ธีรยุทธ บุญมี ปัญญาชนของรัฐละคร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การบรรยายพิเศษเรื่อง “ประชาชน พรรคการเมือง ทหาร ติดกับดัก ก่อวิกฤตใหม่ประเทศไทย” ในวาระรำลึก 46 ปี ของประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ผ่านมา เปิดเผยให้เห็น “ตัวตน” ของธียุทธในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตประเทศไทย มากกว่าเป็นผู้ชี้ทางออกจากวิกฤต พิจารณาจากประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

ประเด็นแรก ธีรยุทธเกริ่นนำว่า “ผมไม่ถือว่าใครกลุ่มไหนในสังคมเป็นศัตรู แต่มองทุกฝ่ายในสายตาที่เป็นกลาง ไม่เฉพาะเจาะจงที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” น่าเศร้าที่ธีรยุทธเพิ่งมาพูดข้อความนี้ เพราะช่วงรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องและยืนกันการต่อสู้ทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ปฏิเสธรัฐประหาร แต่มีอีกฝ่ายเชื้อเชิญรัฐประหาร ธีรยุทธกลับเลือกสนับสนุนฝ่ายหลัง มองนักการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเป็นศัตรูที่ต้องขจัด 

ถึงวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ชัดเจนมากกว่าช่วงก่อนรัฐประหารเสียอีกว่า รัฐประหารและระบบสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารไม่ใช่คำตอบของการปฏิรูป แต่ประชาธิปไตย กระบวนการรัฐสภาคือทางออกจากวิกฤต ซึ่งมันมีฝักฝ่ายที่ชัดเจนคือ ฝ่ายเผด็จการทหารที่สืบทอดอำนาจ กับฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกรวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ทางออกจากวิกฤตก็คือต้องเอาทหารออกไปจากการเมือง แก้รัฐธรรมนูญและระบบสืบทอดอำนาจทั้งหมดที่เผด็จการทหารสร้างไว้ แต่ภายใต้ความชัดเจนเช่นนี้ธีรยุทธกลับบอกว่าตนเองมองทุกฝ่ายในสายตาที่เป็นกลาง

แต่ก่อนคุณเป็นปัญญาชนหัวหอกขับไล่นักการเมืองที่ประชาชนเลือก พออยู่ภายใต้ระบบสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร คุณบอกเป็นกลาง มัน “กระจอก” เกินไปไหม หรือพูดในทางวิชาการก็คือ สปิริตประชาธิปไตยและความกล้าหาญทางศีลธรรม (moral courage) ไม่มีเลยในฐานะปัญญาชนสาธารณะที่มีชื่อเสียง

ประการที่สอง ธีรยุทธอธิบายว่า การเมืองตามปกติที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “the politic” คือ การต่อสู้ต่อรองตามกระบวนการประชาธิปไตยเป็นทางเลือกที่ถูก แต่ปัจจุบันมันเกิด “the political” ซึ่งธีรยุทธแปลว่า “ความเมือง” เป็นเรื่องของการ “แยกมิตรแยกศัตรู” อย่างชัดเจนและมุ่งทำลายล้างกันและกัน นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ธีรยุทธเพิ่งจะตื่น หลังจากในยุค พธม.และ กปปส.ตนเองเล่นความเมืองมาตลอด

ณ วันนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง และประชาชนส่วนใหญ่ เสื้อแดง เสื้อเหลืองบางส่วน และที่เป็นกลางๆ มาก่อน ต่างยืนยัน “the politic” เป็นทางออกกันทั้งนั้น ที่ยังเล่น “ความเมือง” อยู่ก็คือทหาร และสื่อเชียร์ทหาร หรือนักล่าแม่มดด้วยวาทกรรมล้มเจ้าบางส่วนเท่านั้น 

ประการที่สาม ธีรยุทธแนะนำทหารว่า ไม่ควรใช้ “ตุลาการภิวัตน์” มาเล่นความเมืองด้วยการใช้กฎหมายแจ้งความเอาผิดนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและคนคิดคต่างมั่วซั่วไปหมด เพราะเป็นการสร้างปัญหาขัดแย้งมากกว่าจะแก้ปัญหา นี่เป็นคำแนะนำที่ดี แต่ธีรยุทธก็ไม่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมพอที่จะ “ขอโทษ” สังคมในฐานะที่ตนเองเป็นผู้ประดิษฐ์วาทกรรม “ตุลาการภิวัตน์” ขึ้นมาจนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายเผด็จการมากว่าสิบปี

ประการที่สี่ ธีรยุทธพูดถึงปัญหา “ความมั่นคง” ตามความคิดแบบทหาร ที่เน้นอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นฐานในการสร้างความเชื่อเรื่อง “สงครามภายใน” ว่าไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่กลับจะสร้างปัญหาขัดแย้งมากกว่า เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังยึดมั่นในชาติเหมือนกัน แต่อาจรักชาติในความหมายที่ต่างกัน ส่วนสถาบันกษัตริย์นั้นคนส่วนใหญ่ก็ยังยึดถือร่วมกัน อาจมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คิดต่างซึ่งไม่มีปัญหาน่ากังวลอะไร 

ผมเห็นด้วยว่า ไม่ควรนำอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาสร้างความเชื่อ “สงครามภายใน” แต่ที่ธีรยุทธกล่าวว่า “เรื่องศาสนาเราก็ให้เสรีภาพทุกศาสนา ไม่น่ามีปัญหาอะไร” นี่เป็นปัญหาที่ปัญญาชนสาธารณะบ้านเราขาดแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ทำให้มองประเด็น “เสรีภาพทางศาสนา” ไม่ชัดเจนพอ จึงมองไม่เห็นว่าการที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐนั้นทำให้รัฐไทยมีอำนาจละเมิดเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาได้ เช่น พระสงฆ์ไทยไม่อิสรภาพในการปกครองตนเอง ไม่มีแม้แต่เสรีภาพจะเลือกคณะผู้บริหารและประมุขสงฆ์ ไม่มีสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง รัฐสั่งห้ามสำนักสันติอโศกไม่ให้ใช้คำว่า “พระภิกษุ” หรือ “พระสงฆ์” ได้ รัฐไม่นับภิกษุณีเป็นชาวพุทธที่เท่าเทียมกับพระสงฆ์ และห้ามพระไทยทำพิธีบวชภิกษุณี เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นการละเมิดเสรีภาพทางศาสนาในระดับพื้นฐาน

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ เมื่องมองจากหลักการ secularism ชนชั้นปกครองจะอาศัยความเชื่อ ปรัชญาการเมือง พิธีกรรมทางศาสนาสนับสนุนสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของตนเองไม่ได้ และรัฐไม่ได้มีอำนาจปกครองศาสนจักร หรือใช้ศาสนจักรและศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมือง จึงจำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐ เพื่อให้รัฐเป็นกลางทาศาสนาได้จริง และให้เสรีภาพทางศาสนาเป็นไปได้จริง

อีกเรื่อง ธียุทธพูดถึงคนส่วนใหญ่เชื่อหรือมีมุมมองเรื่องสถาบันกษัตริย์เหมือนกัน มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่คิดต่าง การพูดเช่นนี้ไม่เคารพ “ความเป็นวิชาการ” เอาเลย เพราะในทางวิชาการนั้น การที่เราจะยืนยันว่าคนส่วนใหญ่คิดหรือเชื่ออย่างไรในเรื่องอะไร มันต้องมี “เสรีภาพ” ในการอภิปรายเรื่องนั้นๆ ด้วยเหตุด้วยผลอย่างเต็มที่และให้ประชาชนลงมติในเรื่องนั้นๆ ได้ภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม การ “ว่าเอาเอง” แบบธีรยุทธ จึงไม่สมกับบทบาทปัญญาชนสาธารณะเอาเสียเลย

ประเด็นสุดท้าย ธีรยุทธพูดว่า “การคอร์รัปชันทำลายระบบคุณธรรมของสังคม” แต่ยังมองไปที่นักการเมืองเป็นด้านหลัก ขณะที่ไม่เคยตั้งคำถามกับรัฐประหาร และ “ระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้” ว่าคอร์รัปฯ มากกว่านักการเมืองที่ตรวจสอบได้หรือไม่ 

อันที่จริงแล้ว “ศีลธรรมทางสังคม” (social morality) ในโลกสมัยใหม่คือ “ศีลธรมโลกวิสัย” หรือ “secular morality” รากฐานของศีลธรรมประเภทนี้คือเสรีภาพ,ความเสมอภาค,ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ดังนั้น คุณจะพูดถึงศีลธรรมทางสังคมโดยไม่ยืนยันเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่ได้ 

ระบบอำนาจที่แตะไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ และรัฐประหารต่างหากที่ทำลายระบบคุณธรรมของสังคม ซึ่งธีรยุทธไม่กล้าพูดถึง เอาแต่กล่าวโทษนักการเมืองมาตลอด แม้จะจริง แต่ก็จริงเพียงบางส่วน ต้นเหตุคือระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งขัดกับระบบศีลธรรมทางสังคมหรือศีลธรรมโลกวิสัยต่างหาก

จะว่าไปธีรยุทธน่าจะเป็นปัญญาชนใน “รัฐละคร” หรือ “รัฐนาฏกรรม” (Theatre State) มากกว่า นั่นคือรัฐเป็นโรงละครที่แสดงอำนาจบารมี ความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะและอำนาจแห่งชนชั้นปกครอง ปัญญาชนในรัฐเช่นนี้ก็คือ “นักแสดง” ที่ต้อง “อยู่เป็น” ในยุคหนึ่งคุณสวมบทบาทหัวหอกทางความคิดในการขจัดนักการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือก โดยผมสมโรงหรือร่วมขบวนไปกับพวกที่สร้างวาทกรรม “ล้มเจ้า” อย่างไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเอง แต่ในอีกยุคหนึ่งคุณสวมบทบาทวิจารณ์ทหารที่ทำรัฐประหารว่า ทำให้การปฏิรูป “ตายแล้ว” แต่คุณก็ไม่กล้าหาญพอที่จะเรียกร้องให้ทหารออกไปจากการเมืองอย่างถาวร ในขณะที่คนระดับชาวบ้านธรรมดาตระโกนไล่ทหารออกไปจากการเมืองก่อนคุณมานานมากแล้ว คุณยังฝากความหวังว่าผู้นำที่มาจากทหารจะปฏิรูปประเทศ “ลดความเหลื่อมล้ำ”  ได้ นี่เป็นเรื่องตลกร้ายที่ไปฝากความหวังกับอำนาจที่เป็นต้นเหตุความเหลื่อมล้ำให้ลดความเหลื่อมล้ำ

สรุปคือ ในรัฐละครแห่งนี้ ธีรยุทธเคย “เล่นความเมือง” และประดิษฐ์วาทกรรม “ตุลาการภิวัฒน์” มาก่อน แล้ววันนี้มาแนะนำให้คนอื่นเลิกเล่นความเมือง เลิกใช้ตุลาการภิวัฒน์ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เขาชัดเจนมานานแล้วว่า ทางออกของประเทศคือการเดินตาม “the politic” หรือการเมืองแบบต่อสู้ต่อรองกันตามกระบวนการประชาธิปไตย 

หลังจากหลงทิศผิดทางไปยาวนาน ธีรยุทธเพิ่งจะตื่นมาแนะนำให้คนส่วนใหญ่เลือกเส้นทางที่พวกเขาต่อสู้มาก่อน และทุกวันนี้ทั้งนักการเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ และนักวิชาการที่ไม่เอาด้วยกับแนวทางที่ธีรยุทธเคยทำมา ต่างเรียกร้องให้ทหารออกไปจากการเมืองและกวักมือเรียกธีรยุทธและคนทุกสี ทุกฝ่ายมาร่วมกันยกเลิกกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่เผด็จการสร้างขึ้น เพื่อสร้างกติกาประชาธิปไตยที่ฟรีและแฟร์กับทุกฝ่ายได้ลงเล่นร่วมกัน โดยไม่ต้องมองใครเป็นศัตรูที่มุ่งขจัดทำลายแบบที่ธีรยุทธเคยร่วมขบวนทำลางล้างเช่นนั้นมาก่อน

 

ธีรยุทธ บุญมี: วิกฤตใหม่ประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท