รบ.เลบานอนเสนอแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ลดเงินเดือนนักการเมือง หลังฮือประท้วงใหญ่มาแล้ว 5 วัน

พรรคร่วมรัฐบาลเลบานอนยอมยกเลิกแผนขึ้นภาษี ประกาศลดเงินเดือนนักการเมือง มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากที่มีการประท้วงติดต่อกันมา 5 วันแล้ว โดยผู้ประท้วงแสดงความไม่พอใจที่มีการขึ้นภาษีด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน บุหรี่ หรือกระทั่งภาษีโทรคมนาคมผ่านโปรแกรม WhatsApp รวมถึงมีการกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐบาล นอกจากนี้ยังมีพรรคร่วมรัฐบาลส่วนหนึ่งประกาศลาออกเพื่อประท้วงด้วย

ผู้ชุมนุมประท้วงที่เบรุต เมื่อ 18 ต.ค. 2019 ที่มา: Shahen books/Wikipedia

21 ต.ค. 2562 ในเลบานอนมีการประท้วงของผู้คนหลายหมื่นคนมาตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา มีรัฐมนตรี 4 กระทรวงที่มาจากพรรคสายชาวคริสต์เลบานิสฟอร์ซประกาศลาออก ซึ่งปกติแล้วจะเป็นกลุ่มที่อยู่ฝ่ายเดียวกับนายกรัฐมนตรี ซาอัด ฮาริรี โดยหัวหน้าพรรคเลบานิสฟอร์ซระบุพวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลฮาริรีไม่สามารถดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ได้

ความไม่พอใจนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮาริรี ผู้นำรัฐบาลแนวร่วมที่มีความไม่ลงรอยกันเสนอให้มีการปฏิรูปหลายด้าน เพื่อที่จะได้รัดเข็มขัดการคลังและสามารถรักษาการจัดสรรความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่จำเป็น ที่มาจากผู้บริจาคนานาชาติ

มาตรการเศรษฐกิจดังกล่าวคือการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 2 ภายในปี 2564 และอีกร้อยละ 2 ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้เลบานอนมี VAT เป็นร้อยละ 15 ซึ่งเรื่องนี้ทำให้มีการขึ้นราคาสินค้าหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง ข้าวสาลี รวมถึงขึ้นราคาโทรศัพท์สื่อสารด้วยเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหรือ VoIP ทั้งโปรแกรมเฟสไทม์, เฟสบุค หรือ WhatsApp

อย่างไรก็ตามในวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลเลบานอนก็ประกาศว่าจะให้มีการปฏิรูปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการยอมยกเลิกการขึ้นภาษีแล้วแต่ผู้ประท้วงก็ยังไม่เลิกชุมนุมและยกระดับข้อเรียกร้องเป็นการปฏิรูปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านมากกกว่านี้ ซึ่งรัฐบาลเลบานอนก็ประกาศว่าจะทำให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, ลดเงินเดือนนักการเมือง และจัดการปัญหาขาดดุลของเลบานอน

ผู้ประท้วงที่จัตุรัสริอาร์ดอัลโซลห์ ที่อยู่ไม่ห่างจากที่ตั้งที่ทำการรัฐบาลแสดงความยินดีหลังจากที่ได้ทราบข่าวเรื่องการลาออกของรัฐมนตรี พวกเขาประสานเสียงเป็นคำขวัญที่มักจะได้ยินกันในการแข่งขันฟุตบอลอย่าง "ยิงลูกแรกเข้าไปแล้ว ลูกที่สองอยู่ไหนล่ะ"

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน คามิลล์ อะบูไลมาน หนึ่งในรัฐมนตรีที่ลาออกกล่าวว่าที่เขาลาออกเพราะเขาเสื่อมศรัทธาในความสามารถของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและชี้ให้เห็นปัญหา

ขณะเดียวกันอัลจาซีรา รายงานสถานการณ์ล่าสุดในเบรุตเมื่อวันจันทร์ (21 ต.ค.) การประท้วงเข้าสู่วันที่ 5 แล้ว โรงเรียน ร้านค้าท้องถิ่น และธนาคารยังคงปิดทำการ ด้านผู้ชุมนุมที่ปักหลักที่จัตุรัสวีรชนรู้สึกว่ามาตรการของรัฐบาลไม่พอที่จะแก้ปัญหา และต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ผู้ประท้วงต้องการให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ก่อนหน้านี้บรรยากาศการประท้วงในช่วงวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างคึกคักมีผู้คนโบกธงและประสานเสียงคำขวัญในย่านการค้าระดับสูงและย่านธนาคารซึ่งในคืนก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุจลาจลมีคนทุบทำลายหน้าร้านรวงต่างๆ แต่ในการประท้วงวันที่ 19 ต.ค. ผู้ชุมนุมจำนวนมากขอให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบและไม่มีการแบ่งแยกกัน

ไม่เพียงแค่เรื่องของแพงขึ้นเท่านั้น กลุ่มผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองเลบานอนใหม่เนื่องจากความยากลำบากที่เป็นผลของนโยบายรัดเข็มขัดไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ นอกจากนี้ยังมีความไม่พอใจที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จากสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการทุจริตจากรัฐบาล การจัดการงบประมาณที่ผิดพลาด และการไม่สนใจปัญหาการว่างงาน โมฮัมหมัด อวาดา ชาวเลบานอนอายุ 32 ปี ที่ไม่มีงานทำกล่าวว่าประเทศของเขากำลังมุ่งสู่ความล่มจมจึงควรมีการโค่นล้มระบอบเดิมและเปลี่ยนแปลงระบอบใหม่

นอกจากการลาออกของรัฐมนตรีบางส่วนแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเลบานอนก็พยายามเอาใจผู้ประท้วงด้วยการประกาศหลังการประชุมหารือกับฮาริรีแล้วพวกเขาตกลงกันได้ว่าในแผนงบประมาณปีหน้าพวกเขาจะไม่เพิ่มมาตรการภาษีเข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตามกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนก็แสดงท่าทีแข็งข้อไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแบบที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ กล่าวว่ากลุ่มฮิชบอลเลาะห์ไม่ยอมให้รัฐบาลนี้ลาออกจากตำแหน่งและประเทศเลบานอนยังใช้เวลาไม่มากพอใจการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงิน นาสรัลเลาะห์บอกอีกว่าทุกคนควรจะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจนี้แทนที่มัวแต่ชำระความกันในเรื่องการเมืองแล้วปล่อยให้ประเทศอยู่อย่างไม่รู้ชะตากรรม โดยที่กลุ่มฮิชบอลเลาะห์เป็นกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากและเป็นผู้ผลักดันให้เกิดรัฐบาลปัจจุบันในเลบานอน

การประท้วงในเลบานอนก่อนหน้านี้มีความรุนแรงทั้งจากส่วนหนึ่งของฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาล โดยที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลใช้แก็สน้ำตาและปืนน้ำยิงสลายการชุมนุมในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการจับกุมผู้ประท้วงอย่างน้อย 70 รายในข้อหาโจรกรรมและวางเพลิง

สื่อต่างประเทศหลายแห่งระบุว่าการประท้วงในครั้งนี้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของเลบานอน และมีการประท้วงแพร่สะพัดไปทั่วหลายหมู่บ้านชวนให้นึกถึงยุคสมัยอาหรับสปริงปี 2554 ที่มีการโค่นล้มผู้นำในตะวันออกกลางได้หลายคน

หญิงผู้ประท้วงรายหนึ่งอายุประมาณ 50 ปี บอกว่าชนชั้นนำเหล่านี้ฉกชิงเอาสิทธิขึ้นพื้นฐานของพวกเขาไปทำให้พวกเขาถูกกีดกันไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ เธอบอกว่าจะปักหลักชุมนุมต่อไปเพราะเบื่อหน่ายความไม่เอาไหนของชนชั้นนำ "ตั้งแต่ฉันเกิดมา พวกเราก็เป็นแค่ผู้ชมคอยดูพวกเขาทะเลาะกันและทุจริตกัน" เธอกล่าว

เรียบเรียงจาก

Ministers resign after third day of protests in Lebanon, Aljazeera, 20-10-2019

Lebanon protests: All the latest updates, Aljazeera, 21-10-2019

Lebanon protests: Mass revolt continues as PM 'agrees reforms', BBC, 21-10-2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/2019_Lebanese_protests

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท