เปิด Timeline การเคลื่อนไหวสมัชชาคนจน ลั่นปักหลักต่อ จี้รัฐแก้ปัญหาให้จบ

สมัชชาคนจน เปิด Timeline การเคลื่อนไหว วางพวงหรีดไว้อาลัย สนง.ปลัดสำนักนายกฯ ลั่นปักหลักต่อ จี้รัฐแก้ปัญหาให้จบ

22 ต.ค.2562 เข้าสู่วันที่ 17 ของสมัชชาคนจน ที่ชุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังการรัฐประหารปี 2557 เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลนั้น

ล่าสุดวันนี้ สมัชชาคนจน ได้ออกแถลงการณ์ “ขอไว้อาลัยการปฏิบัติงานของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี” พร้อมวางพวงหรีดที่บริเวณหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ด้านถนนพิษณุโลก โดยระบุว่า กลุ่มสมัชชาคนจนชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 6-22 ต.ค. นาน 17 วันแล้ว  รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่จาก สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มาเจรจาและประสานข้อมูล แต่กลับมีปัญหาข้อผิดพลาดหลายเรื่อง ไม่มีผลการเจรจาที่ชัดเจนออกมาเป็นเอกสาร ทั้งที่รับปากกันไว้ว่าจะนำผลการเจรจาเข้ารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) จึงต้องขอประฌามและขอไว้อาลัยในการปฏิบัติงานของสำนักปลัดสำนักนายกฯ

จากนั้นช่วงบ่าย ตัวแทนสมัชชาคนจนได้เข้าเจรจา ร่วมกับ เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ พร้อมด้วย ธงชัย ลืออดุลย์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใช้เวลานานประมาณ 5 ชั่วโมง

ข่าวสดออนไลน์รายงานเพิ่มเติมคำให้สัมภาษณ์ของ สุภรณ์และโฆษกสมัชชาคนจน โดยที่ สุภรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า โดยภาพรวมการแก้ไขปัญหาต่างๆนั้นได้ข้อยุติแล้วประมาณ 80-90% แล้ว ที่เหลืออีกเล็กน้อยเป็นการแก้ปัญหาในส่วนของเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักใจเพราะเกี่ยวข้องกับ มติครม. พรบ.หลายฉบับ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ ระหว่างประชาชน ป่าไม้อุทยาน ฯ และที่ราชพัสดุ พื้นที่สาธารณะ ซึ่งทางกลุ่มสมัชชาคนจนได้นำเสนอปัญหาให้กับผู้แทนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรและสหกรณ์ มหาดไทย คลัง ยุติธรรม โดยเบื้องต้นสรุปว่าจะทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เพื่อมาพิจารณาหาทางออกร่วมกันให้ประชาชน โดยเฉพาะสมัชชาคนจนได้เข้าใจทางออกของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและอยู่ร่วมกันในพื้นที่ได้ เพื่อหาทางออกร่วมกันได้ โดยจะมีการพูดคุยกันอีกครั้งในเช้าวันพฤหัสที่ 24 ต.ค.นี้

ลั่นปักหลักต่อ จี้รัฐแก้ปัญหาให้จบ

ขณะที่ ไพทูรย์ สร้อยสด โฆษกสมัชชาคนจน ข่าวสดออนไลน์ รายงานไว้เช่นกันว่า โฆษกสมัชชาคนจน  กล่าวว่า จากการเจรจาพูดคุยกับรัฐมนตรี 4 กระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ โดย วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ รับข้อเสนอของสมัชชาคนจน ที่ขอให้แก้ปัญหา โดยใช้พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ในรูปแบบนิคมสหกรณ์ ไปพิจารณาแนวทางก่อน หากเห็นชอบ จะได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าที่ประชุมครม.ต่อไป ส่วน นิพนธ์ บุญญามณี รมว.มหาดไทย ก็รับปากว่าจะลงไปดูพื้นที่ด้วยตัวเองเพื่อดูข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยจัดไปให้เร็วที่สุด ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะในส่วนของกรมชลประทาน ที่มีปัญหาเรื่องเขื่อน ทางสมัชชาคนจนขอให้ยกเลิกมติครม.เดิม เพื่อขอให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เพราะที่ผ่านมามีเพียงการชะลอ แต่ทางกลุ่มสมัชชาคนจนไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นเมื่อไหร่

ดังนั้น จึงต้องการให้มีมติครม.ยกเลิก เพราะเคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในกรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร ที่สร้างเสร็จแล้ว และชาวบ้านได้รับผลกระทบจริง ซึ่งรมว.เกษตรก็ขอไปดูและหารือครม. ทั้งนี้ในอดีตเคยมีการยกเลิกมติครม.เดิมมาแล้ว เช่น เขื่อนลำคันฉู เขื่อนแก้งกะอาม ชี้ให้เห็นว่ายกเลิกไม่สร้างเลยก็ทำได้ ดังนั้นถ้ารัฐบาลนี้มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ขอให้พิจารณา

สำหรับปัญหาราคาสินค้าเกษตรนั้น โฆษกสมัชชาคนจน ระบุว่า สมัชชาคนจนเห็นว่าพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม ข้าว มันสำปะหลัง และมะพร้าว รัฐบาลควรมีมาตรการสร้างมาตรฐานเรื่องการประกันรายได้ เพื่อทำให้ชาวบ้านพอมีชีวิตอยู่ได้ในเบื้องต้น เพราะตอนนี้ราคาต่ำจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ต้องกู้หนี้ จนพอกพูนไม่รู้จะใช้หนี้กันอย่างไรแล้ว

ส่วนกระทรวงแรงงาน สำหรับการพูดคุยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานนั้นยังมีความคืบหน้าอยู่น้อยมาก เพราะรัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถไปบังคับเอกชนได้ เนื่องจากประเด็นแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงานคือการถูกเลิกจ้าง ถูกสั่งปิดงานโดยไม่เป็นธรรม ปิดโรงงานหนี 

ทั้งนี้ปัญหาแรงงานหัวเว่ยแบตเตอรี่ เกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง คือ แรงงาน อุตสากรรมและสาธารณสุข ซึ่งพบว่าผู้ใช้แรงงานมีค่าตะกั่วในเลือดสูงเกินกว่ามาตรฐานมาก แต่พอโรงงานตรวจสอบกลับไม่พบว่ามีค่าตะกั่วในเลือด จึงขอเสนอให้ 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องลงไปร่วมตรวจสอบพร้อมกัน

“การแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนเรามองว่าเป็นเพียงบันไดขั้นแรกในครั้งนี้ เพราะยังมีกระบวนการแก้ปัญหาที่หลายเรื่องจะต้องใช้เวลานานหลายปี แต่อย่างน้อยที่ได้เสนอกับรัฐบาลก็ขอให้เห็นแนวทางและกรอบที่จะดำเนินการแก้ไขและเห็นช่วงเวลาการแก้ไข และนำบันทึกการเจรจาเสนอครม. ให้รับทราบว่าสมัชชาคนจนได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้เจรจากับรัฐบาลเป็นรายกระทรวง รัฐบาลก็พยายามที่จะบีบให้สมัชชาคนจนกลับบ้าน”

โฆษกสมัชชาคนจน กล่าวอีกว่า เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือมติผ่อนผัน ให้ชาวบ้านสามารถทำกินตามวิถีปกติ ในพื้นที่ผ่อนผันทำกินในเขตป่า ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะในวันที่ 25 พ.ย. พ.ร.บ.อุทยานฯ 62 จะเริ่มบังคับใช้ ก็จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนแน่นอน ไม่มีทางที่จะหลีกพ้นได้ แต่ถ้าเรากลับบ้านโดยที่ไม่มีอะไรรองรับต่อปัญหานี้เราก็เจอพี่น้องแน่ ดังนั้นถ้าอยากให้พวกเรากลับบ้านก็ขอให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องนี้ เช่น มติครม. ผ่อนผันให้ทำกินในที่ดินเดิมไปพลางก่อน ซึ่งเรื่องนี้เคยมีมติครม.ให้กับสมัชชาคนจนมาแล้วในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่รัฐบาลมาบ่ายเบี่ยง ที่จะไม่นำเข้าสู่ครม. ถ้าจริงใจแก้ปัญหา

“จะปักหลักชุมนุมอยู่ต่อไป เพราะถึงกลับไปก็ถูกจับ อยู่ที่นี่ก็ถูกจับ อยู่ที่ไหนก็ถูกจับอยู่ดี ส่วนจะชุมนุมถึงเมื่อไหร่นั้นก็แล้วแต่รัฐบาล มีความจริงใจแก้ไขปัญหาแค่ไหน ถ้าแก้ปัญหาให้เสร็จวันนี้เราก็กลับวันนี้ แก้เสร็จพรุ่งนี้เราก็กลับพรุ่งนี้” โฆษกสมัชชาคนจน กล่าว

สมัชชาคนจนฉบับพิเศษ ออกแถลงการณ์ฉบับพิเศษ ไว้อาลัยการปฏิบัติงานของสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ พร้อมเปิด Timeline การเคลื่อนไหว โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์สมัชชาคนจนฉบับพิเศษ “ขอไว้อาลัยการปฏิบัติงานของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี”

ด้วยสมัชชาคนจนได้ประกาศยืนหยัดในการปักหลักชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และมีกิจกรรมรณรงค์ในช่วงการเคลื่อนไหวให้มีการเจรจา“อย่างเสมอหน้า”กับรัฐบาล จนกว่าจะเกิดการเจรจาอย่างเสมอหน้ากับฝ่ายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้ข้อยุติ

นับแต่การชุมชนของพวกเราตั้งแต่วันที่ ๖ – ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ เป็นเวลา ๑๗ วัน โดยทางรัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่ประสานงานและจัดทำข้อมูลในการเจรจาร่วมกับฝ่ายเลขานุการสมัชชาคนจน จากการทำงานดังกล่าวมีปัญหาข้อผิดพลาดที่สำคัญหลายประการ ดังนี้ คือ

- วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ เครือข่ายสมัชชาคนจนทั่วประเทศได้ยื่นหนังสือกับทางรัฐบาลที่ศูนย์บริการประชาชน เพื่อแจ้งให้ทุกฝ่ายได้รับทราบว่าในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ เพื่อขอเปิดการเจรจาอย่างเสมอหน้ากับรัฐบาล

- วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ ทาง สปน. นัดประชุมเพื่อเอาข้อมูลของทั้งสองผ่านมาปรับให้ตรงกัน ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒

- วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ปรากฏว่าไม่ใช่เป็นการปรับข้อมูลให้สอดคล้องตรงกัน เพื่อใช้ในการเจรจาในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ แต่เป็นการประชุมเพื่อให้ยอมรับคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน และเป็นการเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมารับข้อเสนอของสมัชชาคนจน

- วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ พวกเราสมัชชาคนจนจาก ๓๕ กรณีปัญหาได้มารวมตัวกันที่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่ได้มีการยื่นหนังสือในการขอเจรจากับฝ่ายรัฐบาลไว้ก่อนหน้านี้แล้ว พวกเราจะปักหลักชุมนุมจนกว่าการเจรจาแก้ไขปัญหาจะได้รับข้อยุติ

- วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ ไม่มีการเปิดการเจรจาใดๆกับรัฐบาล แต่ได้รับการประสานงานจาก สปน. ว่าได้ประสานตัวแทนส่วนราชการมาชี้แจงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และพยายามเสนอให้พวกเรายอมรับคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน

- วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ พวกเราจึงได้มีการเคลื่อนไหวกดดันให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งมอบหมายให้นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการเจรจาแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนแทนนายกรัฐมนตรี

- วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ ๑๖/๒๕๖๒ มอบหมายให้นายเทวัญ ลิปตพัลลพ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจาแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนแทนนายกรัฐมนตรี โดยมีนัดหมายการเจรจา เวลา ๑๒.๓๐ น. ของวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒

- วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ นายเทวัญ ลิปตพัลลพ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน มีตัวแทนสมัชชาคนจนจาก ๓๕ กรณีปัญหาเข้าร่วมประชุม ผลการประชุม ประธาน ฯ มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสมัชชาคนจน เพื่อรับฟังข้อเสนอของทางสมัชชาคนจนและประสานกำหนดวันเวลาในการเจรจา

- วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ เลขานุการสมัชชาคนจนกับเลขานุการ สปน. ร่วมกันกำหนดกรอบ/วัน/เวลา ในการเจรจารายละเอียดและข้อสรุปของแต่ปัญหา ทั้ง 5 กลุ่ม 35 กรณี แต่การแยกข้อมูลประเด็นปัญหากับหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยสปน.ก็ยังมีข้อผิดพลาด ข้อมูลตกหล่น ไม่ได้ยึดข้อมูลตามข้อเสนอของเรา ซึ่งวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ พวกเราต้องปรับแก้เอกสารใหม่อีกครั้ง

- วันที่ ๑๕ – ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ จากการที่พวกเราได้เคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้เกิดการเจรจาปัญหาความเดือดร้อนของพวกเรากับรัฐบาล จนกระทั่งเราได้เจรจาทางกับรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมาย ๑๐ กระทรวง แม้ผลการเจรจาจะยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจของพวกเราก็ตาม

- วันที่ ๑๗ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีจะต้องเตรียมตัวชี้แจงกับสภาผู้แทนราษฎร์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ทางฝ่ายเลขานุการของพวกเราและของฝ่ายรัฐบาล ได้ร่วมกันทำบันทึกผลการเจรจา เพื่อที่จะให้ทางสมัชชาคนจนและรัฐบาลได้ลงนามรับรองบันทึกการเจรจาร่วมกัน

- วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ในที่ประชุมเจรจา ระหว่างการตรวจดูข้อมูลรายผลการเจรจาระหว่างผู้แทนฝ่ายสมัชชาคนจนกับผู้แทนแต่ละกระทรวง ปรากฏว่าตารางสรุปข้อมูลรายงานผลการเจรจาไม่ตรงกัน เมื่อทางผู้แทนสมัชชาคนจนทักท้วงว่ารายละเอียดรายงานผลการเจรจาของหน่วยงานราชการไม่ตามมีการเจรจาไว้ ทางหน่วยงานราชการจึงชี้แจงว่าได้รับการประสานงานจาก สปน.ให้รายงานผลการทำงาน ไม่ได้ให้รายงานผลการเจรจา

ทั้งนี้ในการประชุมเจรจาในแต่ละครั้งก็ไม่มีเอกสารประกอบการประชุมเจรจาใดๆ พวกเราต้องมีการทักท้วงขอเอกสารทุกครั้งถึงจะได้

หลังจากการเจรจาทาง สปน.ได้ประสานมายังพวกเราว่าได้มีการเสนอรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้วในการนำเสนอผลการเจรจาเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ทาง สปน.ไม่สามารถทำข้อมูลได้ทันในการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ และพวกเราได้มีข้อเรียกร้องให้มีมติในการตรวจสอบความถูกต้องร่วมกันทั้งสองฝ่าย แต่ทาง สปน.ไม่ยอมให้พวกเราตรวจสอบเอกสาร โดยอ้างว่าเอกสารยังไม่ผ่าน ครม. ไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งที่ได้มีการทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ทั้งที่พวกเราได้พยายามประสานงานเพื่อให้เกิดการแก้ไขข้อผิดผาดดังกล่าว แต่กลับไม่ได้รับการตอบเสนอแต่อย่างใด

“พวกเราจึงขอประนามและขอไว้อาลัยในการปฎิบัติงานของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี”

ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน

สมัชชาคนจน
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท