15 ปีตากใบ: แผลกดทับในใจที่ไม่เคยได้รับการรักษา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ประมาณ 10 ปีหลังจากที่ ก๊ะ (พี่สาว ในภาษามลายู) เสียสามีไป มีเจ้าหน้าที่เคยเรียกก๊ะไปประชุมเรื่องการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ระหว่างการประชุมมีตำรวจนายหนึ่งพูดขึ้นมาประมาณว่า ได้เงินแล้วก็ให้เรื่องมันจบๆไป อย่ามารื้อฟื้น พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอีก แถมยังมีหน้ามาบอกอีกว่าสามีก๊ะตายเพราะหิวข้าวตอนช่วงถือศีลอด ตอนนั้นลุกขึ้นชี้หน้าด่าเขาเลยว่า การฆ่าคนในศาสนาคุณมันไม่บาปหรือยังไง คุณถึงกล้ามาพูดแบบนี้”

มุสลีมะห์ (นามสมมติ) เล่าถึงประสบการณ์ของเธอในการเข้ารับการเยียวยากับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) สามีของเธอเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเริ่มมาจากการควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ประจำหมู่ 5 ตำบลพร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำนวน 6 คน [1] ด้วยเหตุสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับการปล้นปืนลูกซองยาวของราชการ เมื่อผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จำนวนมากเห็นว่ากระบวนการควบคุมตัวดังกล่าวขาดความโปร่งใสและไม่เป็นธรรม จึงจัดตั้งการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบในวันที่ 25 ตุลาคมเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวทั้ง 6 คน ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้ทำการสลายการชุมนุมและจับกุมคนกว่า 1,370 คน ซึ่งมีทั้งผู้ประท้วงและผู้ที่อยู่บริเวณโดยรอบซึ่งมาละหมาดฮายัด (ขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า) หรือเดินซื้อสินค้าอยู่ในบริเวณข้างเคียงด้วย ในระหว่างการสลายการชุมนุมมีผู้เสียชีวิต 7 คนและ สูญหายไป 7 คน นอกจากนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ใช้วิธีจับคนขึ้นรถบรรทุกโดยให้นอนคว่ำทับกันประมาณ 4-5 ชั้นเพื่อนำขนส่งไปควบคุมตัวยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตในระหว่างการเดินทางเป็นจำนวนอย่างน้อย 78 รายและทิ้งร่องรอยบาดแผลและความพิการไว้กับผู้รอดชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้ มุสลีมะห์ได้เล่าว่าสามีของเธอได้เสียชีวิตลงเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างการขนส่งครั้งนั้น

ในปี 2557 มุสลีมะห์ได้รับเงินชดเชยมาตั้งตัวเริ่มต้นชีวิตใหม่กว่า 5 ล้านบาทจาก ศอ.บต. อย่างไรก็ตาม สำหรับเธอ เงินที่ได้รับมาไม่สามารถเทียบอะไรได้กับการสูญเสียคนที่เธอรักและหัวหน้าครอบครัวที่คอยดูแลเธอและลูกๆไป “เงินนั่นไม่ได้มีความหมายอะไรเพราะเราไม่เคยได้รับความยุติธรรม” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงอันสั่นเครือ [2] มุสลีมะห์มิใช่เพียงคนเดียวที่ต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนี้ จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อความรุนแรงโดยตรงหรือคนในครอบครัวที่ต้องสูญเสียสมาชิกไป ผู้เขียนพบว่าเกือบทุกคนล้วนต้องอดทนอยู่กับบาดแผลทั้งทางกายและใจที่ไม่เคยจางหายไปไหน พร้อมกับความรู้สึกว่าตนยังไม่เคยได้รับความเป็นธรรม บทความนี้จึงตั้งใจนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาและทบทวนว่าเหตุใดเงินชดเชยจำนวนมหาศาลที่ทุ่มลงมากับโครงการเยียวยาจึงล้มเหลวในการนำพาความเป็นธรรมมาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบอย่างแท้จริง 

 

การจ่ายเงินชดเชย ≠ การเยียวยา

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศอ.บต.ได้อนุมัติมติในการเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์ตากใบ [3] ทั้งนี้ มาตรการจากมติดังกล่าวล้วนอยู่ในรูปแบบของการจ่ายเงินชดเชย การให้ทุนทรัพย์เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล และการให้ทุนการศึกษาแก่ทายาทของผู้ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจำนวนเงินอาจต่างกันออกไปสำหรับแต่ละราย (รายละไม่เกิน 7,500,000 บาท) ขึ้นอยู่กับระดับของความเสียหายซึ่งภาครัฐจะเป็นผู้ประเมิน [4]

มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลไทยถือว่าค่อนข้างคับแคบ เนื่องจากจำกัดการตีความของการเยียวยาไว้ว่าเป็นเพียงการจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย ในขณะที่ ตามหลักการทางกฏหมายระหว่างประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชนมิได้เพียงแต่สร้างความเสียหายเชิงวัตถุซึ่งทดแทนได้ด้วยเงิน แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายทางกายและใจ นอกจากนี้ยังสร้างความยากลำบากให้กับเหยื่อในการใช้ชีวิตร่วมกับสังคมภายนอก ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ออกนโยบายในการฟื้นฟู รักษาเหยื่อของการละเมิดสิทธิในทุกๆมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน สุขภาพ การศึกษา จิตใจ และสังคมวัฒนธรรม โดยมีวิธีการหลักๆอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ [5] 

1. การนำกลับคืนสู่สภาพเดิม (Restitution) คือ การคืนสิทธิต่างๆ ทรัพย์สิน หรือสถานะทางกฏหมายที่เหยื่อเคยมีก่อนเกิดการละเมิดขึ้น

2. การบำบัด (Rehabilitation) คือ การรักษาสภาพร่างกายและจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิด

3. การจ่ายเงินชดเชย (Compensation) คือ การมอบเงินให้เพื่อชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต บาดแผลทางกายและใจ หรือการสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งเกิดขึ้นจากการละเมิด

4. การสร้างความพึงพอใจ (Satisfaction) คือ การยอมรับว่าการละเมิดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ผิด การแสดงความรับผิดชอบและขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น 

5. การรับรองว่าการละเมิดจะไม่เกิดขึ้นซ้ำ (Guarantees of non-repetition) คือ การเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปนโยบาย กฏหมาย และโครงสร้างทางการเมืองเพื่อป้องกันมิให้ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำในสังคม มาตรการเยียวยาในกรณีเหตุการณ์ตากใบได้นำเพียงแค่หลักการข้อที่ 3 เรื่องการจ่ายเงินชดเชยมาปรับใช้เป็นหลัก แม้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เคยออกมาขอโทษแทนรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรและหน่วยงานทหารในสมัยนั้น แต่ไม่เคยมีการขอโทษอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจริงๆ[6] จึงอาจไม่เข้าข่ายหลักการเรื่องการสร้างความพึงพอใจ ในส่วนหลักการบำบัดร่างกายและจิตใจ เมื่อผู้เขียนสอบถามผู้ที่เข้ารับการเยียวยา พบว่าหลังจาก ศอ.บต.ได้อนุมัติจ่ายเงินชดเชยให้พวกเขาแล้ว ก็มิได้ติดตามสารทุกข์สุขดิบหรือนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดแต่อย่างใด และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลมิได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างสังคมเพื่อรับรองว่าการละเมิดจะไม่เกิดขึ้นซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานตุลาการ หรือกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติกฏอัยการศึก พ.ศ.2457 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นต้น ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้มาตรการเยียวยาของรัฐในกรณีตากใบไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

แผลในใจที่ไม่ได้รับการเยียวยา

โซรยา จามจุรี นักวิชาการประจำสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ทำงานด้านการเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบตั้งแต่เริ่มต้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การเยียวยาด้วยเงินเป็นเรื่องจำเป็น หากเหยื่อขาดทุนทรัพย์ พวกเขาก็อาจไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานต่างๆ การรักษาพยาบาล หรือการศึกษาได้ ซึ่งอาจทำให้จิตใจว้าวุ่น วิตกกังวลเข้าไปอีก อย่างไรก็ดี เงินเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูสภาพจิตใจของเหยื่อได้ เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มมิติการเยียวยาทางจิตใจและทางสังคมให้กับเหยื่อด้วย แต่ภาครัฐยังมิได้ให้ความสำคัญกับจุดนี้อย่างเพียงพอจึงเป็นภาระงานที่ภาคประชาสังคมต้องดูแล[7] ด้วยศักยภาพและทรัพยากรที่จำกัดขององค์กรภาคประชาสังคม ทำให้คนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาในมิติดังกล่าวได้เต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น มะรีกี ดอเลาะ ชายผู้ที่สูญเสียขาข้างซ้ายจากเหตุการณ์ตากใบ มะรีกีเล่าให้ฟังว่า เขาตั้งใจนั่งรถไปซื้อเสื้อผ้าเตรียมฉลองวันรายอที่ตลาดนัด เมื่อขับรถไปใกล้บริเวณสถานีตำรวจที่มีการชุมนุม เขาถูกตำรวจเรียกให้ลงจากรถและไปรวมตัวกับผู้ชุมนุม จากนั้นเมื่อมีการสลายการชุมนุม เขาถูกจับขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำตัวไปควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร
 

“ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าเขาจะพาเราไปที่ไหน รู้แค่ว่ามันนานมาก นานเสียจนร้องไห้จนน้ำตาหมด เลือดไหลจนแผลแห้งก็ยังไม่ถึงซักที ทำได้แต่อยู่นิ่งๆแล้วนึกถึงอัลเลาะห์อย่างเดียว คนที่อยู่ด้านล่างก็ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ คงจะเจ็บมาก แต่เราช่วยอะไรไม่ได้ ผมได้ยินลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเขาด้วย แล้วผมก็หมดสติไป มารู้ตัวอีกทีตอนอยู่ห้อง ICU ที่มอ.หาดใหญ่ พอตื่นขึ้นมา รู้สึกแค่ว่าหิวมาก พอเห็นสภาพตัวเองก็รีบหันไปถามแม่ว่า ทำไมผมไม่มีขาแล้ว ทำไมมือผมเป็นแบบนี้ กว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาลก็ประมาณ 3 เดือนได้ ช่วงที่ออกมาแรกๆผมฝันร้ายทุกคืนเลย

สมัยก่อน ผมจะออกไปช่วยแม่กรีดยางเป็นประจำ เดี๋ยวนี้มือแทบจะจับอะไรไม่ได้ มือขวาที่เคยถนัดก็ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนมากรีดยางมือซ้าย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว ตอนเด็กๆผมชอบเล่นฟุตบอล ชอบวิ่ง เคยเป็นนักวิ่งกรีฑา 100 เมตร ว่างๆก็ชอบวิ่งแข่งกับรถมอเตอร์ไซค์ ทุกวันนี้เวลาเห็นคนวิ่งผ่านหน้าบ้านไป แทบไม่อยากมองเลย” [8]

ทุกวันนี้ มะรีกีต้องอยู่กับร่างกายที่พิการและจิตใจที่บอบช้ำ แม้ทางภาครัฐจะได้จ่ายเงินชดเชยให้เขาและมอบเครื่องถ่ายเอกสารเป็นต้นทุนในการส่งเสริมอาชีพเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ก็มิได้สนใจดูแลเยียวยาเขาในทางจิตใจ ซ้ำร้าย เมื่อปี 2560 เขายังถูกปิดล้อมและตรวจค้นบ้าน เพราะทหารกล่าวหาว่าเห็นเขาไปยิงทหารที่เจาะไอร้องจากภาพกล้องวงจรปิด เขาเล่าอีกว่า “เขาบอกให้ผมไปเอาขาเทียม 2 อันมาให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่าพิการจริง เขาไม่ยอมเชื่อว่าผมพิการ เอามือไปจับดูอยู่นานและมีท่าทางไม่เชื่อผมเลย ดูมือผมซะก่อน จะไปหยิบปืนได้ยังไง หยิบของธรรมดาๆยังหล่นเลย” เราจะเห็นได้ว่า นอกจากมะรีกีจะไม่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจจากภาครัฐแล้ว ยังถูกตีตราและละเมิดซ้ำ สร้างแผลในใจให้ลึกลงไปกว่าเดิมอีก ก่อนจากกัน มะรีกีกล่าวย้ำกับพูดเขียนว่า ยังไงซะ แผลในใจเขาคงไม่มีวันได้รับการเยียวยาและชีวิตของเขาคงไม่มีทางกลับเป็นเหมือนเก่าอีกต่อไป

เมื่อรัฐลอยนวลใช้เงินแลกกับความยุติธรรม

“ถึงจะได้เงินมาเป็นล้าน แต่ไม่เคยรู้สึกเลยว่ามันช่วยเยียวยาอะไร” อาแบ (นามสมมติ) กล่าว อาแบเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับให้นอนทับกับคนอื่นอีกหลายชั้นในรถบรรทุกที่ใช้ขนผู้ชุมนุมไปควบคุมตัวยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยระหว่างทาง ขาข้างหนึ่งของเขาโดยขาข้างหนึ่งของเขาถูกกดทับเป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง ส่งผลให้ปัจจุบันแทบใช้การไม่ได้อีกต่อไป เขาเล่าถึงครั้งออกจากโรงพยาบาลว่า เขาต้องไปเข้าร่วมโครงการอบรมทัศนคติและสร้างอาชีพกับหน่วยงานความมั่นคงถึงจังหวัดลพบุรีและเทียวไปเทียวมางานอบรมในลักษณะเดียวกันในตัวเมืองนราธิวาสเป็นเวลากว่า 2-3 ปี แม้ว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลยก็ตาม เขายังเล่าอีกด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 15 ตุลาคม 2547 ขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐได้ฟ้องประชาชนในข้อหามั่วสุมและประทุษร้าย แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายก่อความรุนแรงและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างก็ตาม แม้คดีความดังกล่าวจะถูกอัยการยกฟ้องไปในปี 2549 แต่ก็ยังไม่มีการนำเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต่อความสูญเสียของคนจำนวนมากในระหว่างการสลายการชุมนุมและการขนย้ายไปค่ายอิงคยุทธบริหารมาลงโทษแต่อย่างใด 

การเยียวยาทางจิตใจและสังคมมิใช่สิ่งเดียวที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องการ พวกเขาและเธอล้วนบอกกับผู้เขียนเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้รัฐนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในเหตุการณ์ตากใบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพและรับรองว่าจะไม่เกิดการละเมิดขึ้นซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นยังคงลอยนวลพ้นผิด อาแบเล่าว่าเขากลับถูกทำให้รู้สึกเหมือนตนเองเป็นผู้ร้าย เป็นอาชญากรอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่เขาต้องขับรถจักรยานยนต์ผ่านด่านตรวจและถูกเจ้าหน้าที่ขอตรวจค้น เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ขณะที่อาแบกำลังขับรถไปกรีดยางเหมือนทุกวัน ก็มีเจ้าหน้าที่ขอตรวจค้นและจับกุมเขาไปที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ที่ต. ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

“เจ้าหน้าที่บอกว่า ชื่อของแบ (ผู้ชาย ในภาษามลายู) อยู่ใน Black list ฝ่ายความมั่นคง เลยจะควบคุมตัวแบไว้ในฐานะผู้ต้องสงสัยก่อเหตุระเบิดที่บ้านบือแรง แบไม่เข้าใจว่าทำไมชื่อแบยังอยู่ในนั้น เพราะหลังจากเหตุการณ์ตากใบ เจ้าหน้าที่เรียกตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปอบรมอยู่หลายครั้ง แถมยังสัญญาด้วยว่า หากเข้าอบรมครบ จะลบชื่อออกจากลิสต์ ซึ่งแบก็ไปครบทุกครั้ง เทียวไปเทียวมาตั้ง 2-3 ปี แต่ตอนนี้ชื่อก็ยังอยู่ในลิสต์คนที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ” [9] 

นอกจากนี้ เขายังกล่าวเพิ่มอีกว่า “ครั้งนึงเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้านแล้วถามแบว่า ‘มึงไปตากใบนี่มึงเป็นคนร้ายหรอ?’ แบสงสัยว่าทำไมยังต้องมากล่าวหากัน ทั้งๆที่ชื่อเราควรถูกลบออกจากฐานข้อมูลนี้ได้แล้ว เราเป็นผู้บริสุทธิ์แต่ทำไมยังไม่เลิกมายุ่งกับเรา” ความย้อนแย้ง พิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวในการอำนวยความยุติธรรม ทำให้อาแบต้องคอยระแวงว่าตนอาจถูกกล่าวหาอย่างผิดๆเหมือนเคย สำหรับเขา หนทางสู่การเยียวยามิใช่เงิน แต่เป็นการได้รับความยุติธรรมและชีวิตที่ปราศจากความหวาดกลัวต่อความรุนแรงรัฐต่างหาก 

ละเมิดซ้ำซากจากการลอยนวลพ้นผิด: จาก 15 ตุลา 47 ถึงปัจจุบัน

ในระหว่างการเดินทางพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ผู้เขียนได้พบเจอกับผู้คนส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจว่าไม่ต้องการเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ในขณะที่มีหนึ่งคนเจ็บปวดกับการสูญเสียเกินกว่าจะอธิบายออกมาเป็นคำพูด ก็มีบางคนที่ไม่อยากรื้อฟื้นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะมองว่าถึงพูดไปก็คงไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ และอีกหลายคนที่รู้สึกกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงคุกคามเนื่องจากถูกปิดล้อมตรวจค้นบ้านและสอดส่องติดตามอยู่เป็นประจำ เมื่อตัดสินใจได้ว่าเราจะไม่พูดคุยกันต่อ เราก็ได้แต่นั่งยิ้มให้กันด้วยความเคอะเขินปนความกระอักกระอ่วนใจท่ามกลางความเงียบสงัดที่ยังคงดังก้องอยู่ในใจผู้เขียนจนถึงวันนี้

ผู้เขียนตีความว่าความเงียบของพวกเขาและเธอคงมาจากความรับรู้ถึงความไม่ธรรมในสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ตากใบมาจนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านมา 15 ปี แต่ประชาชนในพื้นที่ต่างเห็นเป็นประจักษ์ว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยก็ยังคงเผชิญกับข้อท้าทายเดิมๆ เช่น การผูกขาดและใช้อำนาจทุกประเภทอย่างไม่โปร่งใสโดยกองทัพ การบังคับใช้กฏหมายพิเศษในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย หรือการเหมารวมในแง่ลบและเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นผู้ละเมิดก็ยังไม่เคยถูกตรวจสอบหรือลงโทษแต่อย่างใด มีเพียงประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากกลับเผชิญกับการถูกข่มขู่ คุกคามโดยรัฐเสียเอง Tyrell Haberkorn นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยจาก University of Wisconsin-Madison ได้อธิบายไว้ในหนังสือ In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand ว่า การลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทยเป็นใบเบิกทางให้รัฐผลิตซ้ำความรุนแรงต่อประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการจัดเรียงความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของรัฐกับประชาชน โดยที่ “ชนชั้นปกครองสามารถกระทำการละเมิดประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนประชาชนต้องพึงตระหนักอยู่เสมอว่าเจ้าหน้าที่อาจทำร้าย ซ้อมทรมาน บังคับให้สูญหาย หรือฆ่าพวกเขาตอนไหนก็ได้ โดยมักไม่จำเป็นต้องรับผิดใดๆ”[10] ดังนั้น อาจเป็นเพราะความรับรู้เช่นนี้ที่ทำให้พวกเขาและเธอตัดสินใจปล่อยให้ความเงียบทำหน้าที่เล่าเรื่องของมันเอง

แผลกดทับ

เรื่องราวต่างๆซึ่งบทความนี้ได้นำเสนอไปข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงจากเหตุการณ์ตากใบมิได้จบลงภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แต่ยังคงถูกผลิตซ้ำและอาจเพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการจ่ายเงินเยียวยาเพื่อบังคับให้ลืม, การเหยียดหยาม ดูถูก ตีตราจากเจ้าหน้าที่, การใช้อำนาจโดยมิชอบในการติดตาม สอดส่อง และจับกุมผู้บริสุทธ์ซ้ำ มาตรการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายมีลักษณะค่อนข้างฉาบฉวย เราสามารถเห็นได้ว่า ภาครัฐมิได้ใส่ใจที่จะดำเนินการอำนวยความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาจิตใจ การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่ยอมรับการกระทำผิด การปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้อง แต่กลับปล่อยปะละเลยจนเกิดการละเมิดซ้ำขึ้นหลายครั้ง บาดแผลของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบจึงกลายเป็นเสมือนแผลกดทับที่นับวันยิ่งเจ็บปวดขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีเงินชดเชยมากเท่าใดก็มิอาจช่วยบรรเทาได้

 

อ้างอิง

[1] รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ (ส่วนที่ ๑ ภาครายงาน), หน้าที่ 8-9.

[2] สัมภาษณ์โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, 19 ตุลาคม 2562

[3] MGR Online, “ศอ.บต.เปิดหลักเกณฑ์เยียวยาเหยื่อตากใบ-กรือเซะ 7.5 ล.” เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/south/detail/9550000072135

[4] VoiceTV, “คกก.เยียวยาฯจ่าย 7.5 ล.เหยื่อไฟใต้” เข้าถึงได้จาก https://www.voicetv.co.th/read/30679

[5] ศึกษาหลักการเพิ่มเติมได้จากหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาและชดใช้ความเสียหายสำหรับเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขว้าง (UN Basic Principles and Guidelines on the Right to a Remedy and Reparations for Victims of Gross Violations of International Human Rights Law and Serious Violations of International Humanitarian Law), เข้าถึงได้จาก https://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/RemedyAndReparation.aspx

[6] ประทับจิต นีละไพจิตร “ เหตุการณ์ตากใบกับการแปลงเปลี่ยนที่ชะงักงัน” (2560), วารสารวิจัยสังคม, 40 (1), 17-64, เข้าถึงได้จาก http://www.cusri.chula.ac.th/wp-content/uploads/2017/07/journal-60-01-03.pdf

[7] สัมภาษณ์โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, 20 ตุลาคม 2562

[8] สัมภาษณ์โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, 18 ตุลาคม 2562

[9] สัมภาษณ์โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, 19 ตุลาคม 2562

[10] ดูเพิ่มเติมที่หน้า 221 ของ Haberkorn, Tyrell. In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand. University of Wisconsin Press, 2018.

 

 

ภาพปก:  "บังเกอร์เหล่านี้ที่เห็นได้ทั่วไปในเมืองตากใบ ถูกแบกมาซ้อนทับกันด้วยมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต่างจากร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัวจากการชุมนุมบนรถบรรทุก จะต่างก็เพียงแค่ว่าบังเกอร์เหล่านี้เป็นกระสอบบรรจุทราย แต่ผู้ชุมนุมคือร่างกายที่มีเลือดเนื้อและชีวิต"  โดย ทีมงานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท