มติ กก.วัตถุอันตรายแบน 3 สารเคมี เกษตรกรจ่อร้องถอนมติ ระบุมีข้อมูลเท็จ

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต ขณะที่ตัวแทนเกษตรกรค้านการแบน 3 สารเคมี จ่อยื่นคำร้องถอนถอดมติ ระบุ สธ.พิจารณาไม่รอบด้าน-มีข้อมูลเท็จ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยร้องค่าชดเชย 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี ชี้มาตรการรองรับขาดความชัดเจน


แฟ้มภาพ

 

มติคณะ กก. แบน 3 สารเคมี ‘อนุทิน’ โพสต์ชื่นชม

วันนี้ (22 ต.ค.2562) อนุทิน  ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ทั้งพาราควอต ครอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากผู้เข้าร่วมประชุม 26 คน "พาราควอต" มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิก 21 เสียง และจำกัดการใช้ 5 เสียง "คลอร์ไพริฟอส" มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิก 22 เสียง และจำกัดการใช้ 4 เสียง สุดท้ายคือ "ไกลโฟเซต" มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิก 19 เสียง และจำกัดการใช้ 7 เสียง

นอกจากนี้ อนุทิน ยังระบุว่า ขอขอบพระคุณและน้อมคารวะต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเฉพาะผู้ที่ลงมติแบนการใช้สารพิษด้วยจิตสำนึกที่รักและห่วงใยในคุณภาพชีวิตและสุขภาพของพี่น้องประชาชน

“ประวัติศาสตร์จะจารึกวีรกรรมที่ท่านทำเพื่อแผ่นดินเกิดในวันนี้เยี่ยงวีรบุรุษของชาติ ขอแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนที่ประเทศของเรายังมีข้าราชการและนักวิชาการที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรมหลงเหลืออยู่ในบ้านของเรา”

 

กลุ่มเกษตรกรจ่อยื่นคำร้องยกเลิกการแบน ระบุ สธ. พิจารณาข้อมูลไม่รอบด้าน-ใช้ข้อมูลเท็จ

ขณะที่  อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานชมรมกลุ่มคนรักแม่กลองในฐานะผู้แทนเกษตรกรดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ระบุว่า จากมติวันนี้ (22 ต.ค.) จะเดินทางไปยื่นคำร้องขอศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ และจะยื่นคำร้องถอนถอดมติ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาข้อมูลไม่รอบด้านและใช้ข้อมูลเท็จในการแบน 3 สารเคมี

“ข้อมูลเท็จเรื่องแรก คดีสารพิษจากแม่สู่ลูก มีการอ้างถึงโรงพยาบาล 3 แห่ง โดยที่แรก ระบุว่า ไม่มีการวิจัยศึกษาเรื่องนี้จริง โรงพยาบาลที่ 2 ระบุว่า ไม่มีเอกสาร และโรงพยาบาลที่ 3 ระบุว่า มีการขออนุญาตแต่ไม่รับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 3 แห่งระบุว่า ไม่มีงานวิจัยศึกษาเรื่องนี้จริง เท่ากับว่าเรื่องนี้เป็นเท็จใช่หรือไม่”

ขณะที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าผลโหวตจะออกมาแบนทั้ง 3 สารเคมี เพราะตัวแทนเกษตรฯ แพ้ กระทรวงสาธารณสุขมีความชัดเจนตั้งแต่แรก อีกทั้งไม่เคยมีใครได้ยินเสียงสะท้อนจากความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยกระทรวงสาธารณสุขนำข้อมูลไม่สมบูรณ์มาพิจารณาแบนสารเคมี และไม่มีร่างหลักการใดๆ มารองรับ

ส่วนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งมาตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา มาที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายและส่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับฟังข้อมูลจาก 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ฟังความเห็นจาก 4 ภาคส่วนแล้วประชุมโดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นการขัดคำสั่งนายกรัฐมนตรี

 

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยร้องค่าชดเชย 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี ชี้มาตรการรองรับขาดความชัดเจน

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ผู้แทนสมาคมและครอบครัวเกษตร 5 ล้านครอบครัว ประกาศเรียกร้องรัฐรับมือความเสียหาย 8.2 แสนล้านบาท พร้อมจ่ายค่าส่วนต่างแรงงานถางหญ้าเกษตรอุตสาหกรรม 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี เคลียร์หนี้ ธกส. ทุกครอบครัวเกษตร พร้อมสร้างหนี้ใหม่ซื้อเครื่องจักรโดยรัฐจ่ายส่วนต่างจากต้นทุนใช้สารเคมี หลังคำตัดสิน รมว. เกษตร บอกปัดหนีหน้าเกษตรกร

สุกรรณ์ สังข์วรรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า หลังจากมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประกาศแบนสารเคมีกำจัดวัชพืช พาราควอตและไกลโฟเซต ซึ่งเป็นปัจจัยหลักการผลิตสำคัญที่ทำให้เกษตรอุตสาหกรรมของประเทศเจริญเติบโตได้ทุกวันนี้ ภาครัฐจะต้องเตรียมรับมือกับมูลค่าความเสียหายทั้งในแง่รายได้เกษตรกร 2.5 แสนล้านบาท และมูลค่าการส่งออก 5.7 แสนล้านบาท รวมแล้วภาครัฐจะต้องสูญเสียรายได้กว่า 8.2 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรกร จำเป็นต้องใช้สิ่งทดแทนที่ไม่ใช้สารเคมี เนื่องจากกังวลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขอให้รัฐจ่ายเงินค่าชดเชย ส่วนต่างค่าแรงงาน 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมหาแรงงานคนมาช่วยถอนหญ้า หากหาไม่ได้ขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ มาถอนหญ้าให้เกษตรกร 60 ล้านไร่ให้เสร็จภายใน 30 วัน รวมทั้งยกเลิกหนี้สินปัจจุบันของครอบครัวเกษตรกรทุกคนที่อยู่ในระบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างหนี้ใหม่กู้เงินมาซื้อเครื่องจักร และรัฐออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างของเครื่องจักรทั้งหมดให้เกษตรกรเมื่อเทียบกับค่าสารเคมี พาราควอต

สำหรับมาตรการรองรับการแบน 3 สารดังกล่าว ยังขาดความชัดเจนในหลายด้าน เป็นเพียงนโยบายกระดาษ ขาดความสามารถในการปฏิบัติจริง ขอให้หน่วยงานภาครัฐมาทดลองสาธิตให้เห็นเป็นรูปธรรมกับพืชเศรษฐกิจที่กำลังปลูกบนพื้นที่ 500 ไร่ให้เห็นจริง เห็นผลภายการกำจัด หญ้า ภายใน 1 วัน หากทำไม่ได้ก็เป็นเพียงนโยบายน้ำลายขายฝันให้เกษตรกร และขอประกาศให้วันที่ 22 ตุลาคม เป็น วันกลียุคเกษตรกรรมไทย จารึกไว้ให้รุ่นลูกหลานรู้ไว้ถึง เกษตรกรรมไทยล้มสลายด้วยระบบการบริหารเอื้อนายทุนสารเคมีกลุ่มใหม่ ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดระหว่างนักการเมืองและ NGO

นอกจากนี้ เกษตรกรขอประกาศแบนพรรคการเมืองสมคบคิดและขอ “เผาผี” กลุ่มบุคคลดังกล่าวที่ตั้งใจทำร้ายเกษตรกร อ้างทำเพื่อสุขภาพประชาชน และเตรียมพาพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไปเรียกร้องค่าชดเชยต่อไป

 

เครดิต ไทยพีบีเอส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท