Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความจริง ผู้บัญชาการทหารบก พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ก็ไม่ได้พูดถึงปัญหาความมั่นคงที่ใหม่อะไรมากมายจนคนจะฟังไม่เข้าใจ เมื่อท่านเอ่ยถึงสงครามลูกผสม (hybrid warfare) เมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแบบใหม่ที่หลายประเทศ หลายภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่ เพียงแต่ว่าท่านเอามาใส่ในบริบทของการเมืองภายในและจ้องเล่นงานพรรคอนาคตใหม่จนเกินไป เลยทำให้สารที่ท่านต้องการสื่อคลาดเคลื่อนไปมากและแทนที่จะได้ ความรักความสามัคคีของคนในชาติเพื่อร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับภัยคุกคามความมั่นคงแบบใหม่อย่างที่ท่านประสงค์ กองทัพไทยกลับได้นักการเมืองฝ่ายค้านและผู้สนับสนุนของพวกเขามาเป็นศัตรูแทน ซึ่งนั่นทำให้ปัญหาทางการเมือง ความมั่นคงของไทยดูซับซ้อนและสับสนมากขึ้นไปอีก 

แต่ประเด็นนั้นก็มีคนพูดกันมากแล้ว ในที่นี้ก็ขอผ่านเลยไปก่อน หากแต่เรื่องที่ท่านพูดก็ยังน่าสนใจว่า สงครามลูกผสมจริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ ที่มา ความหมาย คำจำกัดความและบุคลิกลักษณะของสงครามแบบใหม่ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร ส่วนประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากสงครามแบบใหม่ที่ว่านั้นจริงๆ หรือเปล่า จะขอยกไปโอกาสหลัง

ตามคำนิยามของพลเอกอภิรัชต์ ในการปาฐกถาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นั้นสงครามลูกผสมคือ “สงครามที่ใช้การผสมผสานกันของเครื่องมือ ทางสงครามตามแบบและสงครามไม่ตามแบบ ซึ่งมีความสำคัญคือ มีการใช้กองกำลังที่ไม่ใช่ทหาร เช่น กลุ่มก่อการร้าย การทำอาชญากรรม มวลชนที่ต่อต้านอำนาจรัฐ กลุ่มยาเสพติด ชายชุดดำ เช่นกลุ่มที่เข้ามาวางระเบิดกรุงเทพฯ 8 จุด” (ระหว่างการประชุมอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พูดแบบนี้ก็ชวนสังหรณ์ใจว่าประชุมสุดยอดอาเซียนต้นเดือนพฤศจิกายนจะมีอีกหรือไม่) 

พูดง่ายๆ คือ สงครามในแบบผสมกับสงครามนอกแบบ แต่ก็ง่ายเกินกว่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่ามันคืออะไรกันแน่ ยิ่งเอาหลายอย่างมาผสมปนเปกัน ก็ยิ่งจะกันไปใหญ่ 

คำว่า hybrid โดยตัวของมันเองก็ถูกใช้กับเรื่องต่างๆ มานานแล้ว ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงรูปแบบการเมืองการปกครอง แต่ในเรื่องสงครามแล้วดูเหมือนจะเริ่มปรากฏราวๆ ปี 2006  ในช่วงสงครามระหว่างฮิชบอลเลาะกับอิสราเอล  เมื่อฝ่ายแรกใช้กลยุทธ์ของสงครามกองโจร (guerilla warfare) ผสมกับสงครามในแบบ (conventional warfare) ถัดจากนั้นสงครามของกลุ่มไอเอส (Islamic State) ในซีเรีย ก็ถือว่าเป็นสงครามลูกผสมเช่นกัน แต่ที่ถือว่าเป็นตัวอย่างคลาสสิกสำหรับสงครามรูปแบบใหม่คือ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในปี 2014 เมื่อหน่วยรบพิเศษของรัสเซียเข้ายึดครองคาบสมุทรไครเมีย นัยว่าเพื่อคุ้มครองเส้นทางสู่ท่าเรือในทะเลดำ แต่ที่ถือว่าเป็นรูปแบบของสงครามลูกผสมที่สมบูรณ์แบบคือ การที่รัสเซียหนุนหลังพวกแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของยูเครนทำให้ความขัดแย้งนั้นยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปีที่แล้ว ตอนนั้นถือว่า ใช้ทุกแบบเพื่อเอาชนะสงครามให้ได้ 

ถึงอย่างนั้นก็ตามในโลกปัจจุบันก็ยังไม่มีคำนิยามเรื่องสงครามลูกผสมที่แน่นอนและคงเส้นคงวาสักเท่าไหร่ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความมั่นคงของสหรัฐอย่าง แฟรงค์ ฮ๊อบแมน นักวิจัยประจำศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์แห่งชาติ บอกว่ามันเป็นส่วนผสมของการใช้ความรุนแรงของสงครามในแบบ (conventional) กับยุทธวิธีและแบบแผนของการรบนอกแบบ ซึ่งก็รวมถึงการก่อการร้าย การใช้ความรุนแรงแบบเหวี่ยงแหไม่เลือกหน้า  การข่มขู่ คุกคาม ไปจนถึงการใช้อาชญากรรม โดยที่ความขัดแย้งเหล่านี้จะเป็นอย่างรุนแรง ไร้รูปแบบและยืดเยื้อยาวนาน 

กองทัพสหรัฐนิยามเรื่องนี้ง่ายๆ ว่าภัยคุกคามแบบลูกผสมนี้คือ ส่วนผสมของความหลากหลายและพลวัตรของกองกำลังแบบประจำการและไม่ประจำการ องค์ประกอบของอาชญากรรม หรือไม่ก็เป็นส่วนผสมของอะไรทั้งหมดที่กล่าวมาที่เอามาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย บางทีก็รวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่รัฐบาลหนึ่งใดพึงมี ก็ว่ากันตั้งแต่ กองกำลังในแบบ นอกแบบ การทูต ข่าวสารข้อมูล กองทัพหลัก เครื่องมือทางเศรษฐกิจ เพื่อบ่อนเซาะเสถียรภาพฝ่ายตรงข้าม (ดูเหมือนว่าพลเอกอภิรัชต์จะถือเอาคำนิยามของกองทัพสหรัฐเป็นต้นแบบ)

นักทฤษฏีสงครามลูกผสมบางคนบอกว่า มันต้องเป็นอะไรที่ใหม่สุดและเป็นพัฒนาที่มีนัยสำคัญด้วยจึงจะถือว่าเป็นสงครามลูกผสมจริงๆ บางคนบอกว่ามันเป็นส่วนย่อย (subset) ของสงครามนอกแบบ แต่ก็โดยที่เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปแล้วว่า สงครามนอกแบบ ก็คือการใช้กำลังทหารผสมกับอะไรก็ได้เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามดังนั้นสงครามนอกแบบก็คือสงครามลูกผสมนั่นแหละพูดแบบนี้สงครามที่ว่านั้นก็มีมานมนานกาเลแล้วแหละ  ในขณะที่อีกหลายคนก็บอกว่า คำนิยามของสงครามลูกผสมเหมือนตัวหนอนแห่งกาลเวลา คือมันมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาไม่คงที่ 

แต่ถ้าอ่านหลายๆ ตำราผสมกัน อาจจะสามารถจำแนกลักษณะเฉพาะของสงครามลูกผสมได้ดังต่อไปนี้ 

ประการแรก  อย่างไรเสียก็ต้องมีส่วนผสมของกลยุทธ์สงครามทั้งนอกแบบและในแบบ เพื่อเป้าหมายในทางการเมืองในการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐฝ่ายตรงข้าม 

ประการที่สอง ต้องมีองค์ประกอบของความคลุมเครือ หมายความว่าบางทีสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเมืองเหนือฝ่ายตรงข้ามได้โดยไม่จำเป็นต้องมีชัยชนะทางทหารที่เด็ดขาดชัดเจนนักก็ได้ 

ประการที่สาม สงครามลูกผสมนั้นจะมีบุคลิกเด่นอยู่ตรงที่ว่า มันไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดอยู่แต่เพียงมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น บางทีความขัดแย้งนั้นอาจจะเป็นการต่อสู้เพื่อสร้างอิทธิพลเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง บางทีก็ใช้กฎหมาย การทูต ข่าวสารข้อมูล กลไกทางเศรษฐกิจ การเงิน หรืออะไรก็ได้ เพื่อสร้างอำนาจเหนือ  

นอกจากนี้มีการศึกษาสงครามที่ไคเมียและบอลติคพบว่า มีสถานการณ์ที่พอจะเรียกได้ว่า สงครามลูกผสมได้ 3 แบบกล่าวคือ

สถานการณ์แรก การโจมตีโดยปราศจากความรุนแรง (ทางกายภาพ) นั่นคือการใช้การโฆษณาชวนเชื่อ หรือใช้ความรุนแรงแบบอำพราง หรือใช้วิธีการอื่นใดที่สามารถมองได้ว่าไม่มีการใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือหรือทำลายล้างรัฐบาล 

สถานการณ์ที่สอง มีการใช้ความรุนแรงแบบปิดลับ แบบนี้รัสเซียเคยใช้ในยูเครน คือใช้กองกำลังอื่น หรือปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า กองกำลังที่เห็นนั่นไม่ใช่ของตัวเข้าไปแทรกซึมในพื้นที่ซึ่งมีประชากรใช้ภาษารัสเซียอยู่เป็นส่วนใหญ่

สถานการณ์ที่สาม ใช้กำลังในรูปแบบของสงครามในแบบ เช่น ทหารประจำการ รถถัง เครื่องบินรบ เรือรบ ประสานสมทบกับการรุกทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้การโจมตีนั้นๆ  

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า สงครามลูกผสมสามารถผสมผสานอะไรก็ได้ทั้งหมดรวมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทางยุทธศาสตร์ ทางการเมือง เพื่อโค่นล้มหรือทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องตระหนักคือ ตัวแสดง (actor) ในสงครามลูกผสมนั้นอาจจะเป็นรัฐหรือไม่ใช่รัฐก็ได้ ในทำนองเดียวกัน รัฐก็อาจจะทำสงครามลูกผสมกับประชาชนของตัวเองก็ได้ ถ้าหากบรรดาผู้มีอำนาจครอบงำรัฐนั้นอยู่รู้สึกว่า ประชาชนหรือกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นศัตรูของตัวเอง เพราะรัฐบาลเป็นเพียงสถาบันเดียวที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ที่เหมาะในการใช้ในการทำสงครามลูกผสมที่สุด  

 

หมายเหตุ: สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยรับเชิญโครงการไทยศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา Yusof Ishak มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับนโยบายของสถาบันฯ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net