Skip to main content
sharethis

สหรัฐทำหนังสือถึงนายกฯ-7 รัฐมนตรี อ้างแบนไกลโฟเซตกระทบนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น จากสหรัฐ 51,000 ล้านบาท ด้านไบโอไทยชี้ การแทรกแซงเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาล ขณะที่  ‘อนุทิน’ ระบุกระทรวงสาธารณสุขยันตามมติเดิม

 
ภาพจากสำนักข่าวไทย

สหรัฐทำหนังสือถึงนายกฯ-7 รัฐมนตรี อ้างแบนไกลโฟเซตกระทบนำเข้า 51,000 ล้านบาท

25 ต.ค. 2562 วานนี้ (24 ต.ค.) สำนักข่าวไทยรายงานว่า สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื้อหาสำคัญว่ากระทรวงเกษตรสหรัฐได้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในการห้ามสารเคมีเกษตร 3 ชนิดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา  

ทางสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยยังได้แนบเอกสารจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีของไทยด้วยว่า การแบนสารไกลโฟเซต โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย จึงหวังว่าประเทศไทยจะพิจารณาความกังวลนี้ เพราะไกลโฟเซทเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและศึกษาอย่างจริงจังในโลก หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่นทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และองค์การเกษตรแห่งสหประชาชาติ  จึงขอให้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับไกลโฟเซต เพื่อหาทางออกสำหรับสหรัฐอเมริกา 

คาดการณ์ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการห้าม 3 ประการ คือ 1.เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนสารเคมีทดแทนสูงขึ้น 75,000-125,000 ล้านบาท ของราคาตลาดของไทยในปัจจุบัน  2.หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม (เนื่องจากกลูโคซิเนต มีแอมโมเนียมมีพิษมากกว่า ไกลโฟเซท แต่น้อยกว่าพาราควอต) ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นสำหรับการปราบวัชพืช ทำให้การควบคุมรวมกับการสูญเสียผลผลิตพืช คาดว่าจะสูงถึง 128,000 ล้านบาท 3.สิ่งที่สหรัฐกังวลมากที่สุด คือ จะมีผลกระทบต่อการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น  จากสหรัฐ มูลค่า 51,000ล้านบาท ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังไม่รวมถึงผลกระทบที่ตามมาของผู้ผลิตอาหาร เช่น อุตสาหกรรมเบเกอรี่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พึ่งพาข้าวสาลีที่นำเข้า 100% เพื่อมาดำเนินธุรกิจมูลค่า 40,000 ล้านบาท 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่าต้องศึกษารอบด้านในการหาสารทดแทนเข้ามาใช้ เพราะกระทบหลายส่วน การทำงานเมื่อเป็นปัญหาการเมืองมักมีปัญหาตามมา

 

ไบโอไทยชี้ การแทรกแซงเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาล

ขณะที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ BIOTHAI ระบุว่า ทั้งไกลโฟเซตและพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานไกลโฟเซตนั้น มีบริษัทมอนซานโต้เป็นผู้ครอบครองตลาด

พวกเขาผลักดันพืชจีเอ็มก็เพื่อจะได้ขายไกลโฟเซตมากขึ้น ในขณะที่การแบนไกลโฟเซตก็จะทำให้ตลาดพืชจีเอ็มที่มียีนต้านทานไกลโฟเซตที่มอนซานโต้เป็นผู้ผูกขาดจะถูกปิดตายในอนาคตไปด้วย ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องทั้งส่งเสริมพืชจีเอ็มโอและค้านการแบนไกลโฟเซตไปพร้อมๆกัน

ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลเวียดนามประกาศห้ามนำเข้าไกลโฟเซต นาย Sonny Perdue รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรสหรัฐ กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเวียดนามว่า การแบนไกลโฟเซต “ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการผลิตทางการเกษตรทั่วโลก” แต่รัฐบาลเวียดนามตอบโต้กลับอย่างรวดเร็วว่า “การตัดสินใจของเวียดนามเป็นไปตามกฎหมายภายในของเวียดนาม ระเบียบระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจของเรา”

การแทรกแซงของสหรัฐในกิจการภายในของเรา ชี้ให้เห็นแล้วว่า การแบนพาราควอตและไกลโฟเซตนั้น มิได้เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลสหรัฐด้วย

รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยควรตอบโต้เฉกเช่นรัฐบาลเวียดนาม โดยควรตอบกลับฑูตสหรัฐไปว่า นี่เป็นกิจการภายในของประเทศไทยที่การแบนสารพิษนี้ เป็นไปเพื่อคุ้มครองเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นไปตามกฎหมายของไทย และสอดคล้องกับรายงานเกี่ยวกับรายงานความเป็นพิษขององค์การอนามัยโลกว่าไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็ง หน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐที่สมควรทำคือการดูแลประชาชนของตนเอง ไปบังคับคดีให้บริษัทไบเออร์-มอนซานโต้ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวอเมริกันที่ป่วยเพราะโรคมะเร็งจากไกลโฟเซต ตามคำตัดสินของศาลสหรัฐโดยเร็วต่างหาก

เราเชื่อว่ารัฐบาลไทยจะไม่อ่อนไหวตามแรงกดดันของสหรัฐ !?

 นอกจากนี้ไบโอไทยยังชี้ว่า ผู้ลงนามจดหมายถึงรัฐบาลไทยคัดค้านการแบนไกลโฟเซต คือ เท็ด แมคคินนี (Ted McKinny) ตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือ Under Secretary of Agriculture for Trade and Foreign Agricultural Affairs หรือ ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรเพื่อการค้าและกิจการเกษตรต่างประเทศ

จากประวัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรี "เท็ด แมคคินนี" ทำงานมาอย่างยาวนานถึง 19 ปี กับบริษัทดาวอะโกรไซแอนส์ บริษัทผู้ผลิตและเจ้าของผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลง "คลอร์ไพริฟอส" ซึ่งในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ได้เตรียมยกเลิกการใช้ แต่เมื่อทรัมป์ แต่งตั้ง สก็อต พรุตต์ เข้ามาเป็นประธาน EPA เขาได้สั่งเลื่อนการแบนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนหนังสือพิมพ์ในสหรัฐขุดคุ้ยว่าทั้งเขาและทรัมป์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ จนในที่สุดพรุตต์ ต้องตัดสินใจลาออกไปในที่สุด

ศาลสหรัฐได้ตัดสินให้ EPA ยกเลิกการใช้คลอร์ไพริฟอสภายใน 60 วัน ขณะนี้กระบวนการอยู่ในขั้นอุทธรณ์

 ไบโอไทยยังระบุว่า ในหนังสือของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า การแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐประมาณ 51,000 ล้านบาท/ปี ในขณะที่ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐมีมูลค่า 73,194,348,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติให้ไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้วก็ตาม โดยให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 แต่ ตามบัญชีท้ายคำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 ในบัญชี 1 ยังมิได้รวมไกลโฟเซตอยู่ในรายชื่อแต่ประการใด

ผลกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลสหรัฐจึงยังมิได้เกิดขึ้นแต่ประการใด ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงว่าที่ผ่านมาประเทศไทยแทบมิได้มีการตรวจสารพิษตกค้างในธัญพืชสำคัญ ทั้งข้าวสาลี และถั่วเหลืองที่นำเข้ามาจากสหรัฐเลยก็ตาม

 “ในความเห็นของเรา จดหมายของแมคคินนี ไม่ได้มีความหมายปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอเมริกันแต่ประการใด แต่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลสหรัฐฯเป็นหลักมากกว่า

การอ้างเรื่องผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในการส่งออกถั่วเหลือง และข้าวสาลี น่าจะเป็นเพียงข้ออ้างในการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทในสมาคม CropLife ที่ประกอบกิจการค้าไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นสำคัญ” เฟสบุ๊คแฟนเพจไบโอไทยระบุ

 

‘อนุทิน’ ชี้ กระทรวงสาธารณสุขยันตามมติเดิม

ขณะเดียวกันวันนี้ (25 ต.ค.) ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสถานทูตสหรัฐอเมริกาทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อขอให้ทบทวนการแบนสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะสารไกลโฟเซต โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าจริงๆ แล้วสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกาลงนามตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2562 แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการประชุมพิจารณาแบนสารเคมีเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำไมมีการออกหนังสือล่วงหน้ามาถึง 11 วัน เช่นนี้แสดงว่าเป็นการกดดันหรือไม่ จะมาบอกว่าจะมีปัญหาเรื่องการนำเข้า ตนคงไปว่าเขาไม่ได้ เพราะเขาห่วงเรื่องกระเป๋าของเขา ไม่ได้ห่วงสุขภาพของคนไทย เพราะฉะนั้นเราต้องมีมาตรการ ถ้ากังวลว่าจะมีสารตกค้างก็ต้องมาพิสูจน์ว่าจะนำเข้ามาโดยไม่มีสารตกค้าง แต่นี่กลัวขายของไม่ได้เลยมาบอกให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามสารพิษเพื่อให้ใช้ได้ แล้วเราจะยอมหรือไม่

อนุทินกล่าวว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมภายใต้กฎหมายของประเทศไทยใช่หรือไม่ หรือประชุมภายใต้กฎหมายต่างชาติ เพราะฉะนั้น กฎหมายไทยให้อำนาจคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาการใช้หรือห้ามใช้ ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตราย จำนวน 29 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีความรู้ทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาเรียกประชุมในวันเดียว แต่มีการเตรียมมาเป็นปี และมีมติการห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้ไม่ได้มีการกดดันใดๆ ทางการเมืองแม้แต่น้อย มติที่ออกมาให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ก็เป็นไปตามสำนึกความห่วงใยต่อพี่น้องและสุขภาพประชาชน

เมื่อถามว่า สถานทูตสหรัฐฯ ส่งหนังสือโดยแนบท้ายหนังสือของสภาหอการค้าสหรัฐฯ ขอให้ไทยมีการทบทวนมติแบนสารเคมี โดยเฉพาะไกลโฟเซต ไทยจะยืนยันตามมติเดิมหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขยืนยันตามมติเดิม ส่วนกระทรวงอื่นก็ต้องแล้วแต่เจ้ากระทรวง เราก้าวก่ายกันไม่ได้ จริงๆ ก็ไม่ควรก้าวก่ายกัน กฎหมายใครกฎหมายมัน เมื่อถามต่อว่าจะต้องชี้แจงหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ก็แล้วแต่ เพราะไม่ได้ส่งหนังสือมาถึงตน และตนก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปชี้แจง แต่หน้าที่ของ สธ.คือรับผิดชอบสุขภาพประชาชน อะไรก็ตามที่บริโภคเข้าไปแล้วเป็นอันตรายต่อร่างกาย สัมผัสแล้วเกิดแผลพุพอง สูญเสียอวัยวะ ตรงนี้เป็นคนละเรื่องกับการค้า ซึ่ง สธ.เกี่ยวข้องกับสุขภาพชีวิตคน เรื่องการค้าไม่ใช่เรื่องที่ สธ.จะให้ความเห็นอะไรได้ หรือจะมาเปลี่ยนแปลงจุดยืนของ สธ.ได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net