เขียนเสือให้วัวกลัว: นาฏกรรมแสดงความไม่กลัวของอดีตผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 (จบ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์เพื่อสร้าง “พื้นที่ความรู้” ของพลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง” ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเรื่อง “การสร้างพื้นที่ความรู้ในสังคมพหุวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสมัยใหม่”  ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ศ.ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์

การพูดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการสื่อสารสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม มนุษย์เราเล่าเรื่องเพื่อทำความเข้าใจกับบุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ เป็นการจัดระเบียบประสบการณ์ และเป็นวิธีการทำความเข้าใจชีวิตของตนเองอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงตัวเราว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราอาจเกิดขึ้นกับคนอื่นที่อยู่ในสังคมเดียวกันด้วยเช่นกัน

แต่หากเราอยู่ในสังคมที่เล่าไม่ได้ล่ะ? ก็เท่ากับว่าเรากำลังถูกตัดขาดจากผู้อื่นในสังคม เพราะไม่มีใครสามารถล่วงรู้จึงไม่มีคนที่รู้สึกร่วมกับเราที่แม้จะช่วยอะไรได้ไม่มากแต่อย่างน้อยก็ทำให้อุ่นใจ

ผู้พิพากษากล่าวกับผู้ต้องโทษหญิงโทษฐานละเมิด ม.112 คนหนึ่งว่า “แม้จริงก็พูดไม่ได้”

ถ้อยคำ หรือข้อความที่ถูกฟ้องร้องว่าละเมิด ม.112 ไม่สามารถนำมาเผยแพร่ซ้ำในสื่อใดๆ เพราะจะทำให้ผู้รับผิดชอบสื่อนั้นมีความผิด ดังนั้น ผู้คนในสังคมจึงไม่มีสิทธิร่วมตรวจสอบว่าข้อกล่าวหาตามการฟ้องร้องนั้นมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือหาสมเหตุสมผลจริงก็สังคมก็ไม่สามารถเรียนรู้ว่าการกล่าวเช่นไรที่ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงย่าง     

ไม่เฉพาะเรื่องการ “หมิ่นประมาท” บุคคลที่ล่วงละเมิดมิได้ แม้แต่การพูดถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองในเรื่องความรัก ความชัง ฯลฯ อันเป็นอารมณ์ส่วนตัวก็ยังห้ามพูดออกมา นั่นนับเป็นความเลวร้ายที่สุดของการเป็นมนุษย์

ในสังคมไทยประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกลงทัณฑ์ร้ายแรงถึงชีวิตเพียงเพราะการพูดหรือไม่พูดความจริงบางอย่าง ยิ่งไปกว่านั้นสกุลของพวกเขายังถูกประทับเป็นมรดกมาสู่ชนรุ่นหลัง หนึ่งในทายาทของผู้ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหาประทุษร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 เปิดเผยว่าเธอไม่กล้าพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ หรือแม้แต่ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ในพื้นที่สาธารณะ ทุกปีเมื่อถึงวาระครบรอบวันถูกประหารชีวิตเธอทำได้เพียงไปเคารพที่เก็บอัฐิ วางมือลงบนแผ่นป้ายชื่อ แล้วสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด แม้จะยอมรับกันแล้วว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประทุษร้ายครั้งนั้น แต่เรื่องเล่าที่คลุมเครือและแผ่วเบาเมื่อเวลาผ่านไปไม่ได้ช่วยแก้ไขหายนะจากความอยุติธรรมในอดีตที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน การสื่อสารเป็นอำนาจแบบหนึ่ง แต่อำนาจนี้จะสำแดงออกมาได้ต่อเมื่อมนุษย์เราเชื่อมั่นในพลังของตนเอง ก่อนหน้านี้แม้พื้นที่การสื่อสารหลักจได้ถูกยึดกุมโดยผู้มีอำนาจในสังคมคือรัฐและนายทุน แต่กระบวนการสื่อสารแบบปากต่อปากของฝ่ายประชาชน การสร้างข่าวลือโดยไม่ต้องอาศัยพื้นที่สื่อก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี

การสื่อสารเล็ดลอดการปิดกั้นของรัฐเกิดขึ้นแต่ไหนแต่ไรมา อินเทอร์เน็ตในโลกยุคนี้เป็นแค่สื่ออีกประเภทหนึ่งที่เกิดเพิ่มขึ้นจากสื่อและเทคโนโลยีที่เคยใช้กันมาทั้ง จดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ แผ่นพับ ใบปลิว หนังสือ สติกเกอร์ โปสเตอร์ ฯลฯ ในช่วงการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผู้ที่เคลื่อนไหวในเขตป่า หรือลี้ภัยไปต่างประเทศสามารถติดต่อกับผู้เคลื่อนไหวในเมืองไทยหลายวิธีการ เช่น ออกอากาศผ่าน “สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.)” สถานีวิทยุของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่ตั้งอยู่ในจีน ที่เริ่มออกอากาศเป็นภาษาไทยเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2505  (สุรชาติ บำรุงสุข 2561)[i] มีทั้งข่าว คำสัมภาษณ์ คำปราศรัย ภายหลังมีงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ เช่น กลอน เรื่องสั้น เรื่องยาว บทเพลง ฯลฯ ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็มีการจัดทำขึ้นในเขตป่าเขามากกว่า 40 ฉบับ (ธิกานต์ ศรีนารา 2553)[ii] เช่น นิตยสารตะวันแดง ที่เผยแพร่ระหว่าง พ.ศ.2519-2524 อาศัยกำลังทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจัดส่งไปตามกลุ่มต่างๆ ใน “เขตงาน” หรือพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ในป่าเขาและพื้นที่ชนบทเกือบทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนั้นยังนำหนังสือออกไปเผยแพร่ถึงมือผู้อ่านในเมืองโดยอาศัย “องค์กรจัดตั้ง” และการจัดส่งทางไปรษณีย์  (ประชา สุวีรานนท์ 2562)[iii]

ในฝ่ายรัฐเองได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะกีดกันการเข้าถึงสื่อและสิ่งพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งสั่งห้ามพิมพ์ ห้ามเผยแพร่ ห้ามมีไว้ในครอบครอง และห้ามอ่านหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ก็ปรากฏว่าข้อห้ามกลับทำให้หนังสือเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งมีค่าที่ปัญญาชนต้องการแสวงหามาศึกษาและเก็บไว้ให้มิดชิดปลอดภัย

ทุกวันนี้เทคโนโลยีการสื่อสารเอื้ออำนวยให้ปัจเจกชนคนธรรมดาพูดได้มากขึ้น พร้อมกับข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายและกว้างขวางกว่าเดิม กระนั้นก็ตาม หลายคนก็ไม่แน่ใจนักว่าในสังคมไทยที่บรรยากาศการเมืองกำลังถอยหลังสู่ความเป็นเผด็จการเช่นนี้ ประชาชนมีเสรีภาพในการสื่อสารมากแค่ไหน ขณะที่แพลทฟอร์มใหม่ๆ ของการสื่อสารก็กลับเป็นช่องทางที่ฝ่ายรัฐใช้สอดส่องและตั้งข้อหาเอาผิดประชาชนผู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยีแห่งโลกดิจิทัล
 

พลังของการสื่อสาร

เชื่อกันว่าสังคมที่ก้าวหน้านั้นขับเคลื่อนด้วยความรู้ แต่ความรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสื่อสาร ในบรรดาผู้ที่ถูกคุกคามจากภัยการเมืองหลังการรัฐประหาร 2549 และ 2557 นั้นปรากฏว่าคนทำงานเขียนและสื่อสารมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักจัดรายการวิทยุ นักร้องนักดนตรี บรรณาธิการวารสาร กวีและนักเขียน รวมทั้งนักพูดที่มีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้และถ่ายทอดความคิด แม้ว่าหลายคนที่ถูกคุกคามจะไม่เคยไปร่วมชุมนุมเดินบนท้องถนน หรือเข้าร่วมกับเครือข่ายทางการเมืองใดเลยก็ตาม นั่นหมายความว่าฝ่ายผู้ยึดกุมอำนาจเองก็เห็นว่าการสื่อสารเป็นพลังอำนาจที่น่ากลัว  

นักเขียนหลายคนไม่ได้วาดหวังว่าผลงานของเขาจะสร้างการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ เขาเพียงเขียนในสิ่งที่เขาเห็น เรียนรู้มา และรู้สึก “มันเลี้ยวเข้ามาเอง ต้นตอของปัญหามันอยู่ตรงนี้ การที่เราเป็นนักเขียนและคนที่สื่อสารกับสังคม ถ้าไม่แตะเรื่องมันเป็นรากเหง้าของปัญหาก็ไม่ต้องเขียน” อรุณรุ่ง สัตย์สวี กวีและนักดนตรีที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 อธิบายถึงที่มาของเนื้อหาในงานของเขาที่มักไปแตะต้องเรื่องที่คนไทยไม่อยากพูดถึง (สัมภาษณ์ 19 พ.ย. 2560)

เช่นเดียวกับ ภู กระดาษ นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นที่บอกว่าตนไม่ถนัดเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างการจัดตั้งความคิด การชุมนุมเดินขบวน หรือการแสดงพลังอย่างอื่น แต่สนุกที่จะเขียนจากการคิด อ่าน และศึกษาค้นคว้า “ไม่ได้ประกาศว่าคุณอ่านของผมแล้วคุณคิดอะไรได้ แต่ให้คุณได้ออกจากพื้นที่ที่คุณคุ้นเคย  เป็นพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่ง จะก่อเกิดอะไรที่เป็นมรรคเป็นผลไหม ไม่รู้หรอก” (สัมภาษณ์ 1 ธ.ค. 2561)

อรุณรุ่ง สัตย์สวี เลี้ยงชีพด้วยการทำธุรกิจร้านอาหาร การแบ่งขั้วทางการเมืองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนลูกค้าและรายได้ของเขา แต่ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 มีเจ้าหน้าที่รัฐมาสอดส่องที่ร้านบ่อยๆ ทั้งที่เขาไม่เคยไปร่วมชุมนุมเดินขบวนกับกลุ่มการเมืองใดเลย ส่วนที่เคยไปเล่นดนตรีบนเวทีบ้างก็เป็นไปตามการจ้างวานปกติ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาถูกเจ้าหน้าที่หลายนายมาบอกให้ยุติการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานเขียนของเขา “ตอนนั้นจะเปิดตัวบทกวี “สยามห้องเย็น” เขามาบอกให้เลิกจัดและขอหนังสือตัวอย่างไป ผมยอมรับว่าเนื้อหาในนั้นมันเกี่ยวกับการเมืองแต่ไม่แรงมาก ผมยืนยันว่าไม่เลิก ในวันงานจึงมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบมาสังเกตการณ์ และคิดว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแฝงมาเป็นลูกค้าด้วย” (สัมภาษณ์ 19 พ.ย. 2560)

โดยพื้นฐานแล้วนักเขียนย่อมเชื่อมั่นในพลังการสื่อสาร แต่ถึงวันหนึ่งพวกเขาก็ไม่แน่ใจนักว่ามันจะเป็นพลังอำนาจแท้จริงในสังคมที่เสรีภาพถูกปิดกั้น อรุณรุ่ง สัตย์สวี เล่าว่าหลังๆ มานี้เขายังผลิตงานเขียนแต่ก็มักเก็บมันไว้เฉยๆ ไม่เผยแพร่สื่อสารออกไปเพราะต้องระวังตัว งานเพลงที่เขียนขึ้นมาก็ต้องตัดทิ้งไปเป็นท่อน วนเวียนแก้ไขจนทำให้งานไม่เสร็จเสียที “ถ้าทำเพลงออกมาแบบนั้นก็เอาไปเล่นหรือเผยแพร่ไม่ได้อยู่ดี”

แต่ไหนแต่ไรมา มนุษย์เราต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร แต่หากวันหนึ่งเราเห็นว่าการพูดหรือสื่อสารกลายเป็นการกระทำที่ไร้ความหมาย วันนั้นทุกอย่างจะเลวร้ายเสียยิ่งกว่าการไม่พูดเพราะความกลัวเสียอีก

ภู กระดาษเล่าว่าบรรยากาศทางการเมืองบั่นทอนพลังของเขาอย่างไม่น่าเชื่อ เขาวางมือการเขียนเป็นเวลาหลายปีกว่า “หลังการรัฐประหารล่าสุดไม่เขียนเลย จากที่เคยเชื่อว่าคนมีสติ ก็เห็นว่าคนในประเทศนี้ไม่มีสติจะจำแนกแยกแยะอะไร ไม่เขียนแล้ว มีโครงการว่าจะเขียนนิยายก็เลิกเลย”

หากไม่มีคนเขียน ก็ไม่มีคนอ่าน ไม่มีการคิดฝันเติมต่อกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ กลายเป็นสังคมที่มีแต่ความเงียบตามความต้องการของเผด็จการผู้กุมอำนาจ แต่นั่นย่อมไม่ใช่สังคมสงบสุขตามอุดมคติของประชาชนพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย 

เสียงจากในคุก

งานเขียนและงานศึกษาของไทยเกี่ยวกับคุกและประสบการณ์ของผู้ต้องขังมีอยู่เป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าคุกเป็นพื้นที่ที่มีความแปลกแยกและแตกต่างไปจากสังคม “ปกติ” ภายนอก อีกทั้งยังลึกลับและยากเข้าถึง จึงทำให้เรื่องราวข้างในมีความน่าสนใจสำหรับคนข้างนอก แต่เสียงจากในคุกที่ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวหนังสือ ภาพถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหว ก็ไม่ได้มีเฉพาะเสียงของผู้ต้องขัง “ความจริง” เกี่ยวกับคุกที่สังคมรับรู้จึงมีหลายสำนวนตามแต่การเลือกนำเสนอของผู้เล่า แม้ว่าผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขังจะมีโอกาสสื่อสารความจริงจากมุมมองของตนออกมาบ้าง แต่ในที่สุดเรื่องที่บอกเล่าก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่ “พูดได้” อยู่นั่นเอง เพราะพวกเขาก็ยังจำเป็นต้องรักษาชีวิตไว้เพื่อให้ได้พูดต่อไป

วิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในคุกถูกวางระเบียบใหม่ พวกเขาถูกควบคุมการติดต่อสื่อสารกับคนข้างนอกด้วยการจำกัดวัน-เวลาเยี่ยม กำหนดรายชื่อผู้ที่มีสิทธิเข้าเยี่ยม หรือตัดสิทธิการพบญาติในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อลงโทษกรณีที่ผู้ต้องขังมีความประพฤติไม่ดี

งานศึกษาของสายพิณ ศุพุทธมงคล เรื่อง “คุกกับคนอำนาจและการต่อต้านขัดขืน”[iv] แสดงให้เห็นว่าแม้ในคุกจะมีการใช้อำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการตัดเสรีภาพและควบคุมวินัยต่างๆ  แต่ผู้ต้องขังก็มีกลวิธีมากมายในการต่อต้านขัดขืน ดังที่ มิเชล ฟูโกต์ กล่าวไว้ว่า ณ ที่ใดก็ตามที่อำนาจปรากฏขึ้น ที่นั้นย่อมมีการต่อต้านขัดขืน  

ผู้ต้องขังได้รับอนุญาตให้เขียนจดหมายติดต่อกับญาติมิตรได้โดยต้องผ่านการตรวจอ่านของผู้คุมเสียก่อน แต่ก็มีจดหมายเล็ดลอดออกมาโดยไม่ผ่านขั้นตอนนั้นอยู่ด้วย เช่น ผู้ต้องขังนำมันมาเองในวันที่ตนขึ้นศาลซึ่งจะได้ออกมาจากเรือนจำและสัมผัสเนื้อตัวใกล้ชิดกับญาติมิตรที่มาเป็นกำลังใจ หลายคนฝากจดหมายผ่านทนายความที่มีสิทธิพิเศษในการเข้าพูดคุยโดยไม่ต้องจัดระยะห่างโดยมีลูกกรงกั้น หรือกระทั่งมีการฝากจดหมายไปกับช่องคลอดหรือทวารหนักของเพื่อนที่พ้นโทษออกไปจากเรือนจำ ผู้ที่เคยรับจดหมายจากช่องทางพิเศษนี้เล่าว่า “ช่องคลอดนี่ปกตินะ ผมได้อ่านแบบพยายามรีดให้เรียบแล้วแต่ก็ยังยับแบบละเอียดยิบ” (ก. นามสมมติ, สัมภาษณ์ 19 ต.ค. 2562)

การใช้ชีวิตในคุกไม่มีความสุขสบายกายและใจอยู่แล้ว แต่ผู้ต้องขัง ม.112 ส่วนใหญ่รู้สึกทุกข์ทรมานกว่าผู้ต้องขังคนอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด หรือแม้จะผิดแต่การตัดสินลงโทษก็หนักเกินความสมเหตุสมผล ผู้ต้องขังในคดี 112 ได้รับการปฏิบัติแตกต่างไปจากผู้ต้องขังคดีอื่นๆ โดยเฉพาะการถูกกีดกันไม่ให้พูดคุยกับผู้ต้องขังคนอื่น หรือห้ามผู้ต้องขังคนอื่นมาสุงสิงสนิทสนมด้วย เพราะกลัวว่า “พวกหัวรุนแรง” จะไปปั่นหัวนักโทษคนอื่น หากมีผู้ต้องขังที่ได้รับอนุญาตให้ใกล้ชิดกับคนโดน ม.112 ก็สงสัยได้ว่าอาจเป็นคนที่ “นาย” (คำที่ผู้ต้องขังเรียกเจ้าหน้าที่รัฐในเรือนจำ) ส่งมาเฝ้าจับตาเพื่อให้ไปรายงานความเคลื่อนไหวของพวกเขา

ในคุกมีห้องสมุด มีทีวี มีสื่อต่างๆ อยู่บ้าง แต่ทุกอย่างย่อมผ่านการคัดสรรมาแล้วว่าไม่เป็นโทษภัยต่อรัฐ และไม่มีเรื่องที่นักโทษไม่ควรจะรับรู้ แต่ก็นั่นแหละ ข่าวสารก็มีปีกของมันเอง ผู้ต้องขังมีโอกาสรับรู้ความเคลื่อนไหวจากภายนอกโดยไม่ผ่านการเซ็นเซอร์พอประมาณ “คนไงครับ นักโทษปกติข้ามแดนกันไม่ได้อยู่แล้ว แต่มีนักโทษกลุ่มหนึ่งที่สามารถเดินไปได้ทุกแดน เขาเรียกคนหน้าแดน ก็คือทำงานเอกสาร หรือมีการส่งตัวนักโทษจากแดนหนึ่งไปยังอีกแดนหนึ่ง เขาก็เอาข่าวมาฝากเราได้ เราจะรู้ว่าใครเป็นอะไร หรือใครไปไหน ถ้าข่าวอันน้อยนิดจากโลกภายนอกในเรือนจำมันสามารถส่งกันได้เลย” พีซึ่งถูกคุมขังอยู่เพียงสามเดือนเศษเล่า

ในพื้นที่คุมขังที่เสรีภาพถูกบีบอัดจนเหลือแค่กว้างคูณยาวเท่าร่างกายนอนตะแคง ความรู้สึกนึกคิดของนักโทษ 112 กลับฟุ้งกระจายไร้ขอบเขต หลายคนพยายามสื่อสารกับสังคมเพื่อบอกเล่าความอยุติธรรมที่ได้รับ “สิ่งที่เขากลัวที่สุดคือการที่เราจะส่งข้อมูลออกไป เพราะเราอยู่มานาน เห็นในสิ่งชั่วร้าย เห็นชัดเจนที่สุดคือการทุบตีนักโทษเวลาคุยกับเจ้าหน้าที่ ให้นั่งพื้น หมอบคลาน นี่คือพวกศักดินา” ร. อดีตผู้ต้องขังให้เล่าว่าผู้ต้องขังคดีการเมืองส่วนใหญ่ไม่ค่อยถูกผู้คุมใช้ความรุนแรงเหมือนนักโทษคนอื่น “เพราะเรามีสื่อ มีทนายมาบ่อย เราสามารถส่งข้อมูลได้ทุกอย่าง”

แม้จดหมายจะเล็ดรอดการเซ็นเซอร์ของผู้คุมออกไปได้ แต่ก็ใช่ว่าจะผ่านการเซ็นเซอร์ของบรรณาธิการสื่อออนไลน์ เนื้อหาของจดหมายที่นำไปเผยแพร่ไม่ได้ เช่น การกล่าวยืนยันถ้อยความที่ทำให้ถูกดำเนินคดี ม.112 ซึ่งตามกฎหมายแล้วห้ามเผยแพร่ต่อ หรือการพูดเรื่องการเมืองและความเป็นอยู่ในเรือนจำที่อาจทำให้ผู้เขียนที่ยังอยู่ในนั้นถูกนายเล่นงานหนัก เมื่อสัมภาษณ์ผู้พ้นโทษจาก ม.112 มาแล้ว ผู้วิจัยเองก็พบว่าในบางประเด็นผู้ให้สัมภาษณ์ขอให้ off record (ไม่เผยแพร่) เพราะชีวิตนอกคุกก็ไม่ได้มีเสรีภาพร้อยเปอร์เซ็นต์
 

เสียงจากคนผ่านคุก

คนที่ผ่านคุกผ่านตะรางจากคดีการเมืองมักถูกถามว่าการถูกจองจำทำให้พวกเขาอ่อนล้า ท้อถอยจนเปลี่ยนความคิดที่จะต่อสู้แบบที่เคยทำมาหรือไม่ คำให้สัมภาษณ์คล้ายๆ กันสะท้อนว่าช่วงเวลาในคุกที่ชีวิตของพวกเขาถูกทำให้กลายเป็นสูญากาศนั้นได้ถูกเติมเต็มแล้วด้วยความอาฆาตแค้นและรอวันทวงคืน เพียงแต่จังหวะเวลา และกลวิธีในการต่อต้านขัดขืนจำเป็นต้องเปลี่ยนไป เพราะเรียนรู้แล้วว่า “ไม่คุ้ม” ที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นอีกเพราะมันเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เลย  

“อยากให้มันรู้ว่ากูก็ยังมีอยู่ กูไม่กลัวหรอกนะ กูแชร์อันนี้นะมึงจะทำอะไรกับกูอีก ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วถ้ามันจะจับเข้าไป ก็เข้าไป” บอย (นามสมมติ) บอกเหตุผลที่เขายังคงโพสต์ แชร์ กดไลก์เฟสบุ๊คด้วยบัญชีชื่อจริงของเขาเอง เฟสบุ๊คของเขามีเฟรนด์อยู่หนึ่งพันห้าร้อยกว่าคน แต่หลายสเตตัสก็ตั้งไว้ให้สาธารณะมองเห็นได้แม้ว่าจะไม่ใช่เฟรนด์ “แต่ผมก็มีลิมิตอยู่นะว่าอันไหนพูดไม่ได้ อันไหนไม่แชร์ ตัดสินด้วยตัวเองนี่แหละ” (สัมภาษณ์ 22 มิ.ย.2562)

อดีตผู้ถูกกล่าวหาด้วย ม.112 ส่วนใหญ่พยายามจะไม่แตะต้องข้องเกี่ยวกับ ม.112 อีก แต่การระมัดระวังตัวไม่ควรใช้เป็นดัชนีชี้วัดความกล้าหรือความกลัว มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องสนใจหรือพูดเรื่องเดียวกันกับคนอื่น และไม่จำเป็นต้องพาตัวเองไปเสี่ยงภัยที่รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าเราไม่มีโอกาสต่อสู้ในเกมนั้น

เสรีภาพที่แท้จริงคือการที่มนุษย์เราสามารถพูดอะไรก็ได้ในเรื่องที่อยากพูด และพูดจากความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ไม่ใช่การถูกบังคับให้พูด พูดเพราะถูกครอบงำ หรือถูกห้ามไม่ให้พูด

“ไม่มีลิมิตนะ แต่ว่ารอบคอบขึ้นเฉยๆ ถ้าเรามีความเห็นต่อเรื่องไหนก็แปลมันเป็นคำพูดที่ซอฟท์ลง คิดหลายชั้นมากขึ้น ไม่ใช่พูดไปดิบๆ ออกไป คิดอะไรได้ก็พิมพ์ก่อน ถ้าไม่แน่ใจก็ถามคนอื่นก่อน บางอันก็มีคนบอกให้ลบ” จ. (นามสมมติ) เล่าถึงพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเขาหลังได้รับอิสรภาพจากเรือนจำได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน (สัมภาษณ์ 22 มิ.ย.2562)

จ.เป็นคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเมืองอย่างแข็งขัน แต่วันหนึ่งเขากลับถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงเพียงเพราะการแชร์ข่าวจากสำนักข่าวระดับโลก หลายคนเห็นว่าการตั้งข้อหาเอาผิดเป็นวิธีการหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อยับยั้งไม่ให้เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกต่อไป หลังถูกจำคุก 870 วัน เขายืนยันว่า “ผมยังเป็นผมเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนไป” เขายังคงใช้สื่ออนไลน์อย่างเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ ในชื่อบัญชีที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นเขา จ.เห็นว่าสื่ออนไลน์มีความสำคัญกับโลกยุคนี้เพราะเป็นเครื่องมือช่วยสร้างการเรียนรู้ ก่อนที่จะยกระดับให้คนในโลกออนไลน์ลงมาบนท้องถนนหรือมีปฏิบัติการอย่างอื่น

ในทำนองเดียวกันกับ ร. (นามสมมติ)  ผู้เขียนบทความและบทกวีเป็นงานอดิเรกจนถูกรัฐตั้งข้อหาจับกุม ที่เห็นว่าข้อมูลข่าวสารเป็นพลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคม “ทำอย่างไรให้ผู้คนในประเทศนี้ได้รับรู้ข้อเท็จจริง ได้ปรับตัว แล้วใช้มันให้เป็นประโยชน์กับตัวเองเพื่อต่อสู้กับระบบที่ครอบงำเราอยู่ ระบบที่กินงบประมาณของประเทศไปเพื่อคนกลุ่มเล็กๆ” ร. เชื่อว่าความจริงเป็นอาวุธที่มีอานุภาพมากสำหรับฝ่ายประชาชน “เผด็จมันกลัวเรา กลัวความจริง กลัวยิ่งกว่าอาวุธหรือกองทัพ เราต่อสู้กับเขาด้วยความจริง” ร.บอกว่าเขาสะสมข้อมูลไว้มากมาย รวมทั้งประสบการณ์ที่อยู่ในเรือนจำถึงห้าปี เขาสามารถนำข้อมูลและประสบการณ์เหล่านั้นมาเขียนหนังสือได้ถึง 4-5 เล่ม แต่ก็ต้องรอเวลาที่เหมาะสมในการเผยแพร่ (สัมภาษณ์ 14 ก.ย. 2562)

ส่วนพีซึ่งเป็นครูโรงเรียนมัธยม หลังจากผ่านคุกออกมาก็พยายามใช้ทุกโอกาสในการสื่อสารกับนักเรียนของเขา เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งใช้หน้าเฟสบุ๊คส่วนตัวเป็นพื้นที่สื่อสารและส่งต่อข้อมูลต่างๆ กับเฟรนด์ที่เป็นทั้งเพื่อนในชีวิตจริง และเครือข่ายผู้มีแนวคิดทางการเมืองทางเดียวกันซึ่งเขาเพิ่งรู้จักได้ไม่นาน เช่นเดียวกับคนอื่นๆ พีพยายามไม่แตะเรื่องที่เสี่ยงต่อ ม.112 แต่เขาพยายามพูดถึงปัญหาของระบบอำนาจนิยมตั้งแต่ระดับฐานรากไปจนถึงระดับโครงสร้าง “ก่อนหน้านี้ไม่แชร์การเมือง ไม่ด่าใครมั่วๆ ไม่แตะเรื่องมหาวิทยาลัย ไม่แตะเรื่องโซตัส ไม่แตะเรื่องทหาร ตอนนี้อะไรดี อะไรที่เป็นแนวคิดแชร์หมด จ็อบเราคือด่ามันไปเรื่อยๆ ก็ทำได้แค่นี้นะลิมิตเรา ถ้าแชร์แล้วทำให้คนรู้มากขึ้นมันก็คุ้ม ทำให้รัฐบาลอ่อนลงเพราะรู้ว่าไม่มีคนฟังเขา”

พีเล่าว่าการใช้เฟสบุ๊คของเขาเปลี่ยนไปมากหลังจากถูกจับกุมเพราะไปเขียนแสดงความเห็นในเฟสบุ๊คของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขายอมรับว่าเขาเป็น “สลิ่ม” เป็น “อนุรักษ์นิยม” และเป็น “โซตัสเก่า” เขาเขียนคอมเม้นท์ในครั้งนั้นก็เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเขาไม่เข้าใจว่าคนที่รักสถาบันอย่างสุดจิตสุดใจอย่างเขาทำไมจึงถูกจับด้วย ม.112 การถูกรัฐคุกคามจนนำไปปรับทัศนคติในเรือนจำ ทำให้เขาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้ถูกกล่าวหาอีกหลายคนที่ถูกจับกุมในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “เขาน่าจะรู้แล้วว่าไม่ควรจับผมเข้าไปเลย เพราะมันทำให้ผมรู้จักคนเยอะขึ้น และทำให้ผมฉลาดขึ้นมาก” (สัมภาษณ์ 29 ธ.ค.2561)

สรุปท้ายบท

สังคมไทยเพิ่งเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเมื่อปลายปี 2538 นี้เอง แต่การเข้าถึงของประชาชนจริงๆ ก็อีกหลายปีหลังจากนั้น เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ไม่ได้พลิกประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์อย่างหน้ามือ เป็นหลังมือ การต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดเกิดขึ้นมานานนับร้อยๆ ปีแล้ว และมันจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไป ช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ เป็นเพียงแค่สมรภูมิอีกแห่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมา แต่มันก็ได้ทำให้เกิดผู้เล่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ด้วยจากผู้ที่มีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่และศักยภาพในการผลิตเนื้อหาจากความรู้และความรู้สึกนึกคิดของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องยึดกุมกำลังมวลชนเหมือนการต่อสู้แบบแต่ก่อน เพราะการขับเคี่ยวและแสดงพลังได้เคลื่อนย้ายจากการวัดกันด้วยจำนวนมวลชนบนท้องถนนมาสู่การใช้เครือข่ายข้อมูลข่าวสารเป็นพลังขับเคลื่อนมากขึ้น 

การต่อสู้เดิมในสนามแห่งใหม่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นได้ไม่นาน ยังไม่มีบทสรุปหรอกว่าใครแพ้หรือชนะ แต่สิ่งที่พอมองเห็นในระหว่างนี้คือการเดินขบวนบนท้องถนนอาจกลายเป็นยุทธวิธีในการลงทุนลงแรงที่ไม่คุ้มค่า ผู้เล่นที่ไม่เรียนรู้กลเกมใหม่ๆ อาจกลายเป็นเหยื่อที่เพลี่ยงพล้ำเพราะก้าวไม่ทันสนามการต่อสู้ของโลกยุคไซเบอร์

บทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่เสนอมานี้สะท้อนให้เห็นว่าพลังของการต่อสู้มีอยู่เสมอไม่ว่าจะในตัวของปัจเจกบุคคล เครือข่าย หรือขบวนการ แม้กระทั่งในความรู้สึกนึกคิดของคนที่ถูกภัยการเมืองคุกคามทำร้ายจนอ่อนแรง ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งซึ่งผู้ยึดกุมอำนาจพึงสำเหนียกคือมนุษยไม่ได้เกิดมาเพื่อยอมจำนน อำนาจกดข่มของพวกเขาทำได้แค่เพียงการสร้างภาพที่อยากให้เห็น ซึ่งมันอาจเป็นเพียงการแสดงเพื่อปิดเร้นความจริงที่รอวันเปิดเผยเมื่อถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสม   

 

อ้างอิง

[i] สุรชาติ บำรุงสุข. 2561. “หกตุลารำลึก (4) ปฐมฤกษ์แห่งสงคราม !” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2561 (ออนไลน์) https://www.matichonweekly.com/surachart/article_144337 เผยแพร่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561.

[ii]ธิกานต์ ศรีนารา. 2549. “หนังสือปฏิวัติ: สิ่งพิมพ์ต้องห้ามของนักศึกษาปัญญาชนในเขตป่าเขา” สารคดี ฉ.260 ตุลาคม 2549.

[iii] ประชา สุวีรานนท์. 2562. “โรเนียว : ข้อสอบกับหนังสือใต้ดิน (จบ)” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2561 - 3 มกราคม 2562. (ออนไลน์) https://www.matichonweekly.com/column/article_158451 เผยแพร่วันที่ 1 มกราคม 2562.

[iv] สายพิณ ศุพุทธมงคล.2543. คุกกับคนอำนาจและการต่อต้านขัดขืน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:  

เขียนเสือให้วัวกลัว : นาฏกรรมแสดงความไม่กลัวของอดีตผู้ต้องขัง ม.112 (1)

นาฏกรรมของรัฐเพื่อสร้างความหวาดกลัวด้วย ม.112 (1)

นาฏกรรมของรัฐเพื่อสร้างความหวาดกลัวด้วย ม.112 (จบ)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท