่งที่ผมจับใจมาก ทำไมผู้ต้องสงสัยที่มีศักดิ์สูงกว่าผู้ต้องหา แต่มีสิทธิ์น้อยกว่าผู้ต้องหา ทำไมกลุ่มนี้ถูกจับกุมคุมขัง แม้เราจะเรียกเขาว่าเป็นผู้ต้องสงสัย ไม่ใช่ผู้ต้องหา แต่ทำไมจึงไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายพื้นฐานในการป้องกันการใช้อำนาจไม่ชอบของรัฐ

รัฐมีเงินลงทุนทุกอย่าง จ้างตำรวจ จ้างอัยการ จ้างผู้พิพากษา แต่ในอีกฝั่งหนึ่งผู้ต้องหามีเพียงสิทธิเดียวเท่านั้นที่จะเป็นอาวุธสู้คือสิทธิ์ที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วสิทธิ์นี้จะตามมาด้วยถ้ารัฐจะใช้อำนาจโดยมิชอบ ประเด็นของผมก็คือว่าสิ่งที่เขาต้องมีคือเขาต้องมีคนนอกคนกลางช่วยเขารับฟัง ช่วยเป็นพยาน ถ้าเขาจะถูกใช้อำนาจโดยมิชอบ นั่นก็คือทนายความที่เขาเลือกเอง ประเด็นคือเรามีทนายความแบบนั้นหรือเปล่า ทนายความแบบนั้นได้เข้าถึงตัวผู้ต้องสงสัยไหม เขามีสิทธิบอกญาติไหมเพื่อป้องกันการถูกบังคับให้สูญหาย ถ้าเขามีหลักประกันพื้นฐานแบบนี้ ผมคิดว่าก็คงจะพอรับฟังได้ แต่ปัจจุบันสิทธิ์เหล่านี้เขาไม่มี

ที่แย่ที่สุดในบรรดาทั้งหมดคือสิทธิที่จะได้เจอผู้พิพากษาโดยเร็วที่สุดเพื่อตรวจสอบว่าการจับกุมเขาถูกต้องหรือไม่ มาตรฐานโลกซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตามหลักไอซีซีพีอาร์ (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง-International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) กำหนดอยู่ที่ 48 ชั่วโมง ของอังกฤษอยู่ที่ 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นคดีสำคัญได้ 36 ชั่วโมง ยกเว้นคดีก่อการร้ายได้ 72 ชั่วโมง แต่คดีพื้นฐานคือ 48 ชั่วโมง ส่วนของไทยกฎอัยการศึก 7 วัน

ต่อให้เราเชื่อว่าศาลทำงานอย่างอย่างเข้มแข็งมากในการดูการควบคุมตัวจากกฎหมายฉุกเฉิน แต่คนคนนั้นถูกคุมขังไปแล้ว 7 วัน โดยไม่มีใครเยี่ยม ไม่มีใครอยู่ด้วย ผมทราบดีถึงข้อแลกเปลี่ยนระหว่างความมั่นคงกลับเสรีไทย แต่ราคาที่เราต้องจ่ายนี้คุ้มค่าไหม ละอายปากเหมือนกันที่บอกว่านี่คือราคาที่เราต้องจ่าย เพราะคนที่ต้องจ่ายไม่ใช่เราที่นั่งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่คือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

การยึดโยงกับประชาชน

ผมว่าเรื่องศาลกับประชาชนเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน จริงๆ ก็มีงานวิจัยของธรรมศาสตร์มากพอสมควรว่าควรยึดโยงกับประชาชนอย่างไร ผมคิดว่าเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงพอสมควร ผมอธิบายนิดเดียวว่าใน 14 เคสที่บอกว่าศาลไม่เป็นอิสระในการตัดสินคดี เป็น 14 เคสที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นอดีตคอมมิวนิสต์และประเทศที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์จะไม่มีลักษณะแบบนี้ เหตุผลเดียวคือเวลาที่เราบอกว่าศาลอิสระจากนิติบัญญัติกับบริหาร ระบบนิติบัญญัติและบริหาร ของประเทศอื่นๆ เขาเติบโตขึ้นไปชนกับโลกภายนอก แต่ว่าสามสี่ประเทศนี้ 14 คดีนี้ มันอยู่อย่างนี้ มันไม่ยุ่งกับใครก็เลยมีปัญหาพอสมควร

แต่ถามว่า ไปยึดโยงกับประชาชนและมีปัญหาไหม มีนะครับ ผู้พิพากษาในบางมลรัฐของสหรัฐเขาเลือดผู้พิพากษาด้วยการเลือกตั้ง อัยการอยากเป็นผู้พิพากษาก็มาลงเลือกตั้ง ผลคือว่าสมัยเป็นอัยการก็ต้องทำคดีเกี่ยวกับคนนั้นคนนี้หรือมีแนวโน้มต้องตัดสินคดีแบบนั้นแบบนี้เวลาเป็นผู้พิพากษาเพื่อในสมัยที่ 2 จะลงต่อ สมมติคนในรัฐนี้เป็นขวาเยอะๆ ก็ต้องลงโทษหนักๆ หรือถ้าเป็นซ้ายก็ต้องลงโทษอีกแบบหนึ่ง คือมันก็มีปัญหาในแบบของมันเอง

การคัดคำพิพากษาอันนี้เป็นประเด็น ถามว่าทำยังไงให้ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด ถ้าประชาชนเข้าไปต้นทางไม่ได้ ประชาชนต้องตรวจสอบปลายทาง คำพิพากษาต้องอ่านได้ว่าตัดสินยังไง ทำไม อ้างเหตุผลไหน แล้วผลทำไมเป็นแบบนี้ โดยระบบทำได้ไหม ทำได้ ศาลปกครองปัจจุบันก็ค้นหาคำวินิจฉัยได้ แต่ศาลยุติธรรมกลับไม่ทำ แปลกมาก ผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น อาจารย์กฎหมายจะค้นหาคำพิพากษา เขาบอกไม่ใช่คู่ความขอไม่ได้ แต่เวลาออกข้อสอบคัดเลือกผู้พิพากษา เอาคำพิพากษาตัวย่อมาออกข้อสอบ แล้วบอกว่าต้องตอบตามนี้ มาตรฐานการศึกษากฎหมายไทยภาพรวมถึงแย่

ปัญหาของยี่ต็อกในไทย

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ถามว่ามีปัญหาไหม มีมาก ตอนนี้เขากำหนดว่าใครก็ตามจะเข้าอียู (สหภาพยุโรป-European Union: EU) ต้องเข้าเป็นภาคีศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปด้วย อียูมียี่สิบเจ็ดยี่สิบแปดประเทศ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมี 47 ประเทศ นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อังกฤษออกจากอียู ประเด็นก็คือทำให้ศาลของอังกฤษไม่มีเสรีภาพในการวินิจฉัยให้เหมาะกับประเทศตัวเอง พูดง่ายๆ คือเสียอำนาจอธิปไตยทางศาล อังกฤษบอกว่า ถ้าออกจากอียูได้ก็ไม่ต้องเป็นภาคีศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ต่อไปนี้คดีเกิดที่อังกฤษ จบที่อังกฤษ ไม่ต้องมาแทรกแซงกันอีกต่อไป มันก็มีข้อดีข้อเสียบางอย่างอยู่เหมือนกัน

ประเด็นยี่ต๊อกถามว่าในฐานะนักกฎหมายชอบไหม ไม่ชอบหรอก แต่ถามว่าถ้าไม่มีเลยได้ไหม ประเด็นมันอยู่ที่ว่ายี่ต๊อกบังคับหรือไม่ สมมติว่าทำผิดครั้งแรกติดคุกกี่ปี ถามว่าในศาลต่างประเทศมีไหม มี ไม่มีประเทศไหนที่ผมศึกษาที่จะไม่มียี่ต๊อกเลย แต่ถามว่าประเทศไทยมีปัญหาตรงไหน ประเทศที่เขามีเขาเปิดเผย อังกฤษมีในเว็บไซต์เลยว่าทำผิดครั้งที่เท่าไหร่ อายุเท่าไหร่ ใช้มีด ใช้ปืน มีอัตราเป็นขั้นบันไดให้เห็นเลย ถามผู้พิพากษาประเทศไทยวันนี้สิครับ ไม่มีหรอก แต่พูดกันนอกวง มี เอาออกมาให้ดูได้ไหม ไม่ได้

ข้อที่ 2 ที่เป็นปัญหาก็คือ เราบังคับขนาดไหน ยี่ต๊อกไม่ได้บังคับให้ผู้พิพากษาต้องทำตาม แต่เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้คดีไม่ว่าเกิดที่ไหน ไม่ว่าใครเป็นคนตัดสิน มันจะได้ไม่หนักหนามากกว่ากัน ใกล้เคียงกัน แต่ว่าสุดท้ายผู้พิพากษาควรจะมีอิสระในการกำหนดโทษเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net