มติพรรค: 'ใบสั่ง' หรือ 'หลักการ' ที่ต้องปฏิบัติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

19 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีนัดลงมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หรือ 'พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63' โดยผลการลงมติ มีผู้ออกเสียงเห็นชอบ 251 เสียง มีผู้งดออกเสียง 234 เสียง และ ไม่ออกเสียง 1 โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค มีมติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรงดออกเสียง แต่ทว่า จากการตรวจสอบผลการลงมติรายบุคคล พบ ส.ส. จากพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่โหวตตรงกันข้ามกับมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างน้อย 1 คน
 
จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า การที่ ส.ส. ลงมติตรงข้ามกับมติพรรคเป็นการทรยศต่อประชาชนหรือไม่ เมื่อประชาชนไว้วางใจให้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนในการตัดสินใจลงมติต่างๆ ส.ส. ก็ควรจะเคารพมติพรรคที่เป็นตัวแทนมติมหาชน แต่อีกมุมมองหนึ่งก็เห็นต่างว่า การลงมตินั้นย่อมเป็น 'เอกสิทธิ์' ของ ส.ส. ที่จะไม่ลงมติตามมติพรรค การยึดติดให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติพรรคอย่างเคร่งครัดจะนำไปสู่ระบบ 'ใบสั่ง' จากเบื้องบนทำให้ ส.ส. ไม่มีเสรีภาพในการออกเสียงอย่างเป็นอิสระ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ถูกใจประชาชนที่ลงคะแนนให้ตอนเลือกตั้ง
 
อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงดังกล่าวล้วนมีน้ำหนักทั้งสองแง่มุม ดังนั้น คำว่า "มติพรรค" จึงไม่มีบทนิยามและสภาพบังคับตามกฎหมาย เป็นเพียง 'ธรรมเนียมปฏิบัติ' เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของพรรคไว้ ส่วนมติพรรคนั้นจะมีความชอบธรรมอยู่เหนือการตัดสินใจของ ส.ส. แต่ละคนหรือไม่ คงจะต้องพิจารณาจากที่มาและเหตุผล
 
นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดบังคับให้ ส.ส. ต้องทำตามมติพรรค และก็ไม่มีกฎหมายฉบับใดบังคับเช่นว่านั้น แต่ที่ประชุมของพรรคมีอำนาจลงมติเพื่อให้ ส.ส. ที่ไม่ปฏิบัติตามพรรคพ้นสภาพการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น ซึ่ง ส.ส. ที่ถูกพรรคสั่งให้พ้นจากการเป็นสมาชิกต้องหาพรรคใหม่สังกัดใน 30 วัน มิเช่นนั้นจะถือว่า สิ้นสถานภาพการเป็น ส.ส.

มติพรรคไม่มีสภาพบังคับ แต่เป็นธรรมเนียมของพรรค

คำว่า 'มติพรรค' ไม่มีบทนิยามอยู่ในกฎหมายอย่างแน่ชัดและไม่มีสภาพบังคับต่อ ส.ส. ว่าต้องปฏิบัติตาม โดยบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการบังคับ ส.ส. ให้ปฏิบัติตามมติพรรคมากที่สุด อยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า "พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดําเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคําสั่งของคณะกรรมการ.."
 
โดยคณะกรรมการบริหารพรรคจะประกอบไปด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นตามที่กําหนดในข้อบังคับ
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ จะไม่ระบุว่า ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรค แต่การปฏิบัติตามมติพรรคก็ถือเป็น 'จริยธรรม' ข้อหนึ่งของนักการเมืองที่ต้องมีต่อพรรคการเมืองและประชาชน โดยเฉพาะในระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประชาชนกากบาทเลือกตั้งคนและพรรคพร้อมกัน เจตจำนงที่ประชาชนมอบให้ ส.ส. แต่ละคนจึงไม่อาจแยกออกจากเจตจำนงที่ประชาชนมอบให้กับพรรคการเมืองต้นสังกัดได้ ข้อกังวลสำคัญของการไม่เคารพมติพรรค คือ ข้อกังวลต่อความเป็นเอกภาพของพรรคและเสถียรภาพทางการเมือง หาก ส.ส. ไม่ปฏิบัติตามมติพรรคจะถือเป็นการเปิดช่องให้ ส.ส. แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในการลงมติต่างๆ ที่ตนมีอำนาจตัดสินใจได้ โดยไม่รับผิดชอบต่อประชาชน

มติพรรคจะเป็น 'ใบสั่ง' หรือ เครื่องมือสร้างเอกภาพต้องดูจากที่มาและเหตุผล

จริงอยู่ว่า มติพรรคนั้นสำคัญสำหรับการรักษาความเป็นเอกภาพของพรรคตามเจตจำนงของประชาชนผู้เลือกพรรคการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน มติของพรรคก็อาจจะมีสภาพเป็นเหมือน 'ใบสั่ง' ของผู้มีอำนาจในพรรคให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตาม โดยไร้ซึ่งเสรีภาพ ซึ่งมติในบางเรื่องอาจจะขัดต่อมโนสำนึกของ ส.ส. เฉพาะคน ด้วยเหตุนี้ ที่มาและเหตุผลของมติพรรคที่ชอบธรรม จึงเกราะป้องกันชั้นดีไม่ให้ 'ธรรมเนียมปฏิบัติ' นี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
 
พรรคการเมืองที่มีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยจะกำหนดวิธีการได้มาซึ่งมติพรรค โดยมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยหรือมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม กล่าวคือ สมาชิกพรรคควรมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจกำหนดมติต่างๆ ของพรรค หรือ ผู้มีอำนาจตัดสินใจต่างๆ ที่จะกลายเป็นมติของพรรคจะต้องได้รับความยินยอมจากสมาชิกพรรคก่อน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าสาขาพรรค หรือบรรดา ส.ส.
 
โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสูงสุดในพรรคการเมือง ควรจะวางตัวเป็นกรรมการในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม และให้มีการลงมติต่างๆ ด้วยความเป็นธรรม มิใช่การครอบงำผูกขาดการตัดสินใจต่างๆ ภายในพรรคไว้กับตัวเอง 
 
นอกจากนี้ การลงมติของ ส.ส. ยังต้องคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการลงมติด้วย อย่างในประเทศอังกฤษจะยอมให้ ส.ส. ฝ่าฝืนมติของพรรคได้ในกรณีที่การลงมติดังกล่าวขัดกับผลประโยชน์สำคัญของเขตเลือกตั้งของตน
 
ดังนั้น การตัดสินใจว่า การเคารพหรือไม่เคารพมติพรรค หรือการไม่ปฏิบัติตามพรรคเป็นการเคารพในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ต้องพิจารณาจากความชอบธรรมของการได้มาซึ่งมติพรรครวมถึงเหตุผลในการลงมติพรรคประกอบกันด้วย

ถ้า ส.ส. ไม่ทำตามมติพรรค พรรคมีสิทธิไล่ออกจากพรรค

อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้น มติของพรรคนั้นไม่มีสภาพบังคับให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนวิธีการจัดการ ส.ส. ที่ไม่ปฏิบัติตามพรรคนั้นขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับของแต่ละพรรคการเมือง เช่น พรรคการเมืองอาจกำหนดให้การไม่ปฏิบัติตามมติพรรค ถือเป็นการกระทำความผิดทางวินัย ให้กรรมการบริหารพรรคมีอำนาจตักเตือน เป็นต้น
 
นอกจากนี้ หากความขัดแย้งระหว่าง ส.ส. กับพรรคการเมืองมีสูง รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดให้ คณะกรรมการบริหารพรรคสั่งให้ ส.ส. รายดังกล่าวพ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้นได้ โดยต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น

รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดทาง "งูเห่า" มีชีวิตรอด หาพรรคใหม่ใน 30 วัน

รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 118 (8) เคยกำหนดให้ ส.ส. พ้นสมาชิกภาพ เมื่อลาออกหรือถูกขับออกจากสมาชิกภาพของพรรคการเมือง โดยฐานคิดของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ต้องการสร้างให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบัน มีความเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็น 'กรงเหล็ก' บีบบังคับ ส.ส. ให้ต้องทำตามมติพรรค ด้วยเหตุนี้จึงมีการผ่อนปรนเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคลง ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีเป้าหมายต้องการสร้างให้พรรคการเมืองไม่เข้มแข็งและไม่มีอิทธิพลเหนือตัว ส.ส. จึงกำหนดเรื่องนี้ไว้ต่างออกไป
 
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (9) กำหนดให้ สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง เมื่อพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกตามมติพรรค ด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ที่สังกัดพรรค และ ส.ส. ผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ
 
โดยกลไกดังกล่าวนี้ เป็นความพยายามคุ้มครองเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ในการลงมติต่างๆ ที่อาจจะไม่ตรงกับมติพรรค อันเป็นการให้หลักประกันกับ ส.ส. ว่า มีเสรีภาพในการลงมติในสภาและมีหลักประกันที่จะออกเสียงแตกต่างจากมติของพรรคในระดับหนึ่ง ซึ่งกลไกดังกล่าวก็เป็น 'ดาบสองคม' ที่เปิดช่องให้ ส.ส. ที่ลงมติแตกต่างจากพรรคสามารถโยกย้ายพรรคไปสังกัดพรรคอื่นได้ แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่มีจุดยืนแตกต่างกันชัดเจน หรือที่เรียกกันว่า 'ส.ส.งูเห่า' หรือ การ 'ขายตัว' ทางการเมืองนั่นเอง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ "ตั้งพรรคยาก ยุบพรรคง่าย ห้ามประชานิยม"

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท