รื้อเขื่อนปากมูล ฟื้นฟูแม่น้ำมูน แก้วิกฤตน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รื้อเขื่อนปากมูล ฟื้นฟูแม่น้ำมูน แก้วิกฤตน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก (1)

รื้อเขื่อนปากมูล ได้ หรือ เสีย อย่างไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน

ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอข้อมูลอีกด้าน ที่ราชการ และรัฐบาลเลี่ยง ที่จะกล่าวถึงคือ “เขื่อนปากมูล” ซึ่งมีส่วนสำคัญที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมอุบล ในปี 2562 ซึ่งปัญหาหลักคือตัวเขื่อน ขวางกั้นการระบายน้ำจากตัวเมืองอุบลราชธานี จนน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ไม่สะดวก โดยขอนำเรียนข้อมูล ดังต่อไป

เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงเวลาการใช้ไฟสูงสุด (เขื่อนสำรองไฟฟ้า) เริ่มทำการก่อสร้างในปี 2534  และแล้วเสร็จในปี 2537 ลักษณะของเขื่อนปากมูล เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดแน่น มีความสูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร ควบคุมน้ำด้วยประตูเหล็กโค้ง 8 ช่อง ช่องละ 22.5 เมตร และติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าจำนวน 4 เครื่อง งบก่อสร้าง 6,600 ล้านบาท ตัวเขื่อนตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี 82 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำโขง 6 กิโลเมตร และด้วยโครงสร้างของตัวเขื่อนปากมูล ที่ปิดลำน้ำที่มีความกว้าง จาก 300 เมตร เหลือเพียง 180 เมตร (น้ำสามารถไหลผ่านได้ในช่องประตูเขื่อน ซึ่งมีขนาน 22.5 เมตร เพียง 8 บานประตู (22.5 X 8 = 180 เมตร )) หรือเกือบครึ่งหนึ่งของความกว้างของแม่น้ำมูน ขณะที่อีก 120 เมตร ถูกแนวสันเขื่อนปิดกั้นไว้ ยิ่งหากเป็นในฤดูน้ำหลากพื้นที่ริมตลิ่งอีกกว่า 100 เมตร ซึ่งน้ำสามารถไหลผ่านได้ โดยรวมทางที่น้ำควรจะไหลผ่านได้ประมาณ 400 เมตร แต่ถูกปิดกั้นไว้เหลือเพียงแค่ 180 เมตร เขื่อนปากมูล จึงเป็นสาเหตุหลักที่ขวางกั้นการระบายน้ำอย่างแท้จริง

“รื้อเขื่อนปากมูล เปิดทางน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำมูน” ผลดี ผลเสีย อย่างไหน คุ้มค่าที่สุด !!!!

ผู้เขียนขอตั้งคำถามแรงๆ และขอนำเสนอข้อมูล ทั้งผลดี และผลเสียของเขื่อนปากมูล เพื่อให้ทุกท่าน ได้พิจารณาร่วมกัน ดังนี้

ผลดี ประโยชน์ จากเขื่อนปากมูล

ประการแรกคือพลังงานไฟฟ้า โดยการไฟฟ้า ฯ มีรายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้า เฉลี่ยปีละ 99 ล้านบาท (อ้างจาก :รายงานการรวบรวมช้อมูลงานวิจัย ฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี กันยายน 2553) นอกจากนี้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนปากมูลก็เป็นเพียงแค่ไฟสำรอง ที่จะถูกผลิตเข้าสู่ระบบในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งเหตุผลนี้ เมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา ถือว่าจำเป็น แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้นำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวนมาก ซึ่งไฟฟ้าที่นำเข้า ยังเกินกว่าการใช้อีกมาก ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล

ผลประโยชน์รองจากเขื่อนปากมูล คือ การชลประทาน ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเพิ่มพื้นที่การเกษตร จำนวน 160,000 ไร่ แต่ในความเป็นจริง พบว่า มีพื้นที่เกษตรที่ใช้น้ำจากเขื่อนปากมูล เฉลี่ยปีละ 7.22 % (อ้างจาก :รายงานการรวบรวมช้อมูลงานวิจัย ฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี กันยายน 2553) และนอกจากนี้ก็เป็นการนำไปทำน้ำปะปา ซึ่งในส่วนนี้ยังมีการแสดงตัวเลขอย่างชัดเจน ส่วนการท่องเที่ยว ก็ยังไม่ปรากฎข้อมูลแต่อย่างใด

ผลเสีย ความเสียหาย จากเขื่อนปากมูล

ผลกระทบลำดับแรกที่รุนแรงที่สุด คือ ผลกระทบต่อจำนวนปลาและชนิดพันธ์ุปลาในแม่น้ำมูน ที่มีกว่า 265 ชนิด ลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก ซึ่งพบว่าการสูญเสียรายได้จากการประกอบอาชีพประมง เฉลี่ยปีละ 140 ล้านบาท (อ้างจาก :รายงานการรวบรวมช้อมูลงานวิจัย ฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี กันยายน 2553) นอกจากนี้แล้วแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นแก่งต่างๆ ในแม่น้ำมูน ยังจมอยู่ใต้เขื่อนปากมูล นับ 50 แห่ง

จากข้อมูลที่ดังกล่าวมา หากนำมาพิจารณาผลดี ผลเสียแล้ว ผมเห็นว่า เขื่อนปากมูล สร้างความเสียหายมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และยังเป็นอุปสรรค ต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานี โดยเฉพาะความเสียหายจากน้ำท่วมในปี 2562 ซึ่งจะมีมูลค่านับหมื่นล้านบาท และที่มากกว่านั้นคือ ความมั่นใจในการลงทุน การพัฒนา ที่อาจนำไปสู่การชะลอตัวในทางเศรษฐกิจ เพราะมีความเสี่ยงจากน้ำท่วม ซึ่งช่วงหลังๆ มักจะท่วมแทบทุกปี

การรื้อเขื่อนปากมูล ที่มีสภาพเป็น “คอขวด” จึงเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบล ที่มาจากการพิจารณาจากข้อมูล และข้อเท็จจริง หลายด้านประกอบกัน สำหรับแนวคิดเรื่องการสร้างแม่น้ำมูนใหม่ รวมทั้งการระเบิดแก่งสะพือ ซึ่งแนวคิดทั้งสองอย่างนี้ ก็ไม่สามารถนำน้ำไปสู่แม่น้ำโขงได้โดยตรง น้ำก็จะยังคงถูกกักกั้นอยู่ที่เขื่อนปากมูล เช่นเดิม แต่หากรื้อเขื่อนปากมูล ทางน้ำก็จะกว้างขึ้นจาก 180 เมตร เป็น 400 เมตร ในฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะเพียงพอต่อการระบายน้ำในแม่น้ำมูนลงสู่แม่น้ำโขง ในขณะที่ในฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำมูน ก็จะถูกกักเก็บไว้ในปริมาณที่พอเหมาะด้วยแก่งต่างๆ เช่น แก่งบุ่งมะแลง แก่งปากโดม และแก่งสะพือ ซึ่งจะมีน้ำอย่างเพียงพอ ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านปากมูน กับรัฐบาล ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับการแก้ไข และที่สำคัญ จังหวัดอุบลราชธานี จะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ คือแก่งต่างๆ อีกจำนวนมาก ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าในทางเศรษฐกิจ ได้อีกด้วย

รื้อเขื่อนปากมูล แก้ปัญหาน้ำท่วม แก้ปัญหาระบบนิเวศแม่น้ำมูน คุ่มค่ามากกว่าวิธีการอื่นๆ ครับ…

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท