Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่ไทยห้าม 'มูร สุขหัว' นักการเมืองหญิงและผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาเข้าประเทศ โดยก่อนหน้านี้ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา 'สม รังสี' ประกาศจะพาฝ่ายค้านที่ลี้ภัยกลับกัมพูชาเพื่อนำการลุกฮือของประชาชนล้มรัฐบาลฮุนเซ็น โดยการเนรเทศฝ่ายค้านกัมพูชาดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเวลาครบรอบ 28 ปีสนธิสัญญาสันติภาพปารีส ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปฮุนเซ็นยังคงครองอำนาจและไม่มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ด้านเสรีภาพในกัมพูชาจะดีขึ้น

วันพุธที่ 23 ต.ค. นี้ ถือเป็นโอกาสครบรอบปีที่ 28 ของสนธิสัญญาสันติภาพปารีสเมื่อปี 2534 (ค.ศ. 1991) ซึ่งมีผลยุติสงครามกลางเมืองกัมพูชาและนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2536 อย่างไรก็ตามสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในกัมพูชาประสบภาวะถดถอยอย่างมาก

มูร สุขหัว ผู้นำฝ่ายค้านพลัดถิ่นของกัมพูชา ภาพถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2016 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia/VOA)

ทั้งนี้สื่อออสเตรเลีย ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์ รายงานว่า มูร สุขหัว รองหัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) อดีต ส.ส.จังหวัดพระตะบอง ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านพลัดถิ่นของกัมพูชา ถูกเจ้าหน้าที่ไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิปฏิเสธเข้าเมืองและผลักดันออกนอกราชอาณาจักรเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ต.ค.) โดยมูร สุขหัว เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ด้วยเที่ยวบินมาเลเซียแอร์ไลน์กลับไปยังกัวลาลัมเปอร์

"พวกเขานำฉันไปยังห้องพิเศษ พวกเขา (เจ้าหน้าที่ไทย) เข้ามาประกบ, จากนั้นเจ้าหน้าที่ภาคพื้นของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ได้ทำอย่างดีที่สุดเพื่อหาเที่ยวบินกลับให้กับฉันไปยังกัวลาลัมเปอร์" มูร สุขหัว ให้สัมภาษณ์สื่อออสเตรเลีย เธอระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้ออกจากสนามบิน

โดยเมื่อไปถึงมาเลเซีย มูร สุขหัว ตัดสินใจไม่เดินทางไปจาการ์ตาตามแผนเดิมเพราะเสี่ยงจะถูกเนรเทศออกจากอินโดนีเซีย แต่เลือกเดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกาแทน

ก่อนหน้านี้สื่อฟากรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า เมื่อเดือนก่อนกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาได้ส่งหมายจับผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งมีสม รังสี และมูร สุขหัวอยู่ในรายชื่อด้วย

ด้านโฆษกรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า มูร สุขหัวจะถูกเนรเทศหรือไม่ถ้าเดินทางมายังจาการ์ตา โดยระบุว่าเขาไม่ทราบเรื่องดังกล่าว

ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลระบุว่า การตัดสินใจของไทยย้ำชัดว่าประเทศในอาเซียนไม่ต้องการที่จะยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน และยังสะท้อนภาวะประชาธิปไตยถดถอยที่เกิดขึ้นไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ก่อนหน้านี้สม รังสี ประกาศว่าจะเดินทางกลับกัมพูชาในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้เพื่อนำการลุกฮือของประชาชน ตามมาด้วยการขู่กลับของฮุนเซ็น ผู้นำกัมพูชาว่าจะเกิดความรุนแรงรวมทั้งการแทรกแซงจากกองทัพ

มูร สุขหัวกล่าวว่า ตัวเธอเอง สม รังสี และผู้นำคนอื่นๆ ของพรรคสงเคราะห์ชาติกำลังมองหาทางเลือกทุกทางเพื่อที่จะข้ามพรมแดนกลับไปยังกัมพูชาในวันที่ 9 พฤศจิกายน รวมทั้งเที่ยวบินตรงจากเมืองหลวงอื่นๆ ในอาเซียน และข้ามพรมแดนไทยทางบก ประเทศซึ่งมีแรงงานกัมพูชาทำงานนับแสนราย

"เราต้องการผ่านเข้าไปทางประเทศไทย เราแค่ขอผ่านทาง เราไม่มีเจตนาสร้างปัญหาให้กับประเทศไทย" มูร สุขหัวกล่าว และเธอยังกล่าวด้วยว่ายังไม่ละทิ้งแผนที่จะกลับกัมพูชาในวันที่ 9 พฤศจิกายน แม้ว่าจะเต็มไปด้วยภัยและความท้าทาย เธอยังเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติเรียกร้องต่อฮุนเซ็นให้ถอนคำพูดที่ว่าจะฆ่าพลเมืองของตน เพื่อสร้างหลักประกันทั้งสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับประชาชนกัมพูชา แต่ประชาคมโลกก็ยังเงียบเสียง

อย่างไรก็ตามผู้นำในพรรคสงเคราะห์ชาติ ไม่ได้มีความเห็นเรื่องนี้ตรงกันนัก โดยโมโนวิเทีย กึม ลูกสาวของกึม โสกา ผู้นำฝ่ายค้านอีกคน วิจารณ์แผนของสม รังสี และมูร สุขหัว โดยยังระบุว่าทั้งสองคนรวมทั้งผู้นำคนอื่นๆ ในพรรคสงเคราะห์ชาติไม่มีแผนที่จะกลับกัมพูชาในตอนนี้ สิ่งนี้เป็นเพียงการหยั่งเสียงและดูว่ามีประชาชนสนับสนุนพวกเขามากเพียงไหน

โดยความเห็นของโมโนวิเทียสะท้อนให้เห็นความแตกแยกของผู้นำฝ่ายค้านซึ่งสิ่งนี้ยิ่งทำให้ฮุนเซ็นแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังสะท้อนมุมมองของผู้สนับสนุนฝ่ายค้านบางกลุ่มที่เห็นว่าประชาชนกัมพูชาถูกจับและควบคุมตัวโดยรัฐบาลฮุนเซ็น ในขณะที่นักการเมืองลี้ภัยอย่างสม รังสี และมูร สุกหัว กำลังให้สัญญาในสิ่งที่พวกเขาให้ไม่ได้ นั่นคือ การเดินทางกลับประเทศ และต่อสู้เพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมา

ทั้งนี้ฮุนเซ็นปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 34 ปี และในการเลือกตั้งเมื่อกรกฎาคม 2561 ก็ชนะได้ที่นั่ง ส.ส. ยกสภาคือ 125 ที่นั่ง ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังยุบพรรคสงเคราะห์ชาติในเดือนกันยายนปี 2560 รวมทั้งปราบปรามนักกิจกรรมและภาคประชาสังคมที่สนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในการเมืองกัมพูชา รวมทั้งมองหาการตั้งฐานทัพเรือที่เมืองท่าในจังหวัดพระสีหนุ

สำหรับสมาชิกพรรคฝ่ายค้านกว่า 118 คนนั้น ถูกห้ามเล่นการเมือง 5 ปี หลายคนตัดสินใจลี้ภัย บางคนก็ถูกรัฐบาลกัมพูชาคุมขัง อย่างเช่น กึม โสกา ซึ่งถูกกักบริเวณที่บ้านพักในกรุงพนมเปญ

แปลและเรียบเรียงจาก

Cambodian opposition leader deported by Thailand at Hun Sen regime's request, James Massola, The Sydney Morning Herald, 23 October 2019 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net