Skip to main content
sharethis

 

ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล

22 ต.ค.2562 ความคืบหน้าคดีที่สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ละเมิดอำนาจศาล จากการเขียนบทความวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง นั้น

ล่าสุดวันนี้ (22 ต.ค.62) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ศาลฎีกามีคำสั่งยุติดำเนินคดีกับสฤณีกรณีถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลจากกรณีดังกล่าวแล้ว ศาลเห็นว่าทั้งเจ้าตัวและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้เผยแพร่บทความขอโทษที่ใช้คำไม่เหมาะสมแล้วและเป็นที่พอใจของฝ่ายผู้กล่าวหา

ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้งสองได้ตีพิมพ์บทความเพื่อชี้แจงและแสดงความขอโทษต่อการเลือกใช้คำที่ไม่เหมาะสมในการวิพากษ์วิจารณ์ศาลฎีกา ซึ่งทั้งสองได้ตกลงเรื่องข้อชี้แจงดังกล่าวแล้วกับทางโจทก์ สุประดิษฐ์ จีนเสวก อดีตเลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาในนัดพร้อมเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยสฤณี จำเลยที่หนึ่ง ได้ลงบทความในสื่อของกรุงเทพธุรกิจทั้ง 2 ทาง โดยได้โพสต์บนสื่อออนไลน์เป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน และลงในฉบับตีพิมพ์เป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน

เมื่อตรวจพบว่าได้มีการตีพิมพ์ตามที่ระยะเวลาที่ตกลงไว้ ทางผู้กล่าวหาจึงขอให้ศาลทำการพิจารณาพร้อมกับยื่นหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจจำนวน 4 ฉบับ ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในสำนวน หลังจากที่ได้รับสำนวนไว้ ศาลได้มีคำสั่งหลังได้พิจารณาแล้ว โดยเห็นว่าทางจำเลยทั้งสองรู้สึกสำนึกผิดแล้วในการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม และได้ทำการเผยแพร่บทความชี้แจงเพื่อแสดงความขอโทษผ่านทางสื่อทั้งสองช่องทางของกรุงเทพธุรกิจจนเป็นที่พอใจของทางผู้กล่าวหา จึงไม่สมควรที่จะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้ต่อ จึงมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดี และจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ

อนึ่ง เหตุของคดีนี้มาจากบทความเรื่อง “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.” เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่มีคำสั่งตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อ หลังจากนั้น สุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาคือ ผู้กล่าวหาในกรณีนี้ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความ ลงวันที่ 16 ส.ค. 2562 ถึงประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา เพื่อชี้ให้เห็นว่าบทความดังกล่าวของสฤณี มีลักษณะที่เป็นการพาดพิงแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา โดยในบันทึกข้อความ สุประดิษฐ์ ได้ยกเอาความหมายของคำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มาประกอบการให้เหตุผลด้วย และในบันทึกข้อความได้ระบุถึง ยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ด้วย ส่วนกรณีของ สฤณี นั้นเห็นว่า เข้าข่ายความผิดฐานละเมิดกอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net