“คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” (8): ความอิสระเป็นพิษของศาลไทย

‘ประชาไท’ รวบรวมงานเสวนา 2 งานอันเนื่องมาจากกรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตนเองในศาลจังหวัดยะลา ต่อเนื่อง 9 ตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตั้งแต่รายละเอียดของคดีจนถึงภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านมุมมอง เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักวิชาการด้านนิติศาสตร์

  • ศาลไทยยังขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลจากภายนอก แต่ก็ไม่ทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ มักใช้ข้อหาหมิ่นศาลเพื่อให้เกิดความเงียบ ทำให้เกิดความอิสระเป็นพิษ
  • สังคงไทยยังมีความรู้เรื่องศาลไม่มากพอ เพราะศาลแปลกแยกตัวเองจากสังคม ทำให้การคิดเรื่องการปฏิรูปเป็นไปได้ยาก

กรณีการยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ศาลจังหวัดยะลา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันตุลาการและข้อกังขาว่าผู้พิพากษามีอิสระเพียงใดในการพิจารณาคดี ด้วยถ้อยคำในคำแถลงการณ์ที่ว่า

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดงานเสวนาต่อกรณีนี้ 2 งานคือ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต’ ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยากรทั้งสองงานมีตั้งแต่ทนายความที่ทำคดีดังกล่าว นักสิทธิมนุษยชน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นักวิชาการด้านกฎหมาย และสื่อมวลชน

เพื่อให้ภาพที่สมบูรณ์ ครบทุกมิติ ‘ประชาไท’ จึงนำทั้งสองงานมาร้อยเรียงเป็นซีรีส์ว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ข้อเสนอเพื่อแก้ไข และความอิสระที่ว่านั้นควรอิสระเพียงใดจึงจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความอิสระเป็นพิษ

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นย้ำถึงปัญหาของการเป็นอิสระมากเกินไปของศาลไทย เวลาเกิดสถานการณ์ก็ไม่ชี้แจง แต่ก็ไม่ทนกับคำวิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งสังคมยังมีความรู้เกี่ยวศาลน้อยมาก ซึ่งนำไปสู่ความอิสระเป็นพิษ

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมจะพูดถึงความเป็นอิสระของศาลกับความสัมพันธ์ในระบบการเมืองทั้งหมด เพราะความเป็นอิสระก็คงมีในทุกๆ หน่วยงาน แต่ศาลจะมีมากกว่าองค์กรอื่น เพราะอย่างรัฐบาลเองก็มีอิสระในการออกพระราชกฤษฎีกา ในการยุบสภา แต่มีน้อยกว่าศาล ถ้าเทียบกันแล้วศาลเป็นองค์กรที่มีอิสระสูง ความอิสระของศาลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมซึ่งอาจจะมีนิยามกว้างขวาง และแต่ละหน่วยงานก็มีนิยามกว้างแคบแตกต่างกัน เน้นไปที่บางจุดไม่เหมือนกัน แต่ทุกๆ หน่วยงานพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ถ้าเกิดจะต้องนำมาเทียบเคียงกันแล้วมันก็จะครอบคลุมความอิสระของศาล

ทำไมมันถึงสำคัญ เพราะว่าศาลเองมีลักษณะเป็นผู้ตัดสินคนสุดท้ายในระบบการเมือง เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อถือจึงต้องมีสูงกว่าองค์กรอื่นๆ อันนี้เป็นเหตุผลที่เขาให้ไว้ ลักษณะของเนื้องานก็ไม่เหมือนกับเนื้องานขององค์กรอื่นๆ ถ้าเป็นนิติบัญญัติ เป็นบริหาร หรือฝ่ายปกครอง ก็จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า พูดถึงความเหมาะสม พูดถึงความพร้อมของงบประมาณ ของสถานการณ์อะไรต่างๆ แต่พอมาถึงศาลมันไม่ใช่เรื่องของความถูกใจ พร้อมไม่พร้อม แต่เป็นเรื่องของความถูกต้อง ศาลมีหลักที่ต้องยึดไว้ที่ชัดเจนคือบรรทัดฐานตามแนวทางนิติศาสตร์

ฉะนั้นเวลาเราเรียนนิติศาสตร์ เวลาเราพูดถึงแนวคำพิพากษาต่างๆ ก็จะมีคำหนึ่งที่อาจารย์ที่มาจากฝั่งตุลาการย้ำเสมอว่า เวลาเราทำหน้าที่ ความถูกต้องกับถูกใจเป็นคนละเรื่อง ถ้าทุกอย่างตัดสินโดยเราถูกใจก็ไม่ต้องเป็นศาล ถ้าตัดสินก็ต้องยืนยันความถูกต้อง ความถูกต้องมาจากไหนก็ต้องมาจากหลักวิชาการและเหตุผลที่ตัวเองร่ำเรียนมา อันนี้เป็นสิ่งที่นักเรียนนิติศาสตร์ต้องเคยได้ยินได้ฟังมา

เวที “ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต”

ความยุติธรรม?

แต่ในขณะเดียวกันเราบอกว่าความอิสระสัมพันธ์กับความยุติธรรม จริงๆ คำว่ายุติธรรมมันก็ยังไม่มีที่ยุติ ในสุภาษิตละตินพูดกันว่าจงประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมแม้ว่าฟ้าจะถล่มทลาย ก็คือถ้าเป็นความถูกต้องยังไงก็ต้องยึดถือเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันก็มีสุภาษิตที่ผู้พิพากษาอังกฤษเคยพูดเอาไว้ว่า ความยุติธรรมคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นธรรม จะเห็นว่าคำว่ายุติธรรมมันไม่เหมือนกันแล้ว มีคนหนึ่งบอกว่าแม้ตนเองจะเป็นคนเดียวในโลกต่อให้คนอื่นไปขวาหมด แต่ถ้าตัวเองคิดว่าซ้ายมันถูก ยังไงเราก็ต้องยืนตามนั้นแม้ฟ้าจะถล่มก็ตาม ขณะเดียวกันก็มีคนถามว่าแล้วมันจะเป็นความยุติธรรมได้อย่างไรถ้าคนส่วนใหญ่ในโลกนี้เห็นว่ามันไม่เป็นธรรม จะยึดนิยามไหนดี

คนส่วนใหญ่ก็คงอยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้ คงรู้ว่าระหว่างถูกต้องกับถูกใจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ถ้าไม่รับฟังเสียงจากภายนอกเลย เราจะเรียกว่าประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมได้ไหม ตัดสินไปแล้วสังคมรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ตัดสินไปแล้วข้อพิพาทมันไม่จบ ไม่ก่อให้เกิดสันติสุขสันติภาพในสังคม ยังจะเรียกว่าเราทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาที่ดีได้หรือเปล่า

อย่าลืมนะครับ โดยเฉพาะในสภาวะขัดแย้งหรือมีสงคราม การที่คนฝั่งหนึ่งทำงานของตัวเองโดยไม่ให้ความยุติธรรมกับประชาชนฝั่งตัวเองเท่ากับคุณกำลังทำงานให้ศัตรูของคุณ สาเหตุที่เรามาพูดในวันนี้เพราะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเกิดเราคิดว่าเรารักษาแนว เราส่งสำนวน แล้วยึดตามนั้น แต่ว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาทั้งเหยื่อเอง ผู้ต้องหาเอง รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม คำถามคือผู้พิพากษาที่นั่งอยู่ตรงนั้นกำลังทำงานให้รัฐบาลไทยหรือประชาชนไทยหรือกำลังทำงานให้กับฝั่งตรงข้าม เพราะอย่าลืมว่าคนไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องคิดว่ามันไม่มีหวังกับกระบวนการยุติธรรมประเทศนี้ เขาก็ต้องหาทางออกอื่น คำถามคือเราจะทำอย่างไร

ความอิสระเป็นพิษ

พอมาถึงเรื่องการจัดวางองค์กรในทางกฎหมายมหาชน มีนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ จริงๆความเป็นอิสระของศาลเองก็ต้องถูกคำนึงถึงหลักนิติธรรมอื่นๆ ด้วย เช่น ความโปร่งใส ความมีเหตุมีผลในพฤติกรรมการทำงานของศาลเอง หลักนิติธรรมไม่ใช่แค่ความอิสระของตุลาการ มันมีหลักอื่นๆ อีกจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่เป็นหลักใหญ่ของหลักนิติธรรมคือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจขององค์กรต่างๆ เพียงแต่เวลาพูดถึงองค์กรการเมือง เราก็เข้าใจและเห็นภาพว่าการตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติกับบริหารทำกันอย่างไร มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการยุบสภา มีการตอบโต้ มีการแต่งตั้งนายก แต่พอมาถึงศาล เราจะพูดถึงความอิสระมากกว่า แต่ความอิสระตรงนี้ก็ต้องคำนึงถึงหลักการอื่นๆ ของหลักนิติธรรมด้วยเพราะว่าอิสระมันไม่ได้แปลว่าจะทำอะไรก็ได้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ

ถ้าเราลองย่อยความอิสระลงมา อิสระในการทำสำนวน อิสระในการทำงบประมาณ อิสระในการบริหารจัดการบุคคล ทั้งหมดความเป็นอิสระมันคือสิทธิ์แบบหนึ่ง เป็นอภิสิทธิ์แบบหนึ่ง เป็นอำนาจแบบหนึ่งที่ทำหน้าที่กันไม่ให้คนอื่นเข้ามาตั้งคำถามกับตนเอง อำนาจที่กันไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาแทรกแซงการทำงานของตัวเอง และในเมื่อความเป็นอิสระคืออำนาจแบบหนึ่ง อย่าลืมสำนวนเกี่ยวกับอำนาจที่เรารู้จักกันดีก็คืออำนาจเบ็ดเสร็จ อำนาจจะเป็นพิษ ถ้าเราแทนคำว่าอำนาจด้วยคำว่าอิสระ เหมือนกัน ถ้าอิสระหมายถึงอิสระโดยสมบูรณ์ มีปัญหาแน่นอน

ทุกวันนี้พอเราพูดถึงการตรวจสอบและถ่วงดุล เราพูดถึงฝั่งการเมือง พอถึงศาล เราให้ความเป็นอิสระเพราะเราเชื่อมั่นในศาลและโมเดลที่เราใช้ในการควบคุมศาลไม่เหมือนกับโมเดลที่เราใช้ควบคุมองค์กรทางการเมือง พอเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการเราปล่อยให้มีการควบคุมกันเองเป็นหลักจะมีประสิทธิภาพที่สุด นั่นแปลว่าภายนอกก็คงดูได้ห่างๆ สิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหารพอทำได้และทำได้น้อยลงเรื่อยๆ ก็อย่างเช่นเรื่องของบประมาณซึ่งช่วงหลังๆ พอไปถามคนที่ทำงานเกี่ยวกับงบประมาณ ขอมาเท่าไหร่ก็ให้ไป เพราะทุกคนก็ไม่ได้อยากมีปัญหากับฝ่ายตุลาการ ความสามารถในการตรวจสอบฝ่ายตุลาการจากภายนอกมีน้อยลงๆ คนก็คงไม่อยากตั้งคำถามมาก

เราอิงกับการตรวจสอบจากภายในมากกว่า เช่นในการพิจารณาคดี มันมีกฎเกณฑ์ มีพระธรรมนูญศาล มีการจ่ายสำนวน มีแนวบรรทัดฐาน มีการอุทธรณ์ ฎีกา ซึ่งแนวบรรทัดฐานและการจ่ายสำนวนเป็นอิสระที่รับประกันในห้องพิจารณาคดีในระดับศาลชั้นนั้นๆ แต่มันมีการควบคุมข้างบนคืออุทธรณ์ ฎีกาอีก มีผู้พิพากษาที่สูงกว่าลงมาดู และที่สำคัญที่สุดคือมันมีวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการจะควบคุมกันเอง มีประมวลจริยธรรม บอกว่าทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็จะควบคุมทั้งชีวิตการงานและส่วนตัว ต้องถือสันโดษ ต้องรักษาภาพ ต้องรักษาความอิสระ ต้องปราศจากอคติ และถ้าเกิดทำผิดเข้าจริงๆ ไม่รักษาในบรรทัดฐาน ไม่รักษาหลักจริยธรรมก็จะต้องมีการดำเนินการทางวินัยภายใน ทั้งหมดนี้ฟังดูก็น่าจะเพียงพอที่จะปล่อยให้ศาลควบคุมกันเองหรือเปล่า

ส่วนตัวเราจะเห็นข่าวตลอดอย่างเรื่องผู้พิพากษาถูกเรียกคืนเครื่องราช เพียงแต่ไม่รู้รายละเอียดว่ามีมากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวผมที่อ่านและประมวลรวบรวมมาก็จะเห็นว่าจริงๆ ถ้าเป็นความผิดที่ค่อนข้างมาตรฐาน มีแนวบรรทัดฐานชัดเจน เช่น การรับสินบน เรื่องชู้สาว ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา ก็มีการลงโทษไล่ออกเรียกคืนเครื่องราชก็ว่าไป เพียงแต่เราเองก็รู้น้อย เรื่องพวกนี้เราไม่มีข้อมูล ถ้าถามว่ามีปริมาณเท่าไหร่ที่ถูกลงโทษ สาเหตุอะไร ไม่มี มีคนเคยขอไปที่สำนักงานศาลยุติธรรม แต่ก็ไม่ได้ส่งมา บอกว่าจะกระทบกับการทำงานและความน่าเชื่อถือของศาลยุติธรรม

อันนี้ก็เป็นการปะทะกันของ 2 ชุดความคิดคือเปิดถึงจะดี ยิ่งเปิดให้เห็นว่ามีการลงโทษทางวินัยไปเท่าไหร่ศาลยิ่งมีความน่าเชื่อถือเพราะทำให้เห็นว่ามีการตรวจสอบภายในอย่างเข้มข้น แต่ก็มีอีกชุดความคิดหนึ่งว่าถ้าเปิดไป มีเรื่องไม่ดี ภาพลักษณ์เสีย ถ้าอย่างนั้นไม่เปิดดีกว่า ปิดเอาไว้

จะเห็นว่ามีกรณีบางอย่างที่การดำเนินการทางวินัยคงใช้ได้ มีประสิทธิภาพอยู่ แต่พอเป็นบางเรื่องที่ช่วงหลังๆผุดขึ้นมาเป็นเรื่องในทางสาธารณะ คิดว่าศาลยึดหลักความเป็นอิสระและละเลยที่จะชี้แจงตัวเองกับประชาชน แล้วผลสุดท้ายก็ทำให้ความน่าเชื่อถืออาจจะถูกสั่นคลอนซึ่งความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะองค์กรต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้คนรับฟังคือความน่าเชื่อถือ ถ้าความน่าเชื่อถือหมด จะพูดอะไร จะสั่งอะไร เขาก็คงทำตามเพราะมีอำนาจทางกายภาพอยู่ แต่ความยินยอมพร้อมใจมันหมดไปแล้ว เท่าที่สังเกตก็จะเป็นลักษณะไม่คุย ไม่ชี้แจง แต่ไม่ทน อาจบอกได้ว่านี่เป็นอาการป่วยของความอิสระเป็นพิษก็ได้

ไม่ชี้แจง ไม่คุย ไม่ทน และความเงียบ

ช่วงปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์อื้อฉาวเกี่ยวกับตุลาการค่อนข้างเยอะ บางเรื่องก็เป็นเรื่องสุดวิสัย แต่พอมาสองสามปีให้หลังอย่างเช่นเรื่องบ้านป่าแหว่งที่ดอยสุเทพ จะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีเลย แต่ศาลก็ออกมาพูดขู่ทุกคนที่ออกมาพูดวิจารณ์ว่าเป็นการหมิ่นศาล ถ้าเป็นฝั่งการเมืองคงถอยไปแล้ว ตอนนั้นรัฐบาลก็พูดเหมือนว่าจะหาที่ใหม่ให้ แต่ก็ไปไม่ได้เพราะศาลยันเอาไว้ ไม่ไป หรือแม้กระทั่งระเบียบของศาลฎีกาใหม่เรื่องเบี้ยประชุมที่ทั้งคนในวงการและคนนอกมองว่าเป็นการให้เงินฟุ่มเฟือย ไม่ชี้แจง ไม่คุย ไม่ทน คือถ้ามีคนมาวิจารณ์มากก็เรียกไปคุย ก็โดนข้อหา

จะเห็นว่ามันไม่ใช่อาการที่จะทำให้ศาลเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือในสายตาของสาธารณชนได้เลย กับการเอาความเป็นอิสระมาเป็นเกราะกำบังตัวเองจากการต้องชี้แจงต่อสาธารณะในเรื่องอื้อฉาวและก็เอาไปใช้ยันการพยายามตรวจสอบจากบุคคลภายนอก ผมก็ไม่เข้าใจจริงๆ ความอิสระมันต้องรักษาไว้อย่างสูง แต่การที่ถูกกรรมาธิการสภาเรียกให้ไปชี้แจงหรือสอบถามจะถือเป็นการแทรกแซงความอิสระขนาดนั้นหรือยัง อยู่ในห้องพิจารณา เราทำอะไรไม่ได้ เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ของผู้พิพากษา แต่ในระดับภาพรวมขององค์กรมันต้องสัมพันธ์กับองค์กรอื่นที่เราบอกว่า ศาลเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พิทักษ์สิทธิเสรีภาพ พิทักษ์หลักนิติธรรม แต่ถ้าตัวศาลเองถูกคนนอกมองว่ามีปัญหาถ้าศาลเองไม่สนใจจะชี้แจง หลักนิติธรรมในฝั่งของศาลมีปัญหาหรือยัง

อย่างสุดท้ายที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของความอิสระของศาลก็คือความเป็นอิสระบางทีมันก็เกือบจะเป็นความโดดเดี่ยวหรือแปลกแยกออกไปแล้ว ทั้งในด้านขององค์กรที่ไม่สนใจจะชี้แจง พอมาถึงตัวระดับบุคคลมันแทบจะเป็นการแยกตัวบุคคลออกไปจากสังคมในวงกว้าง ไม่มีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากสาธารณะเข้าไปเลย แล้วมันกลายเป็นความเงียบที่ประหลาด

การที่ผู้พิพากษาพยายามยิงตัวตายในศาลเป็นเรื่องใหญ่ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมามีใครเห็นผู้พิพากษาออกมาโพสต์เรื่องนี้บ้าง ไม่มี คนนอกก็คิดว่าศาลพยายาม abuse ความเป็นอิสระของตัวเองเพื่อขยายอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันผมคิดว่าในกรณีของคุณคณากรเป็นตัวอย่างที่ดีว่า พอความอิสระผสมกับวัฒนธรรมราชการอำนาจนิยม ข้างในก็คงมีอะไรเหมือนกันที่คนนอกเราก็ไม่รู้แล้วก็ถูกแสดงออกมา กว่าจะรู้ก็ในนาทีสุดท้ายที่มีการยิง แล้วมันก็เงียบต่อ ซึ่งจริงๆ การที่ไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภายในเลยจะบอกว่าข้างในรักใคร่กลมเกลียวกันดีหรือบอกว่าข้างในมันถูกคุมจนไม่สามารถส่งเสียงออกมาบอกคนนอกได้

เราวิจารณ์ได้น้อยมากๆ และก็จะน้อยลงๆ ไปเรื่อยๆ เหตุการณ์ที่ถูกเรียกไปเพราะวิจารณ์ศาลมากๆ มันก็ทำให้คนไม่กล้าจะพูดถึงศาล เพราะฉะนั้นในเรื่องหลักนิติธรรมในการจัดองค์กรของรัฐในช่วงปีหลังๆ จะเห็นว่าความอิสระของศาลมันเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่โตพร้อมความเป็นอิสระของศาลก็คือปัญหา ซึ่งก็คงนำไปสู่การสูญเสียความน่าเชื่อถือได้ถ้าไม่ทำอะไรต่อไป

ผมกลับมาคิด จำได้ว่าคดีแรกๆ ที่มีการเปลี่ยนองค์คณะคือคดีปราสาทเขาพระวิหารในศาลปกครอง เรื่องของเรื่องคือมีการลงนามแถลงการณ์ร่วมแล้วก็เกิดการประท้วงกันใหญ่ว่าทำให้เกิดการเสียดินแดน ศาลปกครองกลางก็ออกคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินว่าทำไม่ได้ ให้รัฐบาลหยุดกระทำการ ซึ่งรัฐบาลก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นอิสระของฝ่ายรัฐบาล เป็นการกระทำของฝ่ายรัฐบาล รัฐบาลอุทธรณ์ในศาลปกครองสูงสุด ศาลก็ตามแนวหลักวิชาการเลย องค์คณะแรกบอกว่าเป็นการกระทำของรัฐบาล ศาลไม่มีสิทธิ์เข้ามาตรวจสอบ แต่พอส่งไปตรวจสำนวนแล้วมีการเรียกสำนวนกลับและมีการตั้งองค์คณะใหม่ฉุกเฉิน โดยมีประธานปกครองสูงสุดลงไปนั่งเป็นองค์คณะพิเศษเอง ซึ่งปกติไม่เคยมีมาก่อน ตุลาการเสียงข้างน้อยทุกท่านต้องทำความเห็นแย้งติดเอาไว้ว่าการเปลี่ยนองค์คณะตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลปกครอง และกฎหมายอื่นๆ ตามหลัก มันทำไม่ได้

มีการฟ้องไปที่ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ตอนปี 51 ข่าวสุดท้ายที่ผมเช็คได้คือปี 59 ว่าอาจจะมีการยกคำร้อง ผ่านไป 8 ปีไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย ช่วงแรกๆ ที่มีอนุกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาตรวจสอบ ศาลปกครองไม่ยอมไปให้ปากคำโดยบอกว่าเป็นความอิสระของตุลาการ ไม่ให้ความร่วมมือ เป็นใครจะมาตรวจสอบศาล อันนี้เป็นคดีแรกๆ เลยที่สะท้อนปัญหาของการใช้คำว่าความเป็นอิสระของตุลาการในบ้านเราค่อนข้างมาก ในทางกฎหมายมันเสียหายต่อหลักนิติธรรมมาก จนถึงวันนี้รู้ไหมว่าใครผิด ใครถูก มีการลงโทษไหม ไม่มี

เรายังรู้จักศาลไม่มากพอ

แต่ถามว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผมคิดไว้ว่ายากและต้องระมัดระวังที่สุดก็คือ การแก้ที่จะกระทบความเป็นอิสระของศาลไม่ว่าจะเสนออะไรก็ตาม มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบก็ได้ เข้าใจว่าความเป็นอิสระต้องธำรงไว้ ถ้าเราเริ่มไปจัดการแก้ไขความเป็นอิสระ เราไม่รู้ว่ามันจะไปจบที่ไหน สุดท้าย มันอาจจบด้วยการที่เรามีศาลที่เละเทะหนักไปกว่าเดิม คือศาลที่อิสระจนไม่ฟังใครเลยก็เป็นปัญหา ขณะที่ศาลที่เป็นศาลการเมืองเต็มรูปแบบ ใครก็แทรกได้ มีการวิ่งเต้นโยกย้าย ก็คงไม่ใช่สภาพที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นก่อนที่ถามว่าเราจะแก้อย่างไร สิ่งแรกที่สุดคือการแก้ต้องทำอย่างระมัดระวัง จะทำได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้เกี่ยวกับศาลมากพอเพราะเรามีน้อยมาก

เราไม่รู้ปัญหาข้างในว่ามีอะไรบ้าง มากน้อยขนาดไหน การโดนแทรกแซงสำนวนและต้องรักษาแนว คนภายในมองเป็นปัญหาขนาดไหน ผลกระทบมันมีขนาดไหนไม่ใช่ที่รัชดา ที่ราชดำเนินก็เรื่องหนึ่ง ลงไปถึงพื้นที่ในภาคอีสาน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการรักษาแนวพวกนี้มีปัญหาขนาดไหน เราไม่มีทางรู้ เราไม่มีภาพที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาลเลย เรามีความคิดบางอย่างเกี่ยวกับผู้พิพากษาในอุดมคติเพราะว่าเราเห็นด้านนั้นของเขา แต่ถามว่านั่นคือทั้งหมดมั้ย ซึ่งถ้าถามท่านก็จะตอบว่าทุกอย่างเป็นปกติดี ข้างในไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไปถามคนอื่นอาจจะมีก็ได้ แต่เรามีความรู้ด้านนี้น้อยมาก

อย่างบริบททางวัฒนธรรมองค์กรบางคนมองว่าเป็นแค่การเตือนไม่มีผลอะไร แต่เรานึกออกไหมว่าเราอยู่ในสังคมไทย การขัดใจผู้บังคับบัญชา ถ้าคำพิพากษาเราถูกหัวหน้าแก้ตลอด เราจะเจริญในหน้าที่การงานไหม หรืออย่างการจ่ายสำนวนไม่สามารถเลือกได้ มีคนบอกอีกว่าจริงๆ เขาก็รู้กันว่าใครแนวไหน ถ้าอยากจะให้ออกทางนี้ก็จ่ายสํานวนไปให้องค์คณะนั้นก็ได้ แสดงว่าจริงๆ แล้วอุดมคติกับความเป็นจริงเรามีปัญหาเพราะเราไม่รู้ เราไม่สามารถเชื่อมั่นได้ การที่เราไม่รู้เพราะไม่มีใครพูด การพูดคุยกันเรื่องนี้บุคลากรในศาลควรจะเข้าใจว่าเรากำลังหาทางช่วยกันอยู่ ช่วยคนในด้วย มันไม่ใช่เรื่องของศัตรู แต่เป็นเรื่องของการพยายามช่วยกันเพื่อสร้างระบบที่ให้ทุกคนสามารถเป็นที่พึ่งได้

ผู้พิพากษาเด็กๆ ศาลชั้นต้น ผมฟังการอธิบายลักษณะโครงสร้างศาลแล้ว มันไม่ใช่โลกของเด็ก คุณเข้าไปอายุ 25 แล้วคุณก็ตายอยู่ในตำแหน่งนั้นจนกว่าคุณจะอายุ 60-70 ขยับอะไรก็ไม่ได้ ทุกอย่างมีอาวุโส มันไม่ใช่โลกของคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันหรือเปล่า ถ้ามันทำให้ดีกว่านี้ได้ แล้วการใช้ Social Media ของผู้พิพากษาก็มีการควบคุม นี่ไม่ใช่ศาล นี่มันลัทธิ

ศาลต้องเข้าใจว่าการพูดถึงการปฏิรูปหรือการแก้ไข มันเป็นการหาทางออก แต่มันยาก ความเป็นอิสระมันเปราะบางมาก แค่เราเสนอจะเพิ่มคนนอกเข้าไปใน ก.ต. (สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม) 1 คน ขณะที่คนเสนอคืออาจารย์บวรศักดิ์และหนุนหลังโดย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 59 ที่ล่มไป จนสุดท้ายต้องถอย จะเพิ่มอายุจาก 25 เป็น 35 ก็ฮือกันจนต้องถอย ทั้งที่จริงๆ ดูตามหลักวิชาการ คำอธิบายที่บอกว่ากระทบสิทธิคนกำลังรอสอบ มันเป็นคำอธิบายที่ห่วยเพราะคนที่รอสอบ มันไม่มีการสถาปนาสิทธิ์เพราะกฎหมายไม่ได้รับรองสิทธิ์ คุณยังมีสิทธิ์จะเปลี่ยนใจได้ว่าจะสอบหรือไม่

สิ่งเดียวที่ผมคิดว่าศาลต้องเริ่มก่อนคือเปลี่ยนทัศนคติ ศาลต้องรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์และคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ มากกว่าเป็นเรื่องที่พยายามโจมตีศาลและแทรกแซง ถ้าเปลี่ยนทัศนคติและยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ผมคิดว่าความคิดที่ถูกต้องหรือการปฏิรูปและยังธำรงอิสระ แต่รักษาหลักนิติธรรมอื่นๆ ด้วย คำตอบมันจะผุดขึ้นมาเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท