“คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” (6): ยกเลิกการตรวจสำนวนเพื่อความอิสระของผู้พิพากษา

‘ประชาไท’ รวบรวมงานเสวนา 2 งานอันเนื่องมาจากกรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตนเองในศาลจังหวัดยะลา ต่อเนื่อง 9 ตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตั้งแต่รายละเอียดของคดีจนถึงภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านมุมมอง คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล

  • หลักการระหว่างประเทศต่างๆ ผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระทั้งจากภายนอกและภายใน
  • การทบทวนคำพิพากษาควรทำโดยศาลที่สูงกว่าตามลำดับชั้นและควรยกเลิกการตรวจสำนวนแบบที่เป็นอยู่
  • ปฏิญญาอิสตันบูลต้องการให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบศาลมากขึ้น
  • ศาลไม่ควรรับฟังพยานบอกเล่าที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ

กรณีการยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ศาลจังหวัดยะลา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันตุลาการและข้อกังขาว่าผู้พิพากษามีอิสระเพียงใดในการพิจารณาคดี ด้วยถ้อยคำในคำแถลงการณ์ที่ว่า

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดงานเสวนาต่อกรณีนี้ 2 งานคือ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต’ ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยากรทั้งสองงานมีตั้งแต่ทนายความที่ทำคดีดังกล่าว นักสิทธิมนุษยชน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นักวิชาการด้านกฎหมาย และสื่อมวลชน

เพื่อให้ภาพที่สมบูรณ์ ครบทุกมิติ ‘ประชาไท’ จึงนำทั้งสองงานมาร้อยเรียงเป็นซีรีส์ว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ข้อเสนอเพื่อแก้ไข และความอิสระที่ว่านั้นควรอิสระเพียงใดจึงจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความอิสระเป็นพิษ

ตอนที่ 5 สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ (International Commission of Jurists: ICJ) กล่าวถึงกฎกติการะหว่างประเทศว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่ต้องเป็นอิสระทั้งจากภายนอกและภายใน ขณะที่ปฏิญญาอิสตันบูลเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนในการตรวจสอบศาลมากขึ้น ทาง นอกจากนี้ ทางไอซีเจยังเห็นว่าควรยกเลิกการตรวจสำนวน

สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล

อยากจะพูดเน้นถึงมาตรฐานสากลบางอันที่สอดคล้องกับประเด็นนี้พอดี เป็นมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษา อย่างเช่นระบบการตรวจของผู้พิพากษาอาวุโสมีประเด็นที่พูดถึงการตั้งคณะกรรมการสอบในลักษณะนี้ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระทั้งจากภายนอกและภายใน

ถ้าพูดภาพรวมในกฎหมายระหว่างประเทศเขาบอกว่าผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระเป็นกลาง อิสระคืออิสระจากปัจจัยภายนอก เป็นกลางคืนอิสระภายใน จุดที่สำคัญ คำว่าอิสระคืออิสระทั้งในเชิงสถาบันจะต้องไม่อยู่ภายใต้หน่วยงานอื่นๆ ซึ่งของไทยก็ไม่ได้อยู่ภายใต้หน่วยงานใดๆ อีกอันหนึ่งคือตัวผู้พิพากษาเองก็ต้องมีอิสระจากปัจจัยภายในก็คือจากตัวเพื่อนผู้พิพากษาและผู้บังคับบัญชาด้วย

มีหลักระหว่างประเทศเช่นหลักการบังกาลอร์ของสหประชาชาติที่พูดถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในข้อ 4.1 จะมีคำอธิบายหลักการบังกาลอร์ติดไว้เป็นวรรค 39 กับ 40 รวมถึงถ้าไปดูปฏิญาณสากลของผู้พิพากษาข้อ 3 จัดทำโดย International Association of Judges ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการทำงานของผู้พิพากษา พูดถึงหลักการทบทวนคำพิพากษาไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า การทบทวนคำพิพากษาของผู้พิพากษาต้องทำโดยศาลที่สูงกว่าเท่านั้น ก็คือชั้นต้นต้องถูกทบทวนโดยชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา แล้วเขียนไว้ว่าจะต้องเป็นอิสระจากทั้งผู้บังคับบัญชาและตัวผู้พิพากษาที่เป็นเพื่อนผู้พิพากษาด้วยกัน เพื่อเป็นการประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา พูดง่ายๆ คือจะต้องไม่มีการกระทำใดๆ หรือทัศนคติของผู้พิพากษาท่านอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อรูปแบบการพิจารณา แนวคิดหรือแนวทางได้ เพราะว่าในการที่ท่านอื่นๆ สามารถส่งผลก่อให้เกิดความกลัวต่อสถานะผู้พิพากษาได้อาจจะส่งผลต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี

เสวนาทางกฎหมาย เรื่อง“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

การทบทวนสำนวนควรยกเลิก

ในหลักการทั้ง 2 ตัวนี้พูดว่าการขอคำปรึกษาสามารถทำได้ ถ้าตัวผู้พิพากษาอยากจะทราบแนวคิด แต่นั่นต้องมาจากตัวผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเองว่าอยากจะขอคำปรึกษา แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่ว่าเป็นมาตรฐานที่ต้องมีการตรวจอยู่ตลอดเวลา

ถ้าเรากลับมาที่ประเทศไทยเราอยากให้มีการทบทวนเพราะว่าอยากให้มีมาตรฐานหรือคุณภาพไปในทางเดียวกัน อันนี้คือแนวคิดด้านหนึ่ง ส่วนแนวคิดอีกด้านหนึ่งคือจะกระทบกระเทือนต่อความอิสระของผู้พิพากษา ถ้าดูตามหลักการระหว่างประเทศ 2 ตัวเมื่อสักครู่โดยเคร่งครัด ก็น่าจะตีความตามหลักระหว่างประเทศได้ว่าไม่ควรมีการทบทวน แต่สามารถอุดช่องว่างเรื่องคุณภาพมาตรฐานหรือแนวทางโดยวิธีการอื่นได้ ถ้าเราอยากให้มีความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอย่างแท้จริง มันก็ไม่น่าจะมี ไม่ว่าในคดีใดก็ตาม เพราะนั่นคือเหตุผลที่เรามีศาลอุทธรณ์กับศาลฎีกา เราต้องการให้มีการทบทวนไปเป็นลำดับขั้น

การที่ขอคำปรึกษา ถ้าผู้พิพากษาไม่มั่นใจ ไม่ถนัดในเรื่องนั้น อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าทุกคดีที่มีลักษณะเดียวกันต้องถูกส่งไป มันก็ค่อนข้างหน้ากังวลเพราะมันจะมีการรวมศูนย์ของแนวคำวินิจฉัย โดยเฉพาะประเทศไทยใช้ระบบเรียกว่า Hybrid คือเราใช้ผสมทั้งแบบอังกฤษและแบบยุโรป แต่ในกระบวนการพิจารณาเราก็ใช้รูปแบบของอังกฤษเยอะ ซึ่งในอังกฤษคำพิพากษามันเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามโลกที่เปลี่ยนไป ดังนั้น คำพิพากษาควรจะถูกท้าทายได้อยู่ตลอดเวลา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นไปตามธงอยู่เสมอ รูปแบบการรวบรวมมาตรฐาน บางครั้งมันอาจทำให้ขาดความก้าวหน้าในคำพิพากษา

อีกอันหนึ่งเราอาจต้องมาทบทวนเรื่องของการสนับสนุนทางวิชาการต่อตัวผู้พิพากษาหรือเปล่า หรือว่าการสรรหาผู้พิพากษาควรจะให้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษานานขึ้นหรือไม่ เพื่อให้มีประสบการณ์นานขึ้น หรือว่าจะต้องทำงานในสายอื่นๆ นานขึ้นก่อนที่จะเป็นผู้พิพากษาหรือไม่ ถ้าเรากลัวว่าผู้พิพากษาอายุน้อยในศาลชั้นต้นอาจจะตัดสินผิดพลาดเพราะในบางประเทศก่อนที่จะเรียนกฎหมายจะต้องจบสาขาวิชาอื่นมาด้วยซ้ำ แล้วต้องมีอายุค่อนข้างเยอะกว่าจะมาเป็นผู้พิพากษาได้ อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่เป็นข้อเสนอแนะ ถ้าเราเอาหลักสากลมาพยายามจับในเรื่องการตรวจคำพิพากษา

มีหลักสากลตัวใหม่ออกมาที่สอดคล้องกับเรื่องนี้พอดีประมาณเดือนกรกฎาคมปีนี้เพิ่งมีหลักของสหประชาชาติตัวใหม่ออกมาเรียกว่า ปฏิญญาอิสตันบูล เรื่องของกระบวนการการดำเนินการของตุลาการ พูดถึงการตั้งคณะกรรมการในการสอบสวนวินัยผู้พิพากษา คือตอนนี้เรามีคณะอนุกรรมการ ก.ต. (สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม) แต่คงพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นการสอบสวนวินัย แต่เป็นการค้นหาข้อเท็จจริงเสียมากกว่า แต่คิดว่าอาจต้องมีการดำเนินการอะไรต่อไปหลังจากนี้

มันมีหลักระหว่างประเทศตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ถ้าเราจะตั้งคณะอนุกรรมการอะไรขึ้นมาต่อจากนี้ รวมถึงอาจจะปรับใช้กับตัวคณะอนุกรรมการที่มีอยู่ตอนนี้ได้ เพราะว่าในตัวปฏิญญาอิสตันบูลในวรรค 15 พูดถึงเรื่องคณะกรรมการสอบสวนวินัยไว้ละเอียดมากว่า คำว่า เป็นกลาง คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนที่เป็นกลาง แน่นอนว่าส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้พิพากษา แต่ควรจะเป็นการผสมกันระหว่างผู้พิพากษาที่ทำงานอยู่กับผู้พิพากษาที่เกษียณแล้วเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง รวมถึงต้องมีคนนอกด้วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อสาธารณชนในการสืบสวนสอบสวน

ตัวปฏิญญานี้ก็พูดถึงคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ทบทวนทางด้านวินัยว่าควรจะให้เกิดความโปร่งใสต่อสาธารณะด้วย ดังนั้น นอกจากตัวขององค์ประกอบของคณะกรรมการที่เราพูดมาแล้ว ยังควรจะเปิดให้สามารถมอนิเตอร์ได้ คือควรให้สาธารณะชน นักวิชาการ นักกฎหมายสามารถมอนิเตอร์ขั้นตอนการตรวจสอบทางวินัยได้ ตัวปฏิญญายังสนับสนุนให้ออกมาเป็นคณะกรรมการที่ทบทวนวินัยคือสามารถยื่นเรื่องได้ให้คณะกรรมการนี้เป็นคนทบทวน มันจะมีการยึดโยงกับภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น อันนี้เป็นแนวคิดที่เพิ่งออกมาและมีความพยายามผลักดันโดยสหประชาชาติ

ก่อนจะดูถึงเรื่องระบบการตรวจสอบคำพิพากษาของผู้พิพากษาว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร เราควรมีเซฟการ์ดมากขึ้นหรือเปล่า หรือเราจะไปหยิบเอามาตรฐานระหว่างประเทศล้วนๆ มาเลยก็ให้เป็นเรื่องของศาลสูงขึ้นไป นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงมีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาที่มีอาวุโสกว่าศาลชั้นต้น แต่ถ้าเรายังไม่มั่นใจผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเราคงต้องไปดูคุณสมบัติของผู้พิพากษาก่อนที่เขาจะมาดูแลสำนวนได้

ถ้าเรามาดูสถานการณ์ปัจจุบันก็น่าสนใจว่า ทางคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาแล้วนั้น ถ้ายังเสนอแนะได้ตอนนี้ก็อยากให้ปรับใช้ตัวหลักมาตรฐานระหว่างประเทศที่ออกมาใหม่นี้ด้วยในการดูองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ และแน่นอนว่าอยากให้มีการดูเทรนด์ในวงกว้างด้วย ไม่ใช่แค่ในกรณีผู้พิพากษาคณากร

ศาลไม่ควรรับฟังพยานบอกเล่าที่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องพยานหลักฐาน พยานบอกเล่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไอซีเจเคยทำข้อเสนอแนะไว้ตั้งแต่เขาแก้กฎหมายอาญามาตรา 226/3 เรากังวลมากกว่ามาตรานี้จะถูกใช้เพื่อรับฟังพยานที่ได้จากกฎหมายพิเศษ เพราะมันจะมีสิ่งที่เรียกว่าพยานบอกเล่า คือไม่ได้มาจากผู้ประสบเหตุโดยตรง คือนาย ก ไปบอกนาย ข แล้วนาย ข เป็นคนไปบอกศาล ปกติเราจะไม่ฟังพยานแบบนี้ เราควรจะไปฟังนาย ก

แต่คดีในสามจังหวัดส่วนใหญ่จะมีพยานบอกเล่าที่ได้มาจากท่านกฎหมายพิเศษ ก็คือเอาคนไปขังภายใต้กฎหมายพิเศษและคนให้การหรือพูดกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จดบันทึก บันทึกพวกนี้ก็ถูกส่งไปศาล ซึ่งการเป็นพยานบอกเล่าไม่ควรจะรับฟัง ที่นี้ มันมีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าพฤติการณ์น่าเชื่อถือหรือเป็นประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้สามารถรับฟังได้ ทำให้ใน 3 จังหวัดเกือบทุกคดีขึ้นสู่ศาล จำเลยกลับคำให้การหมดว่าผมไม่ได้รับสารภาพ ผมถูกบังคับ ทำให้การพิพากษาเป็นการชนกันของข้อมูล 2 ชุดคือข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ตอนอยู่ในค่ายกับอันหนึ่งคือจำเลยปฏิเสธว่าไม่จริงเพราะตอนนั้นถูกบังคับ

ปกติข้อมูลที่เป็นบอกเล่าที่มาจากคนที่ 2 เราไม่ควรรับฟังมากกว่าคนที่ 1 แต่ว่ามันสามารถฟังได้โดยใช้ข้อยกเว้น ทำให้บางคดีศาลเชื่อเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าเพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีข้อโกรธแค้นอะไรทำไมต้องโกหก ก็เอาข้อมูลนี้มาลงโทษ แต่มีข้อมูลอื่นประกอบด้วย แต่ข้อมูลอื่นประกอบถ้าเป็น DNA หรือโทรศัพท์ ก็ยังพอชัดเจน แต่หลังๆ เข้าใจว่าบางครั้งเป็นข้อมูลที่ได้ในช่วงซักถามเหมือนกัน เช่นพาไปชี้สถานที่เกิดเหตุ แต่เป็นการชี้สถานที่เกิดเหตุในช่วงคุมขังภายใต้กฎหมายพิเศษ ถ้าเป็นการนำสืบ นำชี้ ที่ไปตามกฎหมายธรรมดา เป็นการคุมขังการสอบสวนตามกฎหมายธรรมดา มันมีการประกันสิทธิเกือบทุกขั้น แต่การถูกคุมขังโดยกฎหมายพิเศษการประกันสิทธิพวกนี้จะหายไปหรือไม่จำเป็นว่าต้องพาตัวไปศาลให้ศาลช่วยซักว่าคุณถูกขังเพราะอะไร หรือจำเป็นหรือไม่จำเป็นที่จะต้องขัง เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่เอาคนไป แล้วก็หายไปเลยประมาณ 37 วัน มีไปศาลบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องพาผู้ถูกคุมขังไปศาล

ตอนที่แก้กฎหมายแล้ว เราก็เขียนในข้อเสนอแนะว่าข้อยกเว้นนี้มันกว้างไป มันควรเป็นกรณีที่จำเป็นมากๆ เช่น นาย ก ผู้ถูกคุมขังไม่สามารถมาให้การต่อศาลได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรเราควรให้โอกาสจำเลยในการพูดมากกว่าที่จะไปดูตัวพยานบอกเล่า 10 ปีผ่านไปปรากฏว่ามันก็เป็นไปตามที่เรากังวลตอนนั้นจริงๆ และมีการใช้มากขึ้น ตอนแรกๆ ก็ยังใช้คู่กับ DNA และโทรศัพท์ แต่หลังๆเริ่มมีการใช้พยานหลักฐานที่อ่อนกว่านั้น เราก็เรียกร้องว่าไม่อยากให้มีการคุมตัวโดยใช้กฎหมายพิเศษอีก แต่ให้กลับไปใช้กฎหมายทั่วไป

ศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน ความหวังที่ยังไร้ผล

ยุโรปมีกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรปและเขาตั้งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปขึ้นมา ในอาเซียนเราก็มีกฎหมายสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเหมือนปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนมากกว่า มีการพูดในหมู่นักวิชาการว่า เราต้องการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน ก็คือนาย ก ข ค ถูกละเมิดสิทธิ์แล้วเราก็ไปขอให้ศาลนี้ซึ่งเป็นศาลที่เป็นกลางมาดู เราไปดูศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรป มันน่าสนใจมาก มันจะเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกับประเทศที่มาสู้กันในศาลโดยยึดโยงกฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นตัวหลักในการพิจารณาคดี ส่วนในอาเซียนมีการพูดถึง แต่ยังยากอยู่ ไม่ได้มีการผลักดันในแต่ละประเทศเท่าไหร่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท