Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ (ก่นด่า) ถึงร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 ที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบันถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และความคุ้มค่าในการบริหารการเงินการคลังของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงประชนอย่างแท้จริง

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการสายกฎหมายธุรกิจ ผมอยากจะสะท้อนมุมมองเชิงธุรกิจเพื่อให้รัฐบาลได้ลองคิดทบทวนอีกสักครั้งในการแถลง/อภิปราย/ถึงการนำงบประมาณของประเทศไปใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศดังนี้

1.เป็นที่ทราบกันดีว่างบประมาณของประเทศส่วนใหญ่ได้มาจากการเสียภาษีของพี่น้องคนไทยแทบทั้งสิ้น และอาจมีบางท่านเถียงในใจว่าเมื่อภาษีถูกเก็บแล้วย่อมเป็นสิทธิเด็ดขาดที่รัฐบาลจะนำไปใช้สอยอย่างไรก็ได้ ทว่าการนำไปใช้นั้นรัฐบาลย่อมต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวม หาใช่เฉพาะกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ หากรัฐบาลยังคงเป็นผู้ใช้เงินมือเติบ (เงินจากภาษีของประชาชน) แม้ว่าการใช้งบประมาณดังกล่าวอาจชอบด้วยกฎหมาย แต่ยากที่จะอ้างถึงความชอบธรรมไม่ เนื่องด้วยกระแสต่อต้านรัฐบาล)น่าจะยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย 

2. วัตถุประสงค์ในการใช้งบประมาณนั้น ครม. มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมหาใช่เพื่อประโยชน์ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ และท่านต้องไม่ลืมว่า “ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประเทศที่แท้จริง คือ ประชาชน เพราะฉะนั้นการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์เชิงมหภาคเป็นสำคัญยิ่ง มิฉะนั้นแล้วรัฐบาลย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนเท่าที่ควร

3.หากการนำงบประมาณออกไปใช้นั้น น่าจะพอเทียบเคียงกับการให้สินเชื่อระหว่างผู้กู้และผู้ให้ ดังนี้การปล่อยกู้นั้นผู้กู้ย่อมต้องมีประวัติ (ทางการเงิน)ที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ให้กู้จะได้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดตามสัญญากู้ ทว่าการนำงบประมาณไปใช้นั้น หาใช่การหยิบยืมเงินของประชาชนไปใช้ แต่คือการนำเงินของตัวท่านเองไปใช้ ซึ่งจะกล่าวว่าจะใช้โดยไม่มีระบบระเบียบที่ชอบธรรมเห็นทีคงจะไม่ได้ เพราะรายได้หลักดังกล่าวได้มาจากการเสียภาษีของประชน ตามกฎหมาย (ภาษีอากร) และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยที่ว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และ เพื่อประชาชน” ด้วยเหตุนี้ รัฐบาล (เทียบเคียงกับผู้กู้) จึงมีหน้าที่นำเสนอแผนการใช้งบประมาณต่อสภา (ตัวแทนประชาชน : ผู้กู้) รวมถึงจัดหาหลักประกันที่จะส่งผลให้ประชนเกิดความไว้วางใจว่า รัฐบาลจะนำงบประมาณไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

3.1 การแถลงนโยบายถึงการนำงบประมาณของประเทศไปใช้นั้น จึงควรต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล พร้อมให้โอกาสสภา (ตัวแทนของประชาชน) ได้อภิปรายเชิงลึกได้ ดังนั้น วาทะกรรมที่ว่า “ผมอาบน้ำร้อน (มาก่อนท่าน)” จึงไม่น่าจะถือเป็นวลีปิดปากมิให้ฝ่ายค้านได้มีโอกาสซักถามได้ เพราะอย่างน้อยในสมัยที่แล้วที่ท่านยังบริหารประเทศจึงน่าจะถือเป็นสิ่งสะท้อนวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลได้ไม่มากก็น้อย หากมีข้อบกพร่องประการใดท่านต้องฟังครับ พร้อม (ถ้ามี) คำอธิบายที่มีเหตุมีผลต่อข้อซักถาม จากทุกฝ่ายที่เห็นแย้ง (ท่านต้องชี้แจงให้กระจ่างชัด)

3.2 จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นผมจึงขอเสนอแนะให้ ครม. นำทรัพย์สินส่วนตัวมาวางเป็นหลักประกันให้มีมูลค่ารวมเท่ากับหรือมากกว่างบประมาณที่ท่านกำลังใช้ไป หากการนำงบประมาณไปใช้นั้นไม่เกิดประโยขน์ตามที่ท่านได้แถลงไว้ หลักประกันดังกล่าวน่าจะถูกนำไปชดใช้ความล้มเหลวและน่าจะพอลดแรงต้านรัฐบาลได้ไม่น้อยประกอบกับ “การใช้เงินผู้อื่นมันง่ายครับ” ลองให้ทรัพย์สินส่วนตัวเข้าไปมีส่วนในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ครม.น่าจะได้ฉุกคิดได้ไม่มากก็น้อย

อนึ่ง หากท่านจะอ้างว่ากฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ ทำไมท่านไม่ทำให้เปิดช่องล่ะครับ ปัดโถ่! 

อย่างไรก็ดี ความเห็นในบทความฉบับนี้หาได้ผูกพันธ์องค์กรที่ผู้เขียนสังกัดไม่ ผู้เขียนขอน้อมรับข้อผิดพลาดไว้แต่ผู้เดียว ... ขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่ให้การติดตามผลงานของผู้เขียน แม้ผู้เขียนจะอยู่ในภาวะผู้ (เกือบ) พิการ แต่สมองของผู้เขียนยังน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคมและ/หรือ ภาคธุรกิจ ได้ไม่มากก็น้อยครับ ... 


เกี่ยวกับผู้เขียน: นิติภัทร หอมละออ เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net