“คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” (9): ตามหลักการประชาธิปไตยศาลต้องยึดโยงกับประชาชน

‘ประชาไท’ รวบรวมงานเสวนา 2 งานอันเนื่องมาจากกรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตนเองในศาลจังหวัดยะลา ต่อเนื่อง 9 ตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตั้งแต่รายละเอียดของคดีจนถึงภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านมุมมอง 'ใบตองแห้ง'

  • ตามหลักการประชาธิปไตยศาลต้องยึดโยงกับประชาชน
  • ผลพวงจากการรัฐประหารปี 2549 ทำให้การยึดโยงระหว่างศาลกับประชาชนถูกตัดขาด
  • การปฏิรูปศาลในอังกฤษ มีการตั้งคณะกรรมการจากคนนอกเพื่อคัดเลือกผู้พิพากษา มีหน่วยงานที่คอยรับเรื่องร้องเรียนเวลาที่ผู้พิพากษาทำผิดวินัย และยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแล 2 หน่วยงานขั้นต้นอีกชั้นหนึ่ง

กรณีการยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ศาลจังหวัดยะลา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันตุลาการและข้อกังขาว่าผู้พิพากษามีอิสระเพียงใดในการพิจารณาคดี ด้วยถ้อยคำในคำแถลงการณ์ที่ว่า

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดงานเสวนาต่อกรณีนี้ 2 งานคือ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต’ ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยากรทั้งสองงานมีตั้งแต่ทนายความที่ทำคดีดังกล่าว นักสิทธิมนุษยชน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นักวิชาการด้านกฎหมาย และสื่อมวลชน

เพื่อให้ภาพที่สมบูรณ์ ครบทุกมิติ ‘ประชาไท’ จึงนำทั้งสองงานมาร้อยเรียงเป็นซีรีส์ว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ข้อเสนอเพื่อแก้ไข และความอิสระที่ว่านั้นควรอิสระเพียงใดจึงจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความอิสระเป็นพิษ

มุมมองของ อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง สื่อมวลชน Voice TV ที่เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สัมพันธ์กับวงการศาล พบว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามให้ศาลยึดโยงกับประชาชน แต่แล้วก็ถูกตัดขาดอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2549 ขณะที่ศาลเองก็ต้องการคงสภาพเดิมเช่นนี้ต่อไป ซึ่งเขามองว่าถ้าศาลไม่ปรับตัว ปัญหาก็รออยู่ตรงหน้า

อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง สื่อมวลชน Voice TV

เวลาที่เรามองความเป็นอิสระของศาล คนนอกทั่วไปรู้หรือเปล่าว่าประธานศาลฎีกามาจากไหน มาจากคนที่สอบได้ที่ 1 ตอนอายุ 25 แล้วเป็นประธานศาลฎีกาตอนอายุ 63 มันก็เป็นมาอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย ผมก็ถามเขาว่าเพราะอะไร เขาบอกว่าเพราะศาลต้องยึดถืออาวุโส ทำไมต้องยึดถืออาวุโส เพื่อจะให้ไม่มีการพิจารณาความดี ความชอบ ผู้บังคับบัญชาจะไม่มีอำนาจไปสั่งได้ เพราะฉะนั้นใครจะเป็นอะไร ดำรงตำแหน่งอะไร มันล็อคไว้แล้ว ดังนั้น คุณไม่ต้องไปวิ่งเต้น คุณไม่ต้องไปเอาใจอธิบดีหรือเอาใจใครทั้งสิ้น คุณรู้เลยว่าถ้าคุณสอบได้ที่ 1 ตอนอายุ 25 คุณเป็นประธานศาลฎีกาตอนอายุ 63 เขาอธิบายหลักการอย่างนี้ โดยหลักการนี้เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องของความเป็นอิสระ

การแต่งตั้งการเลื่อนขั้น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมจะบอกว่า อยู่ในตำแหน่งนี้ 3 ปี เป็นผู้พิพากษาขั้นต่ำอะไรพวกนี้ก็มีอยู่ แล้วเงินเดือนก็จะต่างกันไม่มาก พอขั้น 4 ท่านก็จะมีเงินเดือนเงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนเหมาจ่าย รถประจำตำแหน่ง มีบ้านพัก ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะพิจารณาคดีอะไรก็เป็นอิสระของท่าน ยิ่งขึ้นเป็นชั้น 4 แล้วก็ไม่มีความหมายแล้ว ทำงานยังไง คุณก็ได้เงินเดือนแค่นั้น นี่คือคำอธิบายของศาลเวลาที่เราสัมภาษณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อล็อคแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความเป็นอิสระ

ย้อนไปที่คำอธิบายว่าศาลต้องมีอิสระ ก็ประธานศาลไม่ได้มีอำนาจ อธิบดีศาลไม่ได้มีอำนาจ คุณจะเลือกใครก็ไม่ได้ เหมือนเขาเป็นแค่ผู้บริหาร แทรกแซงใครไม่ได้ มันไม่มีความหมายว่าคุณต้องเอาคนที่ทำงานเก่งมาเป็นอธิบดี คุณก็เลื่อนไปตามอาวุโสแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วถามว่ามีไหม ผมว่ามันก็มี

เวที “ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต”

รัฐธรรมนูญปี 40 ถึงรัฐธรรมนูญปี 60 เมื่อศาลตัดขาดจากประชาชน

ประเด็นสำคัญตอนที่เขียนรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งทำให้ผู้พิพากษาผู้ใหญ่รู้สึกเป็นปัญหาทั้งภายในของเขาเอง หมายถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาภายในของศาลและอิสระภายนอก ไม่ใช่รัฐธรรมนูญไปทำให้เขาไม่มีอิสระ แต่ตัวรัฐธรรมนูญไปให้อิสระผู้พิพากษา ตรงนี้ผมติ๊กไว้เลย มีอดีตผู้พิพากษาผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เขียนบทความไว้บอกว่ารัฐธรรมนูญปี  2540 มีการตีความความอิสระโดยการห้ามตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดี ตามที่คุณคณากรบอกไว้ว่าช่วงรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เขาเข้ามาเป็นผู้พิพากษา จะมีความอิสระและไม่มีการเข้าไปตรวจสำนวน

รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 249 บัญญัติไว้ว่าผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาของตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอก แต่เรามาย้อนดูภายหลังพบว่ารัฐธรรมนูญปี 40 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมปี 43 มันก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำในกลุ่มผู้พิพากษาพอสมควรโดยเฉพาะผู้พิพากษาผู้ใหญ่ที่เขาคิดว่าเขาน่าจะมีอำนาจที่จะตรวจสอบสำนวนของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้

เราจะเห็นชัดตอนที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญปี 40 และเขียนรัฐธรรมนูญปี 50 ผมยังจำได้ ประมาณปี 49 อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ท่านก็มีบทบาทในตุลาการภิวัตน์ตอนที่ขับไล่ 3 กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ท่านอภิปรายเรื่องศาลว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้อยลง มันมีการแก้กฎหมายที่มีนัยยะสำคัญในรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่เห็นกันก็คือเริ่มจากพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 ที่บอกว่าให้อธิบดีทำความเห็นแย้งได้ ให้ตรวจสำนวนด้วย ก็หมายความว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรวมถึงประธานศาลอุทธรณ์ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ นั่งพิจารณาแล้วพิพากษาคดีใดๆ ของศาลหรือเมื่อตรวจสำนวนใดๆ แล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ เหมือนกับว่าเป็นเสมือนองค์คณะคนหนึ่งสามารถตรวจสำนวนต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในคดีสำคัญ เพราะฉะนั้นการเข้าไปตรวจสำนวนมันก็เกิดขึ้น ผมไม่รู้ว่าก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 ทำอย่างไรแต่หลังจากรัฐธรรมนูญปี 50 กฎหมายนี้ออกมาปี 51 ก็แก้กลับไปในมาตรา 11 ให้ตรวจสำนวนแล้วทำความเห็นแย้งได้ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงถึงเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ

รัฐธรรมนูญปี 40 และการแก้กฎหมายตุลาการที่เราเห็นชัดอันที่ 1 อันนี้อาจจะเห็นด้วยว่าผู้พิพากษามีอายุมากก็อาจจะทำงานได้ แต่ตอนรัฐธรรมนูญปี 50 แก้ไว้ชัดเจนว่าผู้พิพากษาเกษียณอายุจาก 60 เป็น 70 ปัจจุบันก็เห็นว่า 70 มันเกินไปก็แก้กลับไปเป็น 65 การแก้จาก 60 เป็น 70 แปลว่าอะไร แปลว่าคนที่เป็นประธานศาลฎีกาในยุคนั้นหรือผู้พิพากษาผู้ใหญ่ในชั้นศาลระดับสูงต่างๆ นั่งต่อไปอีก 2 ปี จากปกติที่เป็นปีเดียว แล้วถ้าเป็นเกษียณตอน 70 ตามที่รัฐธรรมนูญปี 50 เขียนไว้ ผู้พิพากษารุ่นหลังก็จะขึ้นช้าไปอีกประมาณ 10  ปีกว่าจะขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา มุมหนึ่งก็มองได้ว่าผู้พิพากษาอายุ 65 อายุ 70 สมองยังทำงานได้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเยอะ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคนตั้งข้อสงสัยว่าพิพากษารุ่นใหม่จะขึ้นช้าไปหรือเปล่า

ข้อที่ 2 นอกจากพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่พูดไปแล้วก็มีเรื่องของสัดส่วน ก.ต. (สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม) รัฐธรรมนูญปี 40 ให้ ก.ต. ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของศาลยุติธรรมมี 15 คน มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน แล้วก็มี ก.ต. มาจากศาลชั้นต้น 4 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลฎีกา 4 คน โดยให้ไปสมัครรับเลือกตั้งกันเอง ปรากฏว่าพอรัฐธรรมนูญ 50 และ พ.ร.บ.ข้าราชการตุลาการปี 2551ซึ่งแก้ในยุค สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ก็เปลี่ยนไปว่ามีศาลชั้นต้นแค่ 2 คน ศาลอุทธรณ์มี 4 คน ศาลฎีกามีเพิ่มเป็น 6 คน ความไม่พอใจที่คุกรุ่นตอนนั้นก็คือเหมือนให้เด็กมาปกครองผู้ใหญ่ทำได้ยังไง ก็แก้ตรงนี้ไป

รัฐธรรมนูญ 40 ยังให้มี ก.ต. อีก 2 คนที่มาจากคนนอก ไม่ใช่ผู้พิพากษา ไม่ใช่อดีตผู้พิพากษา ให้ สว. เป็นคนเลือกมา 2 คน ซึ่งถือเป็นการยึดโยงกับประชาชนตามหลักการระบอบประชาธิปไตยเพราะอำนาจตุลาการที่ผ่านมาไม่เคยยึดโยงกับประชาชน แล้วก็เป็นการยึดโยง ตรวจสอบ และมีกลไกอีกหลายอย่าง แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็แก้กลับไปให้ผู้พิพากษาเลือกกันเอง กฎหมายเรื่องการถอดถอนผู้พิพากษา สว. ก็ถอดถอนผู้พิพากษาไม่ได้อีกต่อไป เพราะเดิม สว. มาจากการเลือกตั้ง แต่ชุดนี้เป็น สว. ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาตั้งก็ตัดความยึดโยงกับประชาชนออกไปหมด

ถัดมาอีกอันหนึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 และพ.ร.บข้าราชการตุลาการปี 43 เขาแยกชั้นผู้พิพากษาชัดหมายความว่าศาลชั้นต้นคนที่อาวุโสสูงสุดของศาลชั้นต้นก็ขึ้นเป็นอธิบดี ศาลภาค ศาลอาญา ศาลแพ่ง อะไรก็ตามแต่ตอนนั้นประมาณปี 43 44 ฮือฮากันมาก อธิบดีอายุ 40 กว่าไม่เคยมี พอเป็นอธิบดีเสร็จก็ขึ้นไปชั้นศาลอุทธรณ์ แล้วศาลอุทธรณ์ก็แบ่งชั้น แล้วก็ขึ้นไปศาลฎีกา เขาตัดตรงนั้นเลยรัฐประหาร 49 พ.ร.บ.ตุลาการปี 51 ก็แก้ให้อธิบดีศาลสามารถมาจากผู้พิพากษาผู้ใหญ่ได้ก็หมายถึงระดับผู้พิพากษาศาลฎีกาลงมาเป็นอธิบดีศาล แล้วก็ให้ตรวจสำนวนได้จะเห็นว่ามันมีการรื้อระบบภายในของศาลในช่วงปี 49-50 เพราะเขาศึกษาแล้วไงว่าคุณภาพของศาลชั้นต้นในช่วงนั้นมันด้อยลง ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่มาแก้ในยุคที่มี ส.ส. สว. ที่มาจากการเลือกตั้งล่ะ ทำไมต้องแก้ในยุค สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งในช่วงรัฐประหาร ไม่อยากจะพูดว่ารัฐประหาร 49 เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการใช้อำนาจของตุลาการ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองจนเกิดปัญหาวิกฤต เกิดปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นตามมาไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือการเข้ามาเป็นองค์กรอิสระมันก็ทับซ้อนกันอยู่ในช่วงวิกฤต 13 ปี เราจะเห็นว่าเรื่องความเป็นอิสระของศาลมันเกี่ยวข้องกันโดยตรง

ศาลต้องยึดโยงกับประชาชนตามหลักประชาธิปไตย

ความเป็นอิสระของศาลมันต้องแยกพูดกัน 2 เรื่องเรื่องที่ 1 คือความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ผู้พิพากษาเป็นคนนั่งพิจารณาคดี เป็นคนลงชื่อในคำพิพากษา เพราะฉะนั้นผู้ที่ลงชื่อเขาก็ควรเป็นผู้รับผิดชอบ อันนี้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย คุณมีอำนาจ คุณก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่มันก็ไม่ได้บอกว่าอิสระนั้นเป็นไปตามอำเภอใจ มันก็ต้องเป็นไปตามหลักเหตุผลหลักกฎหมายและการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ต้องโต้แย้งกันได้ อันนี้คืออิสระของผู้พิพากษา

แต่ขณะเดียวกัน มันก็มีอิสระอีกอย่างหนึ่ง คือความอิสระของสถาบันจะบอกว่าศาลเป็นอิสระก็ใช่ เพราะเป็นอำนาจที่แยกเป็น 3 ฝ่าย แต่อำนาจนี้ก็ต้องยึดโยงกับประชาชน ในการยึดโยงกับประชาชน เราก็จะเห็นว่าอย่างในอเมริกาผู้พิพากษาศาลสูงก็ต้องมาจากการที่ประธานาธิบดีเสนอชื่อและผ่านวุฒิสภา เขาก็เสนอชื่อผู้พิพากษานั่นแหละ แล้วสาธารณชนก็ดูว่าคนนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีความเหมาะสม มีความสะอาด ขุดประวัติหมดเลย คุณเคยพิจารณาคดีอย่างไร ตัดสินอย่างไร มีทัศนะเรื่องประชาธิปไตยอย่างไร เหยียดเพศหรือเปล่า เหยียดผิวหรือเปล่า แล้วถึงจะขึ้นเป็นศาลสูงได้ ผมคิดว่านั่นคือกระบวนการประชาธิปไตย แต่ของเราไม่มี

ของเราไปมีที่ศาลปกครองและปรากฏว่า ประธานศาลปกครองสูงสุดก็ต้องผ่านวุฒิสภา ซึ่งหลักเดิมในรัฐธรรมนูญปี 40 สว. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มันก็เป็นการยึดโยงกับประชาชน ตุลาการศาลปกครองสูงสุดก็ต้องผ่านวุฒิสภา ถึงแม้ตอนนี้วุฒิสภาจะเป็นวุฒิสภาที่หัวหน้า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) แต่งตั้ง แต่หลักการที่ร่างขึ้นมาตั้งแต่ปี 40 คือหลักการยึดโยงกับประชาชน รวมถึงการพยายามให้มี ก.ต. คนนอก 2 คนเข้าไปอยู่ ตอนนี้ก็หายไปแล้ว

ที่ผ่านมาต้องบอกว่าศาลมีอิสระมากเพราะฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายก็เกรงใจตั้งแต่อดีตแล้ว ความอิสระของศาลมันสูงมาโดยตลอดโดยที่อำนาจไม่กล้าเข้าไปยุ่ง สังคมก็ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์จนมาถึงช่วงรัฐประหาร 49 ซึ่งก็ถูกเรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองก็เริ่มแรง การจับจ้องของสังคม ยิ่งปัจจุบันเป็นสังคมดราม่า มันก็ยิ่งจับจ้อง เพราะฉะนั้นอะไรต่างๆ ต้องเคลียร์ให้โปร่งใสและชัดเจนให้มากขึ้น มันเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องตอบคำถามให้เคลียร์ อย่างกรณีของคุณคณากร ศาลจะบอกแค่ว่าอธิบดีภาคผิดหรือไม่ผิด หรือไม่เหมาะสม ผมคิดว่าแค่นั้นไม่ได้ ศาลจะต้องตอบว่าสิ่งที่อธิบดีเขียน ที่เป็นเอกสารลับ กรรมการสอบสวนต้องตอบด้วยว่าอันนี้เป็นการแทรกแซงหรือไม่ใช่แทรกแซง  เพราะการแทรกแซงมันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น

ศาลต้องถูกวิจารณ์ได้

อีกเรื่องหนึ่งคือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสาธารณะซึ่งก็คือการยึดโยงกับอำนาจประชาชนนั่นแหละ ผมคิดว่าทุกวันนี้วิจารณ์ได้น้อยลง แต่ขณะเดียวกันสังคมเป็นสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น มันมีโลกออนไลน์ มันก็เลยมีดราม่ามากขึ้นระหว่างวิจารณ์ไม่ได้กับดราม่าออนไลน์ก็มาปะทะกัน มันก็มีคำถามว่าแล้วจะอยู่อย่างนี้ต่อไปอย่างไร

ผมคิดว่าศาลไม่มีอำนาจเอาผิดคนที่วิจารณ์ในแง่ที่ว่าหมิ่นศาลก็ตาม ละเมิดอำนาจศาลก็ตาม ในสังคมที่ดราม่ายุคปัจจุบัน การจะอยู่กันแบบนี้โดยไม่เปิดเผยท่าจะลำบาก เพราะฉะนั้นเรื่องระบบต้องเอาให้ชัด มันควรต้องมีการปฏิรูประบบศาล

เวลาเราพูดถึงความอิสระของศาลมันก็เหมือนจะมีอยู่ 3 อย่างที่ศาลจะพิทักษ์รักษาความเป็นอิสระของศาลเองข้อที่ 1 คือระบบอาวุโสที่ว่าแต่ก็มีข้อถกเถียงเยอะมาก แม้แต่ในศาลก็ถูกเถียงกันและสุดท้ายก็ไปแก้กฎหมาย บอกว่า ต้องเลิกพิจารณาเรื่องอาวุโสอย่างเดียวแล้ว แต่ก็ยังทำอยู่ ยังไม่กล้า เพราะมันจะสั่นสะเทือนทั้งระบบ เขากลัวว่าจะเกิดปัญหา เขาไม่กล้าทำ ระบบนี้ก็ยังอยู่ ก็บอกว่าอันนี้จะเป็นสิ่งที่รักษาความอิสระไว้ได้ ผมยกบทความของอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร การพิจารณาความดีความชอบตามหลักคุณธรรมจริงๆ แล้วคนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งไม่ควรจะเป็นอาวุโสอย่างเดียว ควรจะเป็นเพชรน้ำหนึ่ง แกก็วิจารณ์ สุดท้ายกฎหมายปี 51 ก็เขียนว่า การให้ความดีความชอบต้องคำนึงถึง ความรู้ความสามารถความรับผิดชอบผลงาน ประวัติพฤติกรรมและจริยธรรม ผมว่าศาลเองก็ยังลังเลอยู่ว่าจะเอายังไงเขาก็ยังใช้ระบบอาวุโสอยู่

อันที่ 2 ที่บอกว่าเคร่งครัดก็คือประมวลหลักจริยธรรมที่บอกว่าต้องสันโดษ สมถะ ลูกเมียต้องไม่ประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะสม คำถามคือโลกปัจจุบันมันเป็นไปได้หรือเปล่าที่จะไม่คบใครเลย ไม่ข้องแวะกับพ่อค้า ไม่ไปงานกับพ่อค้านักธุรกิจจริงเหรอ ผู้พิพากษาระดับสูงเราก็ยังเห็นอยู่นะ ไปงานกิจกรรมอะไรต่างๆ มันข้องแวะกับคนหมด แล้วบอกว่าจะเอาตรงนี้มารักษาความอิสระ แต่มันเป็นการกันจากคนข้างนอกด้วย แล้วเวลาที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ เช่น หลักสูตร บยส. (หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง) นั่นก็ Connection นะ ก็เอาพ่อค้าไปเรียนกับผู้พิพากษา แล้วตกลงยังไง แต่มีข้อสังเกตว่าเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมมันทำให้ศาลเป็นอะไร เป็นคนดี เป็นพระ

อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยตั้งข้อสังเกตกับคำพิพากษา บางทีท่านอธิบายธรรมะตั้งยาว แต่จริงๆ แล้วคนไปศาลต้องการฟังเหตุผลทางกฎหมายและข้อเท็จจริง พอสอนธรรมะแล้วมันจะกลายเป็นว่าสิ่งที่ท่านตัดสินนั้นถูกหมดโดยไม่ต้องฟังเหตุผลทางกฎหมายถ้าท่านเป็นคนดี อันนี้มันกลายเป็นปัญหา

ข้อที่ 3 การรักษาความอิสระของศาลคือเงินเดือนสูง มีเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน รถประจำตำแหน่ง ปัญหาของศาลก็คือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น การตรวจสำนวนมันสะท้อน ความรู้สึกไม่ไว้วางใจผู้พิพากษาใหม่ๆ ใช่หรือเปล่า  พอเรามองจากข้างนอก ก็รู้สึกว่าศาลมีอำนาจมากขึ้น แล้ว 13 ปีมานี้ก็ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็พยายามจะขจัดความยึดโยงกับอำนาจประชาชน แล้วก็ควบคุมการวิจารณ์มากขึ้น ควบคุมศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาใหม่ๆ มากขึ้น

การปฏิรูปศาลในอังกฤษ

แต่ศาลก็ไม่ทำอะไร พยายามจะอยู่อย่างนี้ แล้วก็บอกว่าอย่างนี้ดีแล้ว ผมย้อนไปที่บทความอาจารย์ธานินทร์ ที่ไม่เคยมีใครสนใจเลยคือแกพูดเรื่องการปฏิรูปศาล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษที่เกิดขึ้นในปี 2005 ซึ่งมีการตรวจสอบภายนอกและพูดถึงการคัดเลือกผู้พิพากษา ของเขาผู้พิพากษาไม่ได้เป็นตอนอายุ 25 อยู่แล้ว เดิมเขาใช้ประธานสภาขุนนางไปรับประทานอาหารที่เนติบัณฑิตยสภาทั้ง 4 แห่งเป็นครั้งคราว แล้วก็ทาบทามกรรมการบัณฑิตแต่ละแห่งว่าทนายความคนไหนมีฝีมือ การประพฤติดีเป็นที่ประจักษ์ คือต้องเป็นทนายมาก่อน ต้องมีผลงาน ต้องมีการเรียนรู้

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งเนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษมี 4 แห่ง ไม่ได้มีแห่งเดียว แล้วก็เป็นอิสระ แต่ของเรามีแห่งเดียวและประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ลองนึกถึงระบบผู้พิพากษาของเราเรียนจบนิติ เกียรตินิยมบางทีเรียนโทไปสอบสนามเล็ก บางทีไปเรียนอังกฤษมาได้ปริญญาโทมา 2 ใบก็ไปสอบสนามจิ๋ว เป็นผู้พิพากษาตอนอายุ 25 สอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ก็เอาไปอบรม เพื่อให้คำวินิจฉัยเป็นไปตามทางเดียวกัน จารีตประเพณี ความคิดจะต้องอยู่ในระบบนั้นไปอีก 20 30 ปี  สิ่งที่ขาดคือความคิดหลากหลาย ความเห็นต่าง

ของอังกฤษมีประธานระดับชาติเป็นองค์กรภายนอกมีสมาชิก 15 คน ประธานเป็นบุคคลทั่วไป ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 14 คน เพื่อเลือกผู้พิพากษา ศาลไม่ได้คัดเอง แต่กรรมการชุดนี้เป็นคนทำ กลั่นกรองผู้ที่มีคุณสมบัติ มีจดหมายรับรอง มีการตรวจสอบประวัติ เคยทำอะไรผิดบ้าง เคยมีเรื่องร้องเรียนไหม นั่นคือองค์กรที่ 1 องค์กรที่ 2 เขามีสำนักงานร้องทุกข์ของศาลยุติธรรมเป็นองค์กรอิสระแยกออกมาจากศาลยุติธรรม ทำหน้าที่รับคำร้องเรียนถ้าผู้พิพากษาประพฤติตนไม่เหมาะสม ผิดวินัย ร้องเรียนได้ เป็นคนที่มาตรวจสอบผู้พิพากษา เท่านั้นไม่พอยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่คอยตรวจสอบทั้ง 2 หน่วยงานนี้อีกทีอันนี้คือระบบของอังกฤษ

แต่ระบบของเราคือระบบปิด ความรู้เกี่ยวกับศาลเราไม่พอ แต่ระบบนี้จะอยู่อย่างนี้ไม่ได้ แม้แต่ตัวท่านเองก็ต้องคิดว่าที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่มันต้องมีการปรับ อยู่แบบนี้จะรับมือกับสังคมไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท