“คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” (7): ความเป็นอิสระของศาลต้องตรวจสอบได้โดยสาธารณชน

‘ประชาไท’ รวบรวมงานเสวนา 2 งานอันเนื่องมาจากกรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตนเองในศาลจังหวัดยะลา ต่อเนื่อง 9 ตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตั้งแต่รายละเอียดของคดีจนถึงภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านมุมมอง สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

  • ความเป็นอิสระของศาลต้องตรวจสอบได้โดยสาธารณชน
  • ปฏิรูปศาล เช่น การเพิ่มอายุผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษาจาก 25 ปีเป็น 35 ปี การให้ศาลสามารถลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้
  • ศาลกำลังมีแนวคิดแบบราชการที่ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงเป็นหลัก โดยเฉพาะคดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กรณีการยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ศาลจังหวัดยะลา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันตุลาการและข้อกังขาว่าผู้พิพากษามีอิสระเพียงใดในการพิจารณาคดี ด้วยถ้อยคำในคำแถลงการณ์ที่ว่า

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดงานเสวนาต่อกรณีนี้ 2 งานคือ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต’ ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยากรทั้งสองงานมีตั้งแต่ทนายความที่ทำคดีดังกล่าว นักสิทธิมนุษยชน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นักวิชาการด้านกฎหมาย และสื่อมวลชน

เพื่อให้ภาพที่สมบูรณ์ ครบทุกมิติ ‘ประชาไท’ จึงนำทั้งสองงานมาร้อยเรียงเป็นซีรีส์ว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ข้อเสนอเพื่อแก้ไข และความอิสระที่ว่านั้นควรอิสระเพียงใดจึงจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความอิสระเป็นพิษ

สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตอกย้ำความอิสระของศาลจะต้องตรวจสอบได้ ซึ่งปัจจุบับมีคดีที่สร้างข้อกังขาต่อสาธารณชนว่าศาลได้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมหรือไม่ และเราจะปฏิรูปศาลอย่างไร

สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ผมจะไม่พูดถึงกรณีที่เกิดขึ้นในเชิงของรายละเอียดเพราะมีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาแล้ว เพียงแต่น่าเสียดายว่าถ้าคณะกรรมการชุดนั้นมีคนนอกเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะระเบียบไม่เปิดโอกาสให้หรือเป็นเพราะตั้งใจที่จะไม่ตั้งคนนอกเข้าไป ดังนั้น ก็จะมีปัญหาต่อไปว่าการสอบสวนของคณะกรรมการซึ่งในที่สุดต้องผ่าน ก.ต. (สำนักคณะกรรมการศาลยุติธรรม) นั้นจะน่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด

เวที “ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต”

ความอิสระที่ต้องตรวจสอบได้

ในประเด็นนี้ก็อยากเพิ่มเรื่องความเป็นอิสระก่อนที่จะไปประเด็นอื่น ความเป็นอิสระนั้นคงไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการในลักษณะที่เป็นสถาบันหรือตัวผู้พิพากษาแต่ละท่าน ในการพิพากษาอรรถคดีท่านยังต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ถึงกระนั้นท่านโคฟี อันนัน ได้พูดไว้ในเรื่องความยุติธรรมในปี 2004 ว่ากฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายที่เป็นธรรมและกฎหมายที่เป็นธรรมในปัจจุบันนี้พิจารณาได้ไม่ยากเพราะว่ามีหลักการ มีสนธิสัญญา ไม่ว่าจะเรียกว่ากติการะหว่างประเทศ อนุสัญญาระหว่างประเทศ แนวปฏิบัติหลักมาตรฐานของสหประชาชาติในด้านสิทธิมนุษยชนกำกับไว้อยู่แล้ว การตีความว่าความยุติธรรมคืออย่างโน้นอย่างนี้ที่นอกเหนือไปจากแนวทางที่นานาชาติรับรองนี้ ก็คงต้องเถียงกันอีกนานคงไม่สามารถหาข้อยุติได้ ความเป็นอิสระต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้

ประเด็นที่ 2 ความอิสระนั้นต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งในทางโครงสร้างมีความพยายามที่จะให้ฝ่ายตุลาการมีความยึดโยงอย่างใดอย่างหนึ่งกับอีก 2 อำนาจซึ่งขณะนี้ทำได้เพียงประการเดียว ก็คือฝ่ายนิติบัญญัติสามารถถอดถอน แต่ในการแต่งตั้งตุลาการนั้นฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีโอกาสเลย ยกเว้นศาลปกครองซึ่งในส่วนนี้เองมันอาจจะเป็นอิสระจริง แต่เมื่อเป็นอิสระแล้วไม่สามารถตรวจสอบได้ ความอิสระนั้นก็อาจจะกลายเป็นปัญหา

การตรวจสอบได้ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เฉพาะฝ่ายตุลาการเท่านั้น แต่หมายถึงตัวผู้พิพากษาในการทำหน้าที่ด้วยก็คือการตรวจสอบโดยประชาชนหรือโดยสาธารณชน แน่นอน การวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษา คำพิพากษา หรือศาลในฐานะสถาบันนั้นในยุคของ Social Media ต้องยอมรับว่ามีลักษณะเกินเลยในบางกรณีเหมือนกัน บางทีก็ไปละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ทั้งของตัวผู้พิพากษาเอง แต่สิ่งเหล่านี้ก็คงไม่ได้หมายความว่าจะไปจำกัดการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ถ้าสถาบันตุลาการไม่ยึดโยงกับสาธารณะหรือประชาชนแล้วก็ไม่สามารถที่จะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีจังหวัดยะลานี้ก็สะท้อนให้เห็นหลายอย่างว่ามีบางเรื่องที่ประชาชนไม่สามารถจะเข้าถึงได้ แม้แต่คู่ความก็ไม่สามารถเข้าถึงความเห็นบันทึก ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะเป็นคำชี้แนะหรือกระทั่งคำสั่งของผู้พิพากษาระดับบริหารต่อคดีซึ่งในจุดนี้ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อคู่ความในคดีนั้น

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะเสริมคือเรื่องความเป็นอิสระของศาล ปี 1985 ซึ่งเป็นหลักมาตรฐานสากลของความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งเป็นข้อ 2 ที่กำหนดไว้ว่าศาลจะต้องตัดสินคดีโดยไม่ลำเอียง ตัดสินคดีตามข้อเท็จจริงและตามกฎหมายโดยปราศจากซึ่งข้อจำกัดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลอันไม่สมควร การชักนำ แรงกดดันข่มขู่ การแทรกแซงทั้งโดยตรงและโดยอ้อม นี่เป็นหลักการที่พูดถึงความเป็นอิสระของตุลาการ ท่านสามารถที่จะนำไปใช้ในการพิจารณาคดีของตุลาการ

ประเด็นต่อไปที่อยากจะพูดก็คือว่าการพิจารณาเรื่องความอิสระของตุลาการนี้ เราไม่ควรพิจารณาเฉพาะในกรอบของกฎหมายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายอื่นๆ หรือกฎอื่นใด ผู้พิพากษาจำนวนมากที่เป็นฝ่ายบริหารไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าศาลหรืออธิบดีหรือประธานศาลฎีกาจะปฏิบัติตามระเบียบหรือตามกฎหมาย แต่การปฏิบัติตามระเบียบหรือตามกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักการของความเป็นอิสระของตุลาการ ดังนั้น ถ้ากฎหมายหรือระเบียบใดที่ขัดต่อหลักการความเป็นอิสระของตุลาการหรือเปิดโอกาสให้เกิดความไม่อิสระของตุลาการก็ต้องแก้ไข จะแก้ไขโดยกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติหรือถ้าเป็นระเบียบจะแก้ไขโดยคณะของผู้พิพากษาระดับสูงในที่ประชุมใหญ่ก็ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักการนี้

ผมคิดว่าการพูดถึงปัญหานี้ เราไม่ควรพูดเฉพาะอยู่แต่ในวังวน หรือในกรอบของข้อจำกัดในทางกฎหมายหรือข้อระเบียบเท่านั้น แต่ต้อง พูดถึงหลักการที่ถูกต้องของความอิสระของธุรการด้วย

2 คดีที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อศาล

มีข้อโต้แย้งซึ่งผมก็ฟังมาประมาณ 10 ปีที่แล้ว หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 40 แล้วพอเกิดเหตุการณ์ที่จังหวัดยะลาก็มีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาอีก หลังรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ให้อิสระของผู้พิพากษาในการพิพากษาคดีอย่างมากทำให้คุณภาพของคำพิพากษาด้อยลงไปมาก มีคำพิพากษาจำนวนมากที่เมื่ออุทธรณ์ไปแล้วศาลอุทธรณ์ก็กลับคำพิพากษาอันนี้ก็น่าจะเป็นความจริงอยู่ ดังนั้น จึงบอกว่ามีเหตุผลที่ควรมีการควบคุมคุณภาพของคำพิพากษา ก็เลยออกกฎระเบียบต่างๆ ขึ้นมาที่ให้ผู้พิพากษาระดับบริหารหรือผู้พิพากษาอาวุโสสามารถเข้าไปให้คำแนะนำ ตรวจทานร่างคำพิพากษาขององค์คณะ ซึ่งส่วนนี้เองมันก็เป็นดาบ  สองคมอย่างน้อยจากตัวอย่างที่ผมจะยกซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผมเคยมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ข้อมูลต่างๆ ในคดีค่อนข้างจะครบถ้วนแล้วก็ตั้งข้อสังเกตหรือข้อสงสัยว่าคำพิพากษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกาน่าจะไม่อยู่ในหลักการของความยุติธรรม

ผมยกตัวอย่างเช่นคดีการไต่สวนการตายกรณีตากใบซึ่งผู้ชุมนุมที่ตากใบเมื่อสิบกว่าปีก่อนถูกจับและถูกใส่ในรถบรรทุกทหารทับซ้อนกันเพื่อขนย้ายควบคุมตัวจากนราธิวาสไปปัตตานี พอไปถึงปัตตานีปรากฏว่าให้คนลงจากรถลงไม่ได้เพราะกลายเป็นศพถึง 90 กว่าคน ซึ่งตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะต้องมีการไต่สวนการตาย โดยผู้พิพากษาหรือศาลซึ่งมีการนำพยานหลักฐานต่างๆ เข้าไป ประเด็นปัญหาก็คือคำสั่งของศาลเกี่ยวกับการตาย จนมีคนออกมาพูดแล้วก็กลายเป็นวลีทองที่พูดแล้วก็แสดงความไม่เชื่อถือต่อคำสั่งของศาลและกระบวนการยุติธรรมก็คือ ศาลมีคำสั่งโดยสรุปว่าคนที่ตายทั้ง 96 คนนั้นเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ทั้งๆ ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นจะต้องอธิบายถึงเหตุและลักษณะที่ทำให้ตายด้วยแต่ว่าไม่มีการวินิจฉัยในส่วนนี้ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติของผู้ตาย ทนายความ ก็ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร

แล้วก็มีความเชื่อซึ่งจะมีข้อเท็จจริงอย่างไรผมไม่พูดถึง แต่ว่าเป็นความเชื่อ ซึ่งจะถูกหรือผิด แต่ไม่มีการชี้แจง คือความเชื่อที่ว่าการทำตามคำสั่งกรณีตากใบนั้นมีการแทรกแซงจะบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาในการไต่สวนคดี ความเชื่อเหล่านี้ปัจจุบันยังดำรงอยู่ ไม่มีการชี้แจง ไม่มีการอธิบาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และในสถานการณ์ที่ความเชื่อถือของรัฐบาล ความเชื่อถือของสถาบันตุลาการ จะมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการรักษาความสงบในพื้นที่ดังกล่าว

เรื่องที่ 2 ก็คือคดีการไต่สวนการตาย ของ ชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งเป็นเยาวชนชนส่วนน้อยในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย แต่ก็เป็นนักเรียนดีเด่นของโรงเรียนรัฐบาลที่นั่นถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงตายที่ด่านตรวจแห่งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าเสียชีวิตถูกยิงตายโดยทหารจริงแต่เพราะขัดขืนและต่อสู้โดยอาวุธ ซึ่งในการไต่สวนการตายนั้น ทนายความฝ่ายญาติของผู้ตายขอให้ศาลมีหมายเรียกบันทึกวีดิโอเพื่อเป็นพยานในทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในการพิสูจน์ แต่ในที่สุดผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี เมื่อได้ปรึกษากับผู้บริหารของศาลแล้วก็สั่งงดการออกหมายเรียก อันนี้ก็เป็นคดีตัวอย่างถึงลักษณะของความไม่โปร่งใส

การพิจารณาคดีต้องเปิดเผย ตรวจสอบได้

สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันเป็นปัญหา เรื่องความน่าเชื่อถือของตุลาการมาก แล้วก็เป็นเรื่องหลักของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมที่ต้องโปร่งใสและเปิดโอกาสให้คู่ความต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ และสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ แต่การทำความเห็นจะเรียกว่าเป็นข้อแนะนำอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าตีตราว่าลับ ผมเห็นว่าอันนี้ไม่แฟร์ต่อคู่กรณี ไม่ว่าข้อแนะนำตีตราว่าลับจะให้ยกฟ้องซึ่งก็จะไม่แฟร์ต่อผู้เสียหาย หรือให้ลงโทษซึ่งก็จะไม่แฟร์กับผู้ต้องหาจะเพราะเขาไม่สามารถมีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริงอันนี้และต่อสู้คดีหรือโต้แย้งในเรื่องนี้ได้

อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าถ้าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่มีคุณภาพอย่างที่ว่า ก็ยังมีศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาที่จะตรวจสอบในส่วนนี้อีก และอย่างที่ท่านผู้พิพากษาเขียนคำแถลง ผมอ่านแล้วผมก็เข้าใจ ไม่ทราบว่าคนอื่นจะเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่าในขณะที่เรามีความเห็นว่าจำเลยเหล่านี้ถูกยกฟ้องเพราะมีเหตุอันควรสงสัย แต่ในที่สุดจะต้องมาเปลี่ยนคำพิพากษาเพื่อลงโทษกระทั่งลงโทษประหารชีวิต แน่นอนว่าเป็นอิสระที่จะทำได้แต่ความอิสระภายใต้ระบบปัจจุบันนี้ศาลมีลักษณะเป็นราชการมากขึ้น มันย่อมเกิดปัญหาแน่นอน

สำหรับผู้ที่จะต้องลงชื่อในคำพิพากษาจะต้องอ่านคำพิพากษาไม่ว่าคำพิพากษานั้นจะเป็นผลดีต่อจำเลย จะมีผลเสียต่อผู้เสียหายซึ่งมานั่งฟังด้วยสายตาที่เรียกร้องหรือขอความยุติธรรม ไม่ว่าจะยกฟ้องหรือลงโทษต่อคนทั้งสิ้นแล้ว ตัวคนที่ต้องมาอ่านคำพิพากษาที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนทำเองและลงชื่อเองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะรับได้ ถ้าเป็นผม ผมก็คงรับไม่ได้ ส่วนการตรวจสอบว่าผมทุจริตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ปฏิรูปศาล

ทำไมสังคมไทยจึงไม่ค่อยสนใจในเรื่องประวัติของผู้พิพากษาเพราะเรามองศาลในลักษณะสถาบัน ในลักษณะที่เป็นผู้พิจารณาคดีในลักษณะที่เป็นสถาบัน อันนี้สำคัญมาก ประวัติการทำงานของผู้พิพากษาที่จะต้องถูกตรวจสอบโดยสาธารณะที่จะทำให้ผู้พิพากษาอยู่ในร่องในรอยซึ่งในส่วนนี้เองผมก็มีข้อเสนอคร่าวๆ ว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

อันที่ 1 ผมคิดว่า การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เฉพาะศาลเท่านั้น ซึ่งมีการพูดกันมาเยอะแล้วคือการหันเหคดีที่ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักมากจนเกินไป ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้พิพากษามีคดีล้นมือ คนล้นคุกคดีล้นศาล อัยการควรจะต้องควบคุมการสอบสวนเพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดข้อแก้ตัวที่ว่าพนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาให้เหลือเวลา 3 วันหรือ 2 วันก็ไม่สามารถที่จะตรวจสอบความถูกต้องของคำร้องขอความเป็นธรรมต่อคู่กรณีได้ ในที่สุดก็โยนลูกไปที่ศาลชั้นต้น คดีเข้าไปอยู่ที่ศาล

นอกจากนั้น ผมคิดว่าการรับผู้พิพากษาเข้ามาควรจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิแล้วจะต้องมีวัยวุฒิด้วย มีการเสนอรวมทั้ง คปก. (คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย) ที่ผมเป็นกรรมการอยู่เคยเสนอว่าควรรับผู้ที่จบเนติบัณฑิตที่อายุ 35 ปีขึ้นไปมาเป็นผู้พิพากษาเช่นเดียวกับศาลปกครอง แต่ข้อเสนอนี้ถูกต่อต้าน เหตุที่เสนออายุ 35 ปีขึ้นไป เพื่อให้ท่านมีความรู้และประสบการณ์จะได้ไม่เกิดปัญหาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้อยคุณภาพจนต้องมีการชี้แนะกำกับโดยผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งไม่ได้เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี

และที่สำคัญก็คือผู้พิพากษานอกจากมีความรู้มีประสบการณ์แล้วต้องมีคุณธรรม นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ผมคิดว่าการรับผู้พิพากษาที่มีอายุมาก 35 ปีขึ้นไปเท่ากับประกันว่าช่วง 10 กว่าปีที่ท่านประกอบอาชีพทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นทนายความ พนักงานสอบสวน นิติกรต่างๆ ท่านประกอบอาชีพด้วยความสุจริต เป็นคนที่มีความยึดมั่นในหลักของกฎหมาย ในความยุติธรรม ก็คือต้องประกาศก่อนเพราะว่าผู้พิพากษาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ถ้าเปิดเผยชื่อประวัติท่านก่อนเพื่อให้คนตรวจสอบวินิจฉัยว่าคนนี้จะเป็นผู้พิพากษารอบรรจุ ไม่ใช่เป็นทนายขี้โกง เป็นตำรวจซ้อมผู้ต้องหา เป็นนิติกรที่ขี้ฉ้อ ท่านก็จะได้ผู้พิพากษาที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ประสบการณ์ และคุณธรรม

อีกประเด็นหนึ่งที่เราเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข ปัญหาก็คือว่าอธิบดีหรือทีมของท่านที่มีความเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ในประเด็นข้อเท็จจริงโดยที่ไม่ได้นั่งฟังพิจารณาคดีจะสามารถใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ถูกต้องกว่าองค์คณะที่นั่งฟังการสืบพยานและการพิจารณาคดีได้หรือ ย่อมไม่ได้ เพระท่านคงไม่มีญาณวิเศษอะไรที่จะไปตรวจสอบได้นอกจากอ่านจากตัวหนังสือซึ่งจะไม่เห็นสีหน้าค่าตาของพยานเพราะไม่ได้บันทึกไว้อยู่ในคำพิพากษาหรือบันทึกไว้ก็ไม่สามารถจะเห็นลักษณะท่าทางได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ก็จะยิ่งทราบว่าคำเบิกความของพยานนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด เพราะฉะนั้นเราก็เสนอว่าศาลอุทธรณ์ควรต้องเป็นศาลพิจารณาคดีด้วย ในกรณีที่จะรับฟังพยานหลักฐานที่ต่างไปจากศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดี ต้องเห็นพยานเป็นๆ ด้วย ปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนี้

ส่วนหลักการที่ว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือต้องยกฟ้องเพราะมีเหตุสงสัยตามสมควร ตอนนี้ก็คือให้ศาลตรวจสอบคำฟ้องพยานหลักฐานของฝ่ายอัยการว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าศาลสามารถค้นหาความจริงได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่จำเลยมีอาวุธที่ด้อยกว่าหรืออาวุธที่เท่าเทียมกัน ก็เป็นหลักการของการพิจารณาที่เป็นธรรม หรือการมีทนายความที่อ่อนด้อยประสบการณ์ ศาลก็ควรจะต้องช่วยทนายในการตรวจสอบหาความจริงด้วย

เมื่อศาลมีแนวคิดแบบราชการ ความมั่นคงย่อมมาก่อน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญผมเห็นว่าเป็นเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของศาลหรือของตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีอาญาว่าจะมีแนวคิดอย่างไร มีแนวคิดเป็นแบบราชการเช่นวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมนั้นไม่มีเหตุโกรธเคืองเป็นส่วนตัวกับจำเลยเรื่องที่ไปทรมานหรือกลั่นแกล้งนั้นจึงเป็นไปไม่ได้หรือไม่น่าเชื่อถือ เหตุผลนี้อาจจะไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงซึ่งผมคิดว่าในคดีอาญาโดยเฉพาะคดีที่ดำเนินการโดยรัฐ ตำรวจ พนักงานสอบสวน อัยการมีเครื่องไม้เครื่องมือและอำนาจหน้าที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์และตอนนี้อำนาจหน้าที่ก็มากขึ้นทุกที ดังนั้น ศาลต้องให้ความเป็นธรรมทั้งกับตัวผู้เสียหายและให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ตกเป็นจำเลย แต่เรื่องนี้ผมคิดว่ายังไม่ได้เป็นที่ยึดถือกันอย่างเคร่งครัดนัก การพิจารณาคดีของศาลมักจะยกประโยชน์ของแผ่นดินเป็นตัวตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีเกี่ยวกับความมั่นคง

คดีเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งคดีในสถานการณ์ที่มีการยึดอำนาจรัฐหรือในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่างๆ ที่สามารถจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนได้โดยง่าย ศาลก็ยิ่งต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

แต่ปัจจุบันนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศาลยอมรับว่าบันทึกถ้อยคำของผู้ที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ญาติจะเยี่ยมก็ไม่ได้ ทนายความก็ไม่ได้ ศาลรับฟังพยานหลักฐานในส่วนนี้โดยให้เหตุผลว่าเป็นการให้ถ้อยคำทันทีทันใดโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวย่อมที่จะให้ความจริงมากกว่า อันนี้ขัดต่อหลัก Informed consent คือการที่คนจะพูดอะไรแล้วผูกมัด มันจะต้องได้รับรู้อย่างจริงๆ จังๆ ว่าสิ่งที่ตัวเองพูดไปนั้นมีผลผูกมัดตัวเองแค่ไหน ต้องมีการเตรียมตัว กระทั่งเมื่อมาปฏิเสธหลังจากสาบานตนยังสามารถจะเอาบันทึกถ้อยคำของพยานในชั้นควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาหักล้างได้ อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก็ทำให้มีหลายคนสงสัยว่าฝ่ายตุลาการไม่ว่าจะทั้งโดยแนวคิดหรือมีการล็อบบี้ก็ตามกับผู้พิพากษาระดับสูงมีอิทธิพลของฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ตั้งข้อสงสัยมาก

ข้อสงสัยนี้มันไปตอกย้ำต่อแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาและยึดถือกันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันก็คือการที่ศาลยอมรับอำนาจรัฐประหาร ซึ่งปัจจุบันนี้ถูกตั้งคำถามมาก ศาลเป็นสถาบันสุดท้ายที่เป็นที่พึ่งของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผมคิดว่าถ้าไม่อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้และมีการปรับปรุงแก้ไข ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าห่วง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท