อาชีพของมนุษย์ในยุคเทคโนโลยีจักรกล (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวหน้าไปจนถึงจุดที่สามารถสร้างจักรกลอัลกอริทึ่มผ่านระบบเครือข่ายสมองเทียม (neural network) ซึ่งประมวลผลข้อมูลเพื่อสร้างชุดความรู้ใหม่ (ผ่านการคำนวณ) ได้เอง ไม่ต้องเดินตามกฎที่ตั้งไว้แต่แรกอย่างตายตัว นั่นหมายความว่า หุ่นยนต์ที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นจะมีความสามารถในการรู้คิดเหมือนกับสมองมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีได้พัฒนาความสามารถทางสมองให้แก่หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ฝังชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบจำลองการทำงานของเส้นใยประสาทสมองเข้าไปในหุ่นยนต์ (artificial genome) พร้อมกระตุ้นการทำงานของสมองเทียมนั้นผ่านการทดสอบความสามารถซ้ำๆ ซึ่งคล้ายกับกลไกของการคัดเลือกสายพันธุ์ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ เพื่อให้มั่นใจว่าเหลือแต่หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรง แม่นยำ และรับมือกับสถานการณ์ที่ได้รับมอบหมายมากที่สุด (the fittest robot)

เป้าหมายและหน้าที่ของสมองกลปัญญาประดิษฐ์มีหลายอย่าง แต่หลักๆ แล้วคือรู้คิด จัดการ และคำนวณข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปในเชิงตัวเลข เมื่อมนุษย์สามารถอัพเกรดสมองให้หุ่นยนต์ทำภารกิจด้านต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์จริงๆ ความสำนึกรู้ (consciousness) ของมนุษย์ก็มีความสำคัญน้อยลง ดังที่ผู้เขียน “Homo Deus” ชี้ว่า สำหรับการทหารและองค์กรทางเศรษฐกิจแล้ว ความสามารถทางสมองเป็นเรื่องจำเป็น แต่ความสำนึกรู้เป็นเรื่องไม่จำเป็น (intelligence is mandatory but consciousness is optional.) มนุษย์มีความสามารถทางสมองที่ไม่อาจแยกขาดจากความสำนึกรู้ แต่หุ่นยนต์กลับมีระบบคิดคำนวณที่เหมือนสมองโดยไม่ต้องมีความสำนึกรู้

กล่าวคือหุ่นยนต์มีระบบคิดโดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ ซ้ำระบบคิดนั้นยัง “พัฒนา” เพื่อเอาไปใช้งานด้านความมั่นคง หรือไม่ก็ “ขาย” ได้มูลค่าสูงมากในตลาด ความสำนึกรู้ของมนุษย์นั้นเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนบุคคล ประสบการณ์เป็นเรื่องของ “คุณค่าภายใน” ซึ่งคงไม่มีใครโต้แย้งว่าไม่สำคัญ แต่คุณค่าภายในเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งไม่สามารถตีราคาให้เป็น “มูลค่าภายนอก” ในท้องตลาด มันจึงดูเหมือนไม่จำเป็นในยุคจักรกลสมองนิยม    

ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เราทั้งหลายต่างได้รับการอบรมสั่งสอนให้เรียนหนังสือสูงๆ เพื่อจะได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่า หรือได้ทำงานที่มีเกียรติ เป็นแพทย์ ทนายความ วิศวกร หรือครูอาจารย์เป็นต้น แม้บางคนอาจไม่ได้เรียนสูง แต่เขาก็จะได้รับการปลูกฝังให้มีความชำนาญในวิชาชีพต่างๆ เช่น ทำอาหาร ขับรถ หรือประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว โรงเรียนและสถาบันการศึกษาล้วนตอกย้ำความสำคัญของการเป็นผู้เชี่ยวชาญและการมีอาชีพมานานนับร้อยปี

หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์เกิดขึ้นในเวลาที่มนุษย์แบ่งงานกันทำตามความชำนาญ และมีความเชี่ยวชาญเคยชินในวิชาชีพของตนเป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากมันถูกสร้างให้ทำภารกิจด้านรู้คิดและจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด งานใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นรูปแบบตายตัว (patterned) คำนวณได้ (computational) หรือทำซ้ำ (routine) หุ่นยนต์จะทำได้ดีกว่ามนุษย์ อาชีพที่มีลักษณะดังกล่าวเด่นชัด เช่น งานขับรถ งานเก็บเงิน งานบัญชี งานรับจ้างทำความสะอาด งานธุรการ ตลอดจนงานในโรงงานทั่วไป เหล่านี้จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ได้โดยง่ายและโดยเร็ว        

ไม่เพียงเท่านั้น งานประเภทต้องใช้ความสามารถในการรู้คิด (cognitive capacities) โดยมีแบบแผนแน่นอน เช่น การรวบรวม การวิเคราะห์ การจัดระบบ การสื่อสาร การวินิจฉัย การคาดการณ์ การคำนวณ ตลอดจนการสอนเนื้อหาซ้ำๆ หรือวิธีการเดิมๆ ทั้งหมดนี้หุ่นยนต์ก็สามารถทำได้เหนือกว่ามนุษย์ เพราะฉะนั้น อาชีพซึ่งเคยสร้างความมั่นคงและมีเกียรติสำหรับเราในยุคก่อน อาทิ แพทย์ ทนายความ ครูอาจารย์ นักบริหาร ปัจจุบันไม่มีใครบอกได้ว่า หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่งานของแต่ละคนเมื่อใด แล้วความเชี่ยวชาญที่เราสั่งสมเป็นประสบการณ์ทั้งชีวิตไว้จะยังใช้การอันใดได้อยู่

แม้มนุษย์จำนวนมากจะตั้งคำถามในทางลบและหวาดระแวงต่อการมีอยู่ของหุ่นยนต์ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า จักรกลอัลกอริทึ่มและหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์คือ “เรื่องราว” (story) ของยุคนี้ที่สอดคล้องกับ “ความเป็นจริง” (reality) ทางกายภาพที่ถูกค้นพบ เปิดเผย และยอมรับกันอย่างแพร่หลายในเวลานี้ เรื่องราวไม่ใช่เรื่องเท็จ มันเป็น “สิ่งสร้าง” ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย เรื่องราวถูกสร้างขึ้นเพื่อ “เชื่อมโยง” มนุษย์วงกว้างเข้าด้วยกัน มันให้ “ความหมาย” และ “อำนาจ” แก่มนุษย์มาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ เมื่อความเป็นจริงที่มนุษย์ค้นพบเปลี่ยนไป เรื่องราวหน้าใหม่ของมนุษย์ก็จะถูกเปิดขึ้นแทนที่หน้าเก่า ฉันใดก็ฉันนั้น  

มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะยอมรับความเป็นไปของยุคสมัย ถ้าเพียงเราเข้าใจว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดวงวิญญาณ หรือเทวนิยมคือ “เรื่องราว” ที่ให้ความหมายและอำนาจแก่มนุษย์ในยุคเกษตรกรรม ส่วนเงินตรา สงคราม ระบบตลาด ตลอดจนเสรีนิยมก็เป็น “เรื่องราว” ที่ทำให้มนุษย์มีความหมายและอำนาจในยุคอุตสาหกรรม ระบบอัลกอริทึ่ม หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ สังคมไร้เงินสด และจักรกลนิยมก็อาจจะเป็นเรื่องราวหน้าใหม่ของมนุษยชาติในยุควิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เมื่อความเป็นจริงเปลี่ยน เรื่องราวเปลี่ยน แต่ถ้ามนุษย์ไม่ยอมเปลี่ยนอะไรจะเกิดขึ้น ข้อนี้เป็นคำถามสำคัญที่เราควรหยุดคิดเพื่อประโยชน์ของชีวิตตัวเอง

ที่ผ่านมามีนักคิดจำนวนมากพยายามจะคาดการณ์ความเป็นไปของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง “ความเป็นจริง” กับ “เรื่องราว” ในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งตอบคำถามว่ามนุษย์ควรจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรและประกอบอาชีพอะไรในยุคสมัยแห่งการรื้อทำลายทางเทคโนโลยี บทความนี้จะนำเสนอความเป็นไปได้ของคำตอบต่อคำถามที่ว่า อาชีพของมนุษย์ในยุคเทคโนโลยีจักรกลควรเป็นอย่างไร มีลักษณะแบบไหนเท่านั้น ส่วนข้อคิดเห็นเรื่องการใช้ชีวิตของมนุษย์จะแสดงไว้ในบทความต่อเนื่องอื่นต่อไป

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น ระบบสมองกลอัลกอริทึ่มในคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำงานเชิงรูปแบบ คำนวณ และทำซ้ำ ในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้งานรูปแบบเดิมๆ ที่คาดการณ์คำนวณได้ทั้งหมดจะเสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ งานรวบรวมและประมวลผลข้อมูลก็จะถูกแทนที่เช่นกัน งานที่เน้นรูปแบบเดิมๆ จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นงานที่ยืดหยุ่นได้ งานที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณหรือใช้ความคิดจะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นงานสร้างสรรค์ และงานประเภททำซ้ำแบบคาดการณ์ได้ง่ายจะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นงานทำซ้ำที่คาดการณ์ได้ยาก แต่เหล่านี้หมายถึงอะไรและมนุษย์ต้องปรับตัวอย่างไร

ข้อหนึ่ง งานคงรูปแบบต้องปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นขึ้น หาไม่แล้วแม้มนุษย์จะมีความชำนาญในอาชีพของตนมากเพียงใดก็ไม่อาจสู้ความสามารถในการจัดการกับแบบแผนของหุ่นยนต์ได้ ความยืดหยุ่น (resilience) เป็นทั้งทัศนคติและคุณสมบัติที่คนทำงานต้องสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับความสามารถของหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์มีข้อดีคือทำงานหนักได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีวินัยในการคำนวณอย่างเที่ยงตรง และรู้จักแต่การทำหน้าที่ของมันอย่างเคร่งครัด เพราะฉะนั้น แม้มนุษย์คนหนึ่งจะสร้างตนเองขึ้นมาจากประสบการณ์อย่างยากลำบาก คนๆ หนึ่งอาจทำงานหนัก มีระเบียบวินัย และซื่อสัตย์ภักดีต่อธุรกิจของตนอย่างที่สุด แต่คุณสมบัติเหล่านี้หุ่นยนต์ก็มีและมีอย่างไร้ข้อจำกัดไม่เหมือนมนุษย์ มนุษย์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะจะทำงานแข่งกับหุ่นยนต์ได้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากระบบสมองกลของหุ่นยนต์ทำงานโดยไม่ผ่านประสบการณ์ มันจึงไม่รู้จักความยืดหยุ่น แม้หุ่นยนต์จะมีความสามารถในการรู้คิดเหมือนสมองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็ยังขาดการตระหนักรู้ ความเข้าใจสถานการณ์ และความยืดหยุ่น เพราะคุณสมบัติเหล่านี้พ่วงอยู่กับความสำนึกรู้ของคนที่ผ่านโลกมา ไม่ได้เป็นความสามารถของสมองในทางประมวลผลอย่างทันท่วงที ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นลูกจ้างในองค์กรหรือประกอบอาชีพอิสระ ถ้าขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับตัวหรือคิดนอกกรอบได้เลย งานของเราจะถูกแทนที่ได้หมด แพทย์ที่รู้จักแต่วินิจฉัยโรคตามตำรา ครูที่สอนเนื้อหาเดิมซ้ำๆ ทนายความที่ท่องจำข้อมูลเก่ง หรือช่างที่ตัดเย็บผ้าแบบเดียวตลอด เหล่านี้จะอยู่ไม่ได้นานเพราะเทคโนโลยีจะรื้อทำลายอาชีพที่ติดอยู่ในรูปแบบเดิม ส่วนแพทย์ที่รู้จักประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางเลือก ครูที่รู้จักปรับใช้เนื้อหาและวิธีการใหม่ๆ ในการสอน ทนายความที่สามารถคิดเชื่อมโยงสิ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันได้ ผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์แปลกล้ำ หรือช่างที่มีความสามารถหลายทาง เหล่านี้จะรักษาอาชีพของตนอยู่ได้นาน การรื้อทำลายอาชีพของเทคโนโลยีจึงชี้ถึงรูปแบบหรือลักษณะของการทำงานที่จะต้องถูกปรับเปลี่ยน ไม่ใช่เปลี่ยนชื่อเรียกอาชีพเก่าหรือหาชื่อเรียกอาชีพใหม่   

     

ข้อสอง งานวิเคราะห์ ใช้ความคิด ประยุกต์ หรือแม้แต่คำนวณ จะต้องมีลักษณะสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ในที่นี้หมายถึงการคิดใหม่ ซึ่งอาจเป็นการคิดผสมผสานให้เกิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีเพื่อต่อยอดทำซ้ำของเดิม ความคิดสร้างสรรค์เริ่มต้นที่นวัตกรรมด้านความคิด ซึ่งไม่ใช่การเน้นสร้างนวัตกรรมด้านวัตถุเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกธุรกิจเท่านั้น นั่นเป็นแค่ปลายทางของความคิดที่อาจช่วยทำให้ชีวิตของหลายคนทันสมัยมากขึ้น แต่ก็นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความอยู่รอดทางอาชีพให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่

ความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องหยุดที่การสร้างสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด ไม่ใช่การเอาข้อมูลที่มีอยู่มาเรียงต่อกันใหม่ และไม่ใช่การลอกเลียนแบบ สมองกลอัลกอริทึ่มทำงานด้านเรียงต่อข้อมูลหรือเลียนแบบได้ดีกว่าคน แต่มันไม่ใช่ผู้ริเริ่มกระทำการ มนุษย์ต่างหากคือผู้สร้างนวัตกรรมทางความคิด เราจะอยู่กับสมองกลและหุ่นยนต์ได้ถ้าเราเป็นผู้ริเริ่ม มนุษย์จะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ “ศิลปะ” แห่งการใช้ “ศาสตร์” ในวิชาชีพต่างๆ ในขณะที่หุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยมือเอก มนุษย์ต้องเป็นนายของหุ่นยนต์ ไม่ใช่ทาสของมัน อำนาจจะอยู่ในมือของมนุษย์ต่อไปตราบเท่าที่เรายังมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะความคิดสร้างสรรค์จะทำให้งานและชีวิตของมนุษย์ยังมีความหมายและคุณค่าในโลกของเทคโนโลยี      

ข้อสาม งานทำซ้ำจะต้องปรับเปลี่ยนให้คาดการณ์ได้ยากขึ้น จะต้องมีมิติของ ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับธรรมชาติมากขึ้น (empathy) งานทำซ้ำที่ขาดมิติของการเชื่อมโยงและทำความเข้าใจบริบท (หรือปัจจัยแวดล้อม) เป็นสิ่งที่จักรกลอัลกอริทึ่มถนัดมากกว่ามนุษย์ หุ่นยนต์ทำหน้าที่ของมันอย่างเถรตรงโดยไม่มีอคติ นั่นเป็นข้อดีของมัน หุ่นยนต์ไม่รู้จักมิติของจิตใจ มันคิด คำนวณ ประมวลผล และจัดการตามเป้าหมาย แต่คนทำความเข้าใจและเห็นใจกันได้ ซึ่งนี่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของมนุษย์ ข้อดีคือมนุษย์เรียนรู้การสื่อสารเพื่อเข้าใจกัน ข้อเสียคือมนุษย์สร้างอคติ

งานทำซ้ำที่คาดการณ์ได้ยากขึ้น เช่น งานพยาบาลที่ผู้ป่วยได้รับกำลังใจหรือของขวัญแบบคาดไม่ถึง ช่างตัดผมที่มีบริการนวดฟรีให้ลูกค้า ครูที่สร้างกลุ่มอ่านวรรณกรรมนอกเวลาเรียนร่วมกับลูกศิษย์ หรือนักโบราณคดีคลุกคลีกินอยู่กับชาวบ้าน ลักษณะของการมีส่วนร่วม สื่อสาร และเข้าใจกันในตัวอย่างงานเหล่านี้เป็นสิ่งที่จักรกลอัลกอริทึ่มยังทำแทนไม่ได้ เพราะมีตัวแปรใหม่ๆ ที่ถูกใส่เข้ามาในงาน ทำให้ข้อมูลปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและคาดการณ์ได้ยาก หุ่นยนต์ในปัจจุบันไม่ได้ถูกสร้างเพื่อทำความเข้าใจ แต่ถูกสร้างเพื่อทำภารกิจ ส่วนความเข้าใจก็เป็นเรื่องของมนุษย์ที่อาศัยประสบการณ์บ่มเพาะ ไม่ใช่เรื่องของการคำนวณผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์

กล่าวโดยสรุป ในศตวรรษที่ 21 การงานหรืออาชีพของมนุษย์จะไม่ได้สำคัญที่รูปแบบคงเดิม บางอาชีพหายไป บางอาชีพถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ส่วนอาชีพใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย  ซึ่งไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไร รายละเอียดของงานจะแตกต่างกันแค่ไหน ถ้าประกอบอยู่ด้วยความยืดหยุ่น ความคิดสร้างสรรค์ และความเข้าใจเชิงลึกถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างสรรพชีวิตและสรรพสิ่ง การงานหรืออาชีพนั้นก็จะอยู่รอดได้ยาวนาน ไม่ถูกรื้อทำลายโดยง่ายจากความก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้งของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

 

หนังสือ (รวมทั้งเอกสาร) ประกอบการเขียน

Fry, Hannah (2019). Hello World: How to Be Human in the Age of the Machine. London: Penguin Random House.

Harari, Yuval Noah (2017). Homo Deus. London: Vintage.

Harari, Yuval Noah (2019). 21 Lessons for the 21st Century. London: Vintage.

Verdoux, Philippe (2011). Emerging Technologies and the Future of Philosophy. Metaphilosophy 42 (5): 682-707.

 

                        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท