Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ยื่นศาลปกครองให้คุ้มครองการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 เหตุไม่ชอบด้วยกฎหมายในการทำรายงานครั้งที่ 1 มีการปิดกั้นเสรีภาพแสดงความเห็นของคนในพื้นที่

22 ต.ค.2562 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ช่วงสายวันนี้ ที่ศาลปกครองจังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาในพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ และ ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ที่ต้านการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด นำโดย ประยม เสงี่ยมทรัพย์ พร้อมชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการประมาณ 30 คน รวมตัวยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองจังหวัดอุบลราชธานีสั่งให้ยุติแผนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบ สำหรับโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลในวันที่ 29 ต.ค. 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในวันที่ 31 ต.ค.2562 เอาไว้ก่อน

โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3  และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4

ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศาลปกครองอุบลราชธานี ได้ตรวจสอบคำฟ้องเบื้องต้นและจะนำเอกสารคำฟ้องยื่นต่อศาลเพื่อให้ศาลพิจารณาว่าจะรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ต่อไป

วานนี้ เครือข่ายสิทธิชุมชน 4.0  แจ้งข่าวกับประชาไทไว้ว่า ประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในนาม 'เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา' ในเขตท้องที่ ต.โนนสวรรค์ และ ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุบลราชธานีให้ยุติการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ในวันที่ 22 ต.ค. 2562 

เพื่อให้ศาลมีคำสั่ง ดังนี้ (1) ขอให้ยกเลิกผลของการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2561  และวันที่ 16 และ 23 พ.ค.2562 ของบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด (2) ขอให้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ขึ้นใหม่

(3) ขอให้ยุติแผนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบ สำหรับโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในวันที่ 31 ต.ค.2562 ไว้ก่อน จนกว่าการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นใหม่จะแล้วเสร็จ (4) ขอให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวซึ่งการใช้สิทธิและเสรีภาพในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบวิเคราะห์ (EIA) และ (5) ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบวิเคราะห์ (EIA) อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยต่อประชาชนกลุ่มคัดค้านโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ให้สามารถเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ได้จนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็น

โดยได้มีการยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีดังกล่าว ดังนี้  (1) ขอให้ยุติแผนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบ สำหรับโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลในวันที่ 29 ต.ค.2562 และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในวันที่ 31 ต.ค.2562 เอาไว้ก่อน  และ (2) ขอให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวซึ่งการใช้สิทธิและเสรีภาพในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบวิเคราะห์ (EIA)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net